xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพปัดปฏิบัติทางอากาศ-ใช้อาวุธเคมีถล่มเขมร ย้ำตอบโต้ตามสมควร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก
โฆษกกองทัพบก ปฏิเสธกองทัพใช้ปฏิบัติการทางอากาศถล่มเขมร ลั่นหากใช้จริงกัมพูชาเสียหายหนักกว่านี้ ยันไทยจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อป้องกันการรุกราน ด้านกลาโหมย้ำไม่เคยใช้อาวุธเคมีถล่มตามข้อกล่าวหา


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (24 เม.ย.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก และพ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางมาบันทึกเทป เกี่ยวกับสถานการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา โดยใช้เวลาบันทึกเทป 13.40 นาที และจะนำออกอากาศทางททบ.5 และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดยพ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า จากการปะทะกันระหว่างทหารไทยกองทัพขอชี้แจงในแนวทางปฏิบัติ โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม มีกรอบชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่ดูแลอธิปไตยไม่ให้ใครมาย่ำยีได้ เราไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มต้นการปะทะกันก่อน และที่เรามีการตอบโต้เราได้ใช้กำลังเท่าที่จำเป็น ไม่ได้ใช้กำลังทางอากาศ ซึ่งข่าวที่ออกมาไม่เป็นข้อมูลความจริง ที่เราใช้คือเฮลิคอปเตอร์ในการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบออกจากพื้นที่ เรายึดหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด และกองทัพยืนยันว่าพร้อมจะปกป้องอธิปไตยไม่ให้ใครมาย้ำยีประเทศไทยได้แม้แต่น้อย



พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า กองทัพบกเป็นหน่วยหลักในการป้องกันอธิปไตย มี 3 ข้อที่ต้องการเรียนให้ 3 เรื่องคือ 1 สาเหตุการปะทะเริ่มในวันที่ 22 เม.ย. 2.รายละเอียดในการปฏิบัติ 3.แนวทางในการปฏิบัติในอนาคต อันดับแรก เรามีข้อตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาว่าบริเวณพื้นที่ปราสาทตาควายยังเป็นพื้นที่ไม่ชัดเจน ดังนั้นห้ามทหารวางกำลังจัดเป็นพื้นที่เขตปลอดทหารหรือ no man land หากใครอยากจะเข้ามาจะต้องแจ้งอีกฝ่ายแล้วไปพร้อมๆกัน ที่ผ่านมาเรายึดถือเป็นแบบธรรมเนียมปฏิบัติมาตลอด แต่ทางกัมพูชามีการส่งกำลังเข้ามาในวันที่ 22 เม.ย.เราก็ต้องจัดชุดลาดตระเวนไปเตือนว่ารุกล้ำเข้ามา แต่ทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงทหารไทยก่อนถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปะทะกัน ก็มีการตอบโต้ตั้งแต่ปืนเล็กยาว จนยกระดับมาเป็นปืนใหญ่ เริ่มในวันที่ 22 เม.ย.เริ่ม 06.30 น.จบ 10.น.วันที่ 23 เม.ย.เริ่ม 06.15น. จบ 11.25 น.ซึ่งตลอดเวลาของการปะทะกันผู้บังคับบัญชาระดับสูงของไทยทั้งรมว.กลาโหม ผบ.ทบ. แม่ทัพภาคที่ 2 พยายามติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่ของกัมพูชาขอให้หยุดยิง วันนี้ล่าสุดมีรายงานว่ากัมพูชาย้ายรถถังจากเขาพระวิหารมาที่ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควายแล้ว นอกจากนี้ทางกัมพูชายังนำเด็ก สตรี คนชรา มาอยู่ในเขตเขาพระวิหารที่ตั้งของทหาร ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้นจะได้กล่าวหาว่าเราไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขา ที่ผ่านมากัมพูชาพยายามยั่วยุเราตลอด



พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า กองทัพยึดมั่นในข้อตกลงมาตลอด โดยผบ.ทบ.รับนโยบายจาก ผบ.สส.และรมว.กลาโหมใน 4 เรื่อง คือ1 เราจะไม่เริ่มการปะทะก่อน 2 ตอบโต้ตามความจำเป็น 3 เราจำกัดพื้นที่การปะทะไม่ให้ลุกลาม 4 เป้าหมายตอบโต้ของเราคือทหาร ไม่ใช่ประชาชน เราไม่มีการแก๊สพิษหรือใช้เครื่องบินไปรุกล้ำน่านฟ้าเขา รัฐบาลให้อำนาจกับทหารตามข้อตกลงไทยกัมพูชาคือ เอ็มโอยู 43 ขณะนี้ฝ่ายไทยเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 17 นาย ส่วนกัมพูชาก็ใกล้เคียงกัน เราต้องขอสรรเสริญทหารที่เสียสละชีวิตทั้งไทยและกัมพูชา ถือว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำหน้าที่ในการดูแลอธิปไตยของตนเอง กองทัพไทยก็ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียทุกคน แต่เหตุการณ์นี้ฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน ถ้าเราไม่ทำอะไรตอบโต้กัมพูชาก็จะยึดพื้นที่แบบที่เคยเกิดบริเวณรอบเขาพระวิหารมาแล้ว ดังนั้นให้เกิดปัญหาวันนี้ดีกว่าจะบานปลายในอนาคต เพราะลักษณะของกัมพูชาเข้าแล้วเข้าเลยไม่มีการออกจะเป็นปัญหาเรื้อรัง



พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า การดูแลผู้อพยพมีทั้งหมด 27,000 คน มีพื้นที่รองรับ 28 แห่ง อยุ่ในจ.สุรินทร์ 22 แห่ง อยู่ที่จ.บุรีรัมย์ 6 แห่ง โดยกองกำลังสุรนารีได้ประสานงานกับฝ่ายบ้านเมืองในการดูแลผู้อพยพเป็นอย่างดีและรับรองว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยแน่นอน เราให้เกียรติกัมพูชาเสมอ แต่เราก็ห่วงแหนในอธิปไตยเหนือดินแดนของเรา ซึ่งการปะทะกันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นอกจากการเจรจา และหวังว่ากัมพูชาคงเห็นความจริงใจหันหน้ามาปรึกษากันแบบทวิภาคี เพราะปัญหานี้คงไม่มีใครรู้ดีเท่า 2 ประเทศ



“ผบ.ทบ.เป็นห่วงที่มีข่าวว่าทหารอดมือกินมื้อ ซึ่งไม่จริง เรามีการส่งกำลังบำรุงทหารชายแดนเป็นอย่างดีไม่ให้อดมื้อกินมื้อ ดังนั้นประชาชนที่ต้องการส่งของบริจาคทางกองทัพบกขอขอบพระคุณแต่ว่ายังไม่จำเป็นในตอนนี้ เพราะเราสามารถดูแลกำลังพลได้ ขอให้ประชาชนนำไปบริจาคกับผู้ประสพอุทกภัยในภาคใต้ดีกว่า เพราะกองทัพบกก็เข้าไปช่วยเหลือตลอด”พ.อ.สรรเสริญ กล่าว



พอ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า สำหรับจุดที่ได้รับความเสียหายมีจุดที่ได้รับความเสียหายที่จ.สุรินทร์ 16 จุด จังหวัดใกล้เคียงอีก 4 จุด ขอย้ำว่าสิ่งที่ฝ่ายไทยต้องการคือการหยุดยิงและเข้ามาเจรจากัน การแก้ปัญหาไม่ควรใช้กำลังแก้ไขแต่การเจรจาระดับทวิภาคีเท่านั้นที่จะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามการหยุดยิงนั้นต้องขึ้นอยู่กับกัมพูชาเท่านั้น ปัจจุบันที่มีการหยุดยิงทางกัมพูชาก็ไม่ได้ถอนทหารออกไป อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาในพื้นที่นี้เลย กัมพูชาไม่เคยเข้ามาแต่ น่าสงสัยว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาทำไมกัมพูชาเข้ามา ส่วนจะถามว่าการหยุดยิงถาวรแค่ไหนคงอยู่ที่กัมพูชา



เมื่อถามว่าหากมีประเทศที่3 จะเข้ามาร่วมในการไกล่เกลี่ย พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ GBC เป็นเรื่องของทหารก็พูดคุยถึงปัญหาตามแนวชายแดนทั่วไป การค้าขาย การปะทะกันไม่ได้หมายความว่ารมว.กลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. จะปฏิเสธไม่ให้ประเทศที่3 เข้ามา แต่เราต้องคุยกันก่อนระหว่างไทย กัมพูชาให้ลงตัวว่าประเทศที่ 3 ที่จะเข้ามา ว่าประเทศที่ 3 จะเข้ามาในฐานะอะไร บทบาทอะไร เข้ามามีอาวุธมั้ย ไปอยู่ตรงไหน อำนาจหน้าที่แค่ไหนอย่างไร เพราะหากไม่มีการพูดคุยกันไม่ได้ข้อยุติปล่อยให้ประเทศที่ 3 เข้ามามีกำลังทหารมีกำลังอาวุธเข้ามา เกียรติศักดิ์ศรี อธิปไตยเหนือดินแดนของแต่ละชาติทั้งไทยและกัมพูชาจะอยู่ตรงไหน



ด้านพ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ขอยืนยันว่ากองทัพไม่ได้มีการปฏิบัติตามที่กองทัพกัมพูชาแถลงโดยเฉพาะการมีปฏิบัติการทางอากาศ เพราะหากกองทัพใช้จริงคงมีความเสียหายเกิดขึ้นกับทางกัมพูชามากกว่าที่เกิดขึ้น ทั้งนี้กองทัพหรือหน่วยในพื้นที่ไม่เคยมีอาวุธเคมีหรือแก๊สพิษตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง เพราะกองทัพไม่เคยซื้อมาใช้ นอกจากนี้ทางกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก พร้อมจะดูแลครอบครัววีรชนคนกล้าอย่างเต็มที่ในทุกส่วน อย่างไรก็ตามเรื่องการหยุดยิงนั้นทาง รมว.กลาโหมได้พูดคุยกับพล.อ.เตีย บันห์ อยู่ตลอดเวลา ทราบว่าการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่า ระดับ ภูมิภาค หรือ RBC แม่ทัพภาคที่ 2 คงจะมีการหารือกันทิศทางน่าจะดีขึ้น หรือการประชุมในส่วนของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ GBC ถือว่าเป็นกลไกในการหารือระดับทวิภาคี ส่วนการคุยในช่องทางอื่นเพื่อให้การหยุดยิงเร็วขึ้นนั้นเรามีการเจรจาในทุกระดับมาโดยตลอด ในส่วนการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา คงหารือเรื่องความมั่นคงในพื้นที่การปิดด่าน ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ที่ผ่านมารมว.กลาโหมมีการพูดคุยกับรมว.กลาโหม อินโดนีเซียว่า ปกติในพื้นที่ชายแดนก็ยังปกติ ช่องทางต่างๆก็ไม่ได้ปิดยกเว้นช่องจอม เราสามารถดูแลพูดคุยกันได้ไม่จำเป็นต้องให้ประเทศที่ 3 เข้ามา


พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม



กำลังโหลดความคิดเห็น