xs
xsm
sm
md
lg

อ่านคำพิพากษา ทำไมศาลยกฟ้อง“คุณหญิงอ้อ”เลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เดินทางมาฟังคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 54
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อ่านคำพิพากษาคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ ที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และเลขาฯส่วนตัว อีกทั้งยังลดหย่อนโทษให้กับ “บรรณพจน์” เพราะบริจาคเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิไทยคม เพื่อตอบข้อสงสัยเหตุใดศาลจึงตัดสินให้จำเลยหลุดคดีในยุคตระกูลชินวัตรเรืองอำนาจ

วันที่ 24 ส.ค. 54 ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป พี่บุญธรรม คุณหญิงพจมาน ชินวัตร(ขณะนั้น) อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้น บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้น 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งสามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 โดยจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 3 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 2 ปี

***ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าประกาศคณะปฏิรูปในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้น

ศาลเห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2551 แล้วว่าประกาศ คปค.มีผลบังคับใช้ทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเด็ดขาดใช้ได้ในคดี และมีผลผูกพันต่อศาลอุทธรณ์

***ส่วนที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่เป็นกลางและเป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นสามีของจำเลยที่ 2 นั้น

ศาลเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของจำเลยทั้งสามจะปรากฏว่าคตส.บางคนมีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจไปได้ว่า คตส.จะมีอคติ แต่ก็ไม่มีบทบัญญํติของกฎหมายกำหนดคุณสมบัติตัวบุคคลที่จะเป็นคตส.ไว้เฉพาะ และตามข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่าคตส.คนใดกระทำการส่อในทางที่เป็นกลาง หรือกลั่นแกล้งปรับปรำ และคตส.มีจำนวนมากถึง 12 คนที่มาจากหลายหน่วยงาน ดังนั้น โอกาสที่จะครอบงำหรือโน้มน้าวให้คตส.ทั้งหมดกระทำการที่ไม่เป็นกลางย่อมเป็นไปได้น้อย ขณะที่พยานหลักฐานที่คตส.นำมาตรวจสอบก็เป็นพยานในความครอบครองดูแลของป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และกรมสรรพกร

***ส่วนที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนอกฟ้องและยุติแล้วว่า กรมสรรพกรไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษี มาลงโทษจำเลยนั้น ขัดต่อประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างรับฟังได้เพียงว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานนั้นไม่ชอบ เพราะไม่ได้ออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 จึงมีผลให้กรมสรรพกรไม่อาจเรียกเก็บภาษีจากจำเลยที่ 1 ได้เท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า หุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากจำเลยที่ 2 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (10) และมาตรา 37 (2) หรือไม่ ไม่ใช่การนำข้อเท็จจริงนอกฟ้องที่ยุติแล้วมาวินิจฉัย

***สำหรับที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งด้วยว่า ในคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คตส.อ้างว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินฯ ซึ่งรวมหุ้นในคดีนี้ด้วยเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ได้จากจำเลยที่ 2 เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้นำมูลค่าหุ้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

ศาลเห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้ง 3 ยอมรับกันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหุ้นตามฟ้อง โดยเมื่อจำเลยที่ 2 ได้ยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 ที่ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว จำเลยที่ 1 ไปแจ้งการถือครองหุ้นเป็นของตน ประเด็นในคดีจึงมีอยู่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องนำมูลค่าหุ้นมาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2540 หรือไม่ อุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายเหล่านี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

***ส่วนประเด็นที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าไม่ได้ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษี และจำเลยที่ 1-2 ไม่มีความผิดฐานร่วมกันแจ้งความเท็จฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1)(2) เพราะจำเลยทั้งสามเข้าใจว่า หุ้นของบริษัทที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้น หากจะยกให้ จำเลยที่ 2 ต้องทำเป็นการซื้อขายเท่านั้น เนื่องจากจำเลยที่ 2 เคยโอนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้ชื่อ น.ส.ดวงตา และนางบุญชู เหรียญประดับ ถือไว้แทน โอนจากบัญชี น.ส.ดวงตา ไปบัญชีนางบุญชู 5 แสนหุ้น ซึ่งทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ก็สั่งจ่ายเช็คชำระราคาที่ซื้อ และรับเช็คค่าหุ้นที่ขายเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่านายหน้าให้บริษัทนายหน้าเองเช่นเดียวกับคดีนี้ กรณีจึงไม่ใช่การซื้อขายหุ้นเพื่ออำพรางหรือหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด และเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำมูลค่าหุ้นที่ได้รับจากจำเลยที่ 2 มารวมเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือ ภงด.90 ของปีภาษี 2540 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร และเข้าใจว่าหุ้นที่รับมาเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (10) ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่า เมื่อจำเลยที่ 3 มาขอเลขที่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ โดยแจ้งว่า จำนำไปซื้อขายหุ้นที่จำเลยที่ 2 เคยพูดว่าจะให้ แล้วจำเลยที่ 1 กลับไม่ได้ทักท้วงหรือสอบถามถึงเหตุผลที่ต้องทำเป็นการซื้อขายแทนการให้ จึงผิดวิสัยของผู้กระทำการโดยสุจริต แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร แต่ข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ว่า ขณะนั้น จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ย่อมต้องมีที่ปรึกษากฎหมายให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 รู้ดีว่าการโอนหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หากทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จะสามารถใช้เป็นช่องทางในการอำพรางว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินได้พึงประเมินจากการรับหุ้นดังกล่าว และจำเลยที่ 1 จงใจปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการกระทำด้วยวิธีอื่นใดที่มีเจตนาเลี่ยงภาษีตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 37 (2) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

***ส่วนประเด็น จำเลยที่ 2 ที่มีหุ้นในบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ที่มีชื่อ น.ส.ดวงตาเป็นผู้ถือครองแทน จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ให้จำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 40 ในราคาหุ้นละ 164 บาท รวมเป็นเงิน 738 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคาหุ้นทั้งหมด และค่านายหน้า รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาเดือน มี.ค. 2541 จำเลยที่ 1 ไปขอออกใบหุ้น แต่ไม่ได้นำมูลค่าหุ้นนั้นไปแจ้งเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี

ศาลเห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 2-3 เบิกความยืนยันว่าเหตุที่จำเลยที่ 2 เข้าใจว่า ต้องทำเป็นการซื้อขายหุ้นแทนการยกให้ เพราะหุ้นนั้นมีชื่อของ น.ส.ดวงตา ถือครองแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านั้น จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้เคยโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ซึ่งน.ส.ดวงตา ถือครองไว้แทนให้กับนางบุญชู ด้วยวิธีการซื้อขายทางตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกับคดีนี้ ก็ไม่มีผู้ใดทักท้วง

ขณะที่ นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด พยานโจทก์ก็เบิกความเจือสมกับจำเลยที่ 2-3 ว่าในตลาดหลักทรัพย์ มีตัวแทนถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีกฎหมายห้าม และเคยมีเจ้าของหุ้นที่แท้จริงต้องการโอนหุ้นที่มีผู้ถือแทนอยู่ในบุคคลอื่นสอบถามว่า ต้องใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งพยานให้คำแนะนำว่า ต้องทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการได้รับชำระค่าหุ้น และจะได้มีหลักฐานซื้อขายที่ชัดเจน ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนของเงินกำไรที่ได้จากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ ยังปรากฏด้วยว่าตามคำของเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ก็เห็นว่า ไม่ได้เพิ่งมาเปิดในช่วงปี 2540 เพื่อไว้ใช้ในการซื้อขายอำพรางหุ้นในคดีนี้เป็นการเฉพาะ โดยจำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มาตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2534 และน.ส.ดวงตา เปิดบัญชีมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2537 โดยประเด็นนี้นายสุวิทย์ พยานโจทก์ดังกล่าวได้เบิกความด้วยว่า บัญชีของจำเลยที่ 1 และ น.ส.ดวงตา นั้น มีการเคลื่อนไหวซื้อขายหุ้นมาโดยตลอด

ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 2 ได้ชำระค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของ น.ส.ดวงตา ที่เป็นผู้ขายหุ้นแทนนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงต้องมีหน้าที่ชำระอยู่แล้ว และเมื่อจำเลยที่ 2 ประสงค์ที่จะยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายบุญธรรม และเคยมีบุญคุณเคยอุปการะช่วยเหลืองานกันมา ซึ่งจำเลยที่ 2มีฐานะร่ำรวย มั่นคง มีทรัพย์สินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่มีฐานะเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยที่ 1 มาก โดยมูลค่านายหน้า และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมีมูลค่าเพียง 3 ล้านบาทเศษ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พี่น้องจะปฏิบัติต่อกัน ไม่ใช่เป็นข้อพิรุธสงสัย

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังและเป็นที่ยุติว่าจำเลยที่ 2 ต้องการให้หุ้นกับจำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าซื้อขายหุ้นเอง จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขายไม่มีภาระในการชำระภาษีเงินได้ที่เกิดจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17)

ส่วนที่ศาลชั้นต้น วินิจฉัยว่า เหตุที่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่ออำพรางการให้ เพราะจำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้ชำระค่าภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นจำนวนมากนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวน อีกทั้งเป็นเหตุการณ์ในอนาคต จึงไม่อาจนำมาเป็นข้อสันนิฐานเพื่อให้รับฟังเป็นผลร้ายให้กับจำเลยที่ 2 ได้ เพราะในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540 แต่จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นแบบภายในเดือนมี.ค. 2541

และเมื่อรับฟังได้ด้วยว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าหุ้นและค่านายหน้าให้กับบริษัทหลักทรัพย์นั้นก็มีเงินสดอยู่ในบัญชีอย่างเพียงพอ หากจำเลยที่ 2 มีเจตนาต้องการช่วยจำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงภาษี จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่โอนเงินที่จะต้องชำระค่าหุ้นให้จำเลยที่ 1 ผ่านบัญชีเงินฝาก แล้วให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อหุ้นดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่าการใช้วิธีการซื้อขายเพื่ออำพลางที่มีวิธีการสลับซับซ้อน และยังอาจมีผลไปถึงการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 2 อีกด้วย

ขณะที่จากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าในขณะหรือหลังจากจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงเสียภาษีแล้ว จำเลยที่ 2-3 ได้กระทำการใดๆ ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ช่วยเหลือปกปิด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2-3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 2-3 อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวฟังขึ้น

****ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิด ฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) หรือไม่

ศาลเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อประเมินภาษีไว้แล้ว แต่ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่สมบูรณ์ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินทำหนังสือเชิญจำเลยที่ 1 มาเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหลังจากวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแล้วนานกว่า 3 ปีเศษ โดยไมได้ออกหมายเรียกจำเลยที่ 1-2 และไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพกร การกระทำของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 กำหนด จึงเป็นการไต่สวนโดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1)

นอกจากนี้ การให้ถ้อยคำกับเจ้าพนักงานที่จะเป็นการให้การเท็จหรือไม่นั้น ก็จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าถ้อยคำที่ให้นั้น ไม่ได้มีอยู่จริงหรือไม่เคยมีอยู่ โดยผู้ให้ถ้อยคำนั้นเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเอง เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้จากทางนำสืบของจำเลยที่ 1-2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายบุญธรรมของจำเลยที่ 2 จริง และได้อยู่อาศัยในครอบครัวเดียวกันมาตั้งแต่เด็ก โดยช่วยเหลือทั้งเรื่องครอบครัวและธุรกิจการค้ามาโดยตลอด ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แต่งงานกับน.ส.บุษบา จริง จึงเป็นการให้ถ้อยคำที่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น และมีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นการปั้นแต่งสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น
 
 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1-2 ให้กับเจ้าพนักงานประเมินนั้นเป็นความเท็จอย่างชัดเจน โดยปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงไม่เป็นความผิดตามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) อุทธรณ์ของจำเลยประเด็นนี้ฟังขึ้น

***ส่วนที่สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาในความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) หรือไม่

ศาลเห็นว่า กฎหมายระวางโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาทน ที่ศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปีนั้นเหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายที่มีเจตนาเพื่อให้การจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่สรรพกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งหวังให้รัฐได้รับการชำระหนี้ ซึ่งความรับผิดทางอาญาที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ จึงเป็นเพียงมาตรการเสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่านั้น

อีกทั้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงนักธุรกิจ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อถูกตรวจสอบเรื่องการรับโอนหุ้นก็ยอมรับว่าได้มาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือมีชื่อเสียงเป็นผู้อิทธิพล ผู้ประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต โดยจำเลยที่ 1 เคยรับราชการมาก่อน และสร้างคุณงามความดีให้กับสังคมด้วยการบริจาคเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิไทยคม เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส

ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำจึงเห็นควรให้ลงโทษปรับด้วย โดยปรับเป็นเงิน 1 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 - 3 พิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น