ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นว่า ส.ว.ฝ่ายอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส.ว.เลือกตั้ง โดยเฉพาะ“คณะกรรมาธิการการปกครอง (กมธ.) วุฒิสภา” ออกมาตบเท้าคัดค้านแนวคิด “เลิกราชการท้องถิ่น” ของ “อานันท์ ปันยารชุน” ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) กันเป็นทิวแถว แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้ออกมาคัดค้านบ้างแล้วก็ตาม
ส.ว.เหล่านี้ถึงขั้นคัดค้านหากมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ
“ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” แบบยาแรงนี้ ให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด และโอนอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เศรษฐกิจ สังคมท้องถิ่น และการเมืองท้องถิ่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ประโยคที่ว่า “ ที่ให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด แล้วโอนอำนาจให้แก่ อปท. นั้น จะทำให้ อปท.เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับที่ดิน ป่า น้ำ และทรัพยากรอื่นๆ ของท้องถิ่นเป็นผู้บริหารโรงเรียน และวิทยาลัยท้องถิ่น วางแผนพัฒนาในท้องถิ่น กำหนดอัตราภาษีบางประเภทในท้องถิ่น และมีตำรวจของตนเอง เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและบังคับใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้น รวมทถึงระบบราชการของตนเอง”
ขณะเดียวกันยังให้สร้างกระบวนการทางการเมืองที่เปิดให้ประชาชนท้องถิ่นมี ส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเสนอให้ตั้ง “กรรมการประชาสังคม” ขึ้นในท้องถิ่นทุกระดับ มีบทบาท ให้คำแนะและตรวจสอบโครงการที่ อปท.เสนอ แม้ไม่มีอำนาจเท่าสภาท้องถิ่นในการยับยั้งโครงการ แต่อาจมีมติบังคับให้นำประเด็นที่ขัดแย้งไปสู่การลงประชามติได้
รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะแต่งตั้งผู้บริหาร อปท. หรือพนักงานในสังกัด อปท. อำนาจสำคัญที่รัฐบาลกลางมีเหมือน อปท.นอกจากที่ตราไว้ในพระราชบัญญัติแล้ว คือ อำนาจชักจูงซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลกลางมีอยู่มาก ทั้งในแง่งบประมาณจำนวนมากในมือ ความเชี่ยวชาญของระบบราชการส่วนกลาง การเข้าถึงสื่อได้กว้างขวางอย่างมาก
กมธ.ชุดที่คัดค้าน นำโดย “มงคล ศรีกำแหง” ส.ว.จันทบุรี “กฤช อาทิตย์แก้ว” ส.ว.กำแพงเพชร “พีระ มานะทัศน์” ส.ว.ลำปาง รวมถึง“ดิเรก ถึงฝั่ง” ส.ว.นนทบุรี คนเหล่านี้ล้วนเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ว่าฯในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อเท่ห์ๆ “ผู้ว่าฯซีอีโอ” ได้รับงบประมาณซีอีโอ มาพัฒนาจังหวัดจากนายกฯทักษิณ ได้แบบง่าย ๆไม่ต้องมารองบประมาณกลางแบบปัจจุบันว่าจะมาเมื่อไร
พวกเขาเห็นว่า “การคงส่วนภูมิภาค” ให้ส่วนกลางกระจายอำนาจ จะยิ่งทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้ดีขึ้น เป็นการกำกับตรวจสอบถ่วงดุล แต่ขณะนี้มีปัญหาที่งบประมาณ-บุคลากรน้อย แต่รัฐบาลกลับยัดเยียดงานไปให้ โดยไม่ให้งบประมาณและบุคลากร
ที่แน่ๆ ความเห็นที่ว่า หากตัดราชการส่วนภูมิภาค จะเกิดจลาจลในประเทศแน่ เพราะ “ข้าราชการคือ ผู้สนองพระราชดำริ ”
ตัดฉับมาที่ตัวเงินที่ท้องถิ่นที่จะได้คร่าวๆ โดยเฉพาะ การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยกตัวอย่างงบกรณีเร่งด่วน ที่รัฐบาลจัดสรรให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
ที่เป็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น “8,142,110,500 บาท” เป็นงบประมาณก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น 3,406,238,000 บาท งบประมาณก่อสร้างลานกีฬา 720,000,000 บาท และงบประมาณก่อสร้างโครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4,015,872,500 บาท
แถมยังแว่วๆ มาว่า“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี จะจัดงบฯอุดหนุนเฉพาะกิจ ที่จะให้กับท้องถิ่น ในส่วนของภาษีบาป อาทิ ภาษีบุหรี่ รายได้จากการขนส่ง และการจัดงบฯปี 2555 โดยจะโอนงบฯ 3 หมื่นล้านบาท ให้เป็นภาระของงบฯกลาง เพื่อจะให้เป็นไปตามเป้ากระจายอำนาจที่ร้อยละ 26 เป็นการเอาภาษีสังคม ภาษีบาปมากระจายให้ท้องถิ่น
สรุปแล้ว งบเยอะอย่างนี้ “ซีอีโอ” ที่ไหนก็ไม่อยากออกจากพื้นที่แล้ว !!!