xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนรอยคดีมหากาพย์โกงภาษีชินฯ ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ มองต่างมุม "หญิงอ้อ-บรรณพจน์” รอดคุก ไถ่บาปบริจาคเงินไทยคมรอลงอาญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - 24 สิงหาคม 2554.....คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร พร้อมด้วยนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร พร้อมด้วยนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัว ได้เดินทางมายังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ในคดีประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งคดีหนึ่งของพวกเขา

นั่นคือคดีเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ ชินคอร์ป”

ทั้งนี้ แต่ละคนแต่งตัวมาด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับ ถนิมพิมพาภรณ์ที่ “เพริศแพร้ว” สมกับที่เป็นชาติตระกูลอังสูงส่งตระกูลหนึ่งในแผ่นดินไทย

เสื้อผ้า หน้าผม เป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ราวกับออกมาห้องเสื้อชั้นนำของโลก จนหลายคนไม่เชื่อว่า นี่เป็นครอบครัวของนายใหญ่และนายหญิงที่คนเสื้อแดงเคารพบูชาราวกับเป็นเทพเจ้า เพราะเป็นภาพลักษณ์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคนเสื้อแดงที่มีแต่ชนชั้นรากหญ้าของประเทศไทย

แต่นั่นดูเหมือนจะไม่สำคัญเท่าใดนัก ถ้าหากเทียบกับผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา และให้รอลงอาญาโทษจำคุก นายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั้งวงการนักกฎหมาย และยังส่งผลกระทบลามไปถึงแวดวงการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะจำเลยคนสำคัญในคดีนี้เป็นถึง “พี่สะใภ้นายกรัฐมนตรี” “ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และยังเป็นอดีตภริยา “นายกตัวจริง” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เหตุที่คำพิพากษาถูกนำมาวิเคราะห์ วิพากษ์ และวิจารณ์ในวงกว้าง คือความแตกต่างกันแบบสิ้นเชิงในเรื่องการใช้ดุลยพินิจของศาลอุทธรณ์กับศาลชั้นต้นจนทำให้ผลของคำพิพากษาตีลังกากลับไปคนละทาง แน่นอนว่างานนี้ต้องมีทั้งคนที่ถูกใจและไม่เห็นด้วย แต่กระนั้นคำพิพากษาศาลถือเป็นกติกาตามกฎหมายทุกฝ่ายต้องยอมรับ

**กำเนิดมหากาพย์คดีโกงภาษี

สำหรับคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 แต่มายื่นฟ้องศาลหลังการยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 โดยคณะรัฐประหาร (คมช.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้การความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) รวบรวมหลักฐานก่อนส่งให้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ 2 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ที่ 3 ข้อหา ร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย และร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ โดยจงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91

ตามฟ้องโจทก์สรุปว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยใช้อุบายว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สั่งขายหุ้นบริษัทดังกล่าว ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี หรือนางดวงตา ประมูลเรือง เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียนถือการครอบครองแทน รวมมูลค่าหุ้น 738,00,000 บาท ให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าได้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ใน ตลาดหลักทรัพย์มา รวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อประเมินเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ความจริงแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เป็นการโอนหุ้นให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2 เป็นการอำพรางการให้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้รับการให้จะต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ประมาณ 738,000,000 บาท มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้พึงประเมิน ประจำปี 2540 เป็นเงินจำนวน 273,060,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2540 โดยมิได้นำค่าหุ้นดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย หรือวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เป็นเหตุให้รัฐเสียหายขาดรายได้

ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.2544 ถึงวันที่ 30 ส.ค.2544 จำเลยที่ 1 และ 2 โดยรู้อยู่แล้ว จงใจได้บังอาจร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน โดยจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำและตอบคำถามว่า การซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 เป็นกรณีจำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้ โดยโอนหุ้นให้บุคคลอื่นถือแทนในตลาดหลักทรัพย์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายเงินซื้อ และให้ถ้อยคำเพิ่มเติมว่า เป็นพี่บุญธรรมของจำเลยที่ 2 ได้ช่วยเหลือกิจการของจำเลยที่ 2 จนมีความเจริญก้าวหน้า จำเลยที่ 2 ได้มอบของขวัญให้แก่ครอบครัวและบุตรชายของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นดังกล่าว โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นการให้โดยเสน่หา ตามธรรมเนียมประเพณีและธรรมจรรยาของสังคมไทย ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำมีสาระสำคัญว่าตนตั้งใจที่จะมอบหุ้นให้จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่งในวันแต่งงาน แต่มอบให้ไม่ทันเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานในทางการเมือง เมื่อจัดการเรื่องบริหารงานเสร็จสิ้นจึงได้ยกหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น เป็นของขวัญให้แก่ครอบครัวและบุตรชายของจำเลยที่ 1 โดยหุ้นที่โอนให้เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งนางดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ถือหุ้นแทน และอยู่ในพอร์ตที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่า ข้อความที่ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำน้ำเป็นเท็จ เป็นเพียงข้ออ้างให้พนักงานสรรพากรเชื่อว่าการโอนหุ้นดังกล่าว เป็นเงินที่ได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวม คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ความจริงแล้วเป็นการให้เพื่อตอบแทนจำเลยที่ 1 ทำงานให้กับครอบครัวจำเลยที่ 2 แต่ทำอุบายอำพรางว่าเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสอง เป็นการเพื่อจะหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความเท็จ โดยอุบายของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้อันควรได้เป็นเงินภาษีอากรจำนวน 273,060,000 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 273,060,000 บาท รวม 545,120,000 บาทคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้ตรวจสอบมูลคดีแล้ว จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแทน และได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้งสามททราบโดยชอบแล้ว จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

**ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยผิดร้ายแรง**

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 31 ก.ค.51 โดยศาลมีความเห็นในประเด็นปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือ โดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือไม่เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติข้างต้น จำเลยที่ 2 เจตนาจะยกหุ้นจำเลยที่ 2 ในบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 4,500,000 หุ้น มูลค่า 738,000,000 บาท ตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคาค่าหุ้นทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 และในที่สุด เงินค่าหุ้นจำนวนนั้นก็กลับไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 เห็นได้ชัดแจ้งว่าพฤติการณ์การซื้อขายหุ้นตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว มิได้ซื้อขายกันจริง แต่เป็นการกระทำโดยลวงเพื่ออำพรางการให้ตามเจตนาที่แท้จริง จึงเป็นการกระทำโดยความเท็จ

ส่วนประเด็นปัญหาที่ว่า การกระทำโดยความเท็จนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ เห็นว่าการซื้อขายหุ้นตามฟ้องระหว่าง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่เป็นการกระทำโดยความเท็จดังวินิจฉัยได้กระทำในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ขายได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมูลหุ้นที่ได้รับ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี 2540 ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติ ส่วนมูลค่าหุ้นจำนวน 738,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ได้รับยกให้จากจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับว่า เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร เพียงแต่โต้แย้งกันว่า เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยโจทก์นำสืบว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการให้ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) และมิได้เป็นเงินได้ประเภทหนึ่งประเภทใด ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องนำมูลค่าหุ้นจำนวนที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี ภาษี 2540 และด้วยเหตุนี้ จำเลยทั้งสามจึงได้อำพรางการให้ที่เป็นเจตนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 ด้วยการทำเป็นซื้อขายอันเป็นความเท็จแทน เป็นอุบายเพื่อจะไม่มีภาระภาษีจากการซื้อและขาย ทั้งไม่ต้องนำมูลค่าหุ้น ที่ได้รับจากการให้ไปรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ดังกล่าวอีกด้วย จึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร

อีกทั้งยังเห็นว่าคำให้การที่ จำเลยที่ 1 และ 2 ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานว่าการซื้อขายหุ้นระหว่างกันเป็นการให้ที่เป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือให้โดยเสน่หาเป็นการยกข้อที่ไม่เป็นความจริงมาอ้างเพื่อให้เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากร ตามที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีกำลังตรวจสอบ เป็นเหตุให้กรมสรรพากรหลงเชื่อไม่เรียกเก็บภาษีอากร พยาน หลักฐานโจทก์ในปัญหานี้มั่นคง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามไม่สามารถหักล้างได้ เช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรู้อยู่แล้ว หรือโดยจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามฟ้อง

นอกจากนี้ ศาลยังระบุไว้ท้ายคำพิพากษาว่า “จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำเลยที่ 2 เป็นกริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วย แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี”

ทั้งๆ ที่จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้น เทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองดีทุกคน จึงมิได้มีผลกระทำต่อฐานะของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสาม มีความผิดตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 37(2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี ฐานโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี

**รอดคุกคดีพลิกชั้นอุทธรณ์**
โอนหุ้นให้พี่ชายเรื่องปกติธรรมดา
หญิงอ้อ-บรรณพจน์ไม่ได้ให้การเท็จ

หลังจบยกแรกผู้สันทัดกรณีพากันชี้ชัดว่า คดีนี้ “ไม่มีพลิกแน่” เพราะศาลลงโทษจำเลยเต็มอัตรา แถมเนื้อหาในคำพิพากษาแทบไม่เปิดช่องให้จำเลยต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ แต่คำว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ก็ยังคงเป็นสัจธรรมที่อยู่คู่กับโลกอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี เมื่อจับสัญญาณจาก คำให้สัมภาษณ์ของ นายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความจำเลยที่ว่า “เราไม่อาจคาดเดาผลคำพิพากษาได้ เพราะจะกลายเป็นการชี้นำ เนื่องจากการพิพากษาเป็นการใช้ดุลพินิจของศาล แต่การอุทธรณ์เราก็มั่นใจว่าได้ต่อสู้ทุกประเด็นเต็มที่แล้ว โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ขณะที่การอุทธรณ์คดีนอกจากจะขอให้ศาลยกฟ้องแล้ว ก็ขอให้ศาลพิจารณาการลงโทษสถานเบาด้วย ซึ่งถือเป็นกระบวนการปกติทั่วไปที่จำเลยคดีอาญาจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ อย่างไรก็ดีขอให้รอฟังผลคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ก่อนดีกว่า” ยิ่งทำให้หลายคนที่ติดตามคดีนี้มั่นใจว่า จำเลยมีสิทธิรอดคุกจากข้อต่อสู้ที่ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษในสถานเบา

24 ส.ค.54 ที่ผ่านมา ศาลอาญา ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา จำเลยที่ 2 และ3 ในคดี ส่วนนายบรรณพจน์ แม้ศาลจะเห็นว่ากระทำผิดฐานเลี่ยงภาษี แต่โทษจำคุก 2 ปี ศาลก็ปราณีให้รอลงอาญา โดยข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มีการใช้ดุลยพินิจที่แตกต่างออกไปจากศาลชั้นต้นจนทำให้คดีกลับตาลปัตรอยู่ชัดสองเพียงประเด็นด้วยกันคือ

ประเด็นแรก ศาลอุทธรณ์มีความเห็นต่อข้อวินิจฉัยที่ว่า คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภาจำเลยที่ 2-3 ร่วมกระทำผิดกับนายบรรณพจน์จำเลยที่ 1 ฐานหลบเลี่ยงภาษีด้วยหรือไม่ ศาลเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ประสงค์ที่จะยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายบุญธรรม และเคยมีบุญคุณเคยอุปการะช่วยเหลืองานกันมา ซึ่งจำเลยที่ 2 มีฐานะร่ำรวย มั่นคง มีทรัพย์สินกว่า 2 หมื่นล้านบาทที่มีฐานะเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยที่ 1 มาก โดยมูลค่านายหน้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมีมูลค่าเพียง 3 ล้านบาทเศษ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พี่น้องจะปฏิบัติต่อกัน ไม่ใช่เป็นข้อพิรุธสงสัย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังและเป็นที่ยุติว่าจำเลยที่ 2 ต้องการให้หุ้นกับจำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าซื้อขายหุ้นเอง จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขายไม่มีภาระในการชำระภาษีเงินได้ที่เกิดจากการขายหุ้นในตลาดหลัก ทรัพย์ เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษี เงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุที่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่ออำพรางการให้ เพราะจำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้ชำระค่าภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นจำนวนมากนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวน อีกทั้งเป็นเหตุการณ์ในอนาคต จึงไม่อาจนำมาเป็นข้อสันนิฐานเพื่อให้รับฟังเป็นผลร้ายให้กับจำเลยที่ 2 ได้ เพราะในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540 แต่จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นแบบภายในเดือนมี.ค. 2541 และเมื่อรับฟังได้ด้วยว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าหุ้นและค่านายหน้าให้กับบริษัทหลักทรัพย์นั้นก็มีเงินสด อยู่ในบัญชีอย่างเพียงพอ หากจำเลยที่ 2 มีเจตนาต้องการช่วยจำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงภาษี จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่โอนเงินที่จะต้องชำระค่าหุ้นให้จำเลยที่ 1 ผ่านบัญชีเงินฝาก แล้วให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อหุ้นดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่าการใช้วิธีการซื้อขายเพื่ออำพรางที่มีวิธีการ สลับซับซ้อน และยังอาจมีผลไปถึงการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 2 อีกด้วย ขณะที่จากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าในขณะหรือหลังจากจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงเสียภาษีแล้ว จำเลยที่ 2-3 ได้กระทำการใดๆ ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ช่วยเหลือปกปิด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2-3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 2-3

ประเด็นที่สอง คือประเด็นวินิจฉัยว่า นายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1-2 ในคดีมีความผิด ฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) หรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การให้ถ้อยคำกับเจ้าพนักงานที่จะเป็นการให้การเท็จหรือไม่นั้น ก็จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าถ้อยคำที่ให้นั้น ไม่ได้มีอยู่จริงหรือไม่เคยมีอยู่ โดยผู้ให้ถ้อยคำนั้นเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเอง เมื่อข้อเท็จจริง คดีนี้จากทางนำสืบของจำเลยที่ 1-2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายบุญธรรมของจำเลยที่ 2 จริง และได้อยู่อาศัยในครอบครัวเดียวกันมาตั้งแต่เด็ก โดยช่วยเหลือทั้งเรื่องครอบครัวและธุรกิจการค้ามาโดยตลอด ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แต่งงานกับน.ส.บุษบา จริง จึงเป็นการให้ถ้อยคำที่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น และมีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นการปั้นแต่งสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1-2 ให้กับเจ้าพนักงานประเมินนั้นเป็นความเท็จอย่างชัดเจน โดยปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงไม่เป็นความผิดตามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) อุทธรณ์ของจำเลยประเด็นนี้ฟังขึ้น

**ยกฟ้อง-บริจาคเงินไทยคมบรรเทาโทษ**

ส่วนที่สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาในความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) หรือไม่ เห็นว่า กฎหมายระวางโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปีนั้นเหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายที่มีเจตนาเพื่อให้การจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่ สรรพกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งหวังให้รัฐได้รับการชำระหนี้ ซึ่งความรับผิดทางอาญาที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ จึงเป็นเพียงมาตรการเสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่านั้น อีกทั้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงนักธุรกิจ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อถูกตรวจสอบเรื่องการรับโอนหุ้นก็ยอมรับว่าได้มาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือมีชื่อเสียงเป็นผู้อิทธิพล ผู้ประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต โดยจำเลยที่ 1 เคยรับราชการมาก่อน และสร้างคุณงามความดีให้กับสังคมด้วยการบริจาคเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิไทย คม เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส

ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำจึงเห็นควรให้ลงโทษปรับด้วย โดยปรับเป็นเงิน 1 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 - 3 พิพากษายกฟ้อง

ผลคำพิพากษาที่ออกมาแม้จะถือว่าไม่เกินกว่าความคาดหมาย หลายคนไม่แปลกใจที่ศาลให้รอการลงโทษนายบรรณพจน์ แต่ที่ยังคาใจคือเหตุใด?!? เมื่อศาลเห็นว่านายบรรณพจน์ กระทำผิดจริงฐานจงใจหลีกเลี่ยงภาษีจากการโอนหุ้นชินคอร์ป แต่กลับไม่เห็นเจตนาการกระทำผิดของคุณหญิงพจมาน

อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังเหลือชั้นศาลฎีกาให้สู้กันเป็นยกสุดท้าย เมื่อคดีพลิกกลับในชั้นอุทธรณ์ได้ ไม่แปลกอะไรที่ผลคดีจะพลิกกลับไปอีกแบบในชั้นศาลฎีกา


กำลังโหลดความคิดเห็น