xs
xsm
sm
md
lg

กต.โต้ โอนตัวนักโทษ “วีระ-ราตรี” ไม่ได้ - JBC จ่อเข้าสภาเดือนนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กต.เผยประสานเขมรขอให้ “วีระ" ออกมาหาหมอหรือส่งหมอเข้าไปรักษา เรื่องขออภัยโทษต้องรอให้ทั้งสองคนลงนามก่อน ส่วนเรื่องขอโอนนักโทษ ยังไม่เข้าข่ายที่จะโอนตัวได้ ต้องให้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ใน 3 เสียก่อน เผย กมธ.พิจารณาบันทึกการประชุม JBC 3 ฉบับเสร็จแล้ว คาดบรรจุเป็นวาระเข้าสภาได้ภายในเดือนมีนาคมนี้

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกจำคุกอยู่ที่ประเทศกัมพูชา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ได้มีหนังสือถึงทางการกัมพูชาแล้วเพื่อขออนุญาตให้นายวีระฯ ออกมารับการตรวจสุขภาพภายนอกเรือนจำ ซึ่งอาจเป็นที่สถานเอกอัครราชทูตหรือโรงพยาบาล ทั้งนี้ หากทางการกัมพูชาไม่สามารถอนุญาตตามคำขอดังกล่าวข้างต้นได้ ก็ขออนุญาตให้พาแพทย์จากภายนอกเรือนจำเข้าไปตรวจสุขภาพนายวีระฯ เพิ่มเติม ซึ่งนอกจากสถานเอกอัครราชทูตฯ จะได้มีหนังสือขออนุญาตไปแล้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ยังได้พยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวผ่านทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายกัมพูชาด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของฝ่ายกัมพูชา

2. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายวีระ และนางสาวราตรี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งว่า ได้มีการเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้บุคคลทั้งสองลงนาม ซึ่งเมื่อลงนามแล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ จะได้ดำเนินการด้านเอกสารต่อไป

3. ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ากรณีของนายวีระฯ และนางสาวราตรี ฝ่ายไทยน่าจะสามารถใช้ความตกลงระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาได้ เพื่อโอนตัวบุคคลทั้งสองมารับโทษต่อในประเทศไทยนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า คงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากกรณีของบุคคลทั้งสองยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในความตกลงฯ ข้อ 4 วรรค จ (1) ที่ระบุไว้ว่า “ผู้ต้องคำพิพากษาไม่อาจโอนตัวได้ เว้นแต่จะได้รับโทษจำคุกในรัฐผู้โอนมาแล้ว เป็นระยะเวลาหนึ่งในสาม หรือสี่ปีของโทษจำคุกทั้งสิ้นในความผิดทางอาญาตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง สุดแต่ระยะเวลาใดจะน้อยกว่า...” แต่สำหรับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ สามารถดำเนินการขอได้ทุกเมื่อ แต่ผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์กัมพูชา

ส่วนเรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับการเตรียมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee - GBC) และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission - JBC) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ตามที่มีรายงานข่าวว่า กัมพูชายินดีเข้าร่วมการประชุม GBC และ JBC ไทย-กัมพูชา ตามข้อเสนอของอินโดนีเซียที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทั้งสอง ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2554 นั้น ไทยมีความยินดีที่กัมพูชาแสดงความพร้อมเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งไทยเองก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมทั้งสองกับกัมพูชา เนื่องจากไทยได้พยายามผลักดันให้มีการประชุมทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชามาโดยตลอด ทั้งนี้ ในการประชุม GBC ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยกับกัมพูชาเป็นประธานร่วม จะเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะได้ร่วมกันพิจารณาร่างรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference) ของผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียที่จะส่งมาด้วย ฝ่ายไทยจึงไม่ขัดข้องในหลักการที่เข้าร่วมการประชุม GBC อย่างไรก็ดี กำหนดการประชุม สถานที่ประชุม และรูปแบบของการเข้ามามีส่วนร่วมของอินโดนีเซียเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการประชุม เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไป ซึ่งในชั้นนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้แสดงความประสงค์ว่าต้องการให้ฝ่ายอินโดนีเซียเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุม และให้ทั้งสองประเทศแบ่งปันข้อมูลให้กับอินโดนีเซียภายหลังการประชุม

2. ฝ่ายไทยพร้อมที่จะให้มีการจัดการประชุม JBC ตามข้อเสนอของอินโดนีเซียเช่นกัน โดยฝ่ายไทยได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าประสงค์จะให้มีการประชุม JBC ในโอกาสแรก ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้เสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ให้สองฝ่ายร่วมประชุม JBC ในโอกาสแรกภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งในขณะนั้นฝ่ายกัมพูชาก็ตอบรับในหลักการแล้ว แต่ได้เปลี่ยนท่าทีในภายหลัง นอกจากนี้ ที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็ได้เรียกร้องให้ไทยกับกัมพูชาประชุมทวิภาคีระหว่างกันในโอกาสแรก ทั้งภายใต้กรอบของ JBC และ GBC และกรอบอื่นๆ โดยให้อินโดนีเซียเข้ามามีส่วนร่วมตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ฝ่ายกัมพูชาได้ยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม JBC จนกว่าร่างบันทึกผลการประชุม JBC 3 ครั้งที่ผ่านมาจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยก่อน ซึ่งขณะนี้ได้ทราบว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับได้พิจารณาเสร็จแล้ว และได้เสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณา คาดว่าน่าจะบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาได้ภายในเดือนมีนาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น