สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เผยผลสอบอีเมล “วิม” ซื้อสื่อ เชื่อเป็นอีเมลวิมจริง เผย “เพื่อไทย” จัดการสื่อเป็นระบบ แถมดูแลสื่อบางราย พบ นสพ.บางฉบับ ลงข่าวเอนเอียงให้ประโยชน์จริง แต่ดูบทความผู้ถูกพาดพิงกลับไม่เชื่อว่ามีพฤติกรรมรับสินบน
วันนี้ (17 ส.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แถลงข่าวผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ของนักการเมือง ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นผู้แถลงข่าวความคืบหน้าผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ร่วมกับคณะอนุกรรมการคนอื่นๆ
นพ.วิชัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้วางหลักในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ 3 ข้อ คือ 1.พยายามทำเพื่อประเทศชาติ ผลประโยชน์ของประชาชน และสื่อมวลชน 2.พยายามทำสิ่งที่เป็นพันธกิจของนักหนังสือพิมพ์ คือ ทำความจริงให้ปรากฏ และ 3.ในการพิจารรณข้อจริง คำให้การ และข้อสรุป จะยึดหลักฐานและหลักวิชาการ โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
“การตรวจสอบ มีการเชิญผู้มีชื่อถูกพาดพิงทั้งหมดมาให้ถ้อยคำ 4 ท่าน อีก 3 ท่านไม่มา และตรวจสอบการนำเสนอข่าวและสิ่งที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ โดยกำหนดช่วงต้นเดือนมิถุนายน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นำมาศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ พร้อมขอความร่วมมือจากสื่อที่ถูกพาดพิง หลังจากทราบว่า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในองค์กรของตนแล้ว มีการขอข้อมูลทั้งหมด มาประกอบการพิจารณา” นพ.วิชัย กล่าว
สำหรับผลการตรวจสอบที่สำคัญๆ นั้น นพ.วิชัย กล่าวว่า จากพยานหลักฐานต่างๆ ที่ได้จากการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการ มีข้อสรุปว่า อีเมลที่เป็นปัญหานน่าจะส่งมาโดยบัญชี (Account) และรหัสผ่าน (Password) ของนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และเชื่อได้ว่า นายวิม น่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมลฉบับดังกล่าวเอง ด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการต่อมา ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยน่าจะมีการบริหารจัดการสื่อมวลชน ทั้งในระดับองค์กร และระดับบุคคลอย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการประสานประเด็นข่าวกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในระดับต่างๆ ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์ เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ที่มีความสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า พรรคเพื่อไทยอาจมีการดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกพาดพิง ได้นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้ง โดยมีความเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การบรรยายประกอบภาพ และนำเสนอข่าวและบทความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการให้สินบนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตามเนื้อหาอีเมลดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เมื่อได้ตรวจสอบบทความที่ผู้ถูกพาดพิงแต่ละคนนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดแล้ว เชื่อว่า ผู้ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว
นพ.วิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาข่าว การบรรยายประกอบภาพ พาดหัวข่าว และบทความที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกพาดพิงในอีเมล พบว่า มีหนังสือพิมพ์ 2-3 ฉบับมีความเอนเอียงอย่างชัดเจน เช่น ลงข่าว ภาพ ในทางที่เป็นบวก ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างชัดเจน เราไม่เชื่อคำพูด แต่ทั้งหมดจากหลักฐาน ดูจากสื่อที่ปรากฏ ส่วนกรณีผลสอบระบุว่า พรรคเพื่อไทย น่าจะมีการบริหารจัดการสื่อมวลชน ว่า คำนี้มีนัยและมีความหมายพิเศษ ตีความได้หลากหลาย ซึ่งจากการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการฯ ก็มีข้อเสนอแนะต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรกำกับดูแลจริยธรรม 5 ข้อ ด้วย
ขณะที่ นายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ผลการสอบอีเมลอื้อฉาวนั้น ยอมรับว่า มีจริง และมีการบริหารจัดการสื่อมวลชนของพรรคเพื่อไทยจริง ซึ่งรายงานผลสอบชุดนี้จะเป็นมาตรฐานทำให้นักหนังสือพิมพ์ที่ดี รักษาระยะห่างของสื่อกับแหล่งข่าวได้ด้วย สำหรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ผลการตรวจสอบจะเป็นมวยล้ม และไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า หากได้อ่านผลการศึกษาและพิจารณาจะพบว่า มีสาระพอสมควร
• สภาการหนังสือพิมพ์ฯ แจงนัดพิจารณาเดือนหน้า-ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์คัดค้าน
นายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยกรณีข่าวสรุปข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชน ของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่สภาการหนังสือพิมพ์ตั้งขึ้นว่า หลังจากรับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมสภาการฯ มีความเห็นให้ดำเนินการตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์ข้อ 22 กำหนดว่าหลังจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ รายงานผลการศึกษาแล้ว จะต้องแจ้งให้กับต้นสังกัดทั้ง 5 ฉบับ และผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 รายรับทราบภายใน 30 วัน ซึ่งผู้ที่ถูกพาดพิงยังมีสิทธิ์ยื่นคำคัดค้าน ภายใน 20 วัน หากเห็นว่ายังมีพยานหลักฐานและเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้รับการพิจารณา โดยหากมีการร้องคัดค้านดังกล่าว สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะต้องตั้งคณะอนุกรรมการรับอุทธรณ์ เพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก่อนที่จะนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต่อไป
“สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่า ผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพียงแต่ได้ดำเนินการขั้นตอนตามธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ตามที่ชี้แจงมาข้างต้นเท่านั้น และจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปในการประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ครั้งหน้าคือ วันที่ 13 ก.ย.” นายสุนทรกล่าว
อ่านประกอบ : “รายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน”จำนวน 19 หน้า ไฟล์ .PDF