ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คึกคักทีเดียวสำหรับบรรยากาศการเมือง ภายหลังจากที่มีการประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทั้ง อดีตส.ส.หรือว่าที่ผู้สมัครทั้งหลายวิ่งหาสังกัดกันฝุ่นตลบโดยส่วนใหญ่ ยึดฤกษ์ดี “วันธงชัย” 12 พ.ค. เข้าไปยื่นใบลาออกจากพรรคเดิม แล้วพุ่งตรงเข้าที่ทำการพรรคใหม่ทันที
ซึ่งก็มีทั้งแบบที่ย้ายจากพรรคเล็กไปพรรคใหญ่ หรือพรรคใหญ่ลงมาพรรคเล็ก ข้ามจากฝ่ายค้านมาอยู่รัฐบาล หรือจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยเลยก็มี ยังไม่รวมแบบที่ “ไขก๊อก” ออกจากพรรคเดิมทั้งแก๊ง แล้วไปสวมสีเสื้อใหม่ อย่างกรณี พรรคเพื่อแผ่นดิน ที่นำทีมโดย ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ควงอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัครราว 30 ชีวิต เข้าสู่อ้อมกอดของ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ในร่มเงาของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เจ้าของตัวจริง ในนามพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
การโยกย้ายในบางส่วน ก็ได้ผ่านการตระเตรียมตีตราจับจองเป็นเจ้าของกันตั้งแต่ช่วงกลางเทอม โดยมีการอุปถัมภ์อุ้มชูต่อเนื่องมาแบบไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
โดยเฉพาะค่ายภูมิใจไทย ของ "เนวิน ชิดชอบ" ที่ไล่ต้อนจำพวก “ม้าดี” การันตีเก้าอี้เข้ามาเพียบ ทั้งที่หิ้วมายกเข่ง แบบกลุ่มบ้านริมน้ำของสุชาติ ตันเจริญ ได้แก่ พิเชษฐ์ - ณัชพล ตันเจริญ จากฉะเชิงเทรา มานพ ปัตนวงศ์ - นิมุคตาร์ วาบา จ.นราธิวาส กลุ่มจ.สุรินทร์ กิตติศักดิ้ รุ่งธนเกียรติ และ สาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ หรือ พิกิฏ ศรีชนะ - รณฤทธิชัย คานเขต จ.ยโสธร ปุระพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา-ประนอม โพธิ์คำ-จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล จ.นครราชสีมา และ รัชนี พลซื่อ จ.ร้อยเอ็ด ทั้งหมดนี้หิ้วมาจาก พรรคเพื่อแผ่นดิน
จากฟากเพื่อไทยก็มาไม่น้อย ปรพล อดิเรกสาร จ.สระบุรี จุมพฏ บุญใหญ่ จ.สกลนคร ที่ก่อกบฎ ตีตัวออกห่างพรรคเดิมมาจนถูกแปะป้ายไม่ให้เข้าพรรคมาแล้ว ส่วน จักรกฤษณ์ ทองศรี - พีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์ จ.บุรีรัมย์ นั้นทนกระแสในพื้นที่ไม่ได้ ยังมี ชนากานต์ ยืนยง จ.ปทุมธานี ปิยะรัช หมื่นแสน จ.ร้อยเอ็ด ฟาริดา สุไลมาน จ.สุรินทร์ สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ จ.เชียงราย จิรพันธ์ ลิ้มสกุลศิริรัตน์ - นที สุทินเผือก (กรุง ศรีวิไล) จ.สมุทรปราการ รายเดี่ยวๆ ก็ได้แก่ วรศุลี สุวรรณปริสุทธิ์ จ.มุกดาหาร มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช จ.ลพบุรี และ วุฒิชัย กิตติธเนศวร จ.นครนายก
ส่วนที่หลุดโผ ก็มีอย่าง แวมาฮาดี แวดาโอะ จ.นราธิวาส จากเพื่อแผ่นดิน ที่เลือกไปสวมเสื้อ พรรคธรรมภิบาลสังคม ของ ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ แบบพลิกโผ
ฝั่งเพื่อไทย ก็เก็บไปได้ไม่น้อย ที่เปิดตัวกันไปเมื่อวันก่อนก็มี พ.ต.ท.นุกูล แสงศิริ จ.นครสวรรค์ จากภูมิใจไทย วิรัช - ทัศนียา - อธิรัฐ รัตนเศรษฐ จ.ครราชสีมา จากชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน องอาจ วงษ์ประยูร จ.สระบุรี มานิตย์ ภาวสุทธิ์ จ.ชลบุรี จากประชาธิปัตย์ อรรถพล วงษ์ประยูร จ.สระบุรี และ รส มะลิผล จ.ฉะเชิงเทรา
ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา ของ “หลงจู๊” บรรหาร ศิลปอาชา ก็อยู่แบบพอเพียง ไม่ได้ออกแรงดูดมากอย่างพรรคอื่น เพราะใช้กลยุทธ์เน้นพื้นที่เป็นจุดๆ หรือยกจังหวัดให้ได้แบบ จ.สุพรรณบุรี ที่เป็น “โมเดล” อยู่ จากที่ยึดครองในส่วนภาคกลางไว้อย่างเหนียวแน่น และเตรียมขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่เป้าหมาย อย่าง จ.พิจิตร ที่ดึงเอา ประดิษฐ์ ภัทรประดิษฐ์ เข้ามาเสริมทัพ เพื่อประสานพลังกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แต่ก็ยังอุตส่าห์หิ้วอดีต ส.ส.มาฝาก “ป๋าเติ้ง” อีกถึง 4 คน ได้แก่ วินัย ภัทรประสิทธิ์ จ.พิจิตร ไกร ดาบธรรม จ.เชียงใหม่ จากชาติพัฒนาเพื่อผ่นดิน ธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา - มะลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ จ.สุรินทร์ จากเพื่อแผ่นดิน
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เอง กลับหนักไปทางไหลออก ไม่ค่อยมีตัวดีๆหันมาซบเหมือนพรรคอื่นๆ จึงจำเป็นต้องเล็งไปที่ “ตลาดมืด” หรือพวกว่าที่ผู้สมัครที่ยังไม่ชัวร์ ละล้าละลัง ดึงเกมปั่นค่าตัวที่ยังพอมีให้พวก “ขาใหญ่” ของแต่ละพรรคมาช้อปปิ้งกันอย่างเพลิดเพลินเลยทีเดียว
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังหวังอัพเพิ่มจำนวนเก้าอี้ ส.ส.เพื่อเบียดกับ พรรคเพื่อไทย ให้ได้ หลังโพลล์ทุกสำนัก “ฟันธง” ตรงกันว่า งานนี้แพ้แน่ ส่วนจะแพ้มากแพ้น้อยต้องลุ้มกันอีกทีหลังปิดหีบ
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะ “แม่บ้าน” ของค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม จึงอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเริ่ม “เดินเกม” เข้าร่วมวงช้อปปิ้งใน “ตลาดมืด” กับคนอื่นเขาด้วย แต่คนระดับนี้ไม่นั่งไล่สอยทีละคนสองคนเป็นแน่ เพราะเมื่อลงมา“คลุกวงใน” เองก็ย่อมต้องคิดการใหญ่ ด้วยการต่อสายไปที่ “ต้นขั้ว” ของแต่ละก๊ก เพื่อขอความร่วมมือ ส่งเด็กในสังกัดในสวมเสื้อฟ้าสู้ศึกในนามพรรคประชาธิปัตย์
ที่สำคัญยังเป็นการ “อุดช่องโหว่” ในพื้นที่อื่น นอกเหนือจาก กทม.และภาคใต้ ที่ยังเชื่อว่าคะแนนนิยมยังดีอยู่ จึงมองไปที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพราะเป็นพื้นที่ใหญ่มีเก้าอี้ให้ช่วงชิงมาก สามารถชี้เป็นชี้ตาย พลิกกลับเข้าสภาในฐานะพรรคเบอร์ 1 ได้เลย หรืออย่างน้อยที่สุดก็อยากให้แต้มไม่ถูกพรรคเพื่อไทยทิ้งห่าง เผื่อมีโอกาสเป็นพรรคเบอร์ 2 ที่ชิงจังหวะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ
ในลิสต์ของสุเทพก็มี “ก๊วนวังพญานาค” ของ พินิจ จารุสมบัติ แกนนำกลุ่ม 3 พี พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นเป้าหมายหลัก เพราะเห็นว่า “ดีล” ที่ ไพโรจน์ สุวรรณฉวี อดีตแกนนำกลุ่ม 3 พีผู้ล่วงลับ ทำไว้กับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ นั้นล็อคเป้าไปที่พื้นที่โคราชมากกว่าที่อื่น ทำให้สุเทพ สบช่องขอ “ตัวดีๆ” จากพินิจ นอกเหนือจาก ไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาฯ ที่จะลงพื้นที่ จ.อุดรธานี และ พล.ต.ต.พิทักษ์ จารุสมบัติ พี่ชายแท้ๆ ของพินิจ ที่ลงสมัครในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา บ้านเกิดของพินิจ ก่อนที่จะไปสยายปีกในพื้นที่อีสานเหนือ อย่างในทุกวันนี้
แต่จริงๆแล้วกรณีของไชชยศ และ พล.ต.ต.พิทักษ์ ถือเป็นสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสุเทพ กับ 2 ว่าที่ผู้สมัครดังกล่าวมากกว่า เพียงแต่พินิจ ก็ยินยอมไม่ได้คัดค้านแต่ประการใด
“ทีมข่าวการเมือง ASTV ผู้จัดการ” ได้รับข้อมูลมาว่า เบื้องต้นจากการพูดคุยทั้งผ่านสายโทรศัพท์ และนัดเจอกันที่โรงแรมใหญ่กลางใจเมืองหลายครั้งนั้น สุเทพ ยื่นขอมายังพินิจ อย่างน้อย 3 คน ได้แก่ นรพล ตันติมนตรี จ.เชียงใหม่ อลงกต มณีกาศ จ.ครพนม และ วิทยา บุตรดีวงศ์ จ.มุกดาหาร ส่วนรายอื่นๆให้แล้วแต่พินิจตัดสินใจ
โดยที่พินิจก็ “ไฟเขียว” ให้ในเบื้องต้นทั้ง 3 คนดังกล่าว แต่ขอไปสอบถามความสมัครใจของเด็กก่อน ปรากฏว่ามีเพียงนรพล คนเดียวเท่านั้นที่ชั่งใจแล้วตกลงยอมย้ายค่าย เพราะมั่นใจฐานเสียงในพื้นที่ของตัวเองพอตัว ที่สำคัญตั้งแต่ไปร่วมลงชื่อค้ำเก้าอี้เสนาบดีให้ไชยยศ คราวก่อน ก็แทบไม่มีพวกในพรรคเหลือเลย พอมีโอกาส “เสี่ยต้น” จึงไม่ลังเลตัดสินยอมย้ายพรรคไปโดยดุษฎี
ในส่วนของอีก 2 รายนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งหากไปสวมเสื้อประชาธิปัตย์ลงสมัคร อาจเป็นการบั่นทอนฐานเสียงที่สั่งสมมา จึงออกอาการอิดออดไม่อยากจะสลับขั้วเปลี่ยนพรรคกะทันหัน อาจทำให้สถานะว่าที่ ส.ส. อาจกลายเป็น “ส.ต.สอบตก” เอาง่ายๆ
กลายเป็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ขาดเสน่ห์ดึงดูด “นักเลือกตั้ง” อย่างไม่น่าเชื่อ และอาจทำให้สุเทพ อาจต้อง “คว้าลม” หาเสียงมาเติมเต็มไม่ได้อย่างที่หวังไว้
และยิ่งเมื่อเวลาที่กระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ ใกล้ถึงวันสมัครเข้าไปทุกที สุเทพ คงจำเป็นต้อง “ปล่อยของ” สร้างแรงจูงใจให้ “นักเลือกตั้ง” ทั้งหลายหันมาแลกันบ้าง หรืออย่างน้อยก็คงต้องถามสูตรจาก “เสี่ยเน” ดูบ้างมาว่า ใช้คาถาพ่อหมอเขมรคนไหนถึงดูดได้ดูดดี แบบไม่ไว้หน้าคนอื่น
และเมื่อรู้สูตรแล้วลงไปลุยใน “ตลาดมืด” อีกสักตั้ง
คราวนี้มีหวังปฏิเสธกันไม่ลงเลยทีเดียว