ทีมโฆษกพรรค ปชป.ตั้งแง่ “ชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย” จัดงานวันเกิดแม้วผิดจรรยาบรรณ ทำ ปชช.เข้าใจผิด วอนสมาคมสื่อฯ ตรวจสอบสื่อจริงหรือสื่อเทียม ถามหาจริยธรรม “ไทยพีบีเอส” แอบไปสัมภาษณ์ นช.แม้ว ทั้งที่ทางการไทยต้องการตัวมาลงโทษ
วันนี้ (25 ก.ค.) นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รักษาการรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีมีสื่อมวลออกมาแถลงข่าวว่าจะมีนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งเป็น ส.ส.สอบตกของพรรคเพื่อไทยและชมรมที่ใช้ชื่อว่า “สื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย” จะจัดงานคล้ายวันเกิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 62 ปี โดยชมรมที่ใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชมรมสื่อมวลชนจริงหรือไม่ ต้องฝากสื่อมวลชนให้ทำการตรวจสอบอาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ว่าเป็นสื่อมวลชนที่แท้จริง ตนคิดว่าไม่จริงเพราะถ้าเป็นจริงชมรมสื่อมวลชน ไม่ควรจัดงานครบรอบวันเกิดให้ใคร ซึ่งเป็นนักการเมืองและผิดต่อจริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จัดงานในลักษณะอิงทางด้านพรรคการเมือง แต่ถ้าเป็นจริงต้องถามสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักวิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบชมรมนี้หรือไม่
นายบุญยอดกล่าวว่า กรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาเตือนพรรคประชาธิปัตย์ระวังเรื่องการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ต่างๆ โดยอยากให้นายพร้อมพงศ์ต้อง “ส่องกระจกตัวเอง ตรงกับสำนวนไทยว่า ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา” ดูบ้างว่าพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาในอดีต อาทิเช่นกรณีของเอเชียอัพเดตมีผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยเป็น กก.บห.ของสถานีดังกล่าว และ กก.บห.คนหนึ่งได้ส่งอีเมลออกไปให้ผู้บริหารอีกคนหนึ่งเพื่อจ่ายเงินกับสื่อมวลชนพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ นายพร้อมพร้อมต้องกลับไปย้อนดูตัวเองส่วนของตัวเองเป็นอย่างไรบ้างและสมควรจะยุบพรรคเพื่อหรือไม่
นายบุญยอดกล่าวอีกว่า การให้สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี ทางรายการ “ตอบโจทย์” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้บินสัมภาษณ์ที่ใดที่หนึ่ง โดยทางพรรคประชาธิปัตย์อยากถามไปยังสถานีไทยพีบีเอสว่าจริยธรรมและข้อบังคับขององค์กรที่ร่างมาเอง การที่ไปเดินทางไปพบกับนักโทษหนีคดี ซึ่งทางการไทยต้องการตัวในโทษจำคุก 2 ปีถือว่าเป็นบุคคลที่ควรติดต่อด้วยหรือไม่และเมื่อทราบหลักฐานที่อยู่ต้องแจ้งให้ทางการทราบด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ต้องถามอีกว่าตามหลักการและอุดมการณ์สถานีโทรทัศน์แพร่ภาพกระจายเสียงและแนวทางปฏิบัติเพื่อธำรงจริยธรรมวิชาชีพของสถานีไทยพีบีเอส ข้อ 11 ว่าแนวทางปฏิบัติในการายงานทำข่าวอาชญากรรมหรือพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสาธารณ 11.4 ไม่ควรสัมภาษณ์อาชญากรหรือผู้มีพฤติกรรมเป็นอาชญากรแต่ถ้าว่าความจำเป็นที่ต้องสัมภาษณ์ต้องขออนุมัติจากผู้บริหารฝ่ายข่าวหรือรายการก่อนและแม้ได้รับการอนุมัติแล้วต้องระมัดระวังไม่ให้เนื้อหาการสัมภาษณ์ ส่อไปในทางสร้างความโดดเด่นความชื่นชอบในอาชญากรไม่เสนอเนื้อหาขั้นตอนกระบวนการในการกระทำผิด