xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยคำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 ปี "คุณหญิงอ้อ" คดีเลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหลีกเลี่ยงการชำระภาษีหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และเลขาฯ ส่วนบรรณพจน์ ตัดสินจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี

วันนี้ (24 ส.ค.) เวลา 10.30 น.ศาลได้อ่านคำพิพากษาว่า ในประเด็นข้อสงสัยของในส่วน คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 กับนางกาญจนาภา จำเลยที่ 3 ผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีหุ้น จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยในข้อนี้ แก้โทษให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 นายบรรณพจน์ เดิมศาลชั้นต้นให้จำคุก 3 ปี ในส่วนนี้ ศาลเห็นว่าคดีแห่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายบุญธรรมของ จำเลยที่ 2 จริง ซึ่งมีการแต่งงานและได้ร่วมสร้างฐานะโดยมีจำเลยที่ 2 รับรู้จริง จึงมีเหตุฟังได้ว่า การให้จำเลยที่ 2 ให้การในคดีดังกล่าว ไม่เป็นการให้การเท็จ พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้น ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี เพิ่มโทษปรับ 1 แสน แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน อีกทั้งเคยฝากเงินสนับสนุนมูลนิธิไทยคมจำนวนมากมาโดยตลอด จึงเป็นเหตุให้บรรเทาโทษ โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

สำหรับคดีหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน อายุ 51 ปี เลขานุการส่วนตัว เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

และ โดยรู้อยู่แล้ว หรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่าหุ้น 738 ล้านบาท และภาษีที่หลีกเลี่ยงจำนวน 546 ล้านบาท อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91

ในรายละเอียดคำพิพากษาคดีดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบแล้วข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายบุญธรรมของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 2

โดยจำเลยที่ 2 มีหุ้นในบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจำเลยที่ 2 ให้ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี สาวรับใช้ถือครองหุ้นแทน ซึ่งจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น แต่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการซื้อหุ้นดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ในราคาหุ้นละ 164 บาท รวมเป็นเงิน 738 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าหุ้นแทนจำเลยที่ 1 ด้วยการสั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ภัทร และบริษัทได้สั่งจ่ายเช็คชำระค่าหุ้นให้กับ น.ส.ดวงตา แต่เช็คดังกล่าวก็ถูกนำเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารเดิม ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ได้เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายทุกขั้นตอนแทนจำเลยที่ 1 และ 2 รวมทั้ง น.ส.ดวงตา

ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2540 ซึ่งไม่ได้นำมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเพื่อประเมินภาษีเงินได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำค่าหุ้นดังกล่าวที่ได้รับจากบริษัทหลักทรัพย์ภัทรไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร ม.42 (17) และกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าการข้อยกเว้นรัษฎากรข้อ 2 (23)

หลังจากนั้นปี 2543 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบความถูกต้องของทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจำเลยที่ 1 และ ที่ 3 เคยให้ถ้อยคำต่อ อนุ ป.ป.ช.ว่า หุ้น 4.5 ล้านหุ้น จำเลยที่ 2 แบ่งให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้มีการซื้อขายแต่อย่างใด

ต่อมา ป.ป.ช.จึงมีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ กรมสรรพากรจึงมีหนังสือขอข้อมูลจาก ป.ป.ช. ไปพิจารณาจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยเข้าให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 กรมสรรพากรเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 ว่า ความจริงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นเอกสารประกอบ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 และ 30 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 1 และ 2 ยังได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 กรมสรรพากรมีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 มีครอบครัว และมีฐานะมั่นคงทัดเทียมกับพี่น้อง จึงสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 แต่งงานโดยจะให้หุ้นคดีนี้เป็นของขวัญ แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าทำงานทางการเมือง จำเป็นต้องจัดการเรื่องการบริหารให้เสร็จเสียก่อนแล้วจะมาให้หุ้นภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 มีบุตรและบุตรจะมีอายุครบ 1 ปี ซึ่งเป็นการให้เป็นของขวัญแก่ครอบครัวและบุตรของจำเลยที่ 1

ในที่สุด กรมสรรพากร พิจารณาแล้วสรุปว่าการรับโอนหุ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 4.5 ล้าน มูลค่า 738 ล้านบาท เป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม ม.42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วให้ยุติเรื่อง

ต่อมา เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้มีประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบหรือ คตส. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาการโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว เห็นว่า หุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 1 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ม.40 (2) ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ไม่ใช่การให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จึงแจ้งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้จากจำเลยที่ 1 และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 546,120,000 บาท

ส่วนคดีอาญาคณะกรรมการตรวจสอบมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องจำเลยทั้งสาม โดยถือเอาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 9 วรรค 2

***คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสาม ยกขึ้นต่อสู้ว่าประกาศ คปค.บับที่ 30 เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่จะใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมฯ ม.6 และ ม.29 เพราะเป็นบทบัญญัติให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็นองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเพียงชุดเดียว ไม่ได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป

ศาลเห็นว่า ระหว่างพิจารณาคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2551 ว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเจาะจงจึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นบทมาตราใด ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวใช้ได้ในคดีทั้งปวง เป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันศาลตามรัฐธรรมนูญ ม.211 วรรค 3 และ 216 วรรค 5 คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อนี้อีกต่อไป

***ปัญหาข้อกฎหมายต่อไปที่จำเลยทั้งสามยกขึ้นต่อสู้ว่า การที่คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องนี้ให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องขัดต่อ ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 9 วรรค 2 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้กรมสรรพากรก่อน เพื่อเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรจะได้ดำเนินการมีคำขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาต่อไป ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที 8 แต่คณะกรรมการตรวจสอบไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนดังกล่าว การสอบสวนจึงไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลเห็นว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ได้บัญญัติให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นโดยเฉพาะและในข้อ 5 (4) ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรด้วย และในข้อ 9 วรรค 2 ของประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ยังให้อำนาจและรับรองอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นพิเศษต่างไปจากอำนาจของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร ว่าเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าบุคคลใดทำผิดกฎหมายให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้น ซึ่งมีผลเท่ากับว่าหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนไม่จำเป็นต้องสอบสวนในเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบแล้ว

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่คณะกรรมการตรวจสอบต้องส่งเรื่องไปให้ดำเนินการตามกฎหมายที่ระบุไว้ในข้อ 9 วรรค 2 นั้น จึงหมายถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่นั้นจะต้องดำเนินการตามมติและผลตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบในขั้นตอนต่อไป

เมื่อคดีนี้คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าจำเลยที่ 1 หลักเลี่ยงการเสียภาษีแล้วส่งเรื่องให้กรมสรรพกรดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากจำนวนที่ 1 ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ส่วนคดีอาญา เมื่อเห็นว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดตามประมวลรัษฎากร ม.37 แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีจึงชอบแล้วและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

***ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่

ศาลเห็นว่า ตามที่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่าจำเลยที่ 2 เจตนาจะยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 แต่ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าหุ้นทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 และในที่สุดเงินค่าหุ้นจำนวนนั้นก็กลับไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯแทนจำเลยที่ 1 -2 และ น.ส.ดวงตา ในเบื้องต้นแม้การให้ผู้อื่นเป็นผู้ถือครองหุ้นแทนในตลาดหลักทรัพย์จะกระทำได้และเจ้าของหุ้นที่แท้จริงสามารถขายหุ้นนั้นได้เอง แต่คดีนี้เห็นได้ชัดแจ้งว่าพฤติการณ์การซื้อขายหุ้นตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ได้ซื้อขายกันจริงแต่เป็นการกระทำโดยลวงเพื่ออำพรางการให้ตามเจตนาที่แท้จริงจึงเป็นการกระทำโดยความเท็จ

***ปัญหาจึงมีต่อว่าการกระทำโดยความเท็จนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือไม่

ศาลเห็นว่า การซื้อขายหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นการกระทำโดยความเท็จซึ่งได้กระทำในตลาดหลักทรัพย์จึงมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ขายได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมูลหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี 2540 ส่วนมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้านบาท ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับว่า เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร เพียงแต่โต้แย้งกันว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ได้นำสืบว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับนั้นเป็นเงินได้ตาม ม.40 (2) และไม่ได้เป็นเงินได้ประเภทหนึ่งประเภทใดตาม ม.42 ที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษี จำเลยที่ 1 จึงต้องนำมูลค่าหุ้นดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540

และด้วยเหตุนี้จำเลยทั้งสามจึงได้อำพรางการให้ที่เป็นเจตนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 ด้วยการทำเป็นซื้อขายซึ่งเป็นความเท็จแทน เป็นอุบายเพื่อจะไม่มีภาระภาษีจากการซื้อขาย และเพื่อไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับนั้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีอีกด้วย จึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษี

ส่วนจำเลยทั้งสามต่อสู้ว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 รับมานั้นเป็นเงินได้ตาม ม.40 (8) และเป็นเงินได้ประเภทที่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องคำนวณเสียภาษีตาม ม.42 (10) โดยเป็นเงินที่ได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี จึงไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

***โดยศาลเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับนั้นเป็นเงินได้ประเภทที่จำเลยที่ 1 จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีหรือไม่

โจทก์มีนายกล้าณรงค์ จันทิก อนุ ป.ป.ช. การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเบิกความยืนยันว่าในการตรวจสอบทรัพย์สินได้สอบปากคำจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับหุ้นตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 2 แบ่งหุ้นให้กับจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้มีการซื้อมาแต่อย่างใดและจำเลยที่ 1 ได้ช่วยเหลือและร่วมดำเนินธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับจำเลยที่ 2 มาตลอดตั้งแต่ต้น รวมทั้งเป็นผู้กู้และผู้คำประกันให้ด้วย โดยได้มีบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 มาเป็นหลักฐานสนับสนุนด้วย ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญสอดคล้องกับคำเบิกความ เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกตรวจสอบทรัพย์สินตาม ม. 295 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งอาจมีผลทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องพ้นจากตำแหน่งและห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญ

โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างมาก ต้องเตรียมการและระมัดระวังในเรื่องที่จะให้การ อีกทั้งเป็นการ ให้การในครั้งแรกๆ ขณะที่ยังไม่ได้มีปัญหาการตรวจสอบเรื่องภาระภาษีและการดำเนินคดีนี้ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 น่าจะให้การไปตามความจริง ประกอบกับคำให้การดังกล่าวมีข้อเท็จจริงโดยละเอียดตั้งแต่ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของจำเลยที่ 1 กับครอบครัวของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีการช่วยเหลืออุปการะกันมาโดยตลอด ตั้งแต่จำเลยที่ 1 และ 2 ยังเป็นเด็กๆ เมื่อจำเลยที่ 2 กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปศึกษาที่ต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ก็ลางานตามไปดูแลช่วยเหลือและเมื่อกลับมาก็ช่วยเหลือสนับสนุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการค้าขายของจำเลยที่ 2 และ พ.ต.ท.ทักษิณ จนมีฐานะมั่นคง โดยในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาของหุ้นต่างๆ จำเลยที่ 1 ก็ให้การไว้โดยละเอียดและได้ระบุอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 แบ่งให้โดยไม่ได้มีการซื้อมา

และแม้ว่าการสอบถามจะไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการให้หุ้นในคดีนี้ แต่หากเป็นการรับเนื่องในโอกาสสำคัญของจำเลยที่ 1 โดยหุ้นมีมูลค่าจำนวนมากและเป็นการรับจากจำเลยที่ 2 ที่เป็นภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังถูกต้องข้อระแวงสงสัยและถูกตรวจสอบเกี่ยวกับการถือครองหุ้น จำเลยที่ 1 ก็น่าจะให้การถึงเหตุผลที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้เป็นหลักฐานด้วยแต่จำเลยที่ 1 นอกจากไม่ได้ให้การถึงเหตุผลในการให้ว่าเป็นเนื่องในโอกาสใดแล้ว จำเลยที่ 1 ยังให้การชัดเจนด้วยว่าเป็นการแบ่งให้ จึงเชื่อว่าที่จำเลยที่ 2 ให้หุ้นกับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการให้เนื่องในพิธี หรือตามโอกาส

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และ 2 เคยให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีกรมสรรพากร ต่างไปจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ว่าจำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้ตามธรรมจรรยาในฐานะที่ได้ร่วมก่อการ และดำเนินธุรกิจร่วมกัน และเป็นของขวัญที่จำเลยที่ 1 มีภรรยาและบุตรนั้นเป็นคำให้การที่จำเลยที่ 1 และ 2 ให้ภายหลังจากที่ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ โดยคำให้การที่จำเลยที่ 1 และ 2 พูดถึงเหตุผลการให้หุ้นนั้นน่าจะเป็นการยกข้ออ้างขึ้นใหม่เพื่อให้เข้าข้อยกเว้นตาม ม.42 (10) ที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

***ส่วนที่จำเลยที่ 1 และ 2 อ้างว่าการให้หุ้นเพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน โดยจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะยกหุ้นให้เมื่อต้นปี 2539 ในโอกาสที่จำเลยที่ 1 แต่งงาน แต่ช่วงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังยุ่งเนื่องจากจะเข้าสู่การเมืองและตั้งพรรคการเมืองใหม่จึงมายกให้ในภายหลังขณะบุตรของจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 1 ปี

ศาลเห็นว่า การอ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ว่าเป็นการแบ่งให้ โดยการอ้างว่าไม่สามารถโอนหุ้นให้ได้เพราะมีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่าจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และ 3 ได้ความว่าหุ้นตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 2 ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในนามของ น.ส.ดวงตา โดยจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ให้คำแนะนำและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รวมทั้งหุ้นแทนโดยตลอด

ดังนั้น การโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อ น.ส.ดวงตา จึงสามารถทำได้โดยจำเลยที่ 3 เพียงคนเดียว ซึ่งหากจำเลยที่ 2 จะโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 ในโอกาสการแต่งงานจริงก็สามารถทำได้ในโอกาสนั้นโดยจำเลยที่ 2 เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการเท่านั้น ไม่ได้เป็นภาระหรือเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และการจัดการเรื่องการบริหารงานตามที่อ้างแต่อย่างใด

และถึงแม้ว่าเรื่องนี้จำเลยที่ 1 และ 2 จะมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายของจำเลยที่ 2 นางสมทรง เครือไชย อาของจำเลยที่ 2 และนางบุษบา ดามาพงศ์ ภริยาของจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นประจักษ์พยานสนับสนุนว่า ร่วมรู้เห็นและได้ยินจำเลยที่ 2 พูดกับจำเลยที่ 1 และนางบุษบา ขณะเข้าไปอวยพรวันเกิดจำเลยที่ 2 ว่าจะให้หุ้นเป็นของขวัญแต่งงานก็ตาม

แต่คำเบิกความดังกล่าวนอกจากจะขัดกับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 แล้ว พยานดังกล่าวก็เป็นพี่และญาติ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 และ 2 อย่างมาก คำเบิกความจึงน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และ 2 มีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของจำเลยเรื่องนี้จึงไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้หุ้นตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 โดยการแบ่งให้ ไม่ได้เป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตาม ม. 42 (10)

*** ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีอยู่ว่าการที่จำเลยที่ 1 รับแบ่งหุ้นจากจำเลยที่ 2ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้นั้น จะถือว่าเป็นเงินได้ซึ่งได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ ธรรมจรรยา ตาม ม. 42 (10) หรือไม่

ศาลเห็นว่า แม้ประมวลรัษฎากรไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ไว้ แต่เมื่อพิจารณาความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” มีความหมายตามตัวอักษรว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนที่พึงกระทำโดยธรรม และแม้บทบัญญัติของกฎหมายจะไม่ได้มีความหมายที่จะจำกัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับรวมทั้งจำนวนที่ให้ก็ตาม แต่ตามถ้อยคำแล้วผู้รับการให้ก็จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสภาพหรือสถานะที่ควรได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนอยู่ด้วย

แต่จำเลยที่ 1 นอกจากจะไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าตนอยู่ในสภาพหรือสถานะดังกล่าวแล้วยังปรากฏจากบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าขณะที่ได้รับหุ้นนั้นจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ บมจ.ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ และเป็นกรรมการในบริษัทกลุ่มชินฯ ที่เป็นกลุ่มบริษัทที่มีกิจการและฐานะมั่นคง

นอกจากนี้ ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2540 ของจำเลยที่ 1 ก็แจ้งว่ามีเงินได้พึงประเมินจำนวน 23,554,503.53 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง โดยยังปรากฏจากบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ให้ต่ออนุ ป.ป.ช.ด้วยว่า ในปี 2540 ก่อนรับโอนหุ้นคดีนี้จำเลยที่ 1 มีหุ้นใน บมจ.ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 2,347,395 หุ้น บริษัทเอสซีแอสเสท จำกัด จำนวน 23,000,000 หุ้น และในบริษัทชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง จำนวน 6,000,001 หุ้น

และหลังจากได้รับหุ้นจำเลยที่ 1 ยังมีหุ้นเพิ่มในบริษัทต่างๆ อีกจำนวนมาก สภานภาพดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่ในสถานะที่ต้องการความช่วยเหลือเกื้อกูล และแม้ฐานะจะไม่ทัดเทียมกับพี่น้องจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีหน้าที่ธรรมจรรยาที่จะต้องอุปการะไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะมีทรัพย์สินมากเพียงใด คดีจึงฟังไม่ได้ว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นเงินได้ที่จะได้รับการเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม ม.42 (10)

*** คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือไม่

ศาลเห็นว่า การโอนหุ้นตามฟ้องมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายรวมทั้งค่าภาษีอากรแทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 2 เสียไปกับจำนวนเงินค่าภาษีอากรที่มีการรับโอนหุ้นให้ด้วยการทำเป็นการซื้อขายอำพราง กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าจงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเงินได้จากการที่จำเลยที่ 1 รับหุ้นไปจากจำเลยที่ 2 ที่มีมูลค่าจำนวนมาก โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน

ขณะที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้ดำเนินการโอนหุ้น ได้มีหน้าที่ดูแลแนะนำและดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นของจำเลยที่ 2 กับบุตรมานาน 10 ปีก่อนเกิดเหตุ อีกทั้งสามีของจำเลยที่ 3 ยังเป็นพนักงาน บมจ.หลักทรัพย์ภัทร ที่ทำการโอนหุ้นคดีนี้ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 3 ย่อมต้องมีความรู้ในเรื่องหุ้นและการโอนหุ้นเป็นอย่างดี ประกอบกับจำเลยที่ 2 และ 3 เคยเบิกความรับว่า ก่อนโอนหุ้นตามฟ้องได้ปรึกษาและให้คำแนะนำกันก่อนแล้ว

ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 รู้กันกับจำเลยที่ 2 และร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ทราบมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจำเลยที่ 2 จะให้หุ้นตามฟ้อง และเมื่อจำเลยที่ 3 มาขอเลขที่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อจะไปทำการซื้อขายหุ้นดังกล่าวซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 2 เคยบอกจำเลยที่ 1 ไว้ แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังให้ไปโดยไม่ทักท้วงหรือสอบถามถึงเหตุผลรวมทั้งการชำระค่าหุ้นจำนวนมากด้วย จึงผิดวิสัยของผู้กระทำการโดยสุจริต

***ส่วนที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่าคณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของ ป.ป.ช. ดังนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่เป็นกลางเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. แต่กรรมการตรวจสอบบางคนไม่มีความเป็นกลางเคยมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ มาก่อน

ศาลเห็นว่า เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการตรวจสอบไว้เช่เดียวกับคุณสมบัติของ ป.ป.ช.อีกทั้งการทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ก็ไม่ได้ความว่าคณะกรรมการตรวจสอบคนใดกระทำการอย่างใดที่ส่อไปในทางที่ไม่เป็นกลาง หรือกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสาม โดยคณะกรรมการตรวจสอบมีจำนวนมาถึง 12 คนซึ่งล้วนแต่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ และตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ไม่น่าจะสามารถโน้มน้าว ครอบงำให้คณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมดมาร่วมกระทำการใดที่ไม่เป็นกลางต่อการตรวจสอบคดีนี้ เพราะจะกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน ความน่าเชื่อถือ และเสี่ยงต่อการมีความผิดตามกฎหมาย

โดยที่สำคัญพยานหลักฐานการกระทำผิดตามฟ้องในคดีนี้เกิดขึ้นและมีอยู่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งจัดทำโดย ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และกรมสรรพากรเกือบทั้งหมด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของหลักฐานนั้น คดีจึงฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ในคดีนี้โดยไม่เป็นกลาง

***ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่าจำเลยที่ 1 และที่2 ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่

ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร มีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 2 ต้องการให้จำเลยที่ 1 มีครอบครัวและมีฐานะมั่นคงทัดเทียมพี่น้องจึงสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 แต่งงานและจะให้หุ้นเป็นของขวัญวันแต่งงานแต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าทำงานทางการเมือง จึงมาให้ในภายหลังเมื่อบุตรของจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 1 ปี ซึ่งปรากฏว่าคำให้การนั้นไม่เป็นความจริงดังที่ศาลวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น

การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันยกข้อที่ไม่เป็นจริงขึ้นมาอ้างเพื่อให้เข้าข้อยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสียภาษี ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จงใจแจ้งข้อความเท็จหรือให้ถ้อยคำเท็จฯเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามฟ้อง

*** จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำการเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ ซึ่งจำเลยทั้งสามนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันทำการหลีกเลี่ยงภาษีอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งที่จำนวนค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมายเทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองทุกคนจึงไม่ได้มีผลกระทบต่อฐานะจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง

*** พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลรัษฎากร ม.37 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.83 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม ม.37 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงฯ หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี ฐานโดยรู้อยู่แล้ว หรือโดยจงใจร่วมกันแจ้งข้อความเท็จฯ หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่2 คนละ 3 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น