xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ชี้รัฐสภาเลื่อนถกเจบีซีไทย-เขมรคือชัยชนะของภาคประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ,ประพันธ์ คุณมี (แฟ้มภาพ)
“พันธมิตรฯ” ระบุการที่รัฐสภาเลื่อนถกเจบีซีไทย-เขมร ถือเป็นชัยชนะของภาคประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าแผ่นดินไทยรอดพ้นจากการสูญเสียแก่กัมพูชาชั่วคราว พร้อมซูฮกกองทัพหักรัฐบาลไม่ยอมถกเจบีซีกับเขมรที่อินโดนีเซีย แถมไม่ยอมให้ทหารอิเหนาเข้าสังเกตการณ์พื้นที่พิพาท ขณะเดียวกันจี้ “มาร์ค” กำจัดขบวนการละเมิดสถาบันให้สิ้น ชี้ปล่อยให้ชูธงแก้ ม.112 อันตราย “ลุงจำลอง” ชื่นชม “สดศรี” กล้าออกมาปูดปฏิวัติ เชื่อประเทศป่วยหนักต้องหาคนมารักษา

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายประพันธ์ คูณมี ให้สัมภาษณ์  

นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงการเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติรับรองร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ จากที่ได้กำหนดการประชุมในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย) ออกไป เพื่อรอรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า เหตุที่ต้องมีการเลื่อนการพิจารณาออกไปทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการรับรองบันทึกเจบีซี 3 ฉบับไม่สำเร็จนั้น เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมาจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน ให้แก่ทั้งประชาชน รวมทั้ง ส.ส.และ ส.ว. และรวมไปถึงการยื่นหนังสือคัดค้านโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อีก 3 ครั้งด้วยกัน

“หากประเมินสถานการณ์จนถึงขณะนี้ก็เห็นว่าไม่มีวี่แววที่รัฐบาลจะทำให้ที่ประชุมรัฐสภาจะให้การรับรองได้ทันในสมัยประชุมนี้ ถือว่าเป็นผลสำเร็จของพี่น้องประชาชนที่ยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของชาติ”

นายประพันธ์กล่าวอีกว่า ขอแสดงความชื่นชมในจุดยืนของกองทัพ ที่ตัดสินใจไม่ไปร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนทั่วไป (จีบีซี) ที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมไปถึงยังทราบมาอีกว่ากองทัพมีจุดยืนที่จะไม่ให้ผู้แทนจากอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ถือว่าเป็นจุดยืนที่ตรงกันกับคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และพี่น้องประชาชน ซึ่งการปฏิเสธเข้าร่วมการประชุมที่อินโดนีเซียนั้น เพื่อต้องการให้การประชุมอยู่ในระดับทวิภาคีเท่านั้น โดยให้ทั้งไทยและกัมพูชาผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในการประชุม แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศเองกลับยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนออกมาว่า ยังยืนยันให้การเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นแบบทวิภาคี โดยไม่ให้ตัวแทนของกลุ่มอาเซียนเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ต้องขอชมเชยและให้กำลังในท่าทีของกองทัพครั้งนี้ ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่กองทัพจะมีจุดยืนในทางตรงกันข้ามกับรัฐบาล

นายประพันธ์ยังได้กล่าวถึงกระแสพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ผ่านทางรายการวู้ดดี้เกิดมาคุยด้วยว่า เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญคือ เรื่องเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งค่อนข้างกว้างขวางรุนแรง และกระทบสถาบันอย่างหนักในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งรัฐบาลนี้แสดงตัวว่าจะเป็นผู้ปกป้องสถาบัน แต่ไม่สามารถป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้เลย การเพิกเฉยคุกคามไม่เอาใจใส่ปล่อยมีขบวนการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 ที่ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถือเป็นการละเมิดสถาบันที่รุนแรงมาก ทั้งยังปล่อยให้คนที่มีส่วนในเรื่องนี้ออกมาแทบทั้งหมด โดยรัฐบาลให้ความสนับสนุนในการประกันตัวด้วย จึงต้องขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มากกว่านี้

“ช่วงเวลานี้ถือว่ากองทัพกลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในการปกป้องสถาบัน และป้องกันภัยที่คุกคามความมั่นคงของชาติ โดยที่ ผบ.ทบ.ก็ออกมาระบุว่าจะจัดการกับขบวนการเหล่านี้อย่างเด็ดขาด จึงขอเรียกร้องไปถึงกองทัพให้ออกมาแสดงจุดยืนและปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมากกว่านี้ เพื่อข่มขู่ให้ขบวนการเหล่านี้หยุดการเคลื่อนไหว”

นายประพันธ์กล่าวถึงการทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ด้วยว่า กองทัพเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ เช่นเกียวกับในส่วนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ก็พยายามส่งความช่วยเหลือเข้าไปอย่างเต็มที่เช่นกัน แต่ในส่วนของรัฐบาลต้องถือว่าล้มเหลวในการจัดการปัญหา และมีการใช้งบประมาณที่มากกว่ารัฐบาลก่อนๆ ทั้งที่มีบทเรียนมาแล้วหลายครั้ง แต่ทำได้เพียงการแก้ไขปัญหาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด โดยไม่มีการวางแผนจัดการปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การแต่งตั้งให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแก้ปัญหาอุทกภัย ก็เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ตรงจุด โดยรัฐบาลน่าจะมอบหมายตำแหน่งนี้ให้แก่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถือเป็นผู้มีประสบการณ์ และบารมี รวมทั้งดูแลงานด้านอยู่ จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า

ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวเสริมว่า การเลื่อนพิจารณาบันทึกเจบีซี 3 ฉบับนั้น สะท้อนให้เห็นว่าที่แผ่นดินรอดพ้นจากการสญเสียให้แก่กัมพูชา เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 27 ก.ค.53 ที่จะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ทำให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมคัดค้าน รวมไปถึงการชุมนุมคัดค้านที่หน้ารัฐสภา ซึ่งหากประชาชนไม่ออกมาก็คงเสียดินแดนให้กัมพูชาไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้อย่างยั่งยืน หากยังได้นักการเมืองที่ไม่ให้ความสนใจต่อการสู๋ญเสียดินแดนเข้ามาบริหารประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาให้ข่าวว่าอาจเกิดการรัฐประหาร พล.ต.จำลองกล่าวว่า นางสดศรีถือเป็นบุคคลที่คลุกคลีอยู่ในวงการเมืองเป็นอย่างดี เมื่อเห็นว่าการเมืองไม่สามารถไปต่อได้จึงออกมาแนะหนทางในการแก้ปัญหา โดยเห็นว่ากองทัพเป็นผู้ออกมาแก้ปัญหา แต่ของพันธมิตรฯ เราไม่ได้ระบุว่าจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร เพราะเราเห็นว่าเมื่อประเทศกำลังป่วยหนัก ใครที่จะเข้ามารักษาได้ก็ยินดี เพราะวิธีการของแต่กลุ่มยังแตกต่างกันอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี ตนขอชื่นชมนางสดศรีที่กล้าออกมาพูดเช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น