xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “หญิงอ้อ” โกงภาษีชิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


โกงภาษีชินฯ ศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยพิพากษายกฟ้อง “พจมาน” และ “กาญจนาภา” เลขาฯ ส่วนตัว ส่วน “บรรณพจน์” โทษจำคุก 2 ปี รอลงอาญา อ้างเหตุบรรเทาโทษบริจาคเงินช่วยมูลนิธิไทยคมจำนวนมาก



วันนี้ ( 24 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.1149/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อายุ 64 ปี อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป พี่บุญธรรมคุณหญิงพจมาน ชินวัตร(ขณะนั้น) อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อายุ 54 ปี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน อายุ 54 ปี เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้น บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำนวน 546 ล้านบาทจากหุ้น 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งสามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 โดยจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 3 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 2 ปี

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้องและลงโทษในสถานเบา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าประกาศคณะปฏิรูปในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2551 แล้วว่าประกาศ คปค. มีผลบังคับใช้ทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเด็ดขาดใช้ได้ในคดี และมีผลผูกพันต่อศาลอุทธรณ์

ส่วนที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่เป็นกลางและเป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นสามีของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของจำเลยทั้งสามจะปรากฏว่า คตส. บางคนมีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจไปได้ว่า คตส.จะมีอคติ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดคุณสมบัติตัวบุคคลที่จะเป็น คตส.ไว้เฉพาะ และตามข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่า คตส.คนใดกระทำการส่อในทางที่เป็นกลาง หรือกลั่นแกล้งปรับปรำ และคตส. มีจำนวนมากถึง 12 คนที่มาจากหลายหน่วยงาน ดังนั้น โอกาสที่จะครอบงำหรือโน้มน้าวให้ คตส.ทั้งหมดกระทำการที่ไม่เป็นกลางย่อมเป็นไปได้น้อย ขณะที่พยานหลักฐานที่ คตส.นำมาตรวจสอบก็เป็นพยานในความครอบครองดูแลของ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และกรมสรรพกร

ส่วนที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนอกฟ้องและยุติแล้วว่า กรมสรรพกรไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีมาลงโทษจำเลยนั้น ขัดต่อประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างรับฟังได้เพียงว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานนั้นไม่ชอบ เพราะไม่ได้ออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 จึงมีผลให้กรมสรรพกรไม่อาจเรียกเก็บภาษีจากจำเลยที่ 1 ได้เท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า หุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากจำเลยที่ 2 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (10) และมาตรา 37 (2) หรือไม่ ไม่ใช่การนำข้อเท็จจริงนอกฟ้องที่ยุติแล้วมาวินิจฉัย

สำหรับที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งด้วยว่า ในคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คตส.อ้างว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินฯ ซึ่งรวมหุ้นในคดีนี้ด้วยเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ได้จากจำเลยที่ 2 เป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้นำมูลค่าหุ้นมาคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ ศาลเห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้ง 3 ยอมรับกันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหุ้นตามฟ้อง โดยเมื่อจำเลยที่ 2 ได้ยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 ที่ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว จำเลยที่ 1 ไปแจ้งการถือครองหุ้นเป็นของตน ประเด็นในคดีจึงมีอยู่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องนำมูลค่าหุ้นมาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2540 หรือไม่ อุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายเหล่านี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ส่วนประเด็นที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าไม่ได้ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีและจำเลยที่ 1-2 ไม่มีความผิดฐานร่วมกันแจ้งความเท็จฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1)(2) เพราะจำเลยทั้งสามเข้าใจว่าหุ้นของบริษัทที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้น หากจะยกให้ จำเลยที่ 2 ต้องทำเป็นการซื้อขายเท่านั้น เนื่องจากจำเลยที่ 2 เคยโอนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้ชื่อน.ส.ดวงตา และนางบุญชู เหรียญประดับถือไว้แทน โอนจากบัญชีน.ส.ดวงตาไปบัญชีนางบุญชู 5 แสนหุ้น ซึ่งทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ก็สั่งจ่ายเช็คชำระราคาที่ซื้อ และรับเช็คค่าหุ้นที่ขายเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและค่านายหน้าให้บริษัทนายหน้าเองเช่นเดียวกับคดีนี้ กรณีจึงไม่ใช่การซื้อขายหุ้นเพื่ออำพรางหรือหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด และเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำมูลค่าหุ้นที่ได้รับจากจำเลยที่ 2 มารวมเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือ ภงด.90 ของปีภาษี 2540 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร และเข้าใจว่าหุ้นที่รับมาเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (10) ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่า เมื่อจำเลยที่ 3 มาขอเลขที่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ โดยแจ้งว่าจำนำไปซื้อขายหุ้นที่จำเลยที่ 2 เคยพูดว่าจะให้แล้วจำเลยที่ 1 กลับไม่ได้ทักท้วงหรือสอบถามถึงเหตุผลที่ต้องทำเป็นการซื้อขายแทนการให้ จึงผิดวิสัยของผู้กระทำการโดยสุจริต แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร แต่ข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ย่อมต้องมีที่ปรึกษากฎหมายให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 รู้ดีว่าการโอนหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หากทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะสามารถใช้เป็นช่องทางในการอำพรางว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินได้พึงประเมินจากการรับหุ้นดังกล่าว และจำเลยที่ 1 จงใจปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการกระทำด้วยวิธีอื่นใดที่มีเจตนาเลี่ยงภาษีตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 37 (2) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่าจำเลยที่ 2-3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าจำเลยที่ 2 ต้องการยกหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ที่มีชื่อน.ส.ดวงตาเป็นผู้ถือครองแทน จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ให้จำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 40 ในราคาหุ้นละ 164 บาท รวมเป็นเงิน 738 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคาหุ้นทั้งหมดและค่านายหน้า รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาเดือนมี.ค. 2541 จำเลยที่ 1 ไปขอออกใบหุ้น แต่ไม่ได้นำมูลค่าหุ้นนั้นไปแจ้งเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 2-3 เบิกความยืนยันว่าเหตุที่จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าต้องทำเป็นการซื้อขายหุ้นแทนการยกให้ เพราะหุ้นนั้นมีชื่อของน.ส.ดวงตาถือครองแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้เคยโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ซึ่งน.ส.ดวงตาถือครองไว้แทนให้กับนางบุญชูด้วยวิธีการซื้อขายทางตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกับคดีนี้ก็ไม่มีผู้ใดทักท้วง ขณะที่นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจำกัด พยานโจทก์ก็เบิกความเจือสมกับจำเลยที่ 2-3 ว่าในตลาดหลักทรัพย์มีตัวแทนถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีกฎหมายห้าม และเคยมีเจ้าของหุ้นที่แท้จริงต้องการโอนหุ้นที่มีผู้ถือแทนอยู่ในบุคคลอื่นสอบถามว่าต้องใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งพยานให้คำแนะนำว่าต้องทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการได้รับชำระค่าหุ้น และจะได้มีหลักฐานซื้อขายที่ชัดเจน ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนของเงินกำไรที่ได้จากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ ยังปรากฏด้วยว่าตามคำของเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ก็เห็นว่า ไม่ได้เพิ่มมาเปิดในช่วงปี 2540 เพื่อไว้ใช้ในการซื้อขายอำพรางหุ้นในคดีนี้เป็นการเฉพาะ โดยจำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มาตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2534 และน.ส.ดวงตาเปิดบัญชีมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2537 โดยประเด็นนี้นายสุวิทย์ พยานโจทก์ดังกล่าวได้เบิกความด้วยว่าบัญชีของจำเลยที่ 1 และน.ส.ดวงตานั้น มีการเคลื่อนไหวซื้อขายหุ้นมาโดยตลอด

ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 2 ได้ชำระค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของน.ส.ดวงตาที่เป็นผู้ขายหุ้นแทนนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงต้องมีหน้าที่ชำระอยู่แล้ว และเมื่อจำเลยที่ 2 ประสงค์ที่จะยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายบุญธรรม และเคยมีบุญคุณเคยอุปการะช่วยเหลืองานกันมา ซึ่งจำเลยที่ 2 มีฐานะร่ำรวย มั่นคง มีทรัพย์สินกว่า 2 หมื่นล้านบาทที่มีฐานะเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยที่ 1 มาก โดยมูลค่านายหน้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมีมูลค่าเพียง 3 ล้านบาทเศษ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พี่น้องจะปฏิบัติต่อกัน ไม่ใช่เป็นข้อพิรุธสงสัย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังและเป็นที่ยุติว่าจำเลยที่ 2 ต้องการให้หุ้นกับจำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าซื้อขายหุ้นเอง จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขายไม่มีภาระในการชำระภาษีเงินได้ที่เกิดจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุที่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่ออำพรางการให้ เพราะจำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้ชำระค่าภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นจำนวนมากนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวน อีกทั้งเป็นเหตุการณ์ในอนาคต จึงไม่อาจนำมาเป็นข้อสันนิฐานเพื่อให้รับฟังเป็นผลร้ายให้กับจำเลยที่ 2 ได้ เพราะในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540 แต่จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นแบบภายในเดือนมี.ค. 2541 และเมื่อรับฟังได้ด้วยว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าหุ้นและค่านายหน้าให้กับบริษัทหลักทรัพย์นั้นก็มีเงินสดอยู่ในบัญชีอย่างเพียงพอ หากจำเลยที่ 2 มีเจตนาต้องการช่วยจำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงภาษี จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่โอนเงินที่จะต้องชำระค่าหุ้นให้จำเลยที่ 1 ผ่านบัญชีเงินฝาก แล้วให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อหุ้นดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่าการใช้วิธีการซื้อขายเพื่ออำพรางที่มีวิธีการสลับซับซ้อน และยังอาจมีผลไปถึงการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 2 อีกด้วย ขณะที่จากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าในขณะหรือหลังจากจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงเสียภาษีแล้ว จำเลยที่ 2-3 ได้กระทำการใดๆ ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ช่วยเหลือปกปิด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2-3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 2-3 อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวฟังขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิด ฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อประเมินภาษีไว้แล้ว แต่ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่สมบูรณ์ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินทำหนังสือเชิญจำเลยที่ 1 มาเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหลังจากวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแล้วนานกว่า 3 ปีเศษ โดยไม่ได้ออกหมายเรียกจำเลยที่ 1-2 และไมได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพกร การกระทำของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 กำหนด จึงเป็นการไต่สวนโดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) นอกจากนี้ การให้ถ้อยคำกับเจ้าพนักงานที่จะเป็นการให้การเท็จหรือไม่นั้น ก็จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าถ้อยคำที่ให้นั้น ไม่ได้มีอยู่จริงหรือไม่เคยมีอยู่ โดยผู้ให้ถ้อยคำนั้นเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเอง เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้จากทางนำสืบของจำเลยที่ 1-2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายบุญธรรมของจำเลยที่ 2 จริง และได้อยู่อาศัยในครอบครัวเดียวกันมาตั้งแต่เด็ก โดยช่วยเหลือทั้งเรื่องครอบครัวและธุรกิจการค้ามาโดยตลอด ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แต่งงานกับน.ส.บุษบา จริง จึงเป็นการให้ถ้อยคำที่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น และมีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นการปั้นแต่งสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1-2 ให้กับเจ้าพนักงานประเมินนั้นเป็นความเท็จอย่างชัดเจน โดยปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงไม่เป็นความผิดตามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) อุทธรณ์ของจำเลยประเด็นนี้ฟังขึ้น

ส่วนที่สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาในความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) หรือไม่ เห็นว่า กฎหมายระวางโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปีนั้นเหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายที่มีเจตนาเพื่อให้การจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่สรรพกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งหวังให้รัฐได้รับการชำระหนี้ ซึ่งความรับผิดทางอาญาที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ จึงเป็นเพียงมาตรการเสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่านั้น อีกทั้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงนักธุรกิจ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อถูกตรวจสอบเรื่องการรับโอนหุ้นก็ยอมรับว่าได้มาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือมีชื่อเสียงเป็นผู้อิทธิพล ผู้ประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต โดยจำเลยที่ 1 เคยรับราชการมาก่อน และสร้างคุณงามความดีให้กับสังคมด้วยการบริจาคเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิไทยคม เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส

ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำจึงเห็นควรให้ลงโทษปรับด้วย โดยปรับเป็นเงิน 1 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 – 3 พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว คุณหญิงพจมาน และบุตรชาย-สาว ทั้ง 3 คน นายบรรณพจน์ และน.ส.กาญจนาภา ได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ขณะที่คุณหญิงพจมาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า “ขอบคุณค่ะ” ขณะที่การฟังคำพิพากษาในวันนี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. และนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. และนพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาให้กำลังใจด้วย โดยไม่มีกลุ่มมวลชนเสื้อแดงมาที่ศาลแต่อย่างใด

ด้านนายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความของนายบรรณพจน์ กล่าวว่า จะอุทธรณ์ประเด็นที่ศาลยังคงลงโทษนายบรรณพจน์หรือไม่นั้น คงต้องกลับไปย้อนดูรายละเอียดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก่อน ส่วนอัยการโจทก์นั้นตามกฎหมายยังสามารถยื่นฎีกาได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย

ขณะที่นายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความ กล่าวว่า ถ้าจะถามว่าพอใจกับผลการพิพากษาหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังไม่พอใจ เพราะศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเพียง 2 คน ไม่ใช่ 3 คน ตามที่เราได้ตั้งประเด็นอุทธรณ์ไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อคำพิพากษาระบุว่านายบรรณพจน์มีภาระต้องเสียภาษีแล้ว จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรหรือไม่ นายวีรภัทร กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องการเสียภาษีถือว่าจบไปแล้ว เพราะการประเมินของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่ชอบ เนื่องจากเป็นการประเมินเกิน 5 ปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และจริงๆ แล้วนายบรรณพจน์พร้อมที่จะเสียภาษี และนำเงินไปวาง และเมื่อการประเมินของกรมสรรพากรไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ถือว่าเรื่องจบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ศาลรอลงอาญา เพราะเห็นว่านายบรรณพจน์มีเจตนาที่จะเตรียมเงินไปเสียภาษีโดยไม่คิดที่จะหลีกเลี่ยงแต่อย่างใด
คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร



นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำเลยที่ 1 และ นางกาญจนาภา หงส์เหิน  เลขานุการคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 3
กำลังโหลดความคิดเห็น