ASTVผู้จัดการออนไลน์-- กระทรวงกลาโหมกัมพูชาประสานเสียง อ้างปราสาทตาเมือนกับปราสาทตาควายได้รับความเสียหายหนัก จากการปะทะระลอกล่าสุดที่ชายแดนด้านนั้น ไม่ต่างกับที่เคยลวงโลกเรื่องปราสาทพระวิหารถูกยิงถล่มเมื่อเดือน ก.พ. ขณะเดียวกันคณะกรรมการมรดกเขมรฉวยโอกาสสมอ้าง ปราสาททั้งสองหลังเป็นของกัมพูชาอย่างสมบูรณ์
แต่ในขณะที่กล่าวอ้างว่าปราสาททั้งสองแห่งถูกทำลายเสียหายหนัก กระทรวงเดียวกันนี้ได้ออกคำแถลงติดตามมาอีกฉบับหนึ่ง อ้างว่าทหารกัมพูชายังคงยึดมั่นที่ในที่ตั้งเดิม ฝ่ายไทยไม่สามารถยึดครองปราสาทได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กัมพูชาได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า "มรดกทางวัฒนธรรม" เป็นที่กำบังในการยิงเข้าใส่ทหารไทย
"การกระทำที่ก้าวร้าวรุกรานต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ปราสาทตาเมือนและตากระเบย (ตาควาย) กับหมู่บ้านอีกหลายแห่ง ทำให้ราษฎรหลายพันคนต้องหลบหนีไปอยู่ยังที่ปลอดภัย"กระทรวงกลาโหมกัมพูชาระบุในคำแถลงที่ออก เมื่อเวลา 08.00 น.วันอาทิตย์ 24 เม.ย.นี้ อ้างถึงเหตุการณ์ปะทะในวันเสาร์ ซึ่งทหารกัมพูชาเสียชีวิต 3 คนกับอีก 10 คนบาดเจ็บ
ยังไม่มีฝ่ายใดสามารถยืนยันการกล่าวอ้างของฝ่ายกัมพูชาได้ แต่โฆษกของกองทัพไทยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า "ยิงมาจากทางไหน ยิงสวนกลับไปทางนั้น" อันเป็นหลักในการตอบโต้ทางทหารที่ใช้มาตั้งแต่การประทะในต้นเดือน ก.พ.ที่ชายแดนปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้ปรากฏหลักฐานภาพถ่ายชัดเจนว่า กัมพูชาใช้โบราณสถานอายุ 1,000 ปี เป็นที่ตั้งทางทหารยิงเข้าใส่ฝ่ายไทย
ครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน ได้แถลงด้วยตนเองว่า ไทยยิงถล่มปราสาทพระวิหารด้วยปืนใหญ่ และ ทำให้ปราสาทพังทลายลงปีกหนึ่ง แต่เวลาต่อมา กัมพูชาได้ยอมรับว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง ปราสาทไม่ได้พัง แต่ได้รับความเสียหาย และเป็นความเสียหายเพียงเล็กน้อยจากสะเก็ดระเบิดหรือกระสุน
ขณะเดียวกันกระทรวงกลาโหมกัมพูชาได้ออกคำแถลงอีกฉบับหนึ่งในเวลา 16.00 น.วันอาทิตย์นี้ระบุว่า ระหว่างเวลา 11.40 น.-12.30 น.วันเดียวกัน ไทยได้ยิงถล่มกัมพูชาด้วยอาวุธหนักกว่า 1,000 นัด รวมทั้งปืนใหญ่กว่า 300 นัด ในบริเวณที่เรียกว่าชุบโกกิ กับบ้านโคกมอน แต่เวลา 15.25 น.ทหารไทยได้เข้าโจมตีปราสาทตาเมือน "แต่ไม่สามารถยึดปราสาทได้"
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า กัมพูชาได้ใช้ปราสาทตาเมือนเป็นที่ตั้งทางทหาร และ การกล่าวอ้างว่าปราสาทได้รับความเสียหายอย่างหนักนั้น ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ระบุในคำแลงฉบับล่าสุด
ในวันอาทิตย์นี้คณะกรรมการมรดกโลกกัมพูชาออกคำแถลงฉบับหนึ่ง อ้างสถานการณ์การปะทะรุนแรงและแสดงความห่วงใยต่อ “การคุกคามต่อมรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชา” ของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 นับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
คณะกรรมการดังกล่าวยังถือโอกาสใช้สถานการณ์ทางทหารในปัจจุบันเรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ติดตามดูแลและปกป้องมรตกทางวัฒนธรรมของกัมพูชาที่ได้รับความเสียหาย ทั้งปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนและปราสาทตากระเบย (ตาควาย) ด้วย
ตาเมือนเป็นกลุ่มปราสาทที่สร้างขึ้นหลังปราสาทนครวัด ประกอบด้วยปราสาท 3 กลุ่ม ในนั้นอย่างน้อย 1 หลัง คือ ตาเมือนธม ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรของไทยมานานหลายสิบปี และ ตั้งอยู่ในเขตสันปันน้ำของไทย แต่ฝ่ายกัมพูชาได้กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของโดยใช้แผนที่ฝรั่งเศสเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยขัดต่อสนธิสัญญาปักปันเขตแดนฝรั่งเศส-สยามปี ค.ศ.1904 ที่ระบุให้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน
สำหรับปราสาทตาควายเป็นโบราณสถานที่อยู่ในดินแดนไทย และเป็นของไทยมาตลอด กัมพูชาเพิ่งจะทำทางขึ้นไปตามทางลาดชันของเขาพนมดงรัก และ ส่งทหารไปประจำในอาณาบริเวณดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว โดยไม่ฟังเสียงประท้วงจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย
คำแถลงของคณะกรรมการมรดกโลกกัมพูชาที่ออกมาล่าสุดนี้ ได้แสดงความเป็นเจ้าของปราสาทเก่าแก่ทั้งสองหลังอย่างชัดเจนที่สุดเป็นครั้งแรก โดยได้เรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลก ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแลอย่างเร่งด่วนอีกด้วย.
ของใคร? ไทยหรือเขมร?