xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายของ กฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมมาตรฐานสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา มีมติรับหลักการร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

กฎหมายฉบับนี้ เป็นการยกร่างและผลักดันโดย องค์กรวิชาชีพสื่อ อันได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่ในวิชาชีพสื่อ และผู้เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเสนอให้ รัฐบาลเป็นผู้นำเข้าสูการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือ คุ้มครอง การทำหน้าที่ของนักข่าว ไม่ให้ถูกแทรกแซง กดดัน หรือตกอยู่ใต้อาณัติของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการสื่อมวลชน

ในเรื่องของหลักการแล้ว ฟังดูดี น่าจะมีประโยชน์ แต่ในความเป็นจริง ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อก็รู้กันดีอยู่แก่ใจ คือ ทุกวันนี้ สื่อมีสิทธิเสรีภาพค่อนข้างมาก สามารถวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆได้อย่างอิสระเสรี จะถูกหรือผิด เหมาะสมหรือไม่ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่มีใครอยากมีเรื่องกับสื่อ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

อำนาจที่ควบคุมสื่อได้จริงๆคือ อำนาจทุน ทั้งทุนในฐานะที่เป็นจ้าของสื่อ และทุนที่มาในรูปของงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของสื่อ การนำเสนอข่าวของสื่อ ถูกกำหนดด้วย จุดยืน และผลประโยชน์ของผู้ที่เป็นเจ้าของสื่อ และถูกกำหนดด้วย ความต้องการของ ผู้ที่เป็นเจ้าของงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ด้วยความยินยอมของสื่อเอง ภายใต้ข้ออ้างว่า สื่อก็เป็นธุรกิจ ที่ต้องมีรายได้

ปัจจุบัน สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ เต็มใจที่จะอยู่ใต้อาณัติของ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ เพราะหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ มีงบประชาสัมพันธ์จำนวนมาก ที่พร้อมจะแจกจ่ายไปยังสื่อ เพื่อให้เสนอข่าว ที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานของตนหรือผู้บริหาร และให้งดเสนอข่าวที่เป็นทางลบต่อองค์กรของตน จนมีคำพูดในหมู่ผุ้บริหารรัฐวิสาหกิจว่า "ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีต้องเสียเงิน"

การทำหน้าที่ของนักข่าวในปัจจุบัน ถ้าจะมีปัญหา ก็ไม่ใช่ปัญหา ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการทำงาน แต่เป็นปัญหา การเลือกที่จะงดใช้สิทธิเสรีภาพในบางกรณี หรือที่เรียกกันว่า การเซ็นเซอร์ตัวเอง คือ เอามือปิดปากตัวเอง

กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ นี้ จึงเป็นกฎหมายที่ไม่มีประโยชน์ใดๆเลย เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกของสื่อ น่าสงสัยว่า หากไม่ใช่เพราะองค์กรสื่อ เป็นผู้ผลักดันกฎหมายนี้แล้ว รัฐบาลจะสนใจนำเข้า ครม. และ นำเสนอเข้าสภาฯ หรือไม่

เรื่องที่รัฐบาล และองค์กรสื่อควรจะทำซึ่งจะเป็นการส่งเสริมมาตรฐานสื่อในระยะยาว ได้จริงๆคือ การทำให้ประชาชน รู้เท่าทันสื่อ รู้ว่า อะไรคือ แรงจูงใจและวาระซ่อนเร้น ของการนำเสนอข่าวหนึ่งๆ
 
ในขณะที่กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ ไม่มีประโยชน์ใดๆ กฎหมายนี้ มีบทบัญญัติที่จะเป็นอันตรายต่อวงการสื่อ นั่นก็คือ การสร้างองค์กรอิสระที่มีชื่อว่า "คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน" ประกอบด้วย กรรมการ 11 คน ซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าของ ตัวแทนบรรณาธิการ ตัวแทนผู้ปฏิบัติงาน จากกิจการหนังสือพิมพ์ กิจการวิทยุ และกิจการโทรทัศน์ ผู้เชียวชาญด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่วินิจฉัย เรื่องร้องเรียนของผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ถูกละเมิดสิทธิในการทำหน้าที่ มีอำนาจเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ใครไม่มา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และถ้าวินิจฉัยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพถูกละเมิดสิทธิ นายจ้างหรือผุ้บังคับบัญชาก็อาจต้องติดคุก 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

ที่สำคัญคือ คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจชี้ว่า องค์กรไหน เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และมีสิทธิที่จะส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการ

นอกจากอำนาจแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ยังมีเงินเดือน มีค่าตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีจะกำหนด และแน่นอนว่า จะต้องมีสิทธิประโยชน์ทั้งที่เปิดเผย และแอบแฝงตามมาอีกหลายอย่าง

ด้วยอำนาจ และผลประโยชน์ของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งมีฐานะเป็น องค์กรอิสระ จะนำมาซึ่งการแตกแยกในวงการสื่อ แข่งขัน แย่งชิงกันเข้ามาเป็นกรรมการกันอย่างแน่นอน ตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าว ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึงที่ผ่านมามีผู้สมัครชุดเดียว ต่อไปนี้ก็จะมีการแข่งขันแย่งชิงกัน เพราะว่า เป็นตำแหน่งที่เป็น กรรมการสรรหาผู้ที่จะมาเป็น คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิฯ

อย่าเพิ่งคิดว่า สื่อจะไม่สนใจเรื่องสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ เงินๆทองๆ หลังการยึดอำนาจ 19 กันยา 2549 มีการแต่งตั้งผู้ประกอบอาชีพสื่อเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลายคน บางคนเป็นผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อ สื่อด้วยกันเอง วิจารณ์ว่า ไม่ควรไปรับตำแหน่ง ที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจ แต่ทั้งนายกสมาคมนักข่าว รวมทั้งกรรมการบางคนที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็น สนช. และ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย ตัดสินใจ ทิ้งความไว้วางใจของเพื่อนร่วมวิชาชีพ ไปเป็น สนช. รับเงินแสน และเครื่องราชอิสริยาภรณ์

กฎหมายที่เกิดขึ้น ด้วยเจตนาดีของผุ้ผลักดันนี้ ในอนาคต จึงอาจจะกลายเป็นดาบที่รัฐโยนมาให้ สื่อประหัตประหารกันเอง เพื่อแย่งชิงกันเข้าไปเป็น กรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น