xs
xsm
sm
md
lg

รวย ซุกหุ้น โกงภาษี ให้การเท็จ ครอบครัวตัวอย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันมะรืนนี้ (24 สิงหาคม) ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีพนักงานอัยการฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานบริษัทชินคอร์ป คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลปัจจุบัน ณ ป้อมเพชร) และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน ในข้อหา 1.ร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร 273 ล้านบาท และ 2.ร่วมกันให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีอากร

ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อ 3 ปีก่อน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ให้จำคุกทั้ง 3 คนในข้อหาแรก คนละ 2 ปี และในข้อหาที่สอง คนละ 1 ปี รวมคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง เพราะ…

“จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วย แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งๆ ที่จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้น เทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองดีทุกคน จึงมิได้มีผลกระทำต่อฐานะของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง”

นายบรรณพจน์ คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนภา วางเงินประกันตัวคนละ 5 ล้านบาท และยื่นอุทธรณ์

วันรุ่งขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อตอนต้นปี และคุณหญิงพจมานก็เดินทางไปญี่ปุ่นและจีน โดยอ้างในการขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ไปบรรยายที่ญี่ปุ่น และร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่จีน แต่ไปแล้วไปลับไม่กลับมาอีกเลย เพราะเห็นหนังตัวอย่างจากคดีนี้แล้ว ประกอบกับก่อนหน้านั้นเพียงเดือนเดียว ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกนายพิชิต ชื่นบาน ทนายความของ นช.ทักษิณ ในคดีที่ดินรัชดาฯ กับพวกอีก 2 คนๆ ละ 6 เดือนข้อหาละเมิดอำนาจศาลกรณีหิ้วถุงขนมบรรจุเงิน 2 ล้านบาทไปฝากเจ้าหน้าที่ศาล

คุณหญิงพจมานเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนธันวาคมปี 2551 หลังจาก 2 เดือนก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาในคดีที่ดินรัชดาฯ จำคุก นช.ทักษิณคนเดียว แต่ยกฟ้องเมีย

คดีนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ คดีที่มีหุ้นชินคอร์ปเป็นหัวใจของเรื่อง ที่ผัวและเมีย พ่อและแม่ พี่ชายและพี่สะใภ้ ปกปิด ซุกซ่อนการถือครองหุ้นที่รัฐธรรมนูญห้ามผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมืองถือหุ้นที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ แต่ด้วยนิสัยที่ไม่เคารพกฎหมาย จึงเอาหุ้นไปซุกไว้กับคนใช้ คนขับรถ ไปซ่อนไว้กับลูกชาย ลูกสาว พี่ชายกับน้องสาว เมื่อถูกจับได้ก็ช่วยกันโกหกให้การเท็จต่อศาลว่าเป็นหุ้นของตัวเอง แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาได้ ศาลจึงเห็นว่า โกหกจนกลายเป็นชนักติดหลังนายกรัฐมนตรีโคลนนิ่งคนแรกของโลกอยู่ในขณะนี้

สำหรับคดีนี้ ไม่ใช่เรื่องซุกหุ้น แต่เป็นเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ 273 ล้านบาท ที่นายบรรณพจน์และ/หรือคุณหญิงพจมาน ต้องจ่ายให้รัฐ จากการที่คุณหญิงพจมานโอนหุ้น ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น หรือชินคอร์ป ในปัจจุบัน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้นายบรรณพจน์


วิธีการก็คือ อำพรางว่าเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ เมือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ความจริงแล้วเป็นการซื้อขายหลอกๆ เพราะคุณหญิงพจมาน ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ขาย จ่ายเช็คมูลค่า 738 ล้านบาท เป็นค่าหุ้น 4.5 ล้านหุ้น ให้ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ที่เป็นนอมินีถือหุ้นแทน หลังจากนั้นจ่ายต่อให้บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ซึ่งเป็นโบรกเกอร์

ต่อมา บล.ภัทร จ่ายเช็คมูลค่า 730 ล้านบาท เป็นค่าขายหุ้นให้ น.ส.ดวงตา ซึ่งนำไปเข้าบัญชีคุณหญิงพจมาน จำนวนเงินที่ต่างกัน 7.3 ล้านบาทนั้นคือค่านายหน้าที่ บล.ภัทรหักไว้ ซึ่งถือว่าคุ้ม เพราะประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายให้แผ่นดินถึง 273 ล้านบาท

นอกจากเส้นทางเดินของเงินจะเป็นหลักฐานว่า คุณหญิงพจมานไม่ได้ขายหุ้นให้นายบรรณพจน์จริงแล้ว ตัวของนายบรรณพจน์ กับนางกาญจนภาเอง ไปให้กับการต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งที่ นช.ทักษิณถูกสอบเรื่องการซุกหุ้น ปี 2544 ว่า หุ้น 4.5 ล้านหุ้นนี้ เป็นหุ้นที่ คุณหญิงพจมาน “แบ่งให้” เป็นการตอบแทนที่ช่วยเหลือดูแลธุรกิจให้

เมื่อถูกจับได้ว่าเป็นการให้ ไม่ใช่ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ วิธีการที่จะไม่ต้องเสียภาษี คือ ทำให้เป็นการให้แบบไม่ต้องเสียภาษี คือ ให้โดยเสน่หา ตามธรรมเนียมประเพณีและธรรมจรรยาของสังคมไทย ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

แต่ศาลไม่เชื่อ เพราะนายบรรณพจน์ให้การว่า น้องสาวยกหุ้นให้ ในโอกาสที่แต่งงานมีครอบครัว แต่วันที่โอนหุ้นให้เลยวันแต่งงานไปแล้ว 1 ปี ขณะที่คุณหญิงพจมานให้การว่า ที่ให้ล่าช้า เพราะ นช.ทักษิณกำลังยุ่งกับการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ในขณะที่ศาลเห็นว่า หุ้นก็มีอยู่แล้วในชื่อ น.ส.ดวงตา คนที่จะจัดการเป็นธุระเรื่องโอนหุ้นก็มีอยู่แล้ว คือ นางกาญจนาภา จำเลยที่ 3 คุณหญิงไม่ต้องทำเอง หากจะโอนหุ้นให้เป็นของขวัญในโอกาสนายบรรณพจน์แต่งงานก็สั่งให้นางกาญจนาภาทำได้ทันทีเลย ไม่เห็นจะต้องล่วงเลยมาถึงหนึ่งปี

นอกจากนั้น นายบรรณพจร์มีฐานะมั่นคงมีรายได้ปีละหลายร้อยล้าน การอ้างว่ายกหุ้นให้เป็นการอุปการคุณ จึงฟังไม่ขึ้น เพราะรวยอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีคำพิพากษาฎีกาหลายคดีที่พิจารณาถึงฐานะของผู้รับอุปการคุณ เป็นสำคัญด้วย

ศาลจึงเห็นว่า เป็นการให้การเท็จเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีอากร จึงมีความผิด ต้องจำคุกคนละ 3 ปี

ก่อนที่ศาลอาญาจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ผู้พิพากษาได้กล่าวอารัมภบทว่า

“เป็นที่น่าเสียใจว่า สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันทำให้ประชาชนมีการแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องแก้ไข แต่เมื่อมีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลยุติธรรมซึ่งเป็นคนกลางมีอำนาจชี้ขาด ขอให้ประชาชนวางใจได้ว่า ศาลจะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย แม้แต่คดีนี้ศาลได้ประชุมปรึกษาการพิจารณาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานจากสำนวน ไม่มีอคติ ไม่มีกระแสฝ่ายใดมากดดัน ผลของคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรหากคู่ความไม่พอใจ สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ตามกฎหมาย”

วันมะรืนนี้ หากจำเลยทั้งสามมาศาลครบทุกคน ศาลก็จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนี้ เดิมก็น่าสนใจอยู่แล้ว เมื่อ นช.ทักษิณ ที่มักจะดูหมิ่น เหยียดหยามกระบวนการยุติธรรมว่า เป็นศาลมิกกี้เมาส์ กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ก็ยิ่งน่าจับตาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะออกมาอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น