xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บทสรุปอีเมล “วิม” พิสูจน์ชัด“เพื่อไทย”เลี้ยงสื่อ พิสูจน์ชัด “เครือมติชน”รับใช้ระบอบทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ผมพยายามประคองกระแสให้ข่าวและรูปของคุณปูอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ให้ได้ทุกวัน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสี ไทยรัฐ (พี่โมทย์) มติชน (พี่เปียก กับ พี่จรัญ) ข่าวสด (พี่ชลิต) เดลินิวส์ (พี่ป๊อป สมหมาย) คม-ชัด-ลึก (คุณโจ้ และ ปรีชา ที่มาสัมภาษณ์ ที่บ้านเมื่อสัปดาห์ก่อน) ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ผมช่วยดูแลไปแล้วที่ละ 2 หมื่น ส่วนผู้สื่อข่าว ทีวี ก็ใช้วิธีเลี้ยงข้าวบ้าง เลี้ยงเหล้าบ้าง ยังไม่ได้มีใครเรียกร้องอะไร ยกเว้นช่อง 7 ที่ขอไวน์และเหล้า ส่วนเวลาไปต่างจังหวัด พี่สุณีย์ ก็ให้บ้าง ส่วนที่พรรคไม่เคยให้เลย เคยบอกพี่สาโรจน์ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ”

เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลายคนคงยังจำกันได้กับกรณีอีเมล 2 ฉบับที่ใช้หัวข้อว่า “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” และ “ข้อเสนอ วิม” เพราะถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องเพราะพาดพิงถึงการทำหน้าที่ของสื่อหนังสือพิมพ์หลายสังกัดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้เงินและให้ผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

ที่สำคัญคือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับสินบนจากพรรคการเมืองในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และขณะนี้ได้จัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ นั่นก็คือพรรคเพื่อไทย

ด้วยเหตุดังกล่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้มีผลสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ รายงานของคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วย 1.นพ.วิชัย โชควิวัฒน 2.นางบัญญัติ ทัศนียะเวช 3.รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษณ์ 4.ศ.พิเศษสิทธิโชค ศรีเจริญ และ 5.ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ซึ่งมีความยาวราว 19 หน้า ปรากฏข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในหลายประการด้วยกัน

กล่าวคือเป็นรายงานที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการบริหารจัดการสื่อที่ตอกหน้าพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เด็จพี่” นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่พยายามบิดเบือนข้อเท็จ ด้วยการอ้างว่า เป็นผลงานการส่งอีเมลของกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำลายภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง “นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย คนสนิทของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ที่ยืนยันตลอดว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งปฏิเสธเรื่องการขอไวน์ หรือเรื่องการขอเงินสด

และที่สำคัญที่สุดคือเป็นรายงานที่ลอกคราบตัวตนที่แท้จริงของหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือมติชน

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจประเด็นแรกคือ บรรดาชื่อย่อที่ปรากฏในอีเมลฉบับดังกล่าวเป็นใคร สังกัดหน่วยงานไหน และต้นสังกัดมีปฏิกิริยาต่อเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร

รายงานของคณะอนุกรรมการฯ ระบุชัดเจนว่า ได้เชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงตามข่าวจำนวน 7 คนมาให้ข้อมูล แต่ได้รับความร่วมมือในการเดินทางมาให้ข้อมูลเพียง 4 ราย ได้แก่(ชื่อในวงเล็บคือชื่อที่ถูกพาดพิงในอีเมล)

1.นางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล(คุณโจ้) บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น

2.นายปรีชา สะอาดสอน(ปรีชา) บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สำนักข่าวเนชั่น

3.นายสมหมาย ยาน้อย(พี่ป๊อป สมหมาย) หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

และ 4.นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ(พี่โมทย์) หัวหน้าข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ส่วนอีก 3 คนที่ถูกพาดพิงเป็นผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ไม่ได้มาให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการคือ นายจรัญ พงษ์จีน(พี่จรัญ) นายทวีศักดิ์ บุตรตัน(พี่เปี๊ยก) และนายชลิต กิติญาณทรัพย์(พี่ชลิต) โดยค่ายมติชนมีหนังสือยืนยันกลับมาว่า บุคลากรของกองบรรณาธิการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอีเมลดังกล่าวและไม่มีพฤติกรรมตามที่ปรากฏในอีเมลแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับนายวิมที่ให้แค่ข้อมูลเบื้องต้นแก่คณะอนุกรรมการทางโทรศัพท์ โดยให้เหตุผลว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มา

ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นที่สองก็คือ ผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ ที่ยืนยันถึงคำโกหกและคำบิดเบือนของพรรคเพื่อไทย ทั้งตัวนายวิมและนายพร้อมพงศ์

ทั้งนี้ ถ้ายังจำกันได้ นายพร้อมพงศ์อ้างว่า มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่ได้ขโมยรหัสลับในการเข้าสู่อีเมล ขณะที่นายวิมอ้างว่า เป็นบัญชีที่เปิดไว้เป็นอีเมลสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนเข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรค แต่ผลการตรวจสอบพบว่า อีเมลดังกล่าวไม่ได้เป็นบัญชีสาธารณะ เพราะถ้าเป็นบัญชีสาธารณะจริงก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขโมยรหัสลับในการเข้าไปใช้แต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่า ทีมงานโฆษกพรรคเพื่อไทยคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน น่าจะได้ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงต่อสาธารณะ

เพราะหากจะเปิดอีเมลไว้ใช้เป็นสาธารณะก็น่าจะใช้ชื่อบัญชีกลางๆ ไม่ใช่ชื่อบัญชีของตน นอกจากนี้ เมื่อคณะอนุกรรมการฯ ขอรหัสผ่ายของอีเมลดังกล่าว ก็ปรากฏว่า นายวิมไม่ได้ให้ ทั้งๆ ที่จากคำพูดของนายวิมซึ่งเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้เขาได้ให้รหัสผ่านแก่สื่อมวลชนจำนวนมาก ซึ่งจากการสอบถามนักข่าวที่ทำข่าวประจำพรรคเพื่อไทยของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งก็ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยได้จัดคอมพิวเตอร์ในการใช้งานอย่างเป็นระบบ การจะเข้าไปใช้ต้องมีการ์ด และนักข่าวไม่สามารถใช้อีเมลของนายวิมได้ตามที่กล่าวอ้าง

ที่สำคัญคือผู้ถูกพาดพิงที่มาให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการฯ เชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง โดยจำนวนนี้บางรายได้โทรศัพท์ไปหานายวิมและนายวิมได้กล่าวคำขอโทษ โดยจากคำขอโทษดังกล่าวทำให้บุคคลนั้นเชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง

และประเด็นที่น่าสนใจสุดท้ายก็คือ ความโน้มเอียงในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนแต่ละฉบับ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ โดยการสนับสนุนของทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อได้วิเคราะห์เนื้อหาใน 5 ส่วนของหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่ถูกพาดพิงเป็นข่าวคือ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์และคมชัดลึก ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-3กรกฎาคมโดย ค้นพบข้อมูลน่าสนใจดังต่อไปนี้

หนึ่ง-ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ : พบว่า หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพขาวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะข่าวสดและมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมาก นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และข่าวสดมีความคล้ายกันมาก โดยภาพข่าวในหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และคมชัดลึก ขณะเดียวกันยังพบว่า ภาพข่าวทั้งหมดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมดคือ เชิงบวกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของนายอภิสิทธิ์ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก

สอง-พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง : ข่าวสด มติชนและไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับมักใช้การพาดหัวข่าวในการกำหนดประเด็นข่าว ซึ่งอาจชี้นำความคิดผู้อ่านให้เอนเอียงไปในทางที่โจมตีนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ และสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย โดยกรณีของข่าวสดนั้นมีความชัดเจนที่สุด

สาม-บทสัมภาษณ์พิศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว : ผลการศึกษาพบว่า มติชนให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึง 4 ครั้งคือ การสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในขณะที่มีการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 ครั้งคือ การสัมภาษณ์นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์และนายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้สัมภาษณ์ของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่แปลบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอบีซีนิวส์โดยลงเนื้อหาทั้งหมดที่ไม่มีการตัดทอน ส่วนไทยรัฐและเดลินิวส์ไม่มีบทสัมภาษณ์พิเศษของพรรคการเมือง

สี่-คอลัมน์การเมือง : ข่าวสดมีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับข่าวสด และห้า-โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ : พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งลงโฆษณา 18 หน้าสี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทมติชนเท่านั้นคือ ข่าวสด มติชนและประชาชาติธุรกิจ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ลงโฆษณาใน 5 ฉบับคือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์และคมชัดลึก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ที่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ทั้ง 4-5 ฉบับ ทั้งนี้ไม่พบโฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2554
“จากพยานหลักฐานต่างๆ ที่ได้จากการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการ มีข้อสรุปว่า อีเมลที่เป็นปัญหานน่าจะส่งมาโดยบัญชี (Account) และรหัสผ่าน (Password) ของนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และเชื่อได้ว่า นายวิม น่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมลฉบับดังกล่าวเอง ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งนี้ ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยน่าจะมีการบริหารจัดการสื่อมวลชน ทั้งในระดับองค์กร และระดับบุคคลอย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการประสานประเด็นข่าวกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในระดับต่างๆ ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์ เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ที่มีความสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า พรรคเพื่อไทยอาจมีการดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกพาดพิง ได้นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้ง โดยมีความเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การบรรยายประกอบภาพ และนำเสนอข่าวและบทความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย”

“อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการให้สินบนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตามเนื้อหาอีเมลดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เมื่อได้ตรวจสอบบทความที่ผู้ถูกพาดพิงแต่ละคนนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดแล้ว เชื่อว่า ผู้ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว” นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น