“ลุงจำลอง” เผย กก.ป้องกันราชอาณาจักรนัดถกด่วนวันนี้ หลังสภาถกเจบีซี 25 มี.ค. อุบเคลื่อนทัพไปไหน ปัดกองทัพธรรมย้ายออกถนนพิษณุโลก “ปานเทพ” โต้ “มาร์ค จอมแถ” ยันสภาไม่เห็นชอบก็คุยทวิภาคีใหม่ถกเจบีซีใหม่ได้ ย้ำเขมรใช้อ้างเวทีโลกจดทะเบียนพระวิหารได้ทันที ชี้ “ประยุทธ์” เริ่มอึดอัดท่าทีรัฐ ชี้ชัดยูเนสโกละเมิดอธิปไตยไทย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีการเลื่อนการพิจารณาร่างบันทึกการ ประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ จากวันที่ 29 มี.ค.มาเป็นวันที่ 25 มี.ค.นี้ว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวคัดค้านมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ต.ค.53 ที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหาในขณะนั้น ได้คัดค้านอย่างหนักในที่ประชุมรัฐสภา จนทำให้มีการเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 2 พ.ย.53 ซึ่งพันธมิตรฯก็ได้ไปชุมนุมคัดค้านที่บริเวณหน้ารัฐสภา ทำให้มีรัฐสภาเลื่อนการพิจารณาอีกครั้ง และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคประชาชนในนามคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรก็ได้ยื่นหนังสือถึงสมาชิกรัฐสภาทุกคน 2 ครั้งด้วยกัน เพื่อให้ทราบถึงผลเสียหายต่อการสูญเสียดินแดนหากมีการรับรองบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ และไม่ควรให้การรับรอง แต่เมื่อรัฐสภายังกำหนดการประชุมในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ทางคณะกรรมการฯ จะมีการหารือกำหนดมาตรการหรือกิจกรรมเพื่อกดดันที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้ (23 มี.ค.) และจะประกาศท่าทีบนเวทีปราศรัยในช่วงเย็นหรือค่ำหากทราบผลการประชุมต่อไป
เมื่อถามว่าจะมีการเคลื่อนมวลชนไปปิดล้อมรัฐสภาหรือไม่ พล.ต.จำลองกล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะต้องถามความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการฯ ก่อน โดยต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบถึงผลดีผลเสีย ส่วนการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้นไม่มีผลทำให้เกิดความแตกต่างในการตัดสินใจ เพราะการชุมนุมตรงนี้ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว คงไม่มีผลอะไรหากจะเคลื่อนไปชุมนุมที่ใด
เมื่อถามต่อถึงกรณีที่มีกระแสข่าวจากทางตำรวจว่า เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติยินยอมที่จะย้ายพื้นที่การชุมนุมออกจากถนนพิษณุโลกนั้น พล.ต.จำลองกล่าวว่า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมบริเวณถนนพิษณุโลกเป็นพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มกองทัพธรรมเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งไม่มีการเปิดช่องทางจราจรด้วย เพราะถือเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมอย่างยิ่ง
ในส่วนกรณีที่มีข่าวว่าไม่มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกรณีที่มีรถเก๋งยี่ห้อวอลโว่ สีเทาดำ ทะเบียน กก 423 สงขลา วิ่งด้วยความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมตามที่พันธมิตรฯ กล่าวอ้างนั้น พล.ต.จำลองกล่าวว่า วานนี้ (22 มี.ค.) นายทศพล แจ้งประชุม หรือนายหมี ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ไปแจ้งความต่อตำรวจเรียบร้อยแล้ว หากต้องการให้มีเปิดเผยตัวนายทศพล เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง ทางเราก็ยินดี อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโชคดีที่นายทศพลได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการที่เปิดการจราจรเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมโดยไม่มีการตรวจค้นอาวุธหรือยาเสพติด และมีรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงเข้ามาทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะรถวอลโว่คันนี้ที่เคยเข้ามาสร้างความปั่นป่วนแล้วหลายครั้ง
ขณะที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวเพิ่มเติมในกรณีเดียวกันว่า จากการตรวจสอบพบว่ารถยนต์ทะเบียน กก 423 สงขลา มีนายคิด หิรัญชุนหะ ภูมิลำเนาที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นเจ้าของทะเบียน แต่ได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยได้มีการโอนรถต่อให้บุคคลอื่น แต่มีเจตนาในการอำพรางชื่อเจ้าของคนใหม่ ซึ่งเป็นความตั้งใจในการนำรถคันนี้มาก่อเหตุเพื่อปั่นป่วนการชุมนุมโดยเฉพาะ ถือเป็นขบวนการทางการเมืองที่ต้องการทำลายบรรยากาศการชุมนุมให้ได้รับความเดือดร้อน
ในส่วนการพิจารณาร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 25 มี.ค.นี้ นายปานเทพกล่าวว่า มีแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์จะให้การรับรองบันทึกทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่าหากรัฐสภาไม่รับรองบันทึกเจบีซีจะเป็นการทำลายกลไกการเจรจาทวิภาคี และนำไปสู่การเจรจาพหุภาคีที่นานาชาติจะเข้ามาแทรกแซง ซึ่งตนต้องโต้แย้งในกรณีดังกล่าว เพราะเห็นว่าที่ประชุมรัฐสภามีสิทธิที่จะไม่เห็นชอบบันทึกเจบีซีได้ หากเห็นว่ามีข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และนำไปสู่การเจรจาของคณะกรรมาธิการเจบีซีเพื่อหาข้อสรุปใหม่ จนกว่าจะได้ข้อยุติที่ตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย
นายปานเทพกล่าวอีกว่า นายอภิสิทธิ์ยังบอกอีกว่าบันทึกเจบีซีไม่มีผลต่ออธิปไตยของประเทศชาติ แต่เมื่อเราได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลายจุดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจน โดยฝ่ายกัมพูชาสามารถนำไปอ้างได้ในเวทีนานาชาติว่าฝ่ายไทยยอมรับผลเสียหายที่เกิดขึ้น โดยรัฐสภาของประเทศไทยเอง โดยเฉพาะในเวทีคณะกรรมการมรดกโลกที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย.54 เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ยังค้างอยู่ หรือจะอ้างในเวทีอาเซียนว่าไทยยอมรับในการถอนทหารออกจากพื้นที่ เปิดทางให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ และไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยตลอดกาล หากปล่อยให้มีการผ่านการรับรองของรัฐสภาไทยจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่าง ร้ายแรงต่ออธิปไตยของชาติ การที่นายกฯ พยายามอ้างว่าได้มีข้อสังเกตของสมาชิกรัฐสภาหรือรับปากว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในอนาคต ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าทางกัมพูชาจะยินยอมด้วย
“หวังว่าการคัดค้านประท้วงที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้งของภาคประชาชนจะทำให้สมาชิกรัฐสภาเปลี่ยนใจ ทบทวนเพื่อให้ประเทศชาติผ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้ โดยการลงมติไม่รับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้การเจรจากลับไปเริ่มต้นใหม่ระหว่างไทยและกัมพูชาในกลไกทวิภาคี” นายปานเทพกล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวด้วยว่า จากท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่จะไม่ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) นอกประเทศ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าฝ่ายทหารมีความอึดอัดต่อกรณีที่ฝ่ายการเมืองจะไป ยินยอมให้ทหารต่างชาติเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมทั้งมีข้อสังเกตว่าช่วงหลังมานี้ทางทหารได้พยายามที่จะดำเนินการหลายมาตรการ เช่น การกั้นรั้วบริเวณปราสาทพระวิหารเพิ่มเติม หรือการซ้อมรบใกล้ชายแดน ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหารไม่มีความสอดคล้องกับฝ่ายการเมือง โดยมีความห่วงในเรื่องอธิปไตยของชาติมากกว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะไปประชุมจีบีซีนอกประเทศ จึงเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนขอย้ำในเรื่องทีโออาร์เกี่ยวกับการวางกำลังทหารอินโดนีเซียให้มาอยู่ในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาด้วย เพราะทีโออาร์นี้มีความเสียหายต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ยูเนสโกเตรียมเป็นตัวกลางจัดการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงเดือน พ.ค.ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในเดือน มิ.ย.นี้ นายปานเทพกล่าวว่า การเข้ามาของยูเนสโกนั้นไม่ได้ต้องการหาทางออกสำหรับปัญหา แต่ต้องการหาทางออกเพื่ออนุมัติแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร โดยต้องการเร่งรีบให้ไทยและกัมพูชามีการประชุมเจบีซีและจีบีซี เพื่อให้ตกลงกันได้ก่อนเดือน มิ.ย.นี้ เป็นเรื่องที่แสดงเจตจำนงชัดเจนว่ายูเนสโกไม่หยิบเรื่องการยกเลิกแผนบริหารจัดการมาพูด มีแต่เร่งรัดให้ตกลงยอมความกันในสิ่งที่ประเทศไทยได้ผิดพลาดไปในการยอมให้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิการเป็นมรดกโลก โดยยูเนสโกเองก็เป็นผู้ย้ำตลอดว่าไม่สามารถเพิกถอนทะเบียนของปราสาทพระวิหารออกจากมรดกโลกได้ แสดงว่าไม่ฟังคำโต้แย้งของประเทศไทย ดังนั้นไทยไม่ควรไปร่วมกระบวนการนี้ และประท้วงในการละเมิดอธิปไตยของประเทศ โดยการถอนตัวจากภาคีอนุสัญญาคณะกรรมการมรดกโลก เพราะยูเนสโกเคยละเมิดอธิปไตยของไทยมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่อปี 53 ที่ได้ให้เงินสนับสนุนฝ่ายกัมพูชาจำนวน 5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ เพื่อมาซ่อมและสร้างตลาดกัมพูชาในผืนแผ่นดินไทย
“ยูเนสโกเป็นองค์กรที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย ดังนั้น ประเทศไทยต้องประท้วง ไม่ใช่ไปสมยอมเดินหน้าแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่จะทำให้เสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาท” นายปานเทพกล่าว