ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงตรงนี้ คงไม่ต้องพิสูจน์กันอีกต่อไปแล้วว่า เป้าประสงค์สูงสุดของ “รัฐบาลนายฮุนเซน” แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาต้องการอะไร เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กัมพูชาไม่ได้ต้องการแค่นำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลก รวมทั้งไม่ต้องสงสัยว่า เหตุอันใดกัมพูชาใช้ยุทธศาสตร์ทางการทหารยอมเสียไพร่พลทหารเลวเปิดสงครามกับประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง
ถึงตรงนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลนายฮุนเซนทำทุกวิถีทาง ใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อนำปัญหาทั้งหมดขึ้นไปสู่การพิจารณาของ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (International Court of Justice-ICJ) เพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาในเรื่องของเขตแดน
หรือสรุปง่ายๆ สั้นๆ ว่า กัมพูชาต้องการยึดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร รวมทั้งพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทยที่กินอาณาบริเวณยาวกว่า 798กิโลเมตร โดยมีแผนที่ 1:200,000 เป็นอาวุธและเป็นหลักฐานสำคัญในการได้มาซึ่งชัยชนะ
คำถามสำคัญคำถามเดียวต่อกรณีที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ICJ เพื่อให้ตีความคำพิพากษาที่ออกมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ก็คือโอกาสที่ไทยจะ “แพ้” หรือ “ชนะ” อย่างไหนมีมากกว่ากัน
เนื่องจากเดิมพันในครั้งนี้คือ การได้มาซึ่ง “ดินแดนของแต่ละฝ่าย” เพราะเจตจำนงที่ชัดเจนของกัมพูชาในการขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาอีกครั้งคือคำประกาศของนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ระบุว่า เพื่อเป็นการชี้ขาดว่าดินแดนโดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นของฝ่ายใด
และชัดเจนมากขึ้นเมื่อ ICJ ได้เผยแพร่คำร้องของกัมพูชาลงในเว็บไซต์ของ ICJ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พ.ค.โดยยื่นตีความใน 3 ประเด็นกับอีก 3 มาตรการคุ้มครองชั่วคราว
สำหรับ 3 ประเด็นที่กัมพูชาขอให้ยื่นตีความประกอบด้วย
หนึ่ง-ตามความเข้าใจของกัมพูชา คำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ตั้งอยู่บนเส้นเขตแดนสากลที่มีอยู่และได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย
สอง-ตามความเข้าใจของกัมพูชา เส้นเขตแดนนั้นกำหนดไว้ในแผนที่ซึ่งศาลอ้างถึงในหน้า 21 ของคำตัดสิน ซึ่งเป็นแผนที่ที่ทำให้ศาลสามารถตัดสินว่า กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาท ซึ่งย่อมเป็นผลโดยอัตโนมัติให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ปราสาทตั้งอยู่
และสาม-ตามคำพิพากษา ไทยมีพันธกรณีที่จะต้องถอนทหารและเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาท ซึ่งเป็นดินแดนกัมพูชา กัมพูชาเชื่อว่า เป็นข้อผูกมัดสืบเนื่องจากเป็นถ้อยแถลงของศาลโลกซึ่งระบุเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาในบริเวณดังกล่าว
ส่วน 3 มาตรการชั่วคราวนั้น กัมพูชาขอให้ศาลสั่งใน 3 ประเด็นคือ
หนึ่ง-ให้ไทยถอนทหารออกจากดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีและปราศจากเงื่อนไข
สอง-สั่งห้ามกิจกรรมทางทหารของไทยในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร
และสาม-ให้ไทยระงับการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นการแทรกแซงสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้สถานการณ์ร้ายแรงมากขึ้น
แน่นอนว่า ความหมายและขอบเขตของคำตัดสินที่กัมพูชาต้องการให้ ICJ ตีความ เดิมพันครั้งนี้ไม่ได้อยู่แค่เพียงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหารเท่านั้น เพราะถ้าหากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศรับที่จะตีความและถ้าหากมีการชี้ขาดให้ตกเป็นของกัมพูชา กัมพูชาจะสามารถใช้แผนที่มาตรา 1:200,000 อ้างความเป็นเจ้าของดินแดนอื่นๆ รวมพื้นที่เกือบ 2 ล้านไร่ตลอดแนวพรมแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งนั่นหมายรวมไปถึงแผนที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ด้านพลังงานมหาศาล
เพราะต้องไม่ลืมว่า คำพิพากษาของ ICJ เมื่อปี 2505 นั้น ไม่ได้พิพากษายอมรับแผนที่ 1:200,000 ระวางดงรักที่เป็นภาคผนวก 1 ท้ายฟ้อง ไม่ได้พิพากษาให้เส้นในแผนที่เป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา หากแต่พิพากษากำหนดให้ไทยคืนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาเท่านั้น
ประเด็นปัญหาที่จะต้องวิเคราะห์และวินิจฉัยเป็นเบื้องแรกก็คือ ฝ่ายกัมพูชาสามารถเสนอคำร้องให้มีการตีความฝ่ายเดียวหรือไม่ หรือฝ่ายไทยจะต้องให้ความยินยอมด้วย
ในประเด็นนี้ ถ้าหากพิจารณาจากทั้งข้อเท็จจริง รวมทั้งความเคลื่อนไหวของฝ่ายที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอตั้งคณะทนายที่ปรึกษาในการต่อสู้คดี ก็ทำให้เห็นว่า ไทยมิอาจปฏิเสธการยื่นตีความของฝ่ายกัมพูชาได้
ดังเช่นที่ “ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ใน “นิติราษฎร์” ฉบับที่ 20 ว่า ตามธรรมนูญของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา 60 ได้กำหนดวิธีการตีความคำพิพากษาของศาลโลกเป็นการเฉพาะ โดยข้อ 60 ซึ่งบัญญัติว่า “คำพิพากษาของศาลเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลต้องตีความตามคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น หากพิจารณาจากข้อที่ 60 แล้ว ตัวบทใช้คำว่า คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีนัยว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าฝ่ายที่เป็นโจทก์หรือเป็นผู้ถูกฟ้อง ก็สามารถร้องขอให้มีการตีความได้
ส่วนการที่ฝ่ายไทยจะ “ตัดขอบเขตอำนาจศาลโลก” นั้น หรือไม่ต้องการให้ศาลโลกตีความคำพิพากษานั้น จากการตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า โดยหลักการเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะการยื่นฟ้องตามมาตรา 60 ไม่ใช่การฟ้องคดีใหม่ที่ไทยอาจจะปฏิเสธได้โดยอ้างว่า ไม่ได้ต่ออายุการยอมรับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมานานแล้วหลังเจ็บปวดเพราะคำพิพากษาประหลาด หากแต่เป็นการใช้สิทธิของคู่ความขอให้ศาลตีความคำพิพากษาในคดีเดิม
และถ้าหากพิจารณาความเคลื่อนไหวของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยิ่งเห็นชัดเจนว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์รับรู้ว่า ไม่สามารถตัดฟ้องได้ ขณะเดียวกันก็มิได้ปรารถนาที่จะดำเนินการตามเส้นทางนี้ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ตั้งทีมทนายเพื่อต่อสู้คดีดังเช่นที่ปรากฏหลักฐานให้เห็น
ทั้งนี้ ทีมทนายฝ่ายไทยก็เป็นที่แน่ชัดจากการที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เปิดเผยเองว่า นำทีมโดย “นายวีรชัย พลาศรัย” เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อธิบดีกรมสนธิสัญญา ทีมกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นฝ่ายจัดเตรียมข้อมูล และทำงานควบคู่ไปกับทีมทนายความต่างชาติ โดยในวันที่ 30 - 31 พ.ค. ศาลโลกได้จัดให้ไทย-กัมพูชา เข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อองค์ประกอบคณะผู้พิพากษาศาลโลก ซึ่งนายวีระชัย จะเป็นผู้ชี้แจงฝ่ายไทย โดยใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง
แต่จะอย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้ว ศาลจะรับการร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจหรืออำนาจของศาลโลก ซึ่งโดยปกติแล้วขั้นตอนการยื่นคำร้องเพิ่มเติมนี้ ศาลโลกจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการรับฟ้องหรือไม่ ก่อนแจ้งมายังประเทศกัมพูชา หากรับฟ้องก็จะให้เวลาในการส่งคำชี้แจงไปภายใน 2 เดือน หลังจากนั้นจะให้สิทธิ์ฝ่ายไทยในระยะเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกันในการส่งคำชี้แจงในส่วนของฝ่ายไทย
และจากกระแสข่าวที่ออกมาในสื่อต่างประเทศ เช่น สำนักข่าวเอเอฟพีก็ค่อนข้างจะมีความชัดเจนว่า ICJ อาจต้องเปิดกระบวนการพิจารณารอบใหม่
ทีนี้ ก็มาถึงประเด็นสำคัญที่ว่า โอกาสที่ไทยจะชนะหรือแพ้มีมากกว่ากัน
ในประเด็นนี้ถ้าหากไล่เรียงลำดับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีก่อนที่กัมพูชาจะนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลก ก็พอจะเห็นเค้าลางได้ว่า โอกาสที่กัมพูชาจะชนะย่อมมีไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้มานานพอสมควรและเป็นการเตรียมการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
และถ้าจะว่ากันตามเนื้อผ้าและตรรกะแล้ว โอกาสที่กัมพูชาชนะก็น่าจะมีมากกว่า เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว กัมพูชาคงไม่ยื่นตีความคำพิพากษาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
เพราะแม้ศาลจะยังไม่มีคำตัดสินออกมา แต่จากประจักษ์พยานทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการคงอยู่ของ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 หรือ “MOU43” ที่ประเทศไทยยอมรับแผนที่ระวางดงรัก(Annex I map)ซึ่งใช้มาตราส่วน 1 :200,000 การที่ชุมชนกัมพูชาและทหารติดอาวุธของกัมพูชาสามารถเข้ามายึดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเอาไว้ได้ ก็ต้องบอกว่า ยังไม่เห็นหนทางที่ราชอาณาจักรไทยจะมีชัยชนะเหนือราชอาณาจักรกัมพูชาแต่อย่างใด
มิหนำซ้ำรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ยังไปจ้างทนายความฝรั่งเศส ประเทศเจ้าอาณานิคมของกัมพูชาและเป็นต้นตอของการทำให้ประเทศไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาอีกต่างหาก
“รัฐบาลไทยต้องเตรียมตัว เนื่องจากไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการตีความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร โดยสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำเพื่อเตรียมตัวในคดีปราสาทพระวิหารนั่นคือ ผู้กำหนดนโยบายที่ออกมาพูดเรื่องเส้นเขตแดนไทยกัมพูชา ปราสาทพระวิหาร หรือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ควรนำคำพูด การแสดงความเห็นต่อเรื่องเหล่านี้มาศึกษาว่ามีจุดบกพร่องหรือพลาดพลั้งตรงไหนบ้าง เพราะมีการพูดในหลายระดับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปจนถึงผู้นำกองทัพ”นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลกัมพูชายื่นคำร้องต่อ ICJ เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาคดีประสาทพระวิหารเมื่อปี 2505
อย่างไรก็ตาม เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า คำถามถัดมาที่คนไทยทุกคนต้องการคำตอบก็คือ ใครคือต้นเหตุแห่งโอกาสของความพ่ายแพ้ในครั้งนี้
แน่นอน คำตอบในเรื่องนี้มีความชัดเจนว่า จำเลยแรกแห่งคดีย่อมหนีไม่พ้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนจำเลยที่สองและจำเลยที่สามย่อมหนีไม่พ้นกระทรวงการต่างประเทศ และบิ๊กข้าราชการทหารบางคนที่มีผลประโยชน์อยู่ตลอดแนวชายแดนบูรพา
ผลลัพธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความไร้น้ำยาในการบริหารราชการแผ่นดินของ “รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แห่งพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งว่า อ่อนด้อยทั้งการบริหารราชการในประเทศและกิจการต่างประเทศ
ทั้งนี้ ถ้าหากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังก็จะพบความจริงว่า กัมพูชาได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการทำงานที่เป็นเอกภาพ วางยุทธศาสตร์และยุทธวิถีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขณะที่ในทางตรงกันข้ามความล้มเหลวของประเทศไทยเป็นผลมาจากความอ่อนแอของผู้นำรัฐบาลที่มิเคยกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ที่เป็นเรื่องเป็นราวแม้แต่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำที่ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หลายครั้งที่มีคำท้วงติง หลายครั้งที่มีการเตือน รัฐบาลนายอภิสิทธิ์กลับมิเคยสนใจและยังคง “ดื้อตาใส” โดยมิเคยยอมรับและแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิก MOU 43 ชนวนเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่การเสียดินแดน
ทั้งนี้ แผนการของนายฮุนเซนเริ่มต้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การทำให้ ICJ มีมติรับรอง “แผนที่ตอนเขาดงรัก” ที่รู้จักกันในชื่อว่า “ระวางดงรัก” หรือ ANNEX1 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ถูกจัดทำและพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ในนามของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมที่ตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1905 ที่กัมพูชาประกาศใช้ เนื่องจากเป็นแผนที่ที่ทำให้กัมพูชาได้เปรียบประเทศไทยเพราะเป็นแผนที่ที่ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 และพยายามผลักดันให้ไทยยอมรับแผนที่ฉบับนี้เรื่อยมา ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
กล่าวคือ แม้กัมพูชาจะไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร แต่ในที่สุดกัมพูชาก็ประสบความสำเร็จเพราะสามารถทำให้ราชอาณาจักรยอมรับแผนที่ระวางดงรัก ดังปรากฏอยู่ในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตทางบก หรือที่รู้จักกันในชื่อของ MOU43 ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยที่นายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี และร่วมเซ็นลงนามโดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการะทรวงต่างประเทศ และนายวาร์ คิมฮง ที่ปรึกษารัฐบาลที่รับผิดชอบกิจการชายแดนของกัมพูชา
เป็น MOU 43 ฉบับเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยพร่ำพรรณนาถึงคุณอันวิเศษในทุกลมหายใจเข้าออก
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแค่การรุกคืบในทางกฎหมายเท่านั้น กัมพูชายังปฏิบัติการครอบครองปรปักษ์เหนือแผ่นดินไทยในทางพฤตินัยอีกด้วย โดยปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในปี 2541 เมื่อมีการส่งชุมชนกัมพูชาเข้ามาตั้งร้านค้าและแผงลอยบริเวณทางขั้นปราสาทพระวิหารในเขตไทยเพื่อขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว จากนั้นในปี 2542 กัมพูชาได้สร้างวัดแก้วสิขาคีรีสะวาราบริเวณฝั่งตะวันตกของปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่นอกเขตที่กั้นรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505
และไม่เพียงเท่านั้นในช่วงปี 2547-2548 ได้มีการขยายตัวของชุมชนกัมพูชา มีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อเป็นที่ทำการเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของกัมพูชา และมีการสร้างถนนจากบ้านโกมุยของกัมพูชาขึ้นมายังเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของไทย ซึ่งแม้กระทรวงการต่างประเทศของไทยจะทำหนังสือประท้วงต่อกัมพูชาหลายต่อหลายฉบับ แต่ก็มิได้ทำอะไรหรือใช้มาตรการที่เข้มแข็งในการระงับกิจกรรมต่างๆ ของกัมพูชานอกเหนือไปจากหนังสือประท้วง
ทั้งนี้ หลังความเพียรพยายาม กัมพูชาก็ประสบความสำเร็จเป็นครั้งที่สอง เมื่อสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ พร้อมทั้งรุกคืบด้วยการผลักดันแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเพื่อหวังยึดดินแดนของไทยจากนั้นก็นำมาซึ่งอีกสารพัดการสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกคะแนน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดฉากสงครามที่แนวรบปราสาทพระวิหาร ภูมะเขือ เพื่อวางแผนนำเรื่องเข้าสูการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(UNSC) ก่อนที่ UNSC จะโยนเรื่องให้อาเซียนเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือการเปิดฉากสงครามครั้งล่าสุดที่ปราสาทตาควาย ตาเมือนธม ก่อนที่จะยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ตีความคำพิพากษาในเรื่องเขตแดน
ถามว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์แห่งพรรคประชาธิปัตย์รับรู้ยุทธศาสตร์และความเคลื่อนไหวเหล่านี้ของกัมพูชาหรือไม่
แน่นอน นายอภิสิทธิ์ย่อมรู้ แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ของฝ่ายไทย
และนั่นหมายความว่า นายอภิสิทธิ์และ “พรรคประชาธิปัตย์” คือพรรคที่กำลังทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนเป็นครั้งที่ 15
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ไทยจะไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เมื่อ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล” อดีตเอกอัครราชทูต ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และทนายความผู้ประสานงานคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2502-2505 ให้ความเห็นเอาไว้ว่า....
“ศาลโลกต้องแก้ไขสิ่งที่เคยทำผิดไว้สิ ศาลโลกไม่คิดจะกลับตัวหรือ เป็นคนดีเสียมั่งสิ ไม่อย่างนั้นใครจะไปนับถือล่ะ ทำตัวให้มันดี เป็นถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คุณเข้าข้างประเทศนั้นประเทศนี้มันก็แย่น่ะสิ ขายหน้าเขาตาย ทำอย่างนี้ทำได้ยังไง”
“ในเมื่อที่ผ่านมารัฐบาลไทยเคยสงวนสิทธิ์เอาไว้แล้วว่าจะทวงคืนประสาทพระวิหาร นี่ก็เป็นโอกาสที่ไทยจะเรียกทวงคืนได้เลย จบ! เขาเปิดโอกาสให้เราแล้วนี่ ศาลรู้สึกว่าพิจารณาผิดไปใช่ไหมถึงได้พิจารณาใหม่ คือถ้าศาลจะพิจารณาใหม่เราก็ขอให้ยกเลิกคำพิพากษาเดิม”(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์ หน้า 13)