ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
“กูไม่ไปหรอก” !!!
นั่นคือคำตอบเสียงกร้าวอย่างมีอารมณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ตอบคำถามของรัฐมนตรีบางคนที่ถามว่า จะไปร่วมประชุมจีบีซีหรือไม่ และทางกองทัพมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้
คำตอบอย่างฉุนเฉียวของ พล.อ.ประวิตร แสดงให้เห็นถึงปัญหา และความไม่เป็นเอกภาพระหว่างรัฐบาลและกองทัพ ที่นับวันจะแย่ลงเรื่อยๆ จากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ที่ดึงประเทศลงไปสู่ความตกต่ำ และไร้เกียรติ จนทหารไม่อยากร่วมสังฆกรรมกับนโยบายการต่างประเทศที่จะนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่การสูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่คือความ “ห่วยแตก” ที่กำลังจะกลายเป็น “หายนะ” ของรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ ที่นอกจากจะสอบตกในเรื่องการปกป้องอธิปไตยแล้ว ยังสอบตกในเรื่องการให้ความช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ 2 คนไทยที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกกัมพูชา จนครอบครัวของ 2 คนไทยต้องบากหน้าไปพึ่งนักโทษหนีคดี ทักษิณ ชินวัตร !
รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิความเป็นพลเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ จนบุคคลทั้งสองถูกจับกุมยาวนานกว่า 4 เดือน และคำตอบสุดท้ายที่ครอบครัวและ 2 คนไทยได้รับก็คือ เขมรไม่ให้อภัยโทษ !
”อาตือ” หักดิบ”มาร์ค”
ไม่ประชุมจีบีซีที่อินโดฯ
ไม่ให้ทหารต่างชาติเหยียบแผ่นดินไทย
จากกรณีที่รัฐบาลยืนยันที่จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือจีบีซี ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยกระทรวงกลาโหมปฏิเสธที่เข้าร่วมเจรจา เพราะถือเป็นการดึงประเทศที่ 3 เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ที่รัฐบาลย้ำนักย้ำหนาว่า ปัญหาชายแดนไทย-เขมรเป็นปัญหาทวิภาคี จนเป็นที่มาของประโยคกร้าวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ว่า “กูไม่ไปหรอก” ถือว่ามีนัยสำคัญยิ่ง
เพราะนั่นคือสัญญาณที่ถูกส่งตรงออกมาจากกองทัพที่ไม่พอใจนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เพราะการให้ทหารชาติอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวถือว่าเป็นการหยามศักดิ์ศรีทหารไทยอย่างมิอาจยอมได้
และนั่นก็นำมาซึ่งภาพที่ผบ.เหล่าทัพ นำโดย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ.10 ตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตบเท้าออกมาแสดงจุดยืนของกองทัพต่อการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี)
โดยเหล่าทัพมีจุดยืนที่แน่ชัด ว่า ควรจะมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย -กัมพูชา หรือ จีบีซี ในประเทศกัมพูชา ซึ่งข้อตกลงของผู้แทนสองประเทศ ในบันทึกความเข้าใจปี 2538 ว่า มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในกลไกทวิภาคีโดยใช้ 'จีบีซี' เป็นช่องทางในการหารือ ข้อตกลงยังระบุว่า จะประชุมปีละครั้ง โดยไทยและกัมพูชาสลับกันเป็นเจ้าภาพ ในปี 2554 เป็นการประชุมครั้งที่ 8 กัมพูชารับเป็นเจ้าภาพตามวาระ โดยกำหนดไว้ในเดือน มิ.ย. 2554
ดังนั้น การไปประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย จึงไม่เป็นไปตามข้อตกลง และละเมิดเอ็มโอยู ถ้าไม่ทำตามนี้ก็ต้องไปยกเลิกพันธกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลสองประเทศ ไม่ใช่อำนาจของกองทัพ ทั้งนี้ หากกัมพูชาไม่พร้อมประชุมก็จะรอ และถ้าไม่พร้อมจริงๆ ก็จัดในประเทศไทยได้
“เหล่านี้คือคำตอบว่า ทำไมเราจึงยืนยันว่าจะไม่ประชุมที่อินโดนีเซีย และยังไม่เห็นด้วยในการให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามาในประเทศไทย...” พล.อ.ทรงกิตติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยผู้นำ 4 เหล่าทัพแถลงจุดยืนจะไม่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ในระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย. ที่ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
รวมทั้งการที่กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพไม่เห็นด้วยที่ให้เชิญประเทศที่ 3 เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่พิพาทหรือชายแดนไทย-กัมพูชา ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะแม้จะอยู่บนพื้นฐานของการสังเกตการณ์เพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน แต่ก็เชื่อว่ามีความพยายามที่ต้องการให้ประเทศที่ 3 เข้าสังเกตการณ์ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ทหารไทยผลักดันชาวกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด !!
ดังนั้น การที่เหล่าทัพออกมาแถลงจึงเป็นการยืนยันชัดเจนว่า สิ่งที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตือนมาตลอดนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น !
ชัยชนะของพันธมิตรฯ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาผลบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ ที่ทำสภา “ล่ม” แล้ว "ล่ม" อีก จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่า “บันทึกเจบีซีอัปยศ” จะผ่านการรับรองจากรัฐสภาอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพรรคพวกอยากให้เป็น
ทั้งนี้ ต้องบอกว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ส.ส.และ ส.ว. ไม่เข้าร่วมสังฆกรรม 'เจบีซี' กับนายอภิสิทธิ์และพรรคพวกนั้น มาจากหนังสือ 2 ฉบับ ที่ทางภาคประชาชน โดย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่งไปถึงมือสมาชิกรัฐสภาทุกคน เพื่อชี้ให้เห็นถึงความอันตรายต่ออธิปไตยของชาติ หากฝ่ายนิติบัญญัติโดยรัฐสภาให้การรับรองร่างบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ “เจบีซี” ทั้ง 3 ฉบับ
อีกทั้ง สมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐสภา กลัว "โทษทางอาญา" หากมีส่วนในการทำให้ประเทศต้องสูญเสียดินแดน ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 และมาตรา 120 ที่ระวางโทษถึงขั้น “ประหารชีวิต” ซึ่งภาคประชาชนเตรียมเดินหน้าเล่นงานผู้ที่ลงมติสนับสนุนทันทีหากมีการรับรอง “บันทึกอัปยศ” ดังกล่าว จึงทำให้บรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติหลายท่านถอยกรูด โดยอ้างว่าติดภารกิจ “โน่น นี่ นั่น” และต่างโยนความผิด "สภาล่ม" ให้กันเป็นพัลวัน !
“เหตุที่ต้องมีการเลื่อนการพิจารณาออกไปทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการรับรองบันทึกเจบีซี 3 ฉบับไม่สำเร็จนั้น เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมาจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนให้แก่ทั้งประชาชน รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว. และรวมไปถึงการยื่นหนังสือคัดค้านโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อีก 3 ครั้งด้วยกัน” นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ให้ความเห็น
หากประเมินสถานการณ์จนถึงขณะนี้ ก็อย่างที่บอกว่า ไม่มีวี่แววที่รัฐบาลจะทำให้ที่ประชุมรัฐสภาให้การรับรองได้ทันในสมัยประชุมนี้ จึงถือว่าเป็นผลสำเร็จของภาคประชาชนที่ยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
“ขอแสดงความชื่นชมในจุดยืนของกองทัพ ที่ตัดสินใจไม่ไปร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนทั่วไป (จีบีซี) ที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงจุดยืนที่จะไม่ให้ผู้แทนจากอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ถือว่าเป็นจุดยืนที่ตรงกันกับคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และพี่น้องประชาชน ซึ่งการปฏิเสธเข้าร่วมการประชุมที่อินโดนีเซียนั้น เพื่อต้องการให้การประชุมอยู่ในระดับทวิภาคีเท่านั้น โดยให้ทั้งไทยและกัมพูชาผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในการประชุม แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ กลับยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนออกมาว่า ยังยืนยันให้การเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นแบบทวิภาคี โดยไม่ให้ตัวแทนของกลุ่มอาเซียนเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่” นายประพันธ์กล่าว
ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้ความเห็นว่า การเลื่อนพิจารณาบันทึกเจบีซี 3 ฉบับนั้น สะท้อนให้เห็นว่าที่แผ่นดินรอดพ้นจากการสูญเสียให้แก่กัมพูชา เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 27 ก.ค.53 ที่จะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ทำให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมคัดค้าน รวมไปถึงการชุมนุมคัดค้านที่หน้ารัฐสภา ซึ่งหากประชาชนไม่ออกมาก็คงเสียดินแดนให้กัมพูชาไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้อย่างยั่งยืน หากยังได้นักการเมืองที่ไม่ให้ความสนใจต่อการสูญเสียดินแดนเข้ามาบริหารประเทศ
เขมรไม่ให้อภัยโทษวีระ-ราตรี
บทพิสูจน์ “มาร์ค” ไร้น้ำยา
อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องเจบีซี และจีบีซี ที่ยังมีปัญหาแล้ว ในส่วนของความคืบหน้ากรณีของนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกกัมพูชานั้น ล่าสุด นายกอย เกือง โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แถลงว่า ได้แจ้งให้ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ซึ่งได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษนายวีระ สมความคิด กับน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ได้รับทราบแล้วว่า ตามกฎหมายของกัมพูชา นายวีระและน.ส.ราตรี จะต้องรับโทษจำคุกตามความผิดที่ก่อไว้อย่างน้อย 2 ใน 3 ก่อน จึงจะมีคุณสมบัติได้รับการพิจารณาพระราชทานอภัยโทษ
นี่คือความเจ็บปวดของประชาชนคนไทยที่มิอาจประเมินค่าได้ เพราะเป็นการถูกจับขณะที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย
ทั้งนี้ นายกอย เกืองให้เหตุผลด้วยว่า คดีของนายวีระกับน.ส.ราตรี แตกต่างจากคดีของนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรไทยที่ถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 และถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาจารกรรมเช่นกัน หลังจากส่งมอบรายละเอียดเรื่องเที่ยวบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้แก่ทูตไทยในกรุงพนมเปญ แต่นายศิวรักษ์ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในไม่กี่วันต่อมา โดยรัฐบาลกัมพูชาให้เหตุผลด้านมนุษยธรรม
ขณะที่ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์พีเพิลเดลีของจีน อ้างรายงานข่าวจากสำนักข่าวซินหัวว่า นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า กฎหมายกัมพูชาบัญญัติไว้ว่า ผู้ต้องโทษคดีอาญาจะต้องรับโทษจำคุก 2 ใน 3 ก่อนจึงจะได้รับการพิจารณาเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้น คนไทยทั้งสองคนจึงยังไม่มีคุณสมบัติในเรื่องนี้
ทางด้าน นายปรีชา สมความคิด น้องชายนายวีระ ให้สัมภาษณ์นักข่าวถึงการที่กัมพูชาปฏิเสธการขอพระราชทานอภัยโทษของนายวีระและน.ส.ราตรี โดยอ้างข้อกฎหมายว่าต้องรับโทษ 2 ใน 3 ส่วน ตามกฎหมายกัมพูชาก่อนว่า เพิ่งทราบจากสื่อมวลชน แต่ยังไม่มีผู้ใดในกระทรวงการต่างประเทศ หรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทางครอบครัวร้องขอความช่วยเหลือแจ้ง ยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจ เพราะเมื่อเทียบกับกรณีนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทยที่เคยถูกกัมพูชาตัดสินจำคุก เพราะกรณีของนายศิวรักษ์ไม่เคยมีการระบุถึงการรับโทษ 2 ใน 3 ส่วนเลย
“เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ปรึกษากับนักวิชาการรายหนึ่ง ซึ่งเปิดกฎหมายรัฐธรรมนูญของกัมพูชาให้ดู โดยในมาตรา 27 มีหลักการที่ระบุว่า อำนาจในการพระราชทานอภัยโทษเป็นสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ทุกกรณี โดยไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาขั้นต่ำในการรับโทษเลย”นายปรีชากล่าว
“มาร์ค” ไร้ความสามารถ
ปล่อยครอบครัว วีระ-ราตรี พึ่ง “แม้ว”
ที่เจ็บปวดเสียยิ่งกว่าคือ ก่อนหน้าที่รัฐบาลกัมพูชาจะปฏิเสธการพระราชทานอภัยโทษ นางวิไลวรรณ สมความคิด และนายปรีชา สมความคิด มารดาและน้องชาย นายวีระ สมความคิด และน.ส.วริสา ทองเงิน หลานสาวของน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเรียกร้องและขอความช่วยเหลือให้ทั้ง 2 คน ออกจากเรือนจำประเทศกัมพูชา ภายหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือผ่านทาง นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เร่งช่วยเหลือ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าที่จะช่วยเหลือนายวีระและน.ส.ราตรีออกมาได้
ทั้งนี้ ทางครอบครัวของนายวีระ เห็นว่าทาง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้ความช่วยเหลือ นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ในข้อหาจารกรรม ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับทั้ง 2 คนมาแล้ว โดยนางวิไลวรรณ ได้ให้ความเห็นว่า ตนได้รอคอยการดำเนินการจากรัฐบาลชุดนี้มาถึง 4 เดือน ซึ่งตนก็รับไม่ได้ กับการที่ นายวีระ ลูกชายของตน ต้องมาเจ็บป่วยอยู่ในเรือนจำเช่นนี้ ตนรู้สึกเครียดกับสิ่งที่ลูกต้องเผชิญ จึงคิดถึงพรรคเพื่อไทย หวังจะให้ช่วยเหลือลูกชาย
ด้านนายปรีชา บอกว่า ทางญาติได้ให้เกียรติรัฐบาล ในการดำเนินการช่วยเหลือนายวีระกับน.ส.ราตรี มาตลอด โดยตอนแรกก็ไม่ได้ออกมากดดัน หรือเรียกร้องอะไร จนเมื่อศาลกัมพูชาได้ตัดสินจำคุกทั้ง 2 คน เป็นเวลา 6 ปี และ 8 ปี ตามลำดับ ทางญาติจึงต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือทั้ง 2 คนให้ได้ ก็มีการยื่นหนังสือไปถึงทางรัฐบาลมาตลอด และก็ได้ขอความชัดเจนภายใน 7 วัน ก็ไม่ได้ผล จึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งทางญาติคิดว่าจะได้เยี่ยมนายวีระ ในสัปดาห์นี้ โดยหากได้เดินทางไปเยี่ยม ก็จะแจ้งให้นายวีระทราบถึงการยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะตัวแทนรับหนังสือ บอกว่า ตนจะทำการสแกนหนังสือฉบับนี้ แล้วส่งผ่านไปทางอีเมล ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังเดินทางอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งหลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงจะได้ไปปรึกษาหารือกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นกฎหมายภายในของกัมพูชา และยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คงยังไม่สามารถกำหนดเวลาในการช่วยเหลือที่ชัดเจนได้ และเข้าใจว่าเรื่องนี้ จำเป็นต้องขอพระราชทานอภัยโทษ
ขณะเดียวกัน เมื่อหันมาฟังทางฝั่งรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็มีแต่ความสิ้นหวัง และ “ดีแต่พูด” เหมือนเดิม! โดยก่อนหน้านั้นนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงกรณีครอบครัวของนายวีระและน.ส.ราตรี ได้เข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ว่า เขาคงคิดว่าถ้าทางไหนช่วยได้ ก็คงอยากให้ช่วย ซึ่งจริงๆ แล้วในส่วนของรัฐบาลก็กำลังการดำเนินการอยู่ คือกระบวนการทางกฏหมายนั้น ของเขาก็เพิ่งจะเสร็จเรียบร้อยไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“คิดว่าใครช่วยได้ก็ช่วย เป็นธรรมดา ต้องเห็นใจทางครอบครัวเขา เพราะคงต้องการที่จะให้นายวีระและน.ส.ราตรี ออกมาโดยเร็วที่สุด ก็พยายามแสวงหาทุกวิถีทาง” นายอภิสิทธิ์ 'ดีแต่พูด' เหมือนเดิม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของรัฐบาล ยังสามารถที่จะทำอะไรเพิ่มเติมมากกว่านี้ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า “ก็ทำอยู่ ก็ยังพยายาม และมีการประสานงานกันตลอด”
และเมื่อถามว่า ช่องทางที่รัฐบาลทำ มันสิ้นหวังแล้วหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ตอบทันทีในตอนนั้นว่า “ยังครับ แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาความสัมพันธ์ มันยังมีเรื่องที่ค้างอยู่ ฉะนั้น ก็จะมีเรื่องหลายเรื่องเข้ามาเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการที่ทางกัมพูชาว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งวันนี้ทาง ครม. ในเรื่องของการพิจารณาบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ก็เดินหน้าได้ แล้วทาง รมว.ต่างประเทศ จะมีประชุมอาเซียนญี่ปุ่นไม่เป็นทางการอยู่ นี่ก็จะเป็นอีกโอกาส ส่วนจีบีซี ทางกลาโหม ก็ยังเจรจากันอยู่”
เนื่องจาก “อภิสิทธิ์” ดีแต่พูดเลื่อนลอยอย่างนี้ โดยไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือไม่มีความน่าเชื่อมั่นอะไร จึงไม่แปลกที่ครอบครัว “วีระ-ราตรี” จะรู้สึกสิ้นหวัง จนต้องหันไปพึ่ง “ทักษิณ” !?
อย่างไรก็ตาม “ความสิ้นหวัง” จากรัฐบาลยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือนายวีระและน.ส.ราตรี ว่า กำลังประสานกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อให้เข้าเยี่ยมทั้งสองคนได้ในทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าจะได้คำตอบในเร็วๆ นี้
นายชวนนท์บอกว่า “กำลังประสานกับฝ่ายกัมพูชา” และ “คาดว่า จะได้คำตอบในเร็วๆ นี้” นี่คือเสียงของรัฐบาล ที่ไม่เคยสร้างความเชื่อมั่น ไม่เคยมีความชัดเจน และไม่เคยมีข่าวดีเลย ขณะที่นายวีระและนางสาวราตรี รอคอยการดำเนินการจากรัฐบาลชุดนี้มาถึง 4 เดือนแล้ว !
“ส่วนการขอพระราชทานอภัยโทษ รัฐบาลได้พูดคุยกันอยู่แล้วว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เดินหน้าไปให้เร็วที่สุด แต่ทุกอย่างขึ้นกับความสัมพันธ์โดยรวมด้วย หากทุกคนช่วยกันสร้างบรรยากาศของการเจรจา และความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อกัน อย่างน้อยการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ ก็จะง่ายขึ้น”
และล่าสุด ตอกย้ำความเจ็บช้ำของญาติพี่น้อง 2 คนไทยด้วยคำกล่าวอย่างหมดท่า และสิ้นหนทาง ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ว่า ต้องรอให้กระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น เวลานี้ทางรัฐบาลคงทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจอธิปไตยในกระบวนการทางศาลของกัมพูชา ส่วนที่ทางกัมพูชาปฏิเสธในเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ก็ไม่ทราบ ได้แต่ติดตามข่าว กับครอบครัวของนายวีระก็ต้องรอให้ทุกอย่างยุติก่อน จึงจะสามารถทำความเข้าใจได้ ส่วนจะต้องรอจนกว่านายวีระและน.ส.ราตรีรับโทษก่อนหรือไม่ ต้องรอทางกระทรวงการต่างประเทศสรุปมาให้ทราบก่อน เวลานี้ทุกคนที่สามารถพูดคุยช่วยเหลือได้ก็พยายามช่วยเหลืออยู่
นั่นคือเสียงแห่งความหวังอันมืดมนจากรัฐบาล !
ความหวังที่ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ สะท้อนออกมาว่า “กรณีที่ นายปรีชา สมความคิด น้องชาย นายวีระ ได้ขอความช่วยเหลือจากพ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ทางเครือข่ายฯ ไม่ก้าวล่วง หากทั้งสองครอบครัวเห็นว่า การไปพรรคเพื่อไทยแล้วจะช่วยให้ทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศไม่มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือเลย”
อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือ 2 คนไทยที่ถูกจับในอธิปไตยไทย ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในคุกกัมพูชา และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องช่วยคนไทยให้ได้รับอิสรภาพ แต่มาจนถึงวันนี้ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า รัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิความเป็นพลเรือนไทยตามรัฐธรรมนูญ จนบุคคลทั้งสองถูกจับกุมยาวนานกว่า 4 เดือนแล้ว
อีกทั้ง การที่นายอภิสิทธิ์โยนภาระให้ครอบครัวของนายวีระดำเนินการโดยลำพังเพื่อเสนอขออภัยโทษ หรือยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐบาลกัมพูชา ก็เท่ากับเป็นการยอมรับคำตัดสินของศาลกัมพูชาเหนืออธิปไตยไทยทั้งสิ้น จนในที่สุดครอบครัวของสองคนไทยต้องหันไปพึ่งนักโทษหนีคดี ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเจรจาให้มีการปล่อยตัวนายวีระและน.ส.ราตรี
4 เดือนอันยาวนานที่ 2 คนไทยถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในประเทศกัมพูชา เป็น 4 เดือนที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เปรียบเสมือนบุคคลไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิง !!!