xs
xsm
sm
md
lg

"สนธิ"แช่งพวกโหวตรับขายชาติ ปูดรัฐเร่งถกJBC จ่อฟันข้อหากบฏ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “สนธิ” สาปแช่งพวกขายชาติยกมือผ่านเจบีซี “พธม.”วัดใจ ส.ส.-ส.ว. หากปล่อยผ่านเจบีซี 3 ฉบับ เดินหน้าเล่นงานทางคดี หนุน ผบ.ทบ.แสดงจุดยืนต้าน รบ.ขายชาติ ปูดแผนรัฐเร่งวาระหวังอะไร “คนไทยฯ”ยื่นที่ประชุมศาลฯจี้ข้อหากบฏ “มาร์ค”อ้างกับกองทัพจุดยืนตรงกัน “เทือก”กันท่าไม่เห็นด้วยอินโดฯเข้า พท. ตำรวจตื่นตูมติดป้ายกันม๊อบ เผย!อินโดชะลอส่งทหารเข้าพื้นที่

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ขอให้คนที่ยกมือผ่านเจบีซีในวันนี้ (25 มี.ค.) จงพินาศฉิบหายถึงวงศ์ตระกูล ย้อนกลับไปหาสู่บรรพบุรุษ แม้จะสิ้นไปแล้วก็ตาม คำสาปแช่งนี้ยังดำรงอยู่ตลอดกาล ขอให้ผู้ที่ยกมือผ่านให้เจบีซีขอให้ฉิบหาย ไม่มีความสุข แต่แผ่นดินนี้ศักดิ์สิทธิ์ใครที่ต้องการยกมือสวน ขอให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ชีวิตมีศิริมงคล

**เตรียมฟันดะคนรับเจบีซี 3 ฉบับ

เวลา 16.00 น.ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ผู้ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบางส่วนร่วมเดินทางไปแจกเอกสารเรื่องของบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ขนาดเอ 4 สองหน้า ในย่านธุรกิจ อาทิ สีลมและสยามสแควร์ โดยจะมีกลุ่มเฟซแพด (facepad) ซึ่งเป็นพันธมิตรฯที่เคลื่อนไหวในสังคมเฟซบุ๊คร่วมในการเผยแพร่เอกสารทั้ง 1 แสนฉบับ

ช่วงเช้าเวลา 10.00 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการเคลื่อนมวลชนกดดันที่หน้ารัฐสภา ว่า ในช่วงเช้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยฝ่ายหนึ่งเสนอให้มีการเลื่อนมวลชนไปกดดันที่หน้ารัฐสภา แต่บางส่วนเห็นแตกต่าง เนื่องจากเห็นว่าหากเคลื่อนออกจากที่ตั้ง ก็จะมีขบวนการที่พยายามสร้างสถานการณ์เข้ามา

ดังนั้นหลังจากที่ยื่นหนังสือให้ส.ส.-ส.ว. 2 ครั้ง แต่ก็อยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละคน จึงต้องวัดใจ ส.ส.-ส.ว. และเมื่อมีผลการตัดสินใจออกมาอย่างไร ภาคประชาชนก็จะเดินหน้าฟ้องร้องทางกระบวนการกฎหมายเพื่อเอาผิดกับนักการเมืองต่อไป

นายปานเทพ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าวาระการประชุมร่วมที่มีการกำหนดให้การพิจารณาร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ อยู่ในวาระที่ 3 ต่อจากวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และวาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุม เป็นความเร่งรีบของรัฐบาลที่ต้องการให้ผ่านการรับรองของรัฐสภาอย่างรวดเร็ว โดยกล่าวว่า ตามปกติวาระที่ 1 และ 2 ของการประชุมใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาทีเท่านั้น แสดงว่ารัฐบาลต้องการให้การรับรองบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ เป็นวาระต้นๆ เพราะความเร่งรีบของรัฐบาล อีกทั้งที่ผ่านมาการประชุมร่วมรัฐสภาจะไม่นิยมประชุมในวันศุกร์ เพราะบรรดาผู้แทนจะมีภารกิจในการลงพื้นที่ จึงมักประชุมในวันอังคาร แต่ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเร่งรัดโดยเจตนา

**หนุนผบ.ทบ.สะกัดทหารอินโดฯ

นายปานเทพ ยังได้กล่าวสนับสนุนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ที่ไม่เห็นด้วยในการให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งปฏิเสธที่จะไปประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา “จีบีซี” ในประเทศที่ 3 ว่า เป็นท่าทีที่มีความชัดเจนที่สุดของ ผบ.ทบ. ทั้งที่ไม่ใช่ประธานจีบีซีฝ่ายไทย แสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหารโดยกองทัพบก มีความอึดอัดและเข้าใจปัญหามากขึ้นแล้ว หากปล่อยให้มีทหารอีกประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ และเป็นสักขีพยานไม่ให้มีการปะทะกัน คือการหยุดยั้งไม่ให้ฝ่ายไทยใช้กำลังผลักดันกัมพูชาออกจากผืนแผ่นดินไทย ทหารจึงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ และมีท่าทีของ ผบ.ทบ.ออกมา ทำให้ทางกัมพูชาได้ออกมาตอบโต้ทันทีว่าฝ่ายไทยไม่รักษาสัญญาที่ตกลงกันแล้ว ซึ่งเป็นเพราะรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศที่เดินเกมการเมืองระหว่างประเทศผิดพลาด ไม่ยืนยันเรื่องเส้นเขตแดนในเวทีนานาชาติ ทำให้ฝ่ายกัมพูชารุกคืบนำนานาชาติเข้ามาแทรกแซงเพื่อไม่ให้ทหารไทยทำหน้าที่ผลักดันกัมพูชาออกไป

นายประพันธ์ กล่าวว่า กองทัพควรออกมาแสดงจุดยืนในการปกป้องอธิปไตยของชาติให้ชัดเจนกว่านี้ เพราะถือเป็นหน้าที่ของทหารโดยตรง แต่ขณะนี้บทบาทของ ผบ.ทบ.และกองทัพยังไม่ชัดเจน แม้จะออกมาให้ความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาล แต่ก็เป็นเพียงท่าทีที่ออกมาอย่างประปริดประปรอย ไม่คงเส้นคงวา เหมือนกองทัพถูกลากดึงให้ไปเล่นการเมืองอยู่

“ขอเรียกร้องให้ทหารออกมาแสดงจุดยืนร่วมกับประชาชน ดีกว่าไปเป็นอีแอบอยู่เบื้องหลังนักการเมือง โดยให้ ผบ.ทบ.และผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกคนแสดงจุดยืนร่วมกัน” นายประพันธ์ กล่าว
**มาร์คอ้างกับกองทัพจุดยืนตรงกัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ความชัดเจนต่อการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา “จีบีซี” ว่าจะสามารถดำเนินการได้อยู่หรือไม่นั้นว่า ได้ประสานงานกันอยู่ เพราะว่าจะต้องจัดที่กรุงพนมเปญ แต่เข้าใจว่ายังไม่ได้ข้อยุติ แต่ส่วนของการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา“เจบีซี”ก็จะเดินหน้าต่อไป ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่สบายใจว่าจะต้องไปจัดที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น เป็นเรื่องที่ 2ฝ่ายกำลังคุยกันอยู่ แต่คงจะจัดได้ แต่คงไม่พร้อมกับ “เจบีซี”

ส่วนการประชุม “เจบีซี” และ “จีบีซี “จะสามารถคุยกับกัมพูชาได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คุยได้ กลไกเดินอยู่ แต่มีเพียง “จีบีซี” ที่เป็นเรื่องของสถานที่ และรายละเอียดของการประชุมเท่านั้น ขณะเดียวกัน “เจบีซี” ก็จะเป็นเวทีสำคัญที่จะทำให้กลไกทวิภาคีทั้งหมดเดินได้ ทั้งนี้จุดยืนของกองทัพเรื่องดังกล่าวกับรัฐบาลตรงกัน

**เทือกกันท่าไม่เห็นด้วยอินโดฯเข้า พท.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุอยากประชุม “จีบีซี”โดยไม่มีประเทศที่ 3 ว่า ข้อเรียกร้องที่บอกว่าจะต้องมีทหารต่างชาติเข้ามาอยู่ในพื้นที่ด้วยก่อนที่จะมีการเจรจา อย่างนี้ก็คงไม่ใช่ แต่เราเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศควรจะมาคุยกัน แต่ประเทศที่ 3 ซึ่งก็คือประเทศอินโดนีเซียที่จะมาเป็นสักขีพยาน มาเป็นผู้สังเกตการณ์ของการประชุมนั้น “มาได้” หากเรามีการประชุมกัน

“ข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขบางอย่างของกัมพูชา เช่นที่บอกว่าจะให้มีทหารของอินโดนีเซียมาตั้งอยู่ในพื้นที่นี้เสียก่อน ก่อนที่จะมีการเจรจากันซึ่งอย่างนี้ก็ต้องมีการพูดคุยกันว่าพื้นที่ตรงนี้ยังเป็นพื้นที่ไทย ถือว่าเป็นของไทย แม้ว่ากัมพูชาจะอ้างว่าเป็นของกัมพูชาก็ตาม เพราะยังไม่มีการปักปันเขตแดน เพราะฉะนั้นหากจะให้ใครมาอยู่ก็ต้องมาอยู่ด้วยกัน ถ้ามีทหารเข้าไปอยู่ ก็ต้องมีทหารไทยและทหารกัมพูชา และทหารอินโดนีเซีย ก็ได้ แต่ถ้าจะเอากองกำลังทหารต่างชาติมาดูแลพื้นที่บริเวณนั้นแทน อย่างนี้ประเทศไทยเห็นว่าไม่สมควร” รองนายกฯ กล่าว

**วิปวุฒิปล่อยสว.ฟรีโหวต

วันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) เพื่อพิจารณาวาระการเตรียมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณา “ร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ” โดยได้เชิญ นายธัชชยุติ ภักดี รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมให้ข้อมูลด้วย

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารฉบับล่าสุดที่แนบกับบันทึกการประชุมเจบีซี ไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 6 เม.ย.52 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ และการแนวร่างดังกล่าวนั้น เพื่อต้องการแจ้งถึงพัฒนาการในการเจรจา ไม่ใช้เป็นการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาใช่หรือไม่

ซึ่งนายธัชชยุติ ชี้แจงว่า การแนบร่างดังกล่าวไม่มีเจตนาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่ต้องการให้รัฐสภารับทราบเกี่ยวกับร่างข้อตกลงชั่วคราว ที่จัดทำขึ้นภายหลังเหตุปะทะกันตามแนวบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ทั้งนี้ร่างข้อตกลงยังไม่มีการลงนาม

ทั้งนี้ในรายงานการประชุมไม่ได้เสนอแนะให้ ส.ว.ลงมติรับรองหรือไม่รับรอง โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของสมาชิก

**คนไทยยื่นที่ประชุมศาลฯจี้ข้อหากบฏ

ส่วนประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีการเชิญนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติมาชี้แจง กรณีการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกกัมพูชาจับตัว

นายไชยวัฒน์กล่าวว่า แนวทางของรัฐบาลที่ให้ 2 คนไทยรับสารภาพและขออภัยโทษ เท่ากับยอมรับว่า เสียดินแดน และจะเป็นคำบันทึกไว้ในศาลของกัมพูชาด้วย เพราะคำฟ้องระบุแผนที่ฝรั่งเศส 1 ต่อ 200,000 แต่แนวทางของภาคประชาชนคือต้องการให้อ้างว่า ถูกจับไปจากดินแดนไทย

“ดังนั้นวันที่ 25 มี.ค.ที่จะมีการพิจารณาร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ก็เท่ากับยอมรับแผนที่ฝรั่งเศส ที่ผ่านมาเรายื่นข้อเรียกร้องไปถึงนายกฯตลอดแต่นายกฯก็ไม่ตอบ เลยไปยื่นพฤติกรรมรัฐบาลต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อให้ใช้อำนาจตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ทราบว่า ศาลได้บรรจุเป็นวาระประชุมแล้ว หากผ่านก็จะยื่นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในวันที่ 28 มี.ค.นี้ให้สอบสวนสมาชิกรัฐสภาที่ยกมือให้ผ่าน ในข้อหาเป็นกบฏ ทำให้แบ่งแยกราชอาณาจักร”

**ตำรวจตื่นตูมติดป้ายกันม๊อบ

เวลาประมาณ 15.30 น. บริเวณหน้ารัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นำโดย ร.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล สารวัตรประชาสัมพันธ์ บช.น. ได้นำแผ่นป้ายห้ามเข้าพื้นที่ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาติดตั้งบริเวณด้านหน้ารัฐสภา เพื่อเตรียมการป้องกันหากมีมวลชนเคลื่อนมากดดันการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา “ร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ” ในวันนี้ (25 มี.ค.)

ทั้งนี้จะมีการติดตั้งแผ่นป้ายทั้ง 4 มุมรอบรัฐสภา คือ ที่แยกการเรือน แยกราชวิถี แยกขัตติยา และบริเวณโค้งปั๊ม ปตท. (เสือป่า) รวมทั้งบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าอีกด้วย มีข้อความระบุว่า 1.ห้ามผู้ใดกระทำการใดๆอันเป็นการขัดขวางการประชุมสภา (อำนาจนิติบัญญัติ) จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และห้ามเข้าพื้นที่บริเวณโดยรอบรัฐสภา และ 2.พื้นที่โดยรอบรัฐสภาเป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จาก กองบัญชาตำรวจนครบาล

****“ป้อมถามความชัดเจน “เตีย บันห์”

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุม “จีบีซี “ครั้งที่ 8ว่า ครั้งนี้ฝ่ายกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม แต่หากกัมพูชาไม่พร้อม ฝ่ายไทยก็พร้อมดำเนินการ

“เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้หมายความไม่เห็นด้วยที่จะไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาในพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา”

“การประชุมทวิภาคี ระหว่างไทย-กัมพูชา ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็จะต้องดูว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ผมได้คุยกับ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมของกัมพูชาแล้ว แต่ขณะนี้ต้องขึ้นอยู่กับกัมพูชาว่าจะดำเนินการอย่างไร ”พล.อ.ประวิตร กล่าว

เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องมีการประชุม จีบีซี ก่อนหรือไม่ ที่จะให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน

**กลาโหมไม่ถกจีบีซีที่อินโดฯ

ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า ได้มีการเน้นให้ทำความเข้าใจถึงเรื่องการประชุม“เจบีซี” ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ จะหารือถึงการปักปันเขตแดนและมีเพียงเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร และเจ้ากรมแผนที่ทหาร รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารบางส่วน ร่วมเป็นกรรมการเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการประชุม “จีบีซี”แต่อย่างใด

ทั้งนี้ยืนยันว่า ถ้าประเทศกัมพูชาที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุม“จีบีซี” ในปีนี้ไม่พร้อมที่จะจัดการประชุม กองทัพไทยพร้อมจะจัดการประชุมในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานของฝ่ายเลขานุการการประชุม

“เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการประชุมเจบีซีและจีบีซีพร้อมกันที่อินโดนีเซีย เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกัน และการประชุมจีบีซีเป็นการประชุมแบบทวิภาคีที่พูดคุยกันระหว่างสองประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาทุกครั้งไม่เคยมีการจัดประชุมจีบีซีในประเทศที่สามมาก่อน”

**อินโดชะลอส่งทหารเข้าพื้นที่

รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดโฆษกกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย แถลงว่า ภารกิจส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังพื้นที่พิพาท ยังต้องรอการอนุมัติเห็นชอบของสองประเทศคู่กรณีก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการใด และยังไม่รู้ว่าจะไปประจำการตรงจุดไหนหรือนานเท่าไหร่ และหวังว่าจะได้รับการเห็นชอบโดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้

ขณะที่สื่อทางการเวียดนามรายงานว่า นายฟาม เกีย เคียม รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ได้เรียกร้องให้ไทยและกัมพูชายุติปัญหาปะทะชายแดนด้วยแนวทางสันติ เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน

**”ซกอาน” จัดมั่ว! เมกาคล้อยตาม

วันเดียวกันเว๊บไซต์ข่าว “ฟิฟทีนมูฟ” รายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรีโดยหน่วยข่าวและตอบสนองเร็วได้เผยแพร่ข่าวการเข้าพบนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายโจเซฟ ยุน รองผู้ช่วยเลขานุการของรัฐ2 ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการพูดถึง คณะผู้สังเกตการณ์ทางทหารอินโดนีเซีย ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการตรวจสอบการหยุดยิง การคุ้มครองและความอยู่รอดของปราสาทพระวิหาร

มีการอ้างว่า ประเทศไทยพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการประชุมที่มีประเทศที่สามเป็นตัวกลาง ผู้นำทหารไทยตามที่มีรายงานในสื่อไทย ไม่ต้องการเข้าร่วมการประชุมที่กำหนดนัดไว้ในวันที่ 7-8 เมษายน ที่ประเทศอินโดนีเซีย การประชุมดังกล่าวถูกเลื่อนมาแล้วหนึ่งครั้งเพราะความไม่เต็มใจของไทย นอกจากนั้น ยังได้แสดงภาพถ่ายความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับปราสาทพระวิหาร อ้างว่าสาเหตุจากการที่ทหารไทยยิงปืนใหญ่เข้าใส่ ที่ใช้อาวุธอย่าง “ครัสเตอร์บอมบ์ และกระสุนแก๊ส” .
กำลังโหลดความคิดเห็น