xs
xsm
sm
md
lg

ค้าน กมม.ลงเลือกตั้งผบ.ทบ.ไม่ต้อนรับอินโดฯพธม.ลุยย่านธุรกิจค้านJBC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คกก.ปกป้องราชอาณาจักรไทย เตรียมยกระดับการชุมนุม กดดันรัฐสภาลงมติรับร่างเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ บุุกย่านธุรกิจ รณรงค์ให้ความรู้ภาคประชาชนวันนี้(24 มี.ค.) "ปานเทพ" ชี้หากผ่านเจบีซีกระทบอธิปไตยอย่างแรง "ประยุทธ" ค้านอินโดฯส่งผู้สังเกตการณ์มาลงพื้นที่พิพาท ด้านกัมพูชา ยื้ออภัยโทษ "วีระ-ราตรี" อ้างเอกสารไม่ครบ "สนธิ" ลั่น พธม.จะ No vote ทั้งประเทศ ไม่ให้กมม.ส่งคนลงเลือกตั้ง
 

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ ( 23 มี.ค.) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณี ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีการเลื่อนการพิจารณาร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ( เจบีซี ) 3 ฉบับ จากวันที่ 29 มี.ค. มาเป็นวันที่ 25 มี.ค.นี้ว่า ที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวคัดค้านมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ต.ค.53 ที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในขณะนั้นได้คัดค้านอย่างหนัก ในที่ประชุมรัฐสภา จนทำให้มีการเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 2 พ.ย.53 ซึ่งพันธมิตรฯ ก็ได้ไปชุมนุมคัดค้านที่บริเวณหน้ารัฐสภา ทำให้รัฐสภาเลื่อนการพิจารณาอีกครั้ง และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคประชาชนในนามคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรก็ได้ยื่นหนังสือถึงสมาชิกรัฐสภาทุกคน 2 ครั้งด้วยกัน เพื่อให้ทราบถึงผลเสียหายต่อการสูญเสียดินแดน หากมีการรับรองบันทึก เจบีซี 3 ฉบับ และไม่ควรให้การรับรอง แต่เมื่อรัฐสภายังกำหนดการประชุมในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ทางคณะกรรมการฯ จะมีการหารือกำหนดมาตรการหรือกิจกรรมเพื่อกดดันที่ประชุมร่วมรัฐสภา

เมื่อถามว่าจะมีการเคลื่อนมวลชนไปปิดล้อมรัฐสภาหรือไม่ พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะต้องถามความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการฯ ก่อน โดยต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ ถึงผลดีผลเสีย ส่วนการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น ไม่มีผลทำให้เกิดความแตกต่างในการตัดสินใจ เพราะการชุมนุมตรงนี้ ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว คงไม่มีผลอะไรหากจะเคลื่อนไปชุมนุมที่ใด

กรณีที่มีกระแสข่าวจากทางตำรวจว่า เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติยินยอมที่จะย้ายพื้นที่การชุมนุมออกจาก ถ.พิษณุโลกนั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมบริเวณ ถ.พิษณุโลก เป็นพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มกองทัพธรรม เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งไม่มีการเปิดช่องทางจราจรด้วย เพราะถือเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมอย่างยิ่ง

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ไม่มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ จากกรณีที่มีรถเก๋งยี่ห้อวอลโว่ สีเทาดำ ทะเบียน กก 423 สงขลา วิ่งด้วยความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมตามที่พันธมิตรฯ กล่าวอ้างนั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นายทศพล แจ้งประชุม หรือ นายหมี ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ไปแจ้งความกับตำรวจเรียบร้อยแล้ว หากต้องการให้เปิดเผยตัวนายทศพล เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง ทางเราก็ยินดี
อย่างไรก็ตาม ถือว่าโชคดีที่นายทศพลได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การที่เปิดการจราจรเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม โดยไม่มีการตรวจค้นอาวุธ หรือยาเสพติด และมีรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงเข้ามา ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะรถวอลโว่คันนี้ ที่เคยเข้ามาสร้างความปั่นป่วนแล้วหลายครั้ง

ออกรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน

ในเวลา 17.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เปิดเผยถึงการประชุม คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย เพื่อพิจารณามาตรการกดดัน ที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ลงมติไม่รับรองร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ ว่า ทางคณะกรรมการฯได้มีการหารือกันแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป ถึงมาตรการกดดันออกมา เนื่องจากต้องพิจารณาถึงผลดีผลเสีย ด้วยความรอบคอบ โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯเป็นผู้รับผิดชอบในรายละเอียด และจะมีการประชุมอีกครั้งในวันนี้ ( 24 มี.ค.) ก่อนสรุปเป็นมติคณะกรรมการฯ ออกมา

ทั้งนี้ จะมีกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.ทบทวนการลงมติ โดยการนำเอกสารใบปลิวไปแจกในพื้นที่ย่านธุรกิจต่างๆ

เมื่อถามว่าการประชุมก่อนลงมติถึงมาตรกดดันในวันนี้ (24 มี.ค.) ถือว่าช้าเกินไปหรือไม่ เพราะการประชุมร่วมรัฐสภาจะขึ้นในวันที่ 25 มี.ค.นี้ พล.ต.จำลอง กล่าวว่า คงไม่ช้าเกินไป เพราะการตัดสินใจใดๆ ต้องทำด้วยความรอบคอบ

ขณะที่ นายปานเทพ กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ในเบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้จัดกิจกรรมในวันนี้ (24 มี.ค.) โดยส่งทีมงานไปแจกเอกสารใบปลิวตามย่านธุรกิจ เช่น สีลม และสยาม โดยบางพื้นที่อาจจะอยู่พื้นที่ที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงอยู่ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการฯยังเห็นว่า ประชาชนยังให้ความสนใจ และมีความเข้าใจในปัญหาเกี่ยวกับบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับไม่มากเท่าที่ควร จึงอยากทำความเข้าใจถึงผลกระทบหากรัฐสภารับรองบันทึกเจบีซี 3 ฉบับในวันที่ 25 มี.ค. และเหตุผลในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ส่วนมาตรการกดดันคณะกรรมการฯ จะมีการหารือกันอย่างรอบด้านอีกครั้ง ก่อนประกาศความชัดเจนอีกครั้งในวันนี้

เจบีซีกระทบอธิไตยของชาติ

นายปานเทพ กล่าวเพิ่มเติมในกรณีรถยนต์วอลโว่เข้ามาป่วนที่ชุมนุมว่า จากการตรวจสอบพบว่า รถยนต์ทะเบียน กก 423 สงขลา มีนายคิด หิรัญชุนหะ ภูมิลำเนาที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นเจ้าของทะเบียน แต่ได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยได้มีการโอนรถต่อให้บุคคลอื่น แต่มีเจตนาในการอำพรางชื่อเจ้าของคนใหม่ ซึ่งเป็นความตั้งใจในการนำรถคันนี้มาก่อเหตุ เพื่อปั่นป่วนการชุมนุมโดยเฉพาะ ถือเป็นขบวนการทางการเมืองที่ต้องการทำลายบรรยากาศการชุมนุมให้ได้รับความเดือดร้อน

ส่วนการพิจารณาร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 25 มี.ค.นี้ นายปานเทพ กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะให้การรับรองบันทึกทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่า หากรัฐสภาไม่รับรองบันทึกเจบีซี จะเป็นการทำลายกลไกการเจรจาทวิภาคี และนำไปสู่การเจรจาพหุภาคีที่นานาชาติจะเข้ามาแทรกแซง ซึ่งตนต้องโต้แย้งในกรณีดังกล่าว เพราะเห็นว่า ที่ประชุมรัฐสภา มีสิทธิที่จะไม่เห็นชอบบันทึกเจบีซีได้ หากเห็นว่ามีข้อบกพร่อง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และนำไปสู่การเจรจาของคณะกรรมาธิการเจบีซี เพื่อหาข้อสรุปใหม่จนกว่าจะได้ข้อยุติที่ตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย

นายปานเทพ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ ยังบอกอีกว่าบันทึกเจบีซี ไม่มีผลต่ออธิปไตยของประเทศชาติ แต่เมื่อเราได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีหลายจุดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจน โดยฝ่ายกัมพูชาสามารถนำไปอ้างได้ในเวทีนานาชาติ ว่าฝ่ายไทยยอมรับผลเสียหายที่เกิดขึ้น โดยรัฐสภาของประเทศไทยเอง โดยเฉพาะในเวทีคณะกรรมการมรดกโลกที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย.54 เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ยังค้างอยู่ หรือจะอ้างในเวทีอาเซียนว่า ไทยยอมรับในการถอนทหารออกจากพื้นที่ เปิดทางให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ และไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยตลอดกาล หากปล่อยให้มีการผ่านการรับรองของรัฐสภาไทยจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยของชาติ การที่นายกฯ พยายามอ้างว่าได้มีข้อสังเกตของสมาชิกรัฐสภา หรือรับปากว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในอนาคต ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าทางกัมพูชาจะยินยอมด้วย

" หวังว่าการประท้วงคัดค้าน ที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้ง ของภาคประชาชน จะทำให้สมาชิกรัฐสภาเปลี่ยนใจ ทบทวนเพื่อให้ประเทศชาติผ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้ โดยการลงมติไม่รับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้การเจรจากลับไปเริ่มต้นใหม่ ระหว่างไทย และกัมพูชาในกลไกทวิภาคี" นายปานเทพกล่าว

หนุนผบ.ทบ.บอยคอต จีบีซี

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า จากท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่จะไม่ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) นอกประเทศ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ฝ่ายทหารมีความอึดอัดต่อกรณีที่ฝ่ายการเมืองจะไปยินยอมให้ทหารต่างชาติเข้ามาแทรกแซง ยุ่งเกี่ยวเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมทั้งมีข้อสังเกตว่า ช่วงหลังมานี้ทางทหารได้พยายามที่จะดำเนินการหลายมาตรการ เช่น การกั้นรั้วบริเวณปราสาทพระวิหารเพิ่มเติม หรือการซ้อมรบใกล้ชายแดน ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายทหารไม่มีความสอดคล้องกับฝ่ายการเมือง โดยมีความห่วงในเรื่องอธิปไตยของชาติมากกว่า
กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะไปประชุมจีบีซีนอกประเทศ จึงเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนขอย้ำในเรื่องทีโออาร์ เกี่ยวกับการวางกำลังทหารอินโดนีเซียให้มาอยู่ในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาด้วย เพราะทีโออาร์นี้ มีความเสียหายต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศเช่นเดียวกัน
กรณีที่ยูเนสโก เตรียมเป็นตัวกลางจัดการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงเดือนพ.ค. ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน มิ.ย.นี้ นายปานเทพ กล่าวว่า การเข้ามาของยูเนสโกนั้น ไม่ได้ต้องการหาทางออกสำหรับปัญหา แต่ต้องการหาทางออกเพื่ออนุมัติแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร โดยต้องการเร่งรีบให้ไทยและกัมพูชา มีการประชุมเจบีซี และจีบีซี เพื่อให้ตกลงกันได้ก่อนเดือน มิ.ย.นี้ เป็นเรื่องที่แสดงเจตน์จำนงชัดเจนว่ายูเนสโกไม่หยิบเรื่องการยกเลิกแผนบริหารจัดการมาพูด มีแต่เร่งรัดให้ตกลงยอมความกันในสิ่งที่ประเทศไทยได้ผิดพลาดไป ที่ยอมให้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยยูเนสโกเองก็เป็นผู้ย้ำตลอดว่าไม่สามารถเพิกถอนทะเบียนของปราสาทพระวิหารออกจากมรดกโลกได้ แสดงว่าไม่ฟังคำโต้แย้งของประเทศไทย

ดังนั้นไทยไม่ควรไปร่วมกระบวนการนี้ และประท้วงในการละเมิดอธิปไตยของประเทศ โดยการถอนตัวจากภาคีอนุสัญญาคณะกรรมการมรดกโลก เพราะยูเนสโก เคยละเมิดอธิปไตยของไทยมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่อปี 53 ที่ได้ให้เงินสนับสนุนฝ่ายกัมพูชาจำนวน 5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ เพื่อมาซ่อม และสร้างตลาดกัมพูชาในผืนแผ่นดินไทย

"ยูเนสโก เป็นองค์กรที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย ดังนั้นประเทศไทยต้องประท้วง ไม่ใช่ไปสมยอมเดินหน้าแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่จะทำให้เสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาท" นายปานเทพกล่าว

ผบ.ทบ.ยันไทย-เขมรหารือ 2 ฝ่ายก็พอ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับที่คณะผู้แทนจากอินโดนีเซีย จะเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา ว่า ข้อตกลงต่างๆ ประเทศใดประเทศหนึ่งตกลงกันเองไม่ได้ ในพื้นที่ที่มีปัญหา 2 ประเทศต้องให้ 2 ประเทศเห็นชอบร่วมกัน เราไม่ใช่ไม่เห็นชอบ แต่เราบอกว่า ต้องหารือในในทวิภาคีก่อนว่า จะเข้ามา หรือไม่เข้ามา ถ้าไม่เข้ามา เราดูกันเองก่อนได้หรือไม่ ไทยดูกัมพูชา ส่วนกัมพูชาก็ดูไทยแบบร่วมกันดูทั้ง 2 ฝ่าย ดูทั้งเรื่องการละเมิดเอ็มโอยู หรือไม่ หรือถ้าต้องมีตามมติของรัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศมา เราจะให้เขามาแค่ไหน อยู่ที่ไหนได้บ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(จีบีซี) ให้ได้ก่อน เรายืนยันว่า เราไม่ได้อยากให้ใครอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหา มีข้อขัดแย้ง เพราะอาจจะทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ ควรอยู่รอบนอกดีกว่า จะไปอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหากันทำไม มันอันตรายไม่ปลอดภัย ถ้าจะต้องมา อยู่ข้างนอกก็ดูรู้ ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย รวมทั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพก็ยังไม่เห็นในตรงนี้ว่าจะให้เข้ามาอย่างไร แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยการเจรจาของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลตกลงเข้ามา ก็ต้องมา แต่จะมายังไงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันต่อ ไม่ใช่ว่าจะไปอยู่ตรงนั้น ตรงนี้กัน จะไปอยู่ได้ยังไง มันเป็นพื้นที่ทับซ้อน เข้าไปไม่ได้ เข้าไปมันก็มีปัญหากันหมด

"คิดว่าเรื่องนี้น่าจะคุยกันรู้เรื่อง ดังนั้นขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่า ผมไม่ได้ขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องของการเจรจากับคนของระหว่างประเทศที่จะต้องคุยกันว่า จะอยู่อย่างไร อยู่ที่ไหน มีอำนาจแค่ไหน ซึ่งสำคัญคือ เขาจะห้ามความรุนแรงได้อย่างไร คงต้องว่ากันไป เรายังไม่เสียดินแดนอะไรทั้งสิ้น แผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน อะไรต่างๆ เราไม่เคยไปรับ ส่วนเขาก็ไม่รับอัตราส่วนของเรา 1 ต่อ 5 หมื่น ดังนั้นต้องมาสู้กัน ต้องมาพูดคุยเจรจากัน รบกัน ยังไงเอามาตราส่วน 5 หมื่น มารบกับ 2 แสน มันรบกันไม่ได้ ถ้ารบกัน มันก็ต้องรบกันอยู่อย่างนี้ไม่เลิก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ส่วนการประชุมจีบีซีนั้น เราเสนอไปว่า ต้องประชุมที่ประเทศกัมพูชาให้เร็วที่สุด แต่ถ้ากัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ประชุมไม่ได้ ก็มาประชุมที่ประเทศไทย แต่ในกรณีที่กัมพูชาระบุว่า จะไม่ประชุมจีบีซี ถ้าไม่ให้คณะผู้สังเกตการณ์เข้ามานั้น คิดว่าข้อตกลงต่างๆ ประเทศใดประเทศหนึ่งตกลงเองไม่ได้ ในเมื่อพื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับ 2 ประเทศ ก็ควรให้ 2 ประเทศ เห็นชอบร่วมกัน

ส่วนประเด็นที่สื่อแปลความหมายว่า ตนจะยังคงดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลไหน ตนไม่ได้แปลความหมายว่าจะเป็น ผบ.ทบ.ตลอดไป แต่หมายความตนไม่ได้เป็นอะไรได้มากกว่านี้ ใครจะเป็นรัฐบาลก็เป็นไป ใครจะตั้งใครจะปลดตนก็เชิญ ตนทำงานอยู่แล้ว

"ชัย" มั่นใจประชุมกมธ.เจบีซี ศุกร์นี้ผ่านได้

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี ในวันศุกร์นี้ว่า ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถดูแล รักษาความปลอดภัย ให้การประชุมผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย

กต.ยันการเมืองไม่กระทบขออภัยโทษ

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าในการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ได้ส่งหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ ที่ทั้งสองได้ลงนามให้กับกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.แล้ว เท่าที่ทราบขณะนี้ฝ่ายกัมพูชาได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ขณะนี้เรื่องจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายกัมพูชา ส่วนอาการเจ็บป่วยของนายวีระนั้น ข้อมูลจากที่ได้รับรายงานจากสถานทูตขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว

เมื่อถามว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะส่งผลกระทบกับการขอพระราชทานอภัยโทษของทั้งสองคนหรือไม่ นายธานี กล่าวว่า ไม่น่าจะกระทบ

" การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นเรื่องของทั้งสองท่าน และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ต้องให้การช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ต้องให้การช่วยเหลือคนไทยต่อไป แต่คงกำหนดเวลาไม่ได้ว่าเรื่องจะแล้วเสร็จเมื่อใดเพราะขึ้นกับกระบวนการพิจารณาของฝ่ายกัมพูชา และขึ้นกับแต่ละกรณี" นายธานี กล่าว

ยื้อขออภัยโทษอ้างเอกสารไม่ครบ

ทั้งนี้ นครวัตนิวส์ และวิทยุฝรั่งเศสสากล ภาคภาษาเขมร รายงานความคืบหน้าการยื่นขออภัยโทษ จากกษัตริย์กัมพูชา ของนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ได้ถูกส่งถึงกระทรวงยุติธรรมแล้ว เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงยุติธรรม กำลังตรวจสอบหนังสือขออภัยโทษดังกล่าว เพราะเอกสารที่ได้รับไม่ครบถ้วน คือยังขาดเอกสารคำตัดสินของตุลาการ ที่เป็นมูลฐานเบื้องต้น สำหรับการพิจารณาหนังสือเสนอขออภัยโทษของสองคนไทย

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หัวหน้าสำนักงาน ( แผนกกิจการคดีอาญา ) จะต้องทำรายงานเสนอไปยัง รมว.ยุติธรรมก่อน แล้วจึงค่อยเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรี เสนอขออภัยโทษกับกษัตริย์กัมพูชาต่อไป แต่ขั้นตอนทางกฎหมายดังกล่าว ตามขั้นตอนคือ ต้องใช้เวลานาน โดยเอกสารหนังสือที่ยังไม่ครบถ้วน เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วเอกสารที่เสนอมายังกระทรวงยุติธรรม มีแค่หนังสือเสนอขออภัยโทษของสองคนไทย บันทึกของสถานทูตไทย และหนังสือของกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาเท่านั้น ยังขาดเอกสารอีกอย่างคือ คำตัดสินของตุลาการที่จะใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการพิจารณา

"เตียห์ บัน" ไม่รู้เป็นปธ.ร่วมผู้สังเกตการณ์

การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 เม.ย. ที่จะถึงนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบให้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่าย เป็นประธานร่วม ฝ่ายกัมพูชามี พล.อ.เตียห์ บัน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา และฝ่ายไทยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมของไทย

พล.อ.เตียห์ บัน ระบุว่า "เราต้องการให้มีสันติภาพสำหรับประเทศทั้งสอง ไม่ต้องการเห็นการสู้รบตามแนวพรมแดนอีก ประเทศเราทั้งสองมันเหมือนกับว่าพี่น้องของตัวไปแล้ว เรื่องอะไรเราจะมาสู้รบกันด้วยอาวุธอีกล่ะ เพราะสมัยนี้แล้ว การประชุมหารือกันโดยสันติ มันยิ่งมีความจำเป็นและสำคัญมาก"
ส่วนกรณีที่กัมพูชาได้เรียกร้องให้มีจุดตรวจการณ์พรมแดนจำนวน 15 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ใกล้ปราสาทพระวิหาร พล.อ.เตียห์ บัน กล่าวว่า "เราไม่มีที่ดิน 4.6 ตร.กม.นั่นหรอก ที่ดิน 4.6 ตร.กม.นั่นเป็นไทยฝ่ายเดียว ที่สร้างขึ้น เรียกขึ้นเพื่อรุกรานกัมพูชาเท่านั้น"

เขมรโวยไทยไม่จริงใจแก้ปัญหา

มีรายงานข่าวว่า นายกอยเกือง โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แสดงความไม่พอใจกรณีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไทย ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุมเจบีซี กรณีพิพาทพื้นที่ไทย 4.6 ตร.กม. บนเขาพระวิหาร ที่เมืองบอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ในต้นเดือนเม.ย.นี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการร่วมการประชุมที่จะขึ้นในประเทศที่ 3 นั้น โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ระบุว่า การกระทำดังกล่าว เป็นเล่ห์กลอีกครั้งของฝ่ายไทย ที่แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกรณีดังกล่าว

"สนธิ" ลั่น พธม. ไม่ให้กมม.ส่งคนลงเลือกตั้ง

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวบนเวทีรวมพลังปกป้องแผ่นดิน ที่สะพานมัฆวาน ว่าตอนนี้ตนไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองเข้ามาทำทุกอย่างที่ไร้ศีลธรรมจริยธรรม ขอให้ตัวเองเป็นใหญ่มีอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจึงจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า การเลือกตั้งครั้งนี้ พะรธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะบอยค็อทการเลือกตั้งครั้งนี้ ให้ประชาชนลงมติ No Vote (ไม่เลือกใคร)กันทั่วประเทศเพราะการเมืองมันน้ำเน่า และขอให้พรรคการเมืองใหม่ อย่าส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง หากคนในพรรคการเมืองใหม่คนใดคัดค้านก็ให้ลาออกไปจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค ให้เลือกระหว่างพรรคการเมืองใหม่ หรือพันธมิตรฯ ถ้าคิดจะลงเลือกตั้งก็ให้ลาออกจากพันธมิตรฯออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น