xs
xsm
sm
md
lg

แฉ กฟผ.ฟุ้งคุม “สื่อ”ต้านโรงไฟฟ้าเมืองคอนได้-ส.อบต.ชี้พาดูงานแค่ฉาบฉวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - ส.อบต.ท่าศาลานครศรีฯ รับวิตกผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังไปดูงานพบมาบตาพุดสภาพทะเลแวดล้อมเหมือนท่าศาลา และเป็นการพาไปดูรอบโรงงานและฟังการบรรยายแต่ไม่ตอบคำถามที่เป็นข้อกังวล หรือให้เข้าไปดูภายใน แฉ กฟผ.ทำรายงานเสนอนายฟุ้ง “ควบคุมสื่อได้เบ็ดเสร็จ” ไร้แรงต้านและการตรวจสอบ

ความเคลื่อนไหวในการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช 2 โรงคือ ใน อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา โดย กฟผ.ได้ปูพรมสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านด้วยการระดมทุกภาคส่วนไปศึกษาดูงานยังโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง และโรงไฟฟ้ามาบตาพุด จ.ระยอง อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากระแสของการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะมีมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะใน อ.ท่าศาลา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ชุมชนชายฝั่ง และประชาชนทั่วไปได้กำหนดร่วมกิจกรรมผนึกกำลังในการปฏิเสธการเข้ามาของโรงฟ้าอย่างมีไมตรีในระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ.54

วันนี้ (15 ก.พ.) นายธันวา โต๊ะกานี ส.อบต.ม.5 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่เดินทางไปดูงานในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปางและโรงไฟฟ้ามาบตาพุด จ.ระยอง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกรณีที่มาบตาพุด เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเหมือนกัน อ.ท่าศาลา คืออยู่ริมฝั่งทะเล ผลกระทบกับชายฝั่งเป็นปัญหาที่น่าวิตกกังวลมาก ไม่รู้จะมีมาตรการป้องกันกันอย่างไร

“พยายามจะเข้าไปดูงานในโรงไฟฟ้ามาบตาพุด แต่เขาไม่ให้เข้าไปบอกว่าไม่มีระบบเซพตี้บุคคลไม่สามารถเข้าไปได้ ดังนั้น จึงไม่ได้เข้าไปดูภายในทำได้เพียงแค่ขับรถเข้าไปชมรอบโรงไฟฟ้า”

ในขณะที่ นายเราะหมาน ปลิงทอง ส.อบต.ม.5 ท่าศาลา อีกรายเปิดเผยว่า ได้ไปดูงานในพื้นที่แม่เมาะและ ระยอง ด้วยการลงพื้นที่แล้วเช่ารถจักรยานยนต์ไปดูด้วยตัวเอง ภาพรวมนั้นถามว่ามีข้อดีหรือไม่มีแน่นอนทุกอย่างมีแต่ข้อเสียก็มีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในโรงไฟฟ้ามาบตาพุด ระยอง มีปัญหากระทบทำลายสภาพแวดล้อมค่อนข้างมาก

“ที่ท่าศาลา นครศรีธรรมราช มีสภาพไม่ต่างกับมาบตาพุดเป็นที่ชายฝั่งทะเล นอกจากสภาพแวดล้อมแล้วปัญหาของการเสียโอกาสของชาวชุมชนชายฝั่งในการประกอบอาชีพมาหลายชั่วอายุคน ต้องสูญเสียไปจะทำกันอย่างไร ผมยืนยันว่าหากชาวบ้านไม่เอาผมในฐานะตัวแทนชาวบ้านผมพร้อมที่จะต่อต้านและไม่เอาให้เข้ามาในพื้นที่ด้วย”

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับการเปิดเผยจากนักวิชาการรายหนึ่งว่า ภาพรวมของการนำคนไปศึกษาดูงานนั้นอยากให้ผู้ที่ศึกษาดูงานคอยติดตามการทำงานของ กฟผ.ให้ดีในทุกขั้นตอนการดูงานเพราะที่ผ่านมาหลายคณะมีข้อมูลที่ตรงกัน คือ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามถึงข้อวิตกกังวลของคนที่มีข้อสงสัย เดินทางไปถึงแม่เมาะในช่วงค่ำแล้วเข้าห้องฟังบรรยาย มาบตาพุดไม่ลงจากรถไปฟังในห้องบรรยาย ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบออกไปตั้งกลุ่มฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยเช่นที่ อ.แม่เมาะไม่เคยพาไปพบ ซึ่งยังเป็นข้อคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

ด้านนายสัณห์ เงินถาวร วิศวกร 9 หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า จ.นครศรีธรรมราช (ฝ่ายก่อสร้างพลังงานความร้อน) เปิดเผยถึงภาพรวมของการเดินทางไปศึกษาดูงานของภาคส่วนต่างๆว่า การไปดูงานนั้นสามารถที่จะยืนยันด้วยตาของตัวเอง ไปพิสูจน์ด้วยตัวเองว่าความจริงกับสิ่งที่คัดค้านนั้นคนละอย่างกัน อย่างไรก็ตาม คนที่ได้ไปศึกษาดูงานแล้วนั้นเป็นที่น่าพอใจ ผลตอบรับมายัง กฟผ.เป็นไปในเชิงบวก

“ในส่วนของรายละเอียดนั้นผมคิดว่าควรไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร คือ นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพาณิชย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายก่อสร้างพลังงานความร้อน กฟผ. ในส่วนของผมนั้นสื่อส่วนกลางผมไม่อยากให้สัมภาษณ์เพราะเป็นภาพรวมทั้งประเทศเป็นหน้าที่ของผู้บริหารดีกว่า สำหรับผมในพื้นที่คุยกับสื่อท้องถิ่นเล็กๆภายในจังหวัดได้” วิศวกร กฟผ.รายนี้กล่าว

นอกจากนี้ แหล่งข่าวภายใน กฟผ.รายหนึ่งเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้มีการทำรายงานขึ้นฉบับหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยว่าคณะทำงานชุดไหนเป็นคนทำ ได้รายงานไปยังผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ว่า สามารถควบคุมสถานการณ์การและมวลชนในการต่อต้านในพื้นที่นครศรีธรรมราช ได้อย่างเบ็ดเสร็จปรากฎการณ์ของการต่อต้านที่เกิดขึ้น เป็นแค่เพียงการแสดงพลังของผู้ที่ต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการก่อสร้างโครงการแต่อย่างใด

“แต่ในส่วนที่สำคัญมีการรายงานไปด้วยว่าสามารถควบคุมสื่อมวลชนในพื้นที่นครศรีธรรมราช ผู้บริหารรายนี้ยังรายงานไปด้วยว่า ที่ผ่านมาเขายังได้ให้การดูแลสื่อมวลชนทุกคนในพื้นที่อย่างเรียบร้อยและได้อย่างเบ็ดเสร็จผ่านกระบวนการต่างๆไม่มีการเสนอข่าวในเชิงลบกับ กฟผ.และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อย่างแน่นอน ซึ่งไม่เข้าใจความหมายของการรายงานนี้ไปว่าได้ดูแลอย่างไรและเบ็ดเสร็จอย่างไร เป็นการดูถูกเหยียดหยามการทำงานของสื่อมวลชนในพื้นที่หรือไม่ สำหรับโครงการทั้ง 2 แห่งนี้นี้จะถูกขีดเส้นให้ทำกระบวนการทั้ง 7 ขั้นตอนแล้วเสร็จ โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2556 โดยคาดว่าในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านไม้รูด ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จะเริ่มสร้างก่อน จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากแรงต้านใน จ.ตราดมีน้อยกว่า” แหล่งข่าวภายในรายนี้กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น