“ทนายบรรณพจน์-หญิงอ้อ” รอลุ้นฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป 546 ล้าน เช้า 24 ส.ค.นี้ ยันหากพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 3 ปี พร้อมยื่นฎีกาสู้คดีต่อ ชี้เจตนาบริสุทธิ์ไม่คิดแจ้งข้อมูลเท็จ
วันนี้ (21 ส.ค.) นายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ มูลค่า 546 ล้านบาทเศษว่า ขณะนี้ตนได้ประสานกับนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร จำเลยที่ 2 แล้วในการเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น.ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อย่างไรก็ดี หากจะมีเหตุจำเป็นจริงๆ ที่จะทำให้คู่ความเดินทางมาฟังคำพิพากษาไม่ได้ ก็ต้องแจ้งขออนุญาตต่อศาลในวันดังกล่าว ซึ่งขณะนี้คู่ความยังไม่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงการเดินทางมาศาลแต่อย่างใด
เมื่อถามว่าหากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามชั้นต้นให้จำคุกคนละ 3 ปี จะยื่นฎีกาหรือไม่ เพียงใด นายเมธา ทนายความกล่าวว่า หากศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจริง เราก็ยังสามารถยื่นฎีกาได้ทั้งในการโต้แย้งประเด็นข้อเท็จจริง และประเด็นข้อกฎหมาย เพียงแต่หากจะมีการโต้แย้งในประเด็นข้อเท็จจริงจะต้องให้มีผู้พิพากษา หรืออัยการ ลงชื่อรับรอง ซึ่งเราจะต้องยื่นฎีกาแน่นอนหากศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เพราะเรายืนยันในความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้เจตนากระทำผิดด้วยการแสดงข้อมูลเท็จใดๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ต่อศาลอาญา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่าหุ้น 738 ล้านบาท และภาษีที่หลีกเลี่ยงจำนวน 546 ล้านบาท อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91
โดยศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.51 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 - 2 ตามประมวลรัษฎากร ม.37 (1) (2) คนละ 3 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 ปี ขณะที่จำเลยทั้งสาม ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีคนละ 5 ล้านบาท หลังจากยื่นหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน คนละ 8 ล้านบาท ขอประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประคนละ 5 ล้านบาท
คดีนี้ในส่วนท้ายคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ระบุความผิดชัดเจนว่า"จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วย แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งๆ ที่จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้น เทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองดีทุกคน จึงมิได้มีผลกระทำต่อฐานะของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง"