ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นข่าวสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด “ส.อบจ.ปทุมธานี” ตบเท้าลาออก 7 ราย เพื่อขอลงสมัคร ส.สแล้วก็ไม่น่าจะแปลกใจเท่าไร เพราะก็ถือเป็นบันไดที่นักการเมืองระดับท้องถิ่นถวิลหา ฝันที่จะเข้าไปนั่งในคอหอยงาช้างรัฐสภาซักครั้งหนึ่ง และในอดีตมีรุ่นพี่ ส.อบจ. คนอื่นๆเข้ามาแล้วประสบความสำเร็จหลายคน เป็นความสวยงามของประชาธิปไตย เป็นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นบางคน
เช่น “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” อดีตส.อบจ.นครราชสีมา เขตโชคชัย ที่ได้เติบโตเป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพียงไม่กี่ปี
เมื่อไปดูจังหวัดอื่นๆ ก็พบว่า มีส.อบจ.หลายคน พร้อมที่จะตบเท้าเรียงหน้าออกอีกจำนวนมาก อย่างวันก่อนก็มัข่าวว่า ลงชื่อสมัครเข้า “พรรคภูมิใจไทย” กว่า 100 คน เหมือนกับพร้อมจะลาออก เพื่อเอาฐานเสียงตัวเองมาต่อรองกับพรรค
เหมือนครั้งนี้เมื่อมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ตัวเลือกก็เพิ่มขึ้น เมื่อตัวเจ๋งๆถูกเลือกไปหมด ตัวรองๆ ก็พร้อมจะทะยานขึ้นสู้ ตัวละครเก่าๆ ย้ายพรรคบ้าง อยู่ที่เดิมบ้าง นำฐานเสียงที่เคยอยู่กับตัวเองถึงเวลาที่จะขอตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นบ้าง เข้ามาเป็นตัวเลือก จากที่เคยมีชื่อเสียงในระดับจังหวัด ก็ขอมีอำนาจ มีบารมีในระดับชาติบ้าง หรือที่ผ่านมาบางคนพออกหักจากส.ส.ก็ขอกลับไปเป็นส.อบจ. เป็นนายก อบจ.ก็มี
แต่ที่แน่ๆ เมื่อ ส.อบจ.ลาออก ก็ต้องมีการการเลือกตั้งซ่อม
ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ( ฉบับที่ 8 ) พ.ศ. 2551
กำหนดว่า กกต.ท้องถิ่น จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ภายใน 45-60 วัน เช่นกันกับการเลือกตั้งทั่วไป
คือเมื่อ ส.อบจ.ยื่นใบลาออกต่อ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ก็จะมีผลทันที และทางคณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะเปิดรับสมัครเลือกตั้งซ่อม
แต่ที่มันน่าเสียดายไม่น้อยเพราะ ส.อบจ.บางจังหวัด เพิ่งผ่านการเลือกตั้งครั้งใหญ่ มาหมาดๆ เสียงบประมาณไปเท่าไร และที่กกต.กลาง ของบประมาณไว้เพื่อการเลือกตั้งทั่วไป ที่จำนวน “ 3,817 ล้านบาท” ครั้งนี้ ก็กันไว้เพื่อการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้เท่านั้น ยังไม่รวมงบประมาณเลือกตั้งซ่อมอีกตั้งเท่าไร และยังไม่รู้ว่าจะซ่อมกันอีกกี่รอบ
แม้ตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น จะกำหนดให้ กกต.ท้องถิ่น-จังหวัด จัดหางบประมาณในการเลือกตั้งไว้เองก็ตาม
อีกด้านการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง ก็ต้องกำหนดระยะให้สอดคล้องกับกฎหมาย เชื่อว่าอาจจะต้อง กำหนดเป็นเดือน มิถุนายน หรือ กรกฎาคม 2554 เหมือนกับว่า บางจังหวัดก็ต้องเลือกตั้งทั่วไปผสมกับการเลือกตั้งซ่อมท้องถิ่น คนก็เบื่อกันไปอีก
นี่ยังไม่นับปัญหาเช่นเดียวกับ ส.ส.ที่จะต้องโดนใบเหลือง-ใบแดง คนมาคัดค้านอีก เสียงบประมาณไปอีกเท่าไร แต่เอาเถอะ เพื่อความฝันของนักการเมือง
ขณะที่ยังมีอีกประเด็น ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ “ส.อบจ.” บางจังหวัด” ยังไม่กล้าลาออกเพื่อไปเปิดตัวสมัคร ส.ส.ทันทีนั้นก็ เนื่องจากกลัวว่าพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่อาจจะมีการเปลี่ยนตัวว่าที่ผู้สมัครรายอื่นแทน จึงยังไม่กล้าลาออกในช่วงนี้ จนกว่าจะมีการประกาศรับสมัครเลือกตั้ง จึงจะลาออกมาลงสมัคร ส.ส.
ซึ่ง กกต.ก็กำลังคำนวณดูว่าจะเป็นวันไหน ซึ่งคร่าวๆ อาจจะวันที่ 19-23 พฤษภาคม 2554
รับรองว่า ถ้าตรงกับวันข้างต้น ส.อบจ. จะตบเท้าลาออกจริงๆ อีกมาก เพียงเพื่อไปสู่ความฝัน “ประชาธิปไตยบนหอหอยงาช้าง”