xs
xsm
sm
md
lg

แฉ!เล่ห์”ฮอนัมฮง”ฮุบพระวิหาร ดึงศาลโลกตัดสิน หวั่นเสียดินแดนซ้ำรอยปี2505

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน/ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ”ฮอนัมฮง” ใช้เล่ห์ดึงศาลโลก(ICJ) ตีความคดีปี 2505 หวังฮุบพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหาร ลั่นอีก 3 เดือนรู้ผล "มาร์ค" ยันเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นแผนของเขมร เพื่อนำเรื่องสู่เวทีนานาชาติ ด้านกต. ชงครม.จ้างทนายฝรั่งเศส-แคนาดา-ออสซี่ สู้คดีกัมพูชาในศาลโลก ขณะที่พันธมิตรฯคัดค้าน ชี้ไม่ควรรื้อฟื้นคดีเก่าอีก ขณะที่สถานการณ์ชายแดนเริ่มคลี่คลายผู้อพยพฯกว่า 5 หมื่นเฮ! ได้กลับบ้านทั้งหมดแล้ว

นายฮอนัมฮอง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ความพยายามเพื่อสันติภาพที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2551 ล้วนล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาสองฝ่าย หรือความพยายามของกลุ่มอาเซียนที่ผู้นำกำลังจะพบหารือกันในเรื่องนี้ในกรุงจาการ์ตา ศาลโลกจะเป็นทางออก เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ชายแดนกัมพูชาไทยอย่างแท้จริง สำนักข่าวของทางการกล่าว

รมว.ต่างประเทศกัมพูชา อยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แบนด์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดำเนินการร้องขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) เปิดพิจารณา อันเป็นช่วงเกิดการสู้รบรุนแรงขึ้นที่ชายแดนด้านปราสาทตาเมือน และปราสาทตาควาย และ เดินทางกลับถึงพนมเปญในวันเสาร์ 30 เม.ย.

นายทหารระดับพื้นที่ของสองฝ่ายได้ประชุมหารือกันอีกครั้งหนึ่งในสุดสัปดาห์นี้ และการปะทะเริ่มซาลง เมื่อนายฮองเดินทางกลับ

กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา แถลงก่อนหน้านี้ ว่า นอกจากรัฐบาลฮุนเซนจะร้องขอให้ ICJ ตีความคำพิพากษาแล้ว กัมพูชายังรุกคืบไปอีกขั้นโดยขอให้ศาลโลกสั่งให้มีมาตรการเร่งด่วน เพื่ออนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร ซึ่งอาจจะหมายถึงการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเข้าไปประจำการ

กัมพูชาอ้างต่อศาลระหว่างประเทศ ว่า ฝ่ายไทยได้โจมตีปราสาทเก่าแก่ให้ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องและเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียบทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่อไปอีก จึงขอให้มีคำสั่งใช้มาตรการอนุรักษ์เร่งด่วน

“ผมยังได้เรียกร้องไห้ไอซีเจมีมาตรการเร่งด่วนเนื่องจากการก้าวรุกรานกัมพูชาอย่างต่อเนื่องโดยฝ่ายไทย ถึงแม้จะมีการตกลงหยุดยิงของทหารในระดับท้องถิ่นของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 28 เมษาฯ แล้วก็ตาม” สำนักข่าวทางการอ้างคำพูดของนายฮอง

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน ประกาศตั้งแต่เดือน ก.พ.จะดำเนินการขอให้ศาลโลกตีความคำตัดสินเมื่อ 49 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นการชี้ขาดว่าดินแดนโดยรอบปราสาทเป็นของฝ่ายใด ซึ่งถ้าหากมีการชี้ขาดให้ตกเป็นของกัมพูชา ประเทศนี้กจะสามารรถใช้แผนที่มาตรา 1:200,000 อ้างความเป็นเจ้าของดินแดนอื่นๆ รวมพื้นที่เกือบ 2 ล้านไร่ตลอดแนวพรมแดนพนมดงรักระหว่างสองประเทศ

แผนที่ดังกล่าวฝรั่งเศสจัดทำขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อน โดยไม่เคารพสนธิสัญญาพรมแดนที่ให้ยึดสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนธรรมชาติ

ศาลโลกได้ยึดถือแผนที่ดังกล่าวในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เนื่องจากเป็นแผนที่เพียงฉบับเดียวที่ได้รับการยอมรับฝรั่งเศสกับราชอาณาจักรสยามในอดีต ฝ่ายไทยไม่มีแผนที่หรือหลักฐานอื่นโต้แย้ง

อย่างไรก็ตาม คดีปราสาทพระวิหารยังมีความซับซ้อนยิ่งกว่านั้น ยังไม่เคยมีการชี้ขาดเช่นกันว่า แผนที่ 1:200,000 ที่ใช้ ขัดต่อสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยามปี 1904 หรือไม่ ขณะที่ผู้พิพากษาคดีปราสาทพระวิหารจำนวนหนึ่ง ได้บันทึกต่อท้ายเอาไว้ในคำวินิจฉัยเอกเทศอย่างชัดเจนว่า การตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ไม่ได้หมายความว่าสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยามดังกล่าวถุูกยกเลิก เพราะจะเป็นการขัดต่อหลักสากลเกี่ยวกับการปักปันเขตแดน

รมว.ต่างประเทศวัย 73 ปีของกัมพูชา เปิดเผยอีกว่า วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาได้รับร่างข้อตกลง (Terms of Reference) ที่มีการแก้ไขฉบับที่ 5 จากอินโดนีเซีย เกี่ยวกับการส่งทหารสังเกตการณ์เข้าประจำการตามแนวชายแดน 3 จุด ซึ่ง 4 ครั้งที่ผ่านมากัมพูชารีบตอบรับทุกครั้ง แต่คราวนี้ติดขัดในจุดสวายจรุม (Svay Chrum) ที่ฝายไทยเสนอในฝั่งไทย โดยเรียกชื่อต่างกัน

นายฮอง อ้างว่า ที่นั่นอยู่ลึกเข้าไปในดินแดนกัมพูชาถึง 7 กม.ฝ่ายกัมพูชาเสนอ 3 จุดใกล้ปราสาทพระวิหาร คือ ช่องทาแสม ช่องจักเกร็ง และ ช่องปรัมมกรา เพื่อให้ทหารจากอินโดนีเซียเข้าประจำการเพื่อสังเกตการณ์การหยุดยิง สำนักข่าวกัมพูชา กล่าว

กัมพูชายังคงทำสงครามโฆษณาช่วยเชื่อต่อประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ในวันอาทิตย์ 1 พ.ค.2554 กระทรวงการต่างประเทศได้ออกคำแถลงอีกฉบับหนึ่ง กล่าวหาว่าในวันเดียวกัน ฝ่ายไทยได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงเป็นครั้งที่ 10 แม้ว่าทหารระดับท้องถิ่นของสองฝ่ายจะได้ตกลงหยุดยิงแล้วก็ตาม

***ปัดธงชาติไทยปักปราสาทตาควาย

แถลงการณ์จากกองทัพกัมพูชา ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ปฏิเสธการรายงานจากสื่อไทย ก่อนหน้านี้ว่า ยังมีนายทหารเสียชีวิต 2 นาย ถูกทิ้งไว้ในเขตปะทะ โดยแถลงการณ์ระบุ ข้อมูลและรูปภาพทั้งหมด ถูกทำขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และทหารของกองทัพกัมพูชา หากได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จะถูกบันทึกข้อมูลโดยทันที สำหรับผู้ที่เสียชีวิต จะมีการจัดพิธีทางศาสนาแบบดั้งเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้ คือเกียรติอันสูงสุดสำหรับชาวกัมพูชา

นอกจากนี้ ตามแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีธงชาติไทยปักอยู่เหนือปราสาทตาควาย หรือแม้กระทั่ง ปราสาทตาเมือนธม

***”มาร์ค” ชี้เหตุปะทะเป็นแผนเขมร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ชาวบ้านเริ่มกลับบ้านบ้างแล้ว เพราะจากการประเมินสถานการณ์ขณะนี้ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ได้กำชับไปแล้วว่าทางกองทัพต้องระมัดระวัง เพราะว่าแนวทางขณะนี้ เราเริ่มเห็นว่าทางกัมพูชาอาจจะใช้วิธีการซุ่มยิง ลอบทำร้าย จึงต้องระมัดระวังเต็มที่ แต่ว่าในลักษณะของการปะทะ ซึ่งจะมีผลกระทบมาถึงพี่น้องประชาชนนั้น เท่าที่ติดตามมา 2-3วันที่ผ่านมา คิดว่าควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

เมื่อถามว่า การปะทะครั้งล่าสุด ถือว่าเป็นแผนของทางกัมพูชาหรือไม่ ที่ต้องการนำเรื่องขึ้นสู่นานาชาติ นายกฯ กล่าวว่า " เป็นความจงใจอยู่แล้วของกัมพูชา ที่จะอาศัยเหตุการณ์การปะทะกัน เพื่อเป็นข้ออ้างกลับเข้าสู่เวทีต่างๆ ระหว่างประเทศ ซึ่งเราพูดมาโดยตลอด และคิดว่าขณะนี้ต่างประเทศจะเห็นชัดเจนมากขึ้น เพราะว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นทุกครั้ง เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราพยายามชี้ให้เห็นตลอดมา และนโยบายของเรา ในการตัดสินใจต่างๆ จึงมีความระมัดระวังในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก"

**ชงครม.จ้างทนายต่างชาติสู้คดีในศาลโลก

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้หารือถึงกรณีกัมพูชา ยื่นศาลโลกตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ซึ่งนายกฯได้รับทราบกระบวนการต่างๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการ และขอให้ทำอย่างรอบคอบ

" การประชุมครม. วันที่ 3 พ.ค. กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอให้ครม. เห็นชอบการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อเป็นคณะทำงานด้านกฎหมาย กรณีปราสาทพระวิหาร 3 คน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเป็นทนายชาวฝรั่งเศส แคนาดา และ ออสเตรเลีย " นายชวนนท์ กล่าว

** ค้านจ้างทนายฝรั่งเศสสู้ในศาลโลก

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี เตรียมนำเรื่องการแต่งตั้งทนายชาวฝรั่งเศสเพื่อต่อสู้ในศาลโลก จากการที่ฝ่ายกัมพูชายื่นฟ้องในส่วนปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ไม่ทราบเหตุผล ว่าเหตุใดกระทรวงการต่างประเทศจึงต้องไปนำชาวฝรั่งเศส ที่เป็นชาติเจ้าของอาณานิคมของประเทศกัมพูชาและยืนคู่กับกัมพูชามาโดยตลอด มาเป็นทนายของรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความจงใจของรัฐบาลหรือไม่ ที่ต้องการแพ้คดีในศาลโลกอีกครั้ง เพื่อเป็นการฟอกความผิดให้กับรัฐบาลในอดีต ที่ไปลงนามเอ็มโอยู 2543 และรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชาตลอดมา เพราะหากไทยแพ้คดีอีก รัฐบาลจะได้อ้างว่า ไม่ได้เป็นเพราะเอ็มโอยู 2543 แต่เป็นเพราะปัญหาเขตแดน แต่ถ้าไทยชนะคดี รัฐบาลก็จะอ้างได้อีก เอาเป็นความดีความชอบของรัฐบาลเอง ที่เตรียมข้อมูลหลักฐานไปต่อสู้ในศาลโลกจนชนะ แต่ขอยืนยันว่าไม่เกิดประโยนช์ต่อเขตแดนประเทศไทยใดๆทั้งสิ้น หากชนะก็คือประเทศไทยได้สิทธิในตัวแผ่นดินใต้ปราสาทพระวิหารเหมือนเดิม เพราะธรรมนูญของศาลโลกได้ระบุว่า หากจะแย้งคำพิพากษาศาลโลกที่ตัดสินไปแล้ว ต้องมีข้อมูลใหม่ภายในระยะเวลา 10 ปี แต่คำตัดสินตั้งแต่ปี 2505 เลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว และยังระบุในท้ายคำตัดสินด้วยว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเขตแดน เพราะศาลโลกตัดสินเฉพาะอธิปไตยเหนือตัวปราสาทเท่านั้น

ดังนั้นรัฐบาลไทยไม่ควรไปต่อสู้ หรือรื้อฟื้นคดีขึ้นมาอีก แต่หากจำเป็นต้องต่อสู้ ต้องใช้สิทธิในการไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลกแทนการต่อสู้ในเนื้อหาของคดี ซึ่งเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน
"ที่ผ่านมาไม่ว่าเวทีใดทั่วโลก ไทยก็ไม่เคยชนะกัมพูชาได้เลย ทุกอย่างเดินตามเกมกัมพูชามาตลอด ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ควรไปเสียเวลาเอาเงินงบประมาณไปละเลงเล่นกับเรื่องนี้อีก ควรออกมาทำหน้าที่ปกป้องเขตแดนของชาติจะเป็นเรื่องที่ต้องเร่งมากที่สุด โดยช่วงนี้ทหารกัมพูชากำลังเพลี่ยงพล้ำก็ควรรุกไปยึดภูมะเขือ วัดแก้วสิกขิคีรีสวาระ และพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร โดยต้องให้ถอนกองกำลังทหารและชุมชนกัมพูชาออกไปให้หมด” นายปานเทพ กล่าว

**รัฐบาลล้มเหลวแก้ปัญหาชายแดน

ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวานนี้ มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระ นายนิคมได้เปิดโอกาสให้ส.ว.หารือในในเรื่องต่างๆ โดย ส.ว.หลายคน ได้ขอหารือแสดงความเป็นห่วงเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทย-กัมพูชา ตั้งแต่ นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ที่กล่าวว่า หลังยุบสภาแล้วรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลรักษาการถึง 3 เดือน จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ จึงมีความเป็นห่วงปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีความละเอียดอ่อน สาเหตุเกิดจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน จนนำไปสู่การปะทะกันทำให้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก จึงอยากเรียกร้องให้ใช้มาตรการป้องกันและตอบโต้ที่เหมาะสม และเท่าที่จำเป็น อย่าใช้มาตรการรุนแรงเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

**กรณีผู้สังเกตการณ์อินโดฯ ต้องผ่านสภา

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีที่ผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย จะเข้ามาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบระหว่างไทย-กัมพูชา ปรากฏว่าทางอินโดนีเซีย ได้ส่งทีโออาร์มาให้ทั้งไทย-กัมพูชา พิจารณา ตามข่าวทางกัมพูชาได้ตอบรับ แต่ไทยยังไม่ได้ตอบรับ และดูเหมือนว่ามีความเห็นแตกต่างกัน

ล่าสุดกระทรวงต่างประเทศแถลงว่า อาจมีการพิจารณาทีโออาร์ ในการประชุมครม. วันที่ 3 พ.ค.นี้ โดยกำลังปรับแก้ข้อความที่อาจกระทบต่อกระบวนการทางรัฐสภา ตนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเห็นว่าทีโออาร์ ของอินโดนีเซีย ที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ไทย-กัมพูชา ถือเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2) รัฐบาลโดยกระทรวงต่างประเทศจะไปตกลงกับทางอินโดนีเซีย โดยไม่ผ่านทางรัฐสภาจะทำไม่ได้ ต้องผ่านกระบวนการเผยแพร่ต่อประชาชน 4 ขั้นตอน และกระบวนการอนุมัติให้ความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาก่อนที่จะไปลงนามได้

**ทหารไทย-เขมรยังปะทะประปราย

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน จ.สุรินทร์เมื่อเช้าวานนี้ (2พ.ค.)ว่า สถานการณ์ได้คลี่คลายลงตามลำดับ ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมามีเสียงปืนเล็กดังขึ้นประปรายที่บริเวณปราสาทตาควาย บ้านไทยนิยมพัฒนา ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เนื่องจากทหารฝ่ายกัมพูชาส่งกองกำลังเข้ามาสอดแนมใกล้ฐานที่มั่นทหารฝ่ายไทย จึงมีการยิงผลักดันด้วยอาวุธประจำกาย แต่ถือว่าเบาบางกว่าทุกวันที่ผ่านมา หลังจากเกิดการสู้รบกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 เม.ย.เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โดยรวมยังไม่น่าไว้วางใจ ทหารทั้ง 2 ฝ่ายยังคงตรึงกำลังอย่างเข้มงวดตลอดแนวชายแดนปราสาทตาควาย ต.บักได ปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก และวางกำลังเผชิญหน้าห่างกันเพียง 100-300 เมตรเท่านั้น ขณะที่ประชาชนในศูนย์อพยพชั่วต่างๆ ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ได้พากันทยอยเดินทางกลับบ้านเรือนในหมู่บ้านชายแดนกันมากขึ้น

**เผยทหารเขมรเริ่มรู้ถูกหลอกให้มารบ

หน่วยข่าวทางทหารยืนยันว่า ขณะนี้ทหารกัมพูชาที่มารบในแนวหน้าได้เริ่มถอนตัวออกจากการรบ โดยไม่สนใจคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหลายนายแล้ว เนื่องจากเริ่มเห็นข้อเท็จจริงว่าได้ถูกผู้นำทหารของตนใช้ให้ไปรบโดยไม่มีการรับผิดชอบครอบครัว หรือให้สินไหมทดแทนแต่อย่างใด หากการสูญเสียชีวิตในพื้นที่การปะทะใกล้กับพื้นที่ของทหารไทยมากๆ ก็จะไม่ไปรับศพกลับ ปล่อยทิ้งไว้ให้ศพนอนเน่าเหม็น หากเสียชีวิตก็จะไม่มีสวัสดิการใดๆ เหมือนทหารไทยและก็ไม่อยากสู้รบกับทหารไทยที่เคยเป็นเพื่อนรักกันมา

"ทหารกัมพูชา เริ่มเหนื่อยล้าจากการรบและเริ่มเห็นถึงการถูกหลอกเป็นเครื่องมือ ของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ขณะนี้ทหารไทยจึงได้เปรียบทางด้านกำลังใจมากกว่าทหารกัมพูชา จากจำนวนทหารต่อ 1 ฐานที่เคยมีถึง 100 คนเศษ แต่ปัจจุบันมีไม่ถึง 50 คน ขณะนี้ทางทหารกัมพูชาต้องจัดทหารที่เพิ่งเกณฑ์เข้ามาใหม่ๆ มาทดแทนทหารเก่าๆ ที่สูญเสีย และบางนายที่อยู่กับกองทัพมานานแต่ก็ไม่เคยได้รับเงินเดือนและการเหลียวแลจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูงเลย" หน่วยข่าวทางทหารกล่าว

**ชาวสุรินทร์กว่า4หมื่นเฮได้กลับบ้าน

ต่อมาเวลา 09.00 น.พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ได้มีการหารือกับนายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อพิจารณาว่าควรให้ประชาชนในศูนย์อพยพต่างๆ สามารถทยอยเดินทางกลับเข้าบ้านเรือนได้หรือยังหลังจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ประชาชนตามศูนย์อพยพต่างๆ ของ จ.สุรินทร์ทั้ง 35 ศูนย์ รวม 41,000 คนหลังได้รับทราบข่าวว่าทางการอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วต่างพากันเก็บสิ่งของสัมภาระต่างๆ ที่นำติดตัวมาเพื่อขึ้นรถยนต์ที่หน่วยงานทางราชการ จัดมารับส่ง เดินทางกลับบ้าน

**บุรีรัมย์ปิดศูนย์อพยพแล้วทั้ง9แห่ง

ด้านนายธานี สามารถกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มอบหมายให้นายอภิชาต งามกมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มาทำพิธีปิดศูนย์อพยพทั้ง 9 ศูนย์ที่โรงเรียนโนนเจริญพิทยาคม ต.โนนเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ พร้อมนิมนต์พระมาประกอบพิธีสงฆ์ ปะพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล และสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านในศูนย์อพยพ ก่อนที่จะขนสัมภาระสิ่งของเดินทางกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ หลังจากต้องทิ้งบ้านเรือน ทรัพย์สิน ไร่นา สวนยางพารา มาอาศัยพักพิงอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวมานานถึง 11 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น