xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการกับมติชน ยกที่ 2

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมต้องขอบคุณบริษัท มติชน จำกัด ที่นำบทความเรื่อง “มติชนกับการล้มกษัตริย์” ของผม ขึ้นสู่ศาลเพื่อดำเนินคดีผมและเครือผู้จัดการในข้อหาหมิ่นประมาท และศาลได้พิจารณาว่าคดีไม่มีมูลในชั้นไต่สวน

เพราะคนที่อยู่ในวงวิชาชีพนี้รู้กันอยู่ว่า องค์กรวิชาชีพ สมาคมของสื่อต่างๆ ที่มากมายก่ายกองนั้น ล้วนแต่เป็นเสือกระดาษ และบางสมาคมบางชมรมกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ที่ใช้วิชาชีพมาทำมาหากิน หนังสือพิมพ์บางฉบับใช้องค์กรสื่อเป็นที่ผ่องถ่ายคนในองค์กรของตัวเองที่ไม่มีงานทำ และหลายองค์กรผูกขาดกันอยู่ไม่กี่ค่ายและคนไม่กี่คน การร้องเรียนกันผ่านองค์กรสื่อจึงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่มีกฎหมายรองรับและไปบังคับคะคานใครไม่ได้

การกระทำดังกล่าวของมติชนจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อวงการวิชาชีพที่นอกจากจะตรวจสอบผู้อื่นแล้วก็ควรจะตรวจสอบกันเองด้วย เพราะวันนี้องค์กรสื่อมิใช่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นต่อสังคมเท่านั้น แต่เป็นหน่วยงานทางธุรกิจที่มีผลประโยชน์ที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นสำคัญ และเป็นที่ซ่อนเร้นของอำนาจการเมือง

สังคมทุกวันนี้จึงพึ่งพาสื่อมวลชนไม่ได้ เพราะองค์กรสื่อมวลชนอยู่ด้วยผลประโยชน์ และรัฐบาลก็ใช้ช่องทางนี้ในการเข้าถึงสื่อมวลชนทั้งวิธีการซื้อโฆษณา และบริจาคเงินให้องค์กรสื่อซึ่งเป็นช่องทางทำเงินใหม่ที่สื่อกำลังดำเนินการกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

องค์กรธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนักการเมืองก็ใช้ช่องทางที่สื่อกลายเป็นธุรกิจเข้าไปสนับสนุนเพื่อช่วยปกปิดกิจกรรมและการดำเนินงานของตัวเอง

ที่น่าตลกก็คือ วันนี้สื่อมวลชนนอกจากทำหน้าที่สื่อซึ่งต้องรายงานข้อเท็จจริง นำเสนอบทวิเคราะห์เพื่อกำหนดทิศทางและชี้นำสังคมซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลของความสุจริตแล้ว สื่อหลายค่ายยังมีหน้าที่รับจัดงานอีเวนท์ร่วมกับกระทรวงทบวงกรมด้วย ซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับวิชาชีพสื่อ

เพราะงานอีเวนต์ก็คือการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขายสินค้าและโครงการซึ่งควรเป็นงานของนักการตลาดมากกว่าคนในวิชาชีพสื่อ เหมือนฝ่ายโฆษณากับผู้สื่อข่าวจะต้องแยกจากกัน แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ เมื่อสื่อรับงานอีเวนต์แล้วกลับมานำเสนอในรูปแบบของข่าวแบบเนียนๆ

ต่างจากสมัยก่อนที่จะเคร่งครัดในเรื่องนี้มาก และจะมีข้อความวงเล็บในตอนท้ายเพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสนว่า “เนื้อที่โฆษณา”

ผมจึงไม่อยากให้การฟ้องร้องคดีระหว่างสื่อต่อสื่อนั้น กระทำไปเพื่อปกป้องตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะทำต่อไปเพื่อช่วยกันตรวจสอบสื่อซึ่งจะมีนัยไปถึงการช่วยกันทำหน้าที่แทนผู้บริโภคข่าวสารที่จะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องด้วย

ผมคิดว่าวันนี้คนในสังคมรับรู้ว่าทั้งมติชนและเครือผู้จัดการของผมนั้น มีจุดยืนที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ในท่ามกลางการแบ่งสีทางการเมือง สำหรับเครือผู้จัดการมีความชัดเจนแจ่มชัดอยู่แล้วว่าเราอยู่ตรงไหน ขณะเดียวกัน เนื้อหาและทิศทางการนำเสนอข่าวของเครือมติชนก็ปิดเร้นตัวเองไม่ได้เช่นกัน

ผมเขียนบทความเรื่อง “มติชนกับการล้มระบอบกษัตริย์” ทันที เมื่อมติชนออนไลน์ นำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง “วิเคราะห์ รัฐบาลใช้หมายจับ ข้อหาก่อการร้าย เด็ดปีก “ทักษิณ” แต่คำถามคือ ถ้าจับได้จริง จะเอาคุกที่ไหนขัง?”

บทวิเคราะห์ข้างต้นนั้น ไม่มีอะไรมากครับ เขียนถึงความเป็นไปได้ในการส่งตัวผู้ก่อการร้ายทักษิณกลับมาดำเนินคดีในประเทศ แต่ในตอนท้ายของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้สิครับที่ผมว่ามีปัญหา เขาเขียนว่า
.........

ทว่า สิ่งที่น่าคิดต่อไป คือ หากสมมติว่า รัฐบาลไทยโชคดีจริงๆ ต่างประเทศให้ความร่วมมือจับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งกลับกรุงเทพฯ

ปัญหามีเพียงประการเดียวคือ จะเอาคุกที่ไหน ขังอดีตนายกฯ?

เพราะคาดว่า เรือนจำที่ใช้ขัง “พ.ต.ท.ทักษิณ” จะถูกคนเสื้อแดงบุกไปล้อมแบบคุกบาสติล (Bastille)
.........

ผมหยิบบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ของมติชนขึ้นมาท้วงติงอย่างมีเหตุมีผลว่า วันบาสติลเป็นวันแห่งการปฏิวัติการปกครองจากระบบ “เจ้าขุนมูลนาย” ไปสู่การปกครองระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของฝรั่งเศส และนำไปสู่การโค่นล้มกษัตริย์ฝรั่งเศส ดังนั้นจะนำเอามาเปรียบเทียบกับบริบทของสังคมไทยในขณะนี้ไม่ได้โดยเด็ดขาด

ผมคิดว่า โจทก์หรือเครือมติชนซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ หากได้อ่านเนื้อหาในบทความของผมแล้ว ก็จะรู้ได้ทันทีว่า นี่เป็นการท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมในการนำเอาสถานการณ์ดังกล่าวมาโยงกับสถานการณ์ในประเทศไทยซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมากในปัจจุบัน และมักใช้ข้อความเชิงสัญลักษณ์เพื่อกระทบไปยังสถาบันกษัตริย์

แต่กลายเป็นว่า ในการบรรยายฟ้องของโจทก์นั้นกลับกล่าวหาผมในฐานะจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงในคอลัมน์ “หน้ากระดานเรียงห้า” หน้า 12 มีถ้อยคำบทความว่า “มติชนกับการล้มระบอบกษัตริย์” บทความดังกล่าวมีเนื้อหายืนยันว่าโจทก์กระทำการล้มกษัตริย์ และยังโน้มน้าวให้เชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมล้มกษัตริย์อันเป็นความเท็จ

แต่คำบรรยายฟ้องของโจทก์นั้นไม่ได้นำเอาเนื้อหาของบทความที่ผมเขียนขึ้นด้วยเหตุและผลมาเป็นองค์กรประกอบเลย เพราะผมคิดว่าทนายของมติชนก็คงรู้อยู่แล้วว่า ถ้าได้อ่านบทความของผมทั้งหมดแล้วย่อมไม่มีมูลเหตุที่จะนำไปฟ้องกล่าวหาว่าผมหมิ่นประมาทหรือกล่าวหาว่าผมใส่ร้ายมติชนด้วยข้อความอันเป็นเท็จได้เลย

แต่ผมก็ไม่ได้หวาดหวั่นเพราะเชื่อมั่นว่า แม้มติชนจะไม่ได้นำเนื้อหาในบทความของผมมาประกอบด้วย แต่การพิจารณาของศาลท่านจะต้องนำเนื้อหาในบทความมาประกอบอยู่ดี

ดังนั้นในการไกล่เกลี่ยตามกระบวนการของศาลทั้ง 3 ครั้ง ผมจึงปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้เขียนขอขมา และยืนยันให้นำคดีสู่การพิจารณาคดีของศาล แม้ผู้ไกล่เกลี่ยจะพูดโน้มน้าวในทำนองว่า เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาแล้วน่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท ผมได้เตือนท่านผู้ไกล่เกลี่ยว่า ท่านไม่ใช่ผู้พิพากษาท่านไม่มีสิทธิ์ชี้ผิดชี้ถูกหรือตัดสินผม และผมได้ถามท่านผู้นั้นกลับไปว่า คดีที่ขึ้นสู่ศาลนั้นจำเลยจะเป็นฝ่ายผิดทั้งหมดเช่นนั้นหรือ

นอกจากนี้ ภายหลังที่มติชนได้ฟ้องผมแล้วยังนำคำฟ้องไปเสนอข่าวพาดหัวว่า “มติชน” ฟ้อง “เอเอสทีวีผู้จัดการ” ยกก๊วน ป้ายสีกล่าวเท็จ ล้มกษัตริย์-ล้มเจ้า ขอนำสืบชอบสร้างเรื่องเท็จ โดยในเนื้อหาข่าวตอนหนึ่งว่า หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวันนั้นยังมีพฤติกรรมชอบสร้างเรื่องเท็จใส่ร้ายใส่ความผู้อื่นเป็นอาจิณ

ขณะนี้หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการได้นำเรื่องฟ้องสู่ศาลแล้ว เพราะการกล่าวหาว่า หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวันนั้นมีพฤติกรรมชอบสร้างเรื่องเท็จใส่ร้ายใส่ความผู้อื่นเป็นอาจิณนั้น สร้างความเสียหายให้แก่องค์กรสื่อที่ต้องมุ่งนำเสนอความจริงทั้งภาพลักษณ์และความเสียหายในเชิงธุรกิจอย่างรุนแรง

เพราะการทำความจริงให้ประจักษ์นั้นเป็นหน้าที่ของสื่อ และเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมก็จักดำรงความเป็นธรรมเพื่อค้ำจุนสังคมเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น