ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- รองนายกฯ และ รัฐมนตรีต่างประทศกัมพูชา กล่าวว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะใช้เวลา 2-3 เดือน ดำเนินการตามคำร้องขอของกัมพูชา ที่ให้ตีความคำพิพากษาปี 2505 คดีปราสาทพระวิหาร ในขณะพื้นที่โดยรอบยังเป็นปัญหา พร้อมกับเปิดเกมรุกต่อขอให้สั่งใช้มาตรการฉุกเฉินคุ้มครองปราสาทมรดกโลก
แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็กำลังเตรียมการจัดทีมรับมือความเคลื่อนไหวของกัมพูชา โดยไทยกล่าวอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรโดยรอบเช่นกัน
นายฮอง (ฮง) กล่าวว่า ความพยายามเพื่อสันติภาพที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2551 ล้วนล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาสองฝ่าย หรือความพยายามของกลุ่มอาเซียนที่ผู้นำกำลังจะพบหารือกันในเรื่องนี้ในกรุงจาการ์ตา ศาลโลกจะเป็นทางออก เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ชายแดนกัมพูชาไทยอย่างแท้จริง สำนักข่าวของทางการกล่าว
รมว.ต่างประเทศกัมพูชา อยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แบนด์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดำเนินการร้องขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) เปิดพิจารณา อันเป็นช่วงเกิดการสู้รบรุนแรงขึ้นที่ชายแดนด้านปราสาทตาเมือน และปราสาทตาควาย และ เดินทางกลับถึงพนมเปญในวันเสาร์ 30 เม.ย.
นายทหารระดับพื้นที่ของสองฝ่ายได้ประชุมหารือกันอีกครั้งหนึ่งในสุดสัปดาห์นี้ และการปะทะเริ่มซาลง เมื่อนายฮองเดินทางกลับ
กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา แถลงก่อนหน้านี้ ว่า นอกจากรัฐบาลฮุนเซนจะร้องขอให้ ICJ ตีความคำพิพากษาแล้ว กัมพูชายังรุกคืบไปอีกขั้นโดยขอให้ศาลโลกสั่งให้มีมาตรการเร่งด่วน เพื่ออนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร ซึ่งอาจจะหมายถึงการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเข้าไปประจำการ
กัมพูชาอ้างต่อศาลระหว่างประเทศ ว่า ฝ่ายไทยได้โจมตีปราสาทเก่าแก่ให้ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องและเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียบทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่อไปอีก จึงขอให้มีคำสั่งใช้มาตรการอนุรักษ์เร่งด่วน
“ผมยังได้เรียกร้องไห้ไอซีเจมีมาตรการเร่งด่วนเนื่องจากการก้าวรุกรานกัมพูชาอย่างต่อเนื่องโดยฝ่ายไทย ถึงแม้จะมีการตกลงหยุดยิงของทหารในระดับท้องถิ่นของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 28 เมษาฯ แล้วก็ตาม” สำนักข่าวทางการอ้างคำพูดของนายฮอง
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน ประกาศตั้งแต่เดือน ก.พ.จะดำเนินการขอให้ศาลโลกตีความคำตัดสินเมื่อ 49 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นการชี้ขาดว่าดินแดนโดยรอบปราสาทเป็นของฝ่ายใด ซึ่งถ้าหากมีการชี้ขาดให้ตกเป็นของกัมพูชา ประเทศนี้กจะสามารรถใช้แผนที่มาตรา 1:200,000 อ้างความเป็นเจ้าของดินแดนอื่นๆ รวมพื้นที่เกือบ 2 ล้านไร่ตลอดแนวพรมแดนพนมดงรักระหว่างสองประเทศ
แผนที่ดังกล่าวฝรั่งเศสจัดทำขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อน โดยไม่เคารพสนธิสัญญาพรมแดนที่ให้ยึดสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนธรรมชาติ
ศาลโลกได้ยึดถือแผนที่ดังกล่าวในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เนื่องจากเป็นแผนที่เพียงฉบับเดียวที่ได้รับการยอมรับฝรั่งเศสกับราชอาณาจักรสยามในอดีต ฝ่ายไทยไม่มีแผนที่หรือหลักฐานอื่นโต้แย้ง
อย่างไรก็ตาม คดีปราสาทพระวิหารยังมีความซับซ้อนยิ่งกว่านั้น ยังไม่เคยมีการชี้ขาดเช่นกันว่า แผนที่ 1:200,000 ที่ใช้ ขัดต่อสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยามปี 1904 หรือไม่ ขณะที่ผู้พิพากษาคดีปราสาทพระวิหารจำนวนหนึ่ง ได้บันทึกต่อท้ายเอาไว้ในคำวินิจฉัยเอกเทศอย่างชัดเจนว่า การตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ไม่ได้หมายความว่าสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยามดังกล่าวถุูกยกเลิก เพราะจะเป็นการขัดต่อหลักสากลเกี่ยวกับการปักปันเขตแดน
รมว.ต่างประเทศวัย 73 ปีของกัมพูชา เปิดเผยอีกว่า วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาได้รับร่างข้อตกลง (Terms of Reference) ที่มีการแก้ไขฉบับที่ 5 จากอินโดนีเซีย เกี่ยวกับการส่งทหารสังเกตการณ์เข้าประจำการตามแนวชายแดน 3 จุด ซึ่ง 4 ครั้งที่ผ่านมากัมพูชารีบตอบรับทุกครั้ง แต่คราวนี้ติดขัดในจุดสวายจรุม (Svay Chrum) ที่ฝายไทยเสนอในฝั่งไทย โดยเรียกชื่อต่างกัน
นายฮอง อ้างว่า ที่นั่นอยู่ลึกเข้าไปในดินแดนกัมพูชาถึง 7 กม.
ฝ่ายกัมพูชาเสนอ 3 จุดใกล้ปราสาทพระวิหาร คือ ช่องทาแสม ช่องจักเกร็ง และ ช่องปรัมมกรา เพื่อให้ทหารจากอินโดนีเซียเข้าประจำการเพื่อสังเกตการณ์การหยุดยิง สำนักข่าวกัมพูชา กล่าว
กัมพูชายังคงทำสงครามโฆษณาช่วยเชื่อต่อประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ในวันอาทิตย์ 1 พ.ค.2554 กระทรวงการต่างประเทศได้ออกคำแถลงอีกฉบับหนึ่ง กล่าวหาว่าในวันเดียวกัน ฝ่ายไทยได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงเป็นครั้งที่ 10 แม้ว่าทหารระดับท้องถิ่นของสองฝ่ายจะได้ตกลงหยุดยิงแล้วก็ตาม
2
3
ใช้คนนับหมื่นๆเพื่องานนี้?
4
5
6
7