โฆษกพันธมิตรฯ ชี้รัฐล้มเหลวช่วยทำครอบครัว “วีระ-ราตรี” ไม่มีทางเลือกจึงต้องพึ่ง “นช.แม้ว” เชื่อฝ่ายมั่นคงอึดอัดรัฐทำเสี่ยงสูญดินแดนถาวร “ประพันธ์” เชื่อ “ทักษิณ-ฮุนเซน” มีข้อตกลงพิเศษแลกตัว โอด 2 คนไทยตกเป็นเหยื่อ จี้รัฐเลิกเจรจาให้รัฐบาลใหม่ทำแทน - แนะรัฐนำพระราชดำรัสในหลวงใส่เกล้าฯ อย่ามัวปัดความรับผิดชอบเผาเมือง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (5 เม.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ครอบครัวของนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ที่ประเทศกัมพูชา เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาก่อการร้าย ให้การช่วยเหลือ 2 คนไทยดังกล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาชนพยายามนำเสนอที่ผ่านมาก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า 7 คนไทยไม่สมควรจะถูกจับกุมโดยกองกำลังติดอาวุธของกัมพูชา เพราะยังอยู่ในดินแดนไทย และอยู่ในบริเวณที่ยังไม่มีการปักปันหลักเขตแดนที่ชัดเจน รวมทั้ง 2 ประเทศมีข้อตกลงต่อกันในการไม่นำประชาชนของอีกประเทศเข้าสู่กระบวนการศาลของประเทศนั้นๆ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุรัฐบาลต้องมีมาตรการตอบโต้และช่วยเหลือคนไทยให้ออกจากพื้นที่ตรงนั้น โดยไม่ถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจับคุก แต่รัฐบาลกลับไม่ทำอะไรเลย นอกจากโยนความผิดและการตัดสินใจให้แก่นายวีระและ น.ส.ราตรี
ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของพันธมิตรฯต่อการที่ครอบครัวของนายวีระ และ น.ส.ราตรี ขอความช่วยเหลือจาก พ.ต.ท.ทักษิณ นายปานเทพกล่าวว่า การที่รัฐบาลโยนภาระให้แก่ครอบครัวตัดสินใจใน 2 ทางเลือก คือ อุทธรณ์ หรือขออภัยโทษ เป็นความอำมหิตของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น การที่ครอบครัวจะแสวงหาแนวทางอื่นก็เป็นการดิ้นรนเพื่อช่วยสมาชิกในครอบครัวอย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งในส่วนพันธมิตรฯ ก็เห็นใจต่อการตัดสินใจของครอบครัวทั้งคู่ ไม่ว่าจะดำเนินการในทางไหนเราก็มีความเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง การหันไปหา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เพราะไม่มีทางเลือก สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่สามารถใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเข้าช่วยเหลือได้
นายปานเทพยังได้กล่าวกำหนดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) และคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ที่กำหนดจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ ว่ามีความขัดแย้งอย่างชัดเจนในรัฐบาล ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ยืนยันชัดว่าจะไม่เดินทางไปอินโดนีเซีย ทำให้จะมีการประชุมของเจบีซีอย่างเดียว เป็นท่วงทำนองของฝ่ายทหารที่สอดคล้องกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นท่าทีที่แสดงว่าฝ่ายทหารไม่ยอมประชุมเรื่องชายแดนในประเทศที่ 3 ชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันอย่างชัดเจน จากเหตุที่ฝ่ายการเมืองและกระทรวงการต่างประเทศเห็นดีเห็นงามให้ประเทศที่ 3 เข้ามาเป็นสักขีพยานในการไม่ให้ฝ่ายทหารใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนไทย
“ฝ่ายความมั่นคงอึดอัดต่อท่าทีของรัฐบาลที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถทวงแผ่นดินกลับคืนมาได้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งก็คือการสูญเสียดินแดนอย่างถาวร” นายปานเทพกล่าว
ด้าน นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ญาติพี่น้องของนายวีระและ น.ส.ราตรี ต้องไปขอความช่วยเหลือจาก พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นก็มาจากการที่รัฐบาลนี้ล้มเหลว และไม่ทำหน้าที่ช่วยเหลืออย่างจริงจัง ประกอบกับท่าทีของนายฮุนเซน ที่ต้องใช้ 2 คนไทยเป็นเงื่อนไขในการต่อรองผลประโยชน์ โดยเฉพาะกรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลก และความได้เปรียบในการยึดครองดินแดนไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการจับกุม 7 คนไทย จนมาถึง 2 คนไทยที่เหลืออยู่ในเรือนจำกัมพูชา เป็นขบวนการลักพาตัวเพื่อแลกค่าไถ่ เพราะหากทางกัมพูชาคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเงื่อนไขในเอ็มโอยู 2543 หรือในบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับแล้ว กัมพูชาไม่อยู่ในฐานะที่จะจับกุมคนไทยไปขึ้นศาลกัมพูชาได้เลย
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า แม้แต่ในบันทึกการประชุมเจบีซีครั้งสุดท้าย นายฮอร์ นัมฮง ประธานเจบีซีฝ่ายกัมพูชา ก็ยังเป็นผู้เรียกร้องเองให้ฝ่ายไทยปฏิบัติกับคนกัมพูชาที่ถูกจับกุมหรือพลัดหลงเข้ามาในดินแดนไทย โดยให้วิธีการประสานงานเจรจา โดยไม่นำตัวเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล สิ่งนี้คือแนวทางการปฏิบัติที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไทยกลับไม่เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาปฏิบัติเช่นเดียวกัน ทำให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถใช้การจับกุมนายวีระและ น.ส.ราตรี กดดันต่อรองกับประเทศไทย เห็นได้ชัดจากการที่รัฐบาลไทยพยายามให้ครอบครัวของทั้งคู่ให้ความยินยอมในการดำเนินการขออภัยโทษ แต่ถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
“เกมในขณะนี้เชื่อว่ารัฐบาลกัมพูชาจะเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยเข้ามามีบทบาท แต่คงไม่ได้รับความร่วมมือหรือปล่อยคุญวีระและคุณราตรีมาเปล่าๆ แต่จะมีข้อตกลงพิเศษที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยมีต่อนายฮุนเซนในอดีต จึงต้องขอประณามฝ่ายการเมืองทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่พยายามช่วงชิงเรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง มากกว่าจะคิดถึงสิทธิเสรีภาพของคนไทยทั้งสอง ทำให้คุณวีระและคุณราตรีตกเป็นเหยื่อทางการเมือง” นายประพันธ์กล่าว
ส่วนกรณีการประชุมเจบีซีที่กำหนดในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น นายประพันธ์กล่าวว่า ตนเห็นว่าการเจรจาใดๆ ระหว่างไทยกับกัมพูชา รัฐบาลควรยุติการดำเนินการทั้งหมด เพราะประกาศชัดว่าจะยุบสภาในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ ไม่ควรใช้ช่วงเวลานี้ในการทำสิ่งที่มีผลผูกพันในระยะยาวขึ้นมาอีก เพราะเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และหากมีการเลือกตั้ง ควรให้พรรคการเมืองที่เสนอตัวออกนโยบายแข่งขันกันว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ โดยเฉพาะในช่วงที่ประสบกับภัยธรรมชาติอย่างหนัก รัฐบาลควรใช้เวลาในการทุ่มเทแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลักมากกว่า
“หากว่ารัฐบาลพิจารณายุติประเด็นที่มีผลเกี่ยวกับดินแดนอธิปไตยของประเทศ ภาคประชาชนก็จะพิจารณาถึงดำเนินการทางการเมืองถึงทางออกในเรื่องนี้ แต่ถ้าตรายใดรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน แล้วยังเดินหน้าในการประชุมเจบีซี หรือจีบีซี รวมทั้งการรับรองบันทึกเจบีซี 3 ฉบับต่อไป โดยไม่มีการตอบสนอง 3 ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนเลย การชุมนุมก็ยังต้องยืนหยัดอยู่ต่อไป ความชอบธรรมของรัฐบาลในวันนี้หมดลงแล้ว ไม่ควรดำเนินการบริหารบ้านเมืองเรื่องใดๆ ต่อไป เรื่องที่สำคัญของบ้านเมืองควรยุติ ปล่อยให้เป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่ งานที่ทำควรเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น” นายประพันธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าหากรัฐบาลยุติการดำเนินการเกี่ยวกับเขตแดนไทย-กัมพูชา ทางพันธมิตรฯพร้อมที่จะทบทวนท่าทีและยุติการชุมนุมหรือไม่ นายประพันธ์กล่าวว่า รัฐบาลควรมีท่าทีที่ชัดเจนต่อ 3 ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน รวมทั้งการดำเนินการต่อเจบีซี จีบีซี มรดกโลก หรือบันทึกเจบีซี ต้องมีความชัดเจนออกมาเช่นกัน เพราะตราบใดที่รัฐบาลไม่มีคำตอบให้ประชาชน การชุมนุมก็ต้องดำเนินต่อไป ส่วนเมื่อมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว การชุมนุมก็อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโนแทน เนื่องจากที่ผ่านมาเวทีนี้ก็ประกาศมาเสมอว่า เราไม่สนับสนุนการเลือกตั้งในห้วงเวลานี้อยู่ ซึ่งการชุมนุมจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ก็คงไม่เป็นผลต่อการเลือกตั้ง เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้มีพฤติกรรมขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง แต่มีเวทีอยู่เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนต่อไป รวมทั้งติดตามด้วยว่ารัฐบาลต่อไปที่เข้ามาทำหน้าที่มีแนวนโยบายเช่นเดียวกับรัฐบาลนี้หรือไม่ หากเหมือนกันการชุมนุมก็ต้องดำเนินต่อไป
โฆษกคณะกรรมการฯ ยังได้กล่าวถึงกระแสพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ผ่านทางรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย ถึงกรณีเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองเมื่อเดือน พ.ค.53 ว่า เป็นสิ่งที่เศร้าสะเทือนใจ และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ ไม่เอาใจใส่ป้องกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รัฐบาลกลับมาออกหนังสือ “ประเทศไทยของเรา อย่าให้ใครเผาอีก” ซึ่งรวบรวมจากปากคำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่ได้รับผิดชอบว่าการเผาบ้านเผาเมืองเป็นความผิดของใคร ทั้งที่เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ซึ่งความผิดที่เกิดขึ้นฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองก็ควรที่จะมีความผิดด้วย ในการไม่สามารถป้องกันเหตุได้ ซึ่งพระกระแสดังกล่าวรัฐบาลควรนำมาใส่เกล้าฯ และทบทวนสิ่งที่ล้มเหลวผิดพลาดที่ผ่านมา ไม่ใช่ทำหนังสือมาโยนความผิดให้แก่ผู้อื่นโดยตัวเองปัดความรับผิดชอบ และยังมีท่าทีสนับสนุนโดยมีการปล่อยตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาอีกต่างหาก