xs
xsm
sm
md
lg

แฉ3 สื่อเชลียร์”ปู”ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลสอบ “เพื่อไทย” ซื้อสื่อ พบ “ข่าวสด-มติชน-ไทยรัฐ” เสนอข่าวเอียงข้าง “ยิ่งลักษณ์” ชัดเจน พบเพื่อไทยทุ่มลงโฆษณาเฉพาะเครือมติชน

วานนี้ (17 ส.ค.) หลังจากที่คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมือง ระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าผลการสอบสวนข้อเท็จจริง

พบ “ไทยรัฐ-มติชน-ข่าวสด” เอียงข้างยิ่งลักษณ์ชัดเจน

คณะอนุกรรมการโดยการสนับสนุนของทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อ ได้สำรวจและวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่ถูกพาดพิงเป็นข่าว คือ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก ในระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-3 ก.ค.2554 โดยศึกษาเนื้อหาใน 5 ส่วน ได้แก่ ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ, พาดหัวข่าว/ความนำ ประเด็นข่าวและการเรียงลำดับประเด็นข่าว, บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว, คอลัมน์การเมือง และ โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ โดยในกรณีของการลงโฆษณาจะศึกษาหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจด้วย ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวให้ข้อค้นพบดังต่อไปนี้

1.ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ พบว่า หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพข่าวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะข่าวสด และมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยมาก และมีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และ ข่าวสด มีความคล้ายกันมาก มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ คมชัดลึก นอกจากนี้ ภาพข่าวทั้งหมดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ เชิงบวก และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของ นายอภิสิทธิ์ ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก

2.พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง ข่าวสด มติชน และ ไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจน ว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับ มักใช้การพาดหัวข่าวในการกำหนดประเด็นข่าว ซึ่งอาจชี้นำความคิดผู้อ่านให้เอนเอียงไปในทางที่โจมตีนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ และสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย โดยกรณีของข่าวสดนั้นมีความชัดเจนที่สุด

3.บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว ผลการศึกษาพบว่า หนังสือพิมพ์มติชน ให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึง 4 ครั้ง คือ การสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในขณะที่มีการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 ครั้ง คือ การสัมภาษณ์ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และ นายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางนัก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้สัมภาษณ์ของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่แปลบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอบีซีนิวส์ โดยลงเนื้อหาทั้งหมดที่ไม่มีการตัดทอน ส่วน ไทยรัฐ และ เดลินิวส์ ไม่มีบทสัมภาษณ์พิเศษของพรรคการเมือง

4.คอลัมน์การเมือง หนังสือพิมพ์ข่าวสด มีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับหนังสือพิมพ์ข่าวสด

แฉเพื่อไทยทุ่มซื้อหน้าโฆษณาเฉพาะเครือมติชน

5.โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลงโฆษณา 18 หน้าสี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทย ลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทมติชนเท่านั้น คือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และ ประชาชาติธุรกิจ (12, 12 และ 5 หน้าตามลำดับ) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ลงโฆษณาใน 5 ฉบับ คือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ที่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ทั้ง 4-5 ฉบับ ทั้งนี้ ไม่พบโฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2554

จากผลการศึกษาดังกล่าว เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทย น่าจะมี “การบริหารจัดการสื่อมวลชน” อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการสร้างและประสานประเด็นข่าว ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า พรรคเพื่อไทย อาจมีการ “ดูแล” ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย

ไม่ฟันนักข่าวถูกพาดพิง อ้างหลักฐานน้อย-กังขา “ปรีชา-โจ้” ไม่แตะ “วิม”

ส่วนการตรวจสอบเนื้อหาข่าว หรือบทความที่ผู้ถูกพาดพิงเขียนลงในหนังสือพิมพ์ต้นสังกัด พบว่า นายปราโมทย์ ซึ่งเขียนคอลัมน์วิเคราะห์ข่าวการเมือง วันอาทิตย์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พบว่า มีเนื้อหาที่ค่อนข้างมีความสมดุลกว่าคอลัมน์เดียวกันของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในวันอื่นๆ ด้าน นายสมหมาย ที่เขียนคอลัมน์สังคม หน้า 5 ประจำวันเสาร์ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยใช้นามปากกาว่า “อันดามัน” แม้จะพบว่า ข้อเขียนที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวมักสนับสนุน น.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ผู้สมัคร ส.ส.เขตจตุจักร ของพรรคเพื่อไทย และพบข้อเขียนที่เสียดสีนายอภิสิทธิ์บ้างก็ตาม ผู้เขียนก็เคยวิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนเสื้อแดงอย่างมีเหตุผลด้วยเช่นกัน

ขณะที่ นายชลิต พบบทความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในช่วงเวลาที่ศึกษาเพียงบทความเดียว แม้จะมีเนื้อหาที่อาจแสดงถึงความโน้มเอียงบางประการ แต่บทความที่เกี่ยวข้องที่คณะอนุกรรมการ พบในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเกินไป ส่วน นายทวีศักดิ์ พบบทความในคอลัมน์ “เดินหน้าชน” เพียง 2 บทความ แม้จะมีเนื้อหาโจมตี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอาจแสดงถึงความโน้มเอียงบางประการของนายทวีศักดิ์ ก็ตาม แต่บทความที่เกี่ยวข้องที่คณะอนุกรรมการ พบในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเกินไปเช่นกัน ส่วนบทความในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ก็มีเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

สำหรับ นายจรัญ พบว่า คอลัมน์ “ลึกแต่ไม่ลับ” ในหนังสือพิมพ์มติชน สุดสัปดาห์ มีเนื้อหาค่อนข้างมีความสมดุล รอบด้าน โดยเนื้อหาส่วนมากเน้นการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่วนคอลัมน์ “เรียงคนมาเป็นข่าว” ในหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งใช้นามปากกา “พลุน้ำแข็ง” นั้นนำเสนอข้อมูลตามข่าวที่เกิดขึ้น และมักกล่าวถึงแนวโน้มการเลือกตั้งตามที่เป็นข่าวโดยทั่วไปตามปกติ ขณะเดียวกัน นายปรีชา ซึ่งยอมรับว่า รู้จักและเคยตีกอล์ฟกับนายวิม น่าจะไม่อยู่ในฐานะที่สามารถนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยด้วยตนเองโดยลำพังโดยง่าย เนื่องจากรับผิดชอบอยู่คนละสายข่าว ส่วน นางฐานิตะญาณ์ ภรรยา นายปรีชา ให้ข้อมูลว่า ได้ไปพบ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล จริง ไม่มีอำนาจในการคัดเลือกข่าวเพื่อนำเสนอในสื่อต่างๆ ในเครือเนชั่น

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการ มีข้อสังเกตว่า เมื่อปรากฏข่าวของอีเมลที่เป็นปัญหา ทั้งนายปรีชา และ นางฐานิตะญาณ์ ก็ไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย ทั้งที่ นายวิม รู้จักเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อนายวิมโทรศัพท์ติดต่อมาที่ นายปรีชา กลับไม่ได้รับสาย และไม่ได้ติดต่อกลับ ทั้งที่ นายปรีชา รู้จักกับนายวิมมาก่อน แต่นายปรีชากลับให้การว่าจะเตรียมการฟ้องร้องต่อผู้ที่ทำให้ตนได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจรวมถึงนายวิมด้วย ซึ่งโดยสรุป คณะอนุกรรมการ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น