ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ก็ส่อว่าจะปัดความรับผิดชอบ กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ ได้แสดงออกอยากชัดเจนว่า เป็นผู้บงการการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่อยู่ระหว่างการถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี อันเนื่องมาจากคดียุบพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550
ทั้งนี้ เมี่อวันที่ 27 เม.ย. นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ได้พูดถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวผ่านวิดีโอลิงก์เสนอนโยบายของพรรคเพื่อไทย ต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า จะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.พรรคการเมืองหรือไม่นั้น จะต้องดูเป็นกรณีไป ยังไม่สามารถบอกได้ และอยากให้มองถึงกรณีของบุคคลอื่น เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา หรือ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรคเช่นกัน แต่ก็มีท่าทีที่ชัดเจนในการเข้ามากำหนดทิศทางของพรรค
นอกจากนี้ นายสมชัยยังอ้างว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้ กกต.ต้องคิดว่า เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเลือกตั้งที่เรียบร้อยบางครั้งก็ต้องยอมให้เป็นไป และต้องยึดถือประเทศชาติเป็นที่ตั้งก่อน
ชณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 เมษายนว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้วิดีโอลิงก์เข้ามาว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะต้องมีข้อเท็จจริงและมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก่อน ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่า ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ได้ ดังนั้น หากจะดูก็ต้องดูว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ดำเนินการในฐานะกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะสามารถวิดีโอลิงก์หาเสียงให้พรรคเพื่อไทยในช่วงมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้หรือไม่นั้นต้องดูข้อเท็จจริง หากเป็นความคิดเห็นก็จะไปห้ามไม่ได้
คำพูดของนายสมชัย และนายประพันธ์เท่ากับว่า กกต.ชุดนี้ ได้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองอดีตกรรมการบริหารพรรคฯ ทั้ง 111 คน ลงไปอย่างสิ้นเชิง
เหตุผลของการยุบพรรคตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้นั้น ระบุชัดเจนว่า เนื่องจากพรรคไทยรักไทยใช้วิธีการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นั่นคือพฤติกรรมของพรรคไทยรักไทยในช่วงการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ซึ่งมีการใช้เงินว่าจ้างให้พรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครแข่งกับพรรคตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ที่ว่า ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งต้องได้คะแนนเกินร้อย 20 ของผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หากในเขตเลือกตั้งนั้นมีผู้สมัครเพียงคนเดียว นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดวันเลือกตั้งและจัดคูหาเลือกตั้ง เพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง โดยมี กกต.ชุด “3หนา” รู้เห็นเป็นใจ จนถูกดำเนินคดีอาญาและติดคุกมาแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี คือ ห้ามสมัครลงรับเลือกตั้ง ห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง ห้ามมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ซึ่งโดยนัยก็คือ เป็นการลงโทษ เพื่อให้อดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกสั่งยุบได้เว้นวรรคทางการเมือง ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีบทบาททางการเมือง เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาจากการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการกล่าวผ่านวิดีโอลิงก์ไปยังที่ประชุมแถลงนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีบทบาทในการชี้นำทิศทางของพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน
“วันนี้ผมจะมาแนะนำนโยบายให้แก่พรรคเพื่อไทย ผมเริ่มจากไม่มีอะไรจนมารวยจากการทำกระดาษให้เป็นเงิน และผมจะทำกระดาษให้เป็นเงินแก่ประชาชน” นี่คือตัวอย่างคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณในวันนั้น
แม้ว่านายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จะออกมาปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย เพราะตัว พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ต่างประเทศ การวิดีโอลิงก์เข้ามาเพียงแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นและเสนอนโยบายต่างๆ ให้พรรคเพื่อไทย พิจารณานำไปปฏิบัติซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ และประชาชนและนโยบายต่างๆ ไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย สุดท้ายแล้วพรรคจะเอาหรือไม่ก็ต้องมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคอีกครั้งหนึ่ง เพื่อชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคเพื่อไทยชูแนวนโยบายว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ คนเคยทำสนับสนุน”ย่อมชัดเจนว่า นโยบายของพรรคมาจากคนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งตัดสิทธิทางการเมืองนั่นเอง แม้ว่านโยบายพรรคเพื่อไทยบางด้านจะเกิดจากการจัดสัมมนาของพรรคหลายครั้ง แต่ก็ต้องผ่านการตรวจทานในขั้นตอนสุดท้ายโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอยู่ดี
ยิ่งไปกว่านั้น หากจะประมวลจากข่าวสารที่ปรากฏย่อมไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือคนที่บงการทิศทางของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ยิ่งกว่ากรรมการบริหารพรรคด้วยซ้ำ นอกจากเป็นคนกำหนดนโยบายแล้ว ยังเป็นเจ้าของ “น้ำเลี้ยง”ที่อัดฉีดให้พรรค เป็นคนชี้ขาดว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใคร เป็นคนกำหนดตัวผู้สมัคร ส.ส. และเรื่องสำคัญทุกเรื่องภายในพรรค
กระนั้นก็ตาม การที่ กกต.ไม่สามารถเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ ก็เพราะ กกต.ชุดนี้เองได้สร้างบรรทัดฐานอันเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ซึ่งในครั้งนั้น มีการยื่นร้องต่อ กกต.ให้พิจารณายุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากมีพฤติกรรมเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยที่ถูกสั่งยุบไปแล้ว ในครั้งนั้น กกต.มีคำวินิจฉัยว่า พรรคพลังประชาชนมีพฤติกรรมเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยจริง แต่ยังไม่มีข้อกฎหมายที่จะเอาผิดได้ จึงปล่อยให้พรรคพลังประชาชนลอยนวลต่อไป จนกระทั่งถูกสั่งยุบเพราะกรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง และมีการตั้งพรรคเพื่อไทยเป็นนอมีนีตัวใหม่อีกครั้ง
ขณะเดียวกันในการเลือกตั้งปี 2550 มีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหลายคนที่ทำตัวเสมือนเป็นกรรมการบริหารพรรค เข้าไปมีบทบาทในการเลือกตั้ง เช่น นายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แต่ กกต.ก็ปล่อยให้คนเหล่านี้ยังคงมีบทบาททางการเมืองต่อไป ถึงขั้นเป็นคนกำหนดตัวรัฐมนตรีในโควตาของตัวเอง
เท่านั้น ยังไม่พอ หลังจากพรรคชาติไทย ถูกสั่งยุบพร้อมกับพรรคพลังประชาชน และพรรคมัฌชิมาธิปไตยเมื่อปลายปี 2551 กกต.ก็ยังปล่อยให้นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้วบงการทิศทางของพรรคชาติไทยพัฒนาที่เป็นร่างใหม่ของพรรคชาติไทยต่อไปตามเดิม
เช่นเดียว กับนายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ยังลอยหน้าลอยตา ชี้นิ้วบงการรัฐมนตรีในอาณัติของตัวเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวได้ต่อไป