xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.เชียงใหม่ประกาศหนุนแนวคิดปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เชื่อให้จังหวัดจัดการตนเองช่วยพัฒนาท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - องค์กรภาคประชาชนเชียงใหม่ แสดงจุดยืนหนุน “ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” ของ ครป.เรียกร้องนักการเมืองแสดงจุดยืน พร้อมเตรียมผลักดัน “เชียงใหม่จัดการตนเอง” เป็นเมืองนำร่องโอนอำนาจจากส่วนกลางมาให้ท้องถิ่นรับผิดชอบเอง เชื่อ ได้บริหารเอง-มีรายได้เพิ่มช่วยหนุนท้องถิ่นเจริญ-ปรับตัวคล่อง-ลดปัญหาการจัดการ เผย หลายจังหวัดเอาด้วยเตรียมผลักดันร่าง กม.เข้า ครม.ปี 55

วันนี้ (20 เม.ย.) คณะทำงานเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์จุดยืนของคณะทำงานเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ ในการสนับสนุนแนวทางกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง และจัดการแถลงข่าวถึงการนำเสนอจุดยืนดังกล่าว ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี นายสวิง ตันอุด จากเครือข่ายประชาชนบูรณการเชียงใหม่จัดการตนเอง นายชำนาญ จันทร์เรือง จากเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น และ นายประทีป บุญมั่น จากสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมในการประกาศจุดยืนและแถลงข่าว

การแสดงจุดยืนของคณะทำงานเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ ระบุว่า 1.เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่ได้เสนอเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งพร้อมที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนให้ข้อเสนอดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติจริงต่อไป 2.ขอให้เครือข่ายประชาชนต่างๆ ที่ขับเคลื่อนในเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจร่วมกัน และ 3.ในวาระที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนแนวทางดังกล่าวและร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ การออกมาแสดงจุดยืนดังกล่าวของคณะทำงานเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ เกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ซึ่งมี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เสนอแนวทางการการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีสารสำคัญ คือ เห็นว่า การบริหารงานแบบรวมศูนย์ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดปัญหามาก จึงเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด ให้โอนอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของท้องถิ่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รวมทั้งมีการปฏิรูประบบการคลังและภาษี โดยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งภาษีและอำนาจการจัดเก็บภาษีบางประเภท โดยรัฐบาลกลางทำหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะกิจการระดับชาติเท่านั้น ขณะที่ประชาชนจะต้องมีการสร้างกระบวนการทางการเมืองเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น

สำหรับองค์กรที่ร่วมกันในการประกาศจุดยืนในครั้งนี้ นอกจากคณะทำงานเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่เพื่อการจัดการตนเองแล้ว ยังประกอบไปด้วย องค์การเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายประชาชนบูรณาการเชียงใหม่จัดการตนเอง, สภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่, มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์, สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน, เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองเชียงใหม่, ภาคีคนฮักเจียงใหม่, มูลนิธิศักยภาพเยาวชน, เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น, สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสถาบันการจัดการทางสังคม

ขณะเดียวกัน ทางคณะทำงานเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ยังได้เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนแนวคิด “เชียงใหม่จัดการตนเอง” ที่ต้องการนำเสนอให้เชียงใหม่มีการปฏิรูปเช่นกัน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการ แทนที่จะรวมศูนย์อยู่กับระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และให้กระจายงบประมาณจากที่เคยรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางให้กลับมาสู่ชุมชนท้องถิ่น

เช่นเดียวกับแนวทางปฏิรูปที่ ครป.เสนอ เนื่องจากเล็งเห็นว่าจะทำให้การบริหารงานของจังหวัดมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับท้องถิ่นโดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลาง เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีเข้าสู่ท้องถิ่นที่จะทำให้ อปท.มีรายได้สำหรับใช้ในการบริหารงานและพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น

นายชำนาญ จันทร์เรือง จากเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวได้รับความสนใจ และการสนับสนุนจากหลายๆ จังหวัด ขณะนี้มี 26 จังหวัดแล้วที่เตรียมจะยื่นขอเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้จังหวัดบริหารจัดการตนเอง โดยจะใช้แนวทางของประเทศญี่ปุ่นที่มีทั้งจังหวัดและเทศบาลร่วมกันในการบริหารท้องถิ่นเป็นต้นแบบ ทั้งนี้คาดว่าจะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ได้ภายในปี 2555 โดยในระหว่างนี้จะมีการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวต้ออาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ

นายชำนาญ กล่าวต่อว่า ขณะนี้หลายพรรคการเมืองได้ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจจะใช้วิธีให้พรรคการเมืองที่สนใจนำแนวทางการให้จังหวัดจัดการตนเองไปเป็นนโยบายของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งก็ได้ หรืออีกทางหนึ่งก็คือ อาศัยการรวบรวมรายชื่อประชาชนตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ ครม.

ส่วนกรณีที่มีความเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้น นายชำนาญระบุว่า ตำแหน่งดังกล่าวยังไม่ได้ถูกยกเลิกไป เพียงแต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การปฏิรูปจะส่งผลบวกจากการช่วยลดทอนขั้นตอนความยุ่งยากในการบริหารงานแบบเดิมลงไปได้

กำลังโหลดความคิดเห็น