xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

นายกรัฐมนตรีคงจะประกาศยุบสภาประมาณต้นเดือนพฤษภาคม และใกล้ๆ กับคณะกรรมการปฏิรูปฯ ก็จะลาออกทั้งคณะ เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้มีการประชุมอาทิตย์ละสองครั้งๆ ละเกือบ 4 ชั่วโมง นอกจากนั้นก็มีการประชุมย่อยของคณะอนุกรรมการ และมีการเดินทางไปคุยกับประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ งานที่ทำเสร็จไปมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ การจัดสรรงบประมาณที่เน้นพื้นที่ ปัญหาเกษตร ที่ดิน ทรัพยากร การสร้างชุมชนเมืองที่น่าอยู่ ปัญหาแรงงาน การปรับปรุงระบบสุขภาพ การจัดการศึกษา เป็นต้น

มีข่าวว่าการปฏิรูปนี้ ใช้เงินถึงพันกว่าล้านซึ่งจัดเป็นข่าวเวอร์ประจำปี เฉพาะคณะกรรมการที่คุณอานันท์ เป็นประธาน ได้งบประมาณมา 57 ล้าน ใช้ไปเพียง 12 ล้าน รายจ่ายส่วนใหญ่เป็นการจัดประชุมประชาชน มีค่าใช้จ่ายการเดินทาง ค่าเลี้ยงอาหารสำหรับคน 400-500 คน และมีการจัดประชุมที่ต่างจังหวัด การประชุมใหญ่ใช้เงินเกือบ 3 ล้าน นอกจากนั้นก็เป็นค่าเบี้ยประชุม กรรมการมาประชุมครั้งละ 4 ชั่วโมง ได้เบี้ย 2,500 บาท เป็นค่ารถ 500 บาท สรุปได้เบี้ยประชุมชั่วโมงละ 500 บาท นับว่าคุ้มค่า

ผมอยากเล่าบรรยากาศในการประชุม กรรมการที่คุณอานันท์เลือกมาล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์สูง และมีที่มา ความรู้ ความชำนาญแตกต่างกัน คือ มีปลัดกระทรวง 2 คน คนหนึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณฯ) อีกคนหนึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย (คุณพงศ์โพยม วาศภูติ) ทั้งสองท่านนี้มีประสบการณ์สูง และเวลาทำงานก็ชอบเดินทางไปต่างจังหวัด ในคณะกรรมการมีผู้ทำงานคลุกคลีใกล้ชิดประชาชนหลายคน คือ มีผู้เคลื่อนไหวกับชาวบ้าน และเป็นชาวบ้านจริงๆ คือ แม่สมปอง เวียงจันทร์ ผู้ที่ทำงานกับชุมชนเมือง คือ คุณสมสุข บุญญบัญชา มีครูรัชนี ธงไชย ผู้ดำเนินการหมู่บ้านเด็ก นอกจากนั้นก็มี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม คุณบันฑร อ่อนคำ และคุณเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการแต่ทำงานด้านการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วย คือ คุณสมชัย ฤชุพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ก็มี ดร.ปรานี ทินกร และดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ นักการศึกษาที่เคยทำงานด้านบริหารการศึกษาด้วย คือ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นักวิชาการมีผม ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในคณะกรรมการชุดนี้มี พระไพศาล วิสาโล อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ และนพ.วิชัย โชควิวัฒน รวมอยู่ด้วย ผู้ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการ คือ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ในคณะผู้ช่วยคุณอานันท์ มีท่านทูตวิทย์ รายนานนท์ สำหรับฝ่ายเลขานุการ และผู้ช่วยค้นคว้าก็มีจำนวนไม่มากเพียง 4-5 คนเท่านั้น

การที่คุณอานันท์มีประสบการณ์ในการประชุมระดับนานาชาติมาแล้ว ท่านจึงเป็นประธานที่ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยท่านเองก็ได้ร่วมแสดงความเห็นด้วย ที่สำคัญก็คือ การตั้งประเด็น การจับประเด็น และการสรุปประเด็น ในการประชุมจะมีเอกสารนำเสนอ และเอกสารประกอบ ตลอดจนข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์มากมาย เอกสารที่นำเสนอจะมีการแก้ไขหลายรอบ กว่าที่ประชุมจะตกลงให้เป็นงานของคณะกรรมการ ดังนั้นในการประชุมจึงมีทั้งเนื้อหาสาระ และรายละเอียด

กรรมการปฏิรูปฯ ชุดนี้มีความคิดคล้ายๆ กันหลายอย่าง คือ 1) มีความเชื่อมั่นในวิถีทางการปฏิรูป 2) มีจิตใจ และแนวคิดที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน 3) ต้องการลดบทบาทของรัฐ ทำให้ระบบราชการเล็กลง และมีการกระจายอำนาจ 4) มุ่งเน้นช่วยลดความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำเพื่อช่วยคนจนและผู้ด้อยโอกาส 5) ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย

ในการประชุมผู้ซึ่งให้ความคิดเห็นอย่างลึกซึ้ง และกว้างขวางมีทุกคนโดยเฉพาะอาจารย์นิธิ และอาจารย์เสกสรรค์ ซึ่งทุกคนต้องรับฟัง และนำไปคิดทบทวนข้อเสนอต่างๆ คุณอานันท์เลือกกรรมการได้เหมาะสม เพราะมีข้อคิด และประสบการณ์จากหลายแง่มุม ทั้งนี้กรรมการต่างเข้าใจถึงข้อจำกัดของการทำงานว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับประชาชนเอง กรรมการมีหน้าที่หยิบยกปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขเท่านั้น ที่ดีก็คือว่าทุกคนมีอิสระอย่างเต็มที่ ไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองเลย ฝ่ายการเมืองเองก็คงเกรงใจคุณอานันท์

คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะจัดพิมพ์เอกสารไว้ โดยอาจารย์นิธิเป็นผู้เขียนสรุปทั้งหมด และมีภาคผนวกที่เป็นงานของคณะอนุกรรมการ และกรรมการบางคนด้วย

ผมได้รับความรู้มาก โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่คุณเพิ่มศักดิ์มีประสบการณ์ตรง ผมเองนอกจากทำเรื่องงบประมาณจังหวัดแล้ว เรื่องอื่นๆ ผมได้แต่ฟังเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น สรุปก็คือ ผมเข้าไปร่วมครั้งนี้น่าจะเรียกว่าเป็นผู้เรียนรู้มากกว่า

การที่อาจารย์นิธิ และอาจารย์เสกสรรค์มาร่วมอย่างแข็งขัน โดยทั้งสองช่วยงานด้านการนำเสนอต่อสื่อมวลชนด้วย นับว่าเป็นสปิริตที่ดี ท่ามกลางเสียงคนวิจารณ์มากเพราะสองท่านนี้ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลมาก่อน แต่การที่คุณอานันท์มาเป็นประธานก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งสองท่านสบายใจ และได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ข้อเสนอและงานของคณะกรรมการปฏิรูปฯ จึงมีร่องรอยของความคิดทั้งสองท่านนี้มากโขอยู่

การปฏิรูปเป็นทางออกของการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย ที่คนหลายคนใช้เวลาอาทิตย์ละ 8 ชั่วโมง มาปรึกษาหารือกัน โดยไม่มีผลประโยชน์อะไร นอกจากค่าตอบแทนเล็กน้อย นับว่าเป็นการสะท้อนถึงความหลังที่ยังคงมีอยู่ในสังคมนี้ และเป็นการคุ้มค่าทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น