xs
xsm
sm
md
lg

สั่งส.ส.รับร่างJBC เขมรแกล้งดึงอภัยโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค"เผยยูเนสโกเตรียมเป็นตัวกลางจัดประชุมร่วมไทย-กัมพูชาเดือนพ.ค.นี้ ก่อนคุยมรดกโลก แจงร่างเจบีซีผ่านสภาไม่เสียอธิปไตย ด้านปชป.สั่งส.ส.ร่วมประชุมสภา 25 มี.ค. ดันผ่านเจบีซี 3 ฉบับ "หมอตุลย์" บุกทำเนียบ ยื่นหนังสือค้าน พร้อมขอให้ช่วย "วีระ-ราตรี"ทันที ขณะที่กัมพูชายังแกล้ง ดึงเรื่องขออภัยโทษ

เมื่อเวลา15.45 น. วานนี้ ( 22 มี.ค.) ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ Ms.Irina Bokova ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก และคณะถึงสถานการณ์ความคืบหน้ากรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้ข้อสรุปถึงการยืนยันว่าจะพยายามไม่ให้เกิดความตึงเครียดขึ้น และพูดถึงแนวทางและสภาพปัญหาให้มีความเข้าใจตรงกัน แต่ในแง่ของกระบวนการข้อบังคับต่างๆ ควรจะต้องมีการหารืออีกครั้งในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการพูดคุยระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมียูเนสโกเป็นผู้ประสานให้ แต่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง จากนั้นจะกำหนดท่าทีที่เหมาะสมว่าภายในเดือนมิ.ย. ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากเดิมจะประชุมที่ประเทศบาห์เรน

ส่วนประเด็นที่จะมีการพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปัญหาของมรดกโลกนำมาสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น ระหว่างนี้จะรอดูการประชุมคณะกรรมการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ที่จะมีขึ้นในเดือนเม.ย. รวมไปถึงความคืบหน้าของการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย เพราะฉะนั้น ค่อนข้างที่จะสำคัญ ที่เราจะต้องเดินหน้าทำการเจรจา 2 ฝ่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความชัดเจนหรือยังว่าจะมีการเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการของกัมพูชาออกไป นายกฯ กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับเราว่า การหยิบยกเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่จะเป็นปัญหาแน่ ตราบเท่าที่ปัญหาของเขตแดนยังไม่ยุติ แต่ว่าเป็นเรื่องที่รูปแบบพิธีการคงต้องไปว่ากันในเดือนพ.ค. และตนคิดว่า สำคัญที่เราจะต้องแสดงให้เห็นว่ากลไกของเราเดินได้ในเดือนเม.ย.นี้

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลมีการผลักดันในเรื่องของเจบีซี จะมีประชาชนบางกลุ่มออกมาต่อต้าน นายกฯ กล่าวว่า อยากจะให้คนที่คัดค้านเข้าใจว่า ถ้าเราไม่เดินหน้าในกระบวนการตรงนี้ มีแต่จะทำให้กระบวนการพหุภาคีเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีแน่นอน ทำให้ปัญหาบานปลายออกไป และการที่มีการเจรจาทวิภาคีนั้น เป็นเวทีที่เหมาะสมแล้ว จากนั้นถ้าข้อห่วงใยทวิภาคีมีอะไร ก็เป็นเรื่องที่ทางคณะกรรมาธิการของสภาตั้งข้อสังเกตได้ และเข้าใจว่าจะมีการตั้งข้อสังเกต ซึ่งการพิจารณากันในสภา รัฐบาลจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าเรายืนอยู่ตรงไหนในการเจรจา 2 ฝ่าย ถ้ารัฐบาลมีจุดยืนที่ชัดเจนก็ไม่ต้องมีข้อกังวลอะไร เพราะว่าการเจราจา 2 ฝ่าย ที่นำไปสู่ข้อยุติได้นั้น รัฐบาลและรัฐสภาต้องยอมรับจุดยืนนั้นด้วย

เมื่อถามต่อว่า สำหรับผลการลงมติรับรองบันทึกการเจรจาทั้ง 3 ฉบับ จะมีผลเกี่ยวกับเรื่องอธิปไตยของประเทศหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี และเรื่องของการรับรองว่า มีการประชุมมีการบันทึกกันอยู่แล้ว เพราะว่าจริงๆ แล้ว มีการโต้แย้งด้วยซ้ำว่า การบันทึกในลักษณะนี้ ไม่ใช่หนังสือสัญญา เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาทางฝ่ายกัมพูชาย่อมเกิดความไม่มั่นใจว่า กระบวนการทวิภาคีสามารถเดินหน้าได้จริงหรือไม่ สภาจึงต้องรับรองตรงนี้ เพราะก่อนหน้านี้มีการอ้างว่า การดำเนินการอะไรก็ตามต้องผ่านสภา เพราะฉะนั้นเป็นเพียงแต่การสร้างความมั่นใจว่า กระบวนการของเจบีซี จะเดินต่อ แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อผูกพันในเรื่องข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า ในเดือนเม.ย. ที่จะมีการพบกับกัมพูชา คิดว่ากัมพูชาจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับเอ็มโอยูกับเราหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าขณะนี้กัมพูชาน่าจะมองเห็นว่า หลังจากเรื่องนี้ไปถึงสหประชาชาติ ถึงอาเซียน ทุกคนต้องบอกว่าอย่างไรก็จะหนีไม่พ้น ที่จะต้องกลับมาที่เอ็มโอยู เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นต้องใช้กลไกให้เป็นประโยชน์ ในการที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน

เมื่อถามว่าการที่รัฐบาล ผลักดันเป็นเพราะถูกกดดันจากสถานการณ์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พูดอย่างนั่นก็คงไมได้ เพราะเรื่องนี้มันค้างวาระมานานแล้ว ถ้าพูดกันอย่างเป็นธรรม คนอาจจะเข้าใจได้ว่า เราต้องใช้กลไกนี้หรือไม่ ถึงได้ปล่อยทิ้งไว้นาน แต่ว่าเราก็พยายามจะอธิบายมาโดยตลอดเพราะคิดว่าไม่มีอะไรเสียหาย ในการที่เราจะแสดงออกที่ชัดเจนว่า กลไกนี้จะเดินต่อ ส่วนจุดยืนที่ไทยกับกัมพูชาไม่ตรงกันก็ต้องไปเจรจากัน ไม่มีทางอื่นที่จะแก้ปัญหานี้ได้

ส่วนในวันที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจร่วมไทย-กัมพูชา กังวลหรือไม่ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะเคลื่อนมายังรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น อยากย้ำว่า ถ้าหากว่าเราไม่เดินในแนวทางนี้ ก็จะมีแต่เรื่องที่จะมีโอกาสกลับเข้าไปสหประชาชาติมากขึ้น
เมื่อถามว่า ในช่วงสภาวะของรัฐบาลในช่วงมิ.ย.-ก.ค. จะเป็นช่วงที่เดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งที่เป็นช่วงของรัฐบาลรักษาการ จะมีผลกระทบต่อการเจรจาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าไม่ การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐบาลไทย ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่

***ปชป.สั่งส.ส.ประชุมสภาดันเจบีซี

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่า ที่ประชุมได้แจ้งกับส.ส.ว่า ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีระเบียบวาระการพิจารณาบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) โดยนายเจริญ คันธวงศ์ ในฐานะประธานกมธ. ได้สรุปให้ที่ประชุมฟังว่ากมธ. ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วกว่า 120 วัน ซึ่งคาดว่า ส.ส.น่าจะเห็นชอบผ่านร่างเจบีซี แต่ก็มีข้อสังเกตบางส่วนที่ละเอียดอ่อน

** จี้"มาร์ค"ถอนเจบีซี 3 ฉบับจากสภา

เมื่อเวลา 09.00น. วันเดียวกันนี้ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (กลุ่มคนเสื้อหลากสี) เดินทางมาขอพบนายอภิสิทธิ์ เพื่อยื่นหนังสือขอให้ถอนบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของรัฐสภา และให้ประธานเจบีซีฝ่ายไทย ดำเนินการเจรจาให้ทางกัมพูชาปฏิบัติตาม MOU 2543 โดยถอนทหารและประชาชนออกจากดินแดนที่รุกล้ำอธิปไตยของไทย หลังจากการลงนาม MOU 2543 พร้อมขอให้ช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกจำคุก อยู่ที่เรือนจำในประเทศกัมพูชา เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายเห็นว่า บันทึกการประชุมเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ มีข้อความกล่าวหาว่า ทหารไทยละเมิด มาตรา 5 ของ MOU 2543 หากรัฐสภารับรองบันทึกการประชุม อาจทำให้ทางกัมพูชาอ้างเป็นหลักฐานว่ารัฐสภาไทยยอมรับว่าดินแดนที่ทหารไทยปฏิบัติการอยู่เป็นดินแดนของกัมพูชา

นอกจากนี้ ในบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ มีข้อความระบุว่า การตรวจสอบเขตปักปันเขตแดนที่ 23-51 มีความถูกต้อง และเขียนเป็นร่างข้อตกลงทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษากัมพูชา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรอการรับรองจากรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งในความจริงชุดสำรวจจากกรมแผนที่ทหาร ยังไม่ได้ลงนามรับรอง และยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารเข้าไปตรวจสอบเลย ดังนั้น ในหลักเขตแดนที่ 23-51 ที่มีหลักเขตแดนที่ 23-25 และ 46-48 ที่ยังตกลงจุดปักปันหลักเขตแดนไม่ได้ ข้อความที่บันทึกในการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ จึงเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อน

"หากรัฐสภารับรอง จะกลายเป็นการรับรองว่าดินแดนตรงนั้นเป็นของกัมพูชาไปเลย จึงเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้" นพ.ตุลย์ กล่าวและว่า หลังจากยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีแล้ว ก็จะเดินทางไปกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวให้ นายอัษฎา ชัยนาม ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ในฐานะประธานฝ่ายไทย ขอให้ถอดถอนร่างบันทึกการประชุมเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ และในฐานะประธานเจบีซีฝ่ายไทยดำเนินการเจรจาให้ทางกัมพูชาปฏิบัติตาม MOU 43 และเจรจาว่า อนุสัญญา ค.ส. 1904 สนธิสัญญา ค.ส. 1907 และแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนนั้น เกี่ยวข้องกันอย่างไร รวมถึงแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนนั้น เขียนถูกต้องตามเจตนารมณ์ที่บันทึกไว้ในอนุสัญญาและสนธิสัญญาดังกล่าวหรือไม่

นพ.ตุลย์กล่าวอีกว่า แม้ว่าบันทึกการปรชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ ถูกถอนออกจากการพิจารณาของรัฐสภา ไม่ให้การรับรอง ทางคณะกรรมาธิการเจบีซี ก็สามารถเจรจาครั้งต่อไปได้ โดยแจ้งให้ทางฝ่ายกัมพูชาทราบเหตุที่รัฐสภาไม่ให้การรับรอง เพื่อที่จะมีการเจรจาแก้ไขประเด็นที่รัฐสภาและภาคประชาชนทักท้วงในการประชุมเจบีซีครั้งต่อไป

**ร้องป.ป.ช.เชือดอภิสิทธิ์

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ได้ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีกับพวก ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานที่งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 119, 120 และ 157 กรณีการนำ MOU 2543 มาใช้ ทั้งที่ MOU 2543 นั้น ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 โดยที่ไม่ยกเลิก ไม่ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และไม่ผลักดันทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากพื้นที่ไทย ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน

**"บิ๊กตู่"ไม่อยากให้ใครมาสังเกตการณ์

พล.อ.ประยุทธิ์ จันทรโอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีอินโดนีเซียจะเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ว่า ไม่อยากให้ใครเข้ามาสังเกตการณ์ในบ้านของเรา เพราะในบ้านเราเองน่าจะพูดจากันได้ ในภูมิภาคอาเชียนด้วยกัน เราสามารถพูดคุยกันได้ ก็ไม่อยากให้คนอื่นเข้ามายุ่ง เพราะเห็นว่าจะเกิดความวุ่นวาย หากมีหลายๆ ประเทศเข้ามา

**กต.เขมรดึงเรื่องขออภัยโทษวีระ-ราตรี

หนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ ฉบับวันที่ 22 มี.ค.2554 รายงานว่า หนังสือขอพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชาของ 2 นักโทษคนไทย ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำไปรซอ 1 ยังไม่ไปถึงสำนักงานกระทรวงยุติธรรม อ้างตามการเปิดเผยของ นายซ็อม บรอเจียมานิต 2 หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ

โดยนักโทษคนไทย 2 คน คือ นายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ได้ถูกศาลกรุงพนมเปญตัดสินโทษเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และจารกรรม นักโทษทั้งสองไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินของศาล แต่ได้เขียนหนังสือเสนอขออภัยโทษจากกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ผ่านทางรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งถ้าเป็นตามการเปิดเผยของ นายซ็อม บรอเจียมานิต ที่ว่า หากหนังสือเสนอขออภัยโทษถูกส่งมาถึงกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม จะมีหน้าที่แค่ตรวจสอบในแง่มุมกฎหมาย แล้วรายงานไปยังสมเด็จเดโช ฮุน เซน

ทั้งนี้ หนังสือขออภัยโทษดังกล่าวถูกส่งถึงกระทรวงต่างประเทศ เมื่อตอนเย็นวันที่ 16 มี.ค. โดยส่งมากับเจ้าหน้าที่ทูตของสถานทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ ตามคำกล่าวของโฆษกกระทรวงต่างประเทศ นายโกย กวง ที่ระบุว่านักโทษทั้ง 2 คน มีสิทธิ์ในการเสนอขออภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชา แต่อย่างไรก็ตาม กัมพูชาจะพิจารณากรณีนี้ตามกฎหมายของกัมพูชาด้วยเช่นกัน และแม้ว่าจะมีการยื่นขออภัยโทษ ก่อนหน้านี้ สมเด็จเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ว่านักโทษคนไทยทั้งสองต้องรับโทษ 2 ใน 3 ก่อน จึงจะมีการพิจารณาการให้อภัยโทษ
กำลังโหลดความคิดเห็น