xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เขียนเสือให้วัวกลัว” ยาแรงการเมืองหาเสียงผ่านไอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลายวันก่อนหลังรัฐบาลประกาศยุบสภา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เชิญตัวแทนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มาหารือ เรื่อง “การหาเสียงผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือเว็บไซต์”

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการใช้ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ประเภทต่างๆ ที่ถูกจับตามอง เช่น “เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ ดอทคอม” กับ “เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ดอมคอม” ยังไม่น่าจะร่วมถึงโปรแกรม สไกป์ผ่านสมาร์ทโฟน ยี่ห้อดัง

ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ตั้งทีมงาน“โซเชียลเน็ตเวิร์ก” อย่างเอาเป็นเอาตาย มีการวางงบประมาณสร้างระบบเน็ตเวิร์กใหม่ อย่าง “ประชาธิปัตย์” ก็ให้ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” เป็นหัวหอกมีทีมงานหน้าเก่าตอบโต้ และสร้างภาพให้กับหัวหน้าพรรค ส่วน “เพื่อไทย” ก็มี “วิม รุ่งวัฒนจินดา”รองโฆษกพรรค เป็นโต้โผ คอยเดินหน้าตอบโต้ประเด็นต่างๆ โดยเป็นทีมงานเก่า ๆ จากอดีตพรรคไทยรักไทย และพลังประชาชน หรือภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ ก็มีทีมงานที่แข็งแกร่งไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตาม “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการกกต. บอกในวันนั้นว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามให้พรรคการเมืองหาเสียงผ่าน “โซเชียลเน็ตเวิร์ก”แต่ย้ำว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะต้องคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ซึ่งกำลังมีการหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กกต.กำหนด ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ได้มีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายไปแล้วโดยกำหนดให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้เงินค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาท แต่ในปี 2551 ไม่มีการรวมค่าใชจ่ายใน “โซเชียลเน็ตเวิร์ต” ไว้

ตามความเห็นของ ทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งข้อสังเกตว่า หากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มีการโพสต์ข้อความในช่วงที่พ.ร.ฏ.เลือกตั้งผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์ก จะมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ และหากมีค่าใช้จ่าย จะมีวิธีการนำมาคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งได้อย่างไร

หรืออย่าง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งเป็นแฟนพันธ์แท้คอการเมืองจะใช้ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก”เป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยอาจจะเชิญชวนให้คนในเครือข่ายมาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แม้เป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ แต่การเชิญชวนให้เลือกผู้สมัครหลังเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน หรือแสดงความเห็นในลักษณะเข้าข่ายการหาเสียงใส่ร้ายก็ถือว่ามีความผิด จะขัดต่อกฎหมาย ทางกระทรวงไอซีทีจะทำอย่างไรจึงจะเป็นการป้องปรามการกระทำผิดในโลกไซเบอร์ ไม่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือผู้สมัครกระทำความผิด

ขณะที่ “ธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ” รองปลัดกระทรงไอซีที แสดงความเป็นห่วงเรื่องการแอบอ้างตัวว่าเป็นผู้สมัครและไปโพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ต่างๆ แต่ในกรณีนี้สามารถตรวจสอบได้จากประวัติการใช้งานและสภาพแวดล้อม แต่ในส่วนของ “โซเชียลเน็ตเวิร์ค “อย่าง เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ ที่มีเซิร์ฟเวอร์ให้บริการอยู่ต่างประเทศ ซึ่งหากจะตรวจสอบจะะต้องทำเรื่องร้องขอความร่วมมือไปยังต่างประเทศ

“แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร”

นอกจากนี้ เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ ยังเป็นระบบที่เปิดให้ใช้บริการฟรี หากจะคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ในเบื้องต้นต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ผู้ใช้เป็นเจ้าของจริงหรือไม่ หรือมีใครสมัครให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก ดังนั้น จึงขอให้กกต.มอบนโยบายกับผู้สมัครและพรรคการเมืองว่า ห้ามหาเสียงผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์หลังเวลา 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้ง

สรุปแล้วมีข้อเสนอให้ กกต.และกระทรวงไอซีที ตั้งทีมงานทางด้านเทคนิคขึ้นมาตรวจสอบการใช้ “โซเชียลเน็ตเวิร์ค”หาเสียงหลังเวลา 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้ง และต้องมีการทำประชาสัมพันธ์อย่างหนักเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงการออกกฎบังคับให้ควบคุมสื่อวิทยุชุมชนที่ออกอากาศผ่านทางออนไลน์ หากมีการโพสต์ข้อความใส่ร้ายป้ายสีและมีผู้ร้องเรียนเข้ามาจะได้ตรวจสอบได้

ที่ผ่านมาก็มีแต่เสียงพูดว่า ถ้าไปรวมกับค่าใช้จ่าย จะต้องไปดูถึงขั้นว่า พรรคนั้นกด LIKE ในเฟสบุ๊ค กี่ครั้ง พรรคนั้นถูกเปิดแฟนเพจกี่ครั้ง แล้วเอามาคำนวณ หากพรรคก.เปิดซักล้านครั้ง ก็คำนวณว่าใช้จ่ายไปกี่บาท

แต่ที่แน่ๆ กกต.ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องเขียนเสือให้วัวกลัว”
กำลังโหลดความคิดเห็น