ASTVผู้จัดการ - เปิดรายละเอียดผลสอบ “เพื่อไทย” ซื้อสื่อ 3 นักข่าวเครือมติชน เมินให้ข้อมูล แค่ให้ บก.ส่งหนังสือแจง อ้างจะบรรเทาผลกระทบเอง จับพิรุธ “วิม” ให้สัมภาษณ์ขัดแย้งโฆษกพรรค อ้างอีเมลเปิดกว้างให้เช็กกำหนดการหาเสียง แต่นักข่าวสายเพื่อไทย ยันใช้อีเมลวิมไม่ได้ ผงะ “ข่าวสด-มติชน-ไทยรัฐ” เสนอข่าวเอียงข้าง “ยิ่งลักษณ์” ชัดเจน พบเพื่อไทยทุ่มลงโฆษณาเฉพาะเครือมติชน
วันนี้ (17 ส.ค.) หลังจากที่คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมือง ระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เว็บไซต์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้เผยแพร่ “รายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งเป็นเอกสารดิจิตอลจำนวน 19 หน้า
เนื้อหาบางตอนในเอกสารดังกล่าว ระบุว่า แนวทางการตรวจสอบโดยได้กำหนดประเด็นอีเมลที่ปรากฏตามข่าวเป็นของใคร หนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างไรในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงมีการกระทำตามที่ปรากฏในอีเมลหรือไม่ และมีการจ่ายสินบนตามข้อกล่าวหาในอีเมลจริงหรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการได้เชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงตามข่าวจำนวน 7 คน และผู้แทนเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ในฐานะผู้เผยแพร่ข่าวดังกล่าวเป็นที่แรกมาให้ข้อมูล
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ 5 คน ได้ให้ความร่วมมือในการมาให้ข้อมูล ได้แก่ นางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น, นายปรีชา สอาดสอน บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สำนักข่าวเนชั่น, นายสมหมาย ยาน้อย หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ นสพ.เดลินิวส์, นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ หัวหน้าข่าวการเมือง นสพ.ไทยรัฐ และ นายนิรันดร์ เยาวภาว์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
• 3 นักข่าวเครือมติชนหลบให้ข้อมูล-จับโกหกคนชื่อ “ชลิต”
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้ถูกพาดพิงจำนวน 3 คนในเครือมติชน คือ นายจรัญ พงษ์จีน (ในอีเมลระบุ “พี่จรัญ”) นายทวีศักดิ์ บุตรตัน (หรือ “พี่เปี๊ยก”) และ นายชลิต กิติญาณทรัพย์ (หรือ “พี่ชลิต”) ไม่ได้มาให้ข้อมูล โดยบรรณาธิการ นสพ.มติชน ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ส่วน นสพ.ข่าวสด ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดชื่อ “ชลิต” ในกองบรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด และข้อมูลที่เผยแพร่เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง
ในภายหลังคณะอนุกรรมการ ทราบว่า นายชลิต เขียนบทความใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเช่นเดียวกับ นสพ.ข่าวสด จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอทราบข้อมูลการตรวจสอบจากบรรณาธิการ นสพ.มติชน อีกครั้ง พร้อมกับเชิญ นายจรัญ นายทวีศักดิ์ และนายชลิต มาให้ข้อเท็จจริง แต่ได้รับการตอบกลับจากบรรณาธิการ นสพ.มติชน ว่า บุคลากรของกองบรรณาธิการไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีเมลดังกล่าว และไม่มีพฤติกรรมที่ปรากฏในอีเมลแต่อย่างใด และเห็นว่า เป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อแต่ละฉบับที่ถูกพาดพิงจะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเอง ส่วน นายจรัญ นายทวีศักดิ์ และ นายชลิต ก็ไม่ได้มาให้ข้อเท็จจริงและไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการ ยังได้เชิญ นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย มาให้ข้อมูลด้วย ซึ่ง นายวิม ได้ตอบรับที่จะมาให้ข้อมูลในวันที่ 10 ก.ค.แต่เมื่อถึงวันดังกล่าว นายวิม ได้แจ้งยกเลิก โดยอ้างว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มา เนื่องจากเกรงว่า ผลการตรวจสอบอาจจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อพรรค ขอให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งก่อน อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากนายวิม ทางโทรศัพท์ในวันดังกล่าว ต่อมาเมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คณะอนุกรรมการติดต่อ นายวิม อีกครั้งหนึ่ง แต่ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ฝ่ายกฎหมายแนะนำไม่ให้มา เนื่องจากได้เกิดการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวไปยัง กกต.แล้ว
• “วิม-เด็จพี่” ให้สัมภาษณ์ขัดกันเอง ขโมยรหัสลับเป็นไปไม่ได้
ในรายงานระบุต่อมาว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการมีความเห็นว่า อีเมลดังกล่าวน่าจะส่งมาโดยใช้บัญชี (Account) และรหัสผ่าน (Password) ของนายวิม จริง เนื่องจากหลังเป็นข่าวนายวิม ไม่ได้ปฏิเสธ แต่อ้างว่า เป็นบัญชีที่เปิดไว้เป็นอีเมลสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรค ขัดกับคำกล่าวอ้างของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ว่า มีความพยายามของคนบางกลุ่มขโมยรหัสลับในการเข้าสู่อีเมล แต่หากอีเมลดังกล่าวเป็นบัญชีสาธารณะจริง ก็ย่อมไม่จำเป็นที่จะขโมยรหัสลับในการเข้าไปใช้แต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่า ทีมงานโฆษกพรรคเพื่อไทยคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน ให้ข้อมูลไม่เป็นความจริงต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ เชื่อได้ว่า นายวิม น่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมลฉบับดังกล่าวเอง ด้วยเหตุผลคือ เนื้อหาในอีเมลส่วนใหญ่มีความเป็นเหตุผลและตรงกับข้อเท็จจริงที่บุคคลในตำแหน่งในตำแหน่งของนายวิมน่าจะรับรู้ ซึ่งเนื้อหาหลายส่วนน่าจะเป็นเรื่องที่นายวิม หรือทีมงานเท่านั้นที่อยู่ในฐานะล่วงรู้ข้อมูลได้ นอกจากนี้ บทบาทของนายวิมตามอีเมลดังกล่าวที่ช่วยแจ้งประเด็น เช็กประเด็นจากสื่อมวลชน สร้างประเด็นหรือภาพกิจกรรม ประสานสื่อมวลชน ตลอดจนเตรียมประเด็นแถลงข่าวให้ผู้บริหารของพรรค ก็น่าจะสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของนายวิมในฐานะรองโฆษกพรรค และตรงกับข้อเท็จจริง เช่น กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายกีฬาของพรรค
• ตั้งชื่ออีเมลตัวเองให้สื่อผิดวิสัย-นักข่าวยันเข้าอีเมลวิมไม่ได้ตามอ้าง
ประการต่อมา ภาษาที่ใช้ในอีเมลกลมกลืนกันเหมือนเขียนด้วยคนเดียว วิธีเรียกชื่อสื่อมวลชนในอีเมลดังกล่าวก็สอดคล้องกับวิธีที่นายวิมใช้เรียกบุคคลเหล่านั้น ส่วนข้ออ้างของนายวิมที่กล่าวว่า อีเมลดังกล่าวเปิดไว้เพื่อใช้โดยสาธารณะสำหรังสื่อมวลชนและผู้สื่อข่าว ไม่น่าจะสมเหตุสมผล เนื่องจากผิดปกติวิสัยในการใช้อีเมลของคนทั่วไป หากจะเปิดอีเมลไว้ใช้ในสาธารณะก็น่าจะใช้ชื่อบัญชีกลางๆ ไม่ใชื่อบัญชีของตน นอกจากนี้ เมื่อคณะอนุกรรมการ ขอรหัสผ่านปรากฏว่า นายวิม ก็ไม่ได้ให้ ทั้งๆ ที่นายวิมพูดว่าเขาได้ให้รหัสผ่านแก่สื่อมวลชนจำนวนมาก และจากการสอบถามนักข่าวที่ทำข่าวประจำพรรคเพื่อไทยของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยได้จัดคอมพิวเตอร์ในการใช้งานอย่างเป็นระบบ การจะเข้าไปใช้ต้องมีการ์ด และนักข่าวไม่สามารถใช้อีเมลของนายวิมได้ตามที่กล่าวอ้าง
ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงหลายคนที่มาให้ถ้อยคำเชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง โดยบางรายได้โทรศัพท์ไปหานายวิม และนายวิม ได้กล่าวคำขอโทษ โดยจากคำขอโทษดังกล่าวทำให้บุคคลนั้น เชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง และประการสุดท้าย นายวิม กล่าวกับคณะอนุกรรมการทางโทรศัพท์ ระบุว่า “ไม่แน่ใจ แต่ทางพรรคน่าจะลบ (อีเมล) หรือไม่ก็บล็อก (บัญชีอีเมล) ไปแล้ว” ทั้งที่ไม่ควรมีเหตุผลต้องลบเพื่อทำลายหลักฐานดังกล่าว เนื่องจากนายวิม เคยกล่าวว่า “ทีมกฎหมาย (ของพรรคเพื่อไทย) จะต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากเรื่องนี้” และเนื่องจากบัญชีอีเมลดังกล่าวเป็นของนายวิมเอง ซึ่งต้องใช้เป็นประจำ จึงสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าได้มีการลบหรือบล็อกไปแล้วหรือไม่ โดยไม่ต้องคาดเดา จึงอาจเกี่ยวข้องกับความพยายามในการปกปิดข้อมูลบางประการ
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการไม่สามารถตรวจสอบให้เรื่องดังกล่าวเกิดความกระจ่างโดยปราศจากข้อสงสัยได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะแสวงหาพยานหลักฐาน และไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกพาดพิงบางรายจึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายในการแสวงหาหลักฐานต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการฟ้องร้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลตามที่ผู้ถูกพาดพิงบางคนกล่าวว่าอาจจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทต่อผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหาย
• พบ “ไทยรัฐ-มติชน-ข่าวสด” เอียงข้างยิ่งลักษณ์ชัดเจน
คณะอนุกรรมการโดยการสนับสนุนของทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อ ได้สำรวจและวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่ถูกพาดพิงเป็นข่าว คือ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก ในระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-3 ก.ค.2554 โดยศึกษาเนื้อหาใน 5 ส่วน ได้แก่ ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ, พาดหัวข่าว/ความนำ ประเด็นข่าวและการเรียงลำดับประเด็นข่าว, บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว, คอลัมน์การเมือง และ โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ โดยในกรณีของการลงโฆษณาจะศึกษาหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจด้วย ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวให้ข้อค้นพบดังต่อไปนี้
1.ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ พบว่า หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพข่าวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะข่าวสด และมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยมาก และมีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และ ข่าวสด มีความคล้ายกันมาก มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ คมชัดลึก นอกจากนี้ ภาพข่าวทั้งหมดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ เชิงบวก และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของ นายอภิสิทธิ์ ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก
2.พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง ข่าวสด มติชน และ ไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจน ว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับ มักใช้การพาดหัวข่าวในการกำหนดประเด็นข่าว ซึ่งอาจชี้นำความคิดผู้อ่านให้เอนเอียงไปในทางที่โจมตีนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ และสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย โดยกรณีของข่าวสดนั้นมีความชัดเจนที่สุด
3.บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว ผลการศึกษาพบว่า หนังสือพิมพ์มติชน ให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึง 4 ครั้ง คือ การสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในขณะที่มีการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 ครั้ง คือ การสัมภาษณ์ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และ นายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางนัก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้สัมภาษณ์ของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่แปลบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอบีซีนิวส์ โดยลงเนื้อหาทั้งหมดที่ไม่มีการตัดทอน ส่วน ไทยรัฐ และ เดลินิวส์ ไม่มีบทสัมภาษณ์พิเศษของพรรคการเมือง
4.คอลัมน์การเมือง หนังสือพิมพ์ข่าวสด มีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับหนังสือพิมพ์ข่าวสด
• แฉเพื่อไทยทุ่มซื้อหน้าโฆษณาเฉพาะเครือมติชน
5.โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลงโฆษณา 18 หน้าสี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทย ลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทมติชนเท่านั้น คือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และ ประชาชาติธุรกิจ (12, 12 และ 5 หน้าตามลำดับ) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ลงโฆษณาใน 5 ฉบับ คือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ที่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ทั้ง 4-5 ฉบับ ทั้งนี้ ไม่พบโฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2554
จากผลการศึกษาดังกล่าว เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทย น่าจะมี “การบริหารจัดการสื่อมวลชน” อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการสร้างและประสานประเด็นข่าว ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า พรรคเพื่อไทย อาจมีการ “ดูแล” ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย
• ไม่ฟันนักข่าวถูกพาดพิง อ้างหลักฐานน้อย-กังขา “ปรีชา-โจ้” ไม่แตะ “วิม”
ส่วนการตรวจสอบเนื้อหาข่าว หรือบทความที่ผู้ถูกพาดพิงเขียนลงในหนังสือพิมพ์ต้นสังกัด พบว่า นายปราโมทย์ ซึ่งเขียนคอลัมน์วิเคราะห์ข่าวการเมือง วันอาทิตย์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พบว่า มีเนื้อหาที่ค่อนข้างมีความสมดุลกว่าคอลัมน์เดียวกันของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในวันอื่นๆ ด้าน นายสมหมาย ที่เขียนคอลัมน์สังคม หน้า 5 ประจำวันเสาร์ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยใช้นามปากกาว่า “อันดามัน” แม้จะพบว่า ข้อเขียนที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวมักสนับสนุน น.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ผู้สมัคร ส.ส.เขตจตุจักร ของพรรคเพื่อไทย และพบข้อเขียนที่เสียดสีนายอภิสิทธิ์บ้างก็ตาม ผู้เขียนก็เคยวิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนเสื้อแดงอย่างมีเหตุผลด้วยเช่นกัน
ขณะที่ นายชลิต พบบทความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในช่วงเวลาที่ศึกษาเพียงบทความเดียว แม้จะมีเนื้อหาที่อาจแสดงถึงความโน้มเอียงบางประการ แต่บทความที่เกี่ยวข้องที่คณะอนุกรรมการ พบในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเกินไป ส่วน นายทวีศักดิ์ พบบทความในคอลัมน์ “เดินหน้าชน” เพียง 2 บทความ แม้จะมีเนื้อหาโจมตี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอาจแสดงถึงความโน้มเอียงบางประการของนายทวีศักดิ์ ก็ตาม แต่บทความที่เกี่ยวข้องที่คณะอนุกรรมการ พบในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเกินไปเช่นกัน ส่วนบทความในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ก็มีเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
สำหรับ นายจรัญ พบว่า คอลัมน์ “ลึกแต่ไม่ลับ” ในหนังสือพิมพ์มติชน สุดสัปดาห์ มีเนื้อหาค่อนข้างมีความสมดุล รอบด้าน โดยเนื้อหาส่วนมากเน้นการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่วนคอลัมน์ “เรียงคนมาเป็นข่าว” ในหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งใช้นามปากกา “พลุน้ำแข็ง” นั้นนำเสนอข้อมูลตามข่าวที่เกิดขึ้น และมักกล่าวถึงแนวโน้มการเลือกตั้งตามที่เป็นข่าวโดยทั่วไปตามปกติ ขณะเดียวกัน นายปรีชา ซึ่งยอมรับว่า รู้จักและเคยตีกอล์ฟกับนายวิม น่าจะไม่อยู่ในฐานะที่สามารถนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยด้วยตนเองโดยลำพังโดยง่าย เนื่องจากรับผิดชอบอยู่คนละสายข่าว ส่วน นางฐานิตะญาณ์ ภรรยา นายปรีชา ให้ข้อมูลว่า ได้ไปพบ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล จริง ไม่มีอำนาจในการคัดเลือกข่าวเพื่อนำเสนอในสื่อต่างๆ ในเครือเนชั่น
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการ มีข้อสังเกตว่า เมื่อปรากฏข่าวของอีเมลที่เป็นปัญหา ทั้งนายปรีชา และ นางฐานิตะญาณ์ ก็ไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย ทั้งที่ นายวิม รู้จักเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อนายวิมโทรศัพท์ติดต่อมาที่ นายปรีชา กลับไม่ได้รับสาย และไม่ได้ติดต่อกลับ ทั้งที่ นายปรีชา รู้จักกับนายวิมมาก่อน แต่นายปรีชากลับให้การว่าจะเตรียมการฟ้องร้องต่อผู้ที่ทำให้ตนได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจรวมถึงนายวิมด้วย ซึ่งโดยสรุป คณะอนุกรรมการ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว