“ผบ.สส.” นำ ผบ.เหล่าทัพ แถลงยันไม่ประชุมจีบีซีที่อินโดนีเซีย ลั่นการประชุมต้องเกิดขึ้นใน “เขมร-ไทย” เท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นการละเมิดเอ็มโอยู และจะไม่ยอมให้ผู้สังเกตการณ์จากประเทศอื่นเหยียบแผ่นดินไทย ชี้ถ้ากองกำลังทหารต่างชาติเข้ามาจะถือเป็นการละเมิดอธิปไตยเหนือดินแดน
วันนี้ (5 เม.ย.) มีการแสดงท่าทีสำคัญของผู้นำทางทหาร หลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่กองทัพอากาศ โดย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ 10 ตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายในห้องรับรอง ถึงจุดยืนของกองทัพต่อการประชุม คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ และ บทบาทของกองทัพต่อสถานการณ์การเมืองภายหลังเกิดข่าวว่าจะมีการปฏิวัติเงียบ
พล.อ.ทรงกิตติกล่าวว่า เหล่าทัพได้มีจุดยืนที่แน่ชัดและได้แจ้งต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมของไทย ในที่ประชุมสภากลาโหมว่า ควรจะมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือจีบีซี ในประกัมพูชา ซึ่งข้อตกลงของผู้แทนสองประเทศ ในบันทึกความเข้าใจปี 2538 ว่า มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในกลไททวิภาคีโดยใช้จีบีซีเป็นช่องทางในการหารือ ข้อตกลงยังระบุว่า จะประชุมปีละครั้ง โดยไทยและกัมพูชาสลับกันเป็นเจ้าภาพ ในปี 2554 เป็นการประชุมครั้งที่ 8 กัมพูชารับเป็นเจ้าภาพตามวาระ โดยกำหนดไว้ในเดือน มิ.ย. 2554 ดังนั้นการไปประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย จึงไม่เป็นไปตามข้อตกลง และละเมิดเอ็มโอยู ถ้าไม่ทำตามนี้ก็ต้องไปยกเลิกพันธกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลสองประเทศไม่ใช่อำนาจของกองทัพ ทั้งนี้ หากกัมพูชาไม่พร้อมประชุมก็จะรอและถ้าไม่พร้อมจริงๆก็จัดในประเทศไทยได้
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยยังระบุว่า รัฐต้องมีกำลังทหารในการรักษาอธิปไตย และดินแดน ดังนั้น กองทัพต้องยืนยันอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้กำลังทหารจากประเทศใดเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพราะไทยมีอธิปไตยเหนือดินแดน และ แบ่งแยกออกจากกันไม่ได้ การที่กำลังทหารประเทศใดเข้ามาก็ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยเหนือดินแดน รัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นด้วยที่จะมีกองทัพประเทศอื่นใดเข้ามาในประเทศไทย
ผบ.ทสส.กล่าวว่า กองทัพเคารพในมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่เรียกร้องให้ ไทย-กัมพูชา หลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่จะกระทบกระทั่งกัน และแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ผ่านการเจรจา พร้อมกันนั้นยังเคารพในมติเอกฉันท์ของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ให้ไทย-กัมพูชากลับมาดำเนินการ เจรจาแก้ไขปัญหาแบบทวิภาคี
“เหล่านี้คือคำตอบว่าทำไมเราจึงยืนยันว่าจะไม่ประชุมที่อินโดนีเซีย และ ยังไม่เห็นด้วยในการให้ ผู้สังเกตการณ์เข้ามาในประเทศไทย ที่สำคัญ กองทัพเคารพในมติสหประชาชาติ ในอดีตกรณีที่สหประชาชาติมีมติให้ประเทศอื่นร่วมในการแก้ไขปัญหาพิพาทระหว่างประเทศใด ต้องได้รับการยอมรับจากสองประเทศนั้นก่อน เช่นกรณีในติมอร์ตะวันออก ที่ได้ร้องขอให้เราเข้าไปรักษาสันติภาพ ตนได้พูดคุยกับประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นอดีตเสนาธิการทหารในช่วงนั้น ถ้าเขาไม่ให้เข้าเราก็ไม่ไป เราทำตามหลักการและเหตุผลทุกอย่าง และยึดพันธกรณี ไม่ได้ทำอะไรตามอารมณ์” พล.อ.ทรงกิตติกล่าว
พล.อ.ทรงกิตติ ยังกล่าวด้วยว่า หน้าที่ของทัพเป็นเพียงส่วนหนึ่งในภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นส่วนหนึ่งของ กอ.รมน. โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ มี กอ.รมน.เป็นแกนหลัก ซึ่งหัวหน้ารับผิดชอบสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ผบ.ทบ. เป็นรอง ผอ.รมน.และ ทหารเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่นเท่านั้น นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียัง เป็นยังมีศูนย์บริหารงานชายแดนภาคใต้ และคณะรัฐมนตรีภาคใต้ ทหารเป็นเพียงกลไกลไกหนึ่งแก้ไขปัญหา การดำเนินการต่างๆ ก็ทำตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น ยังมีภารกิจเสริมในการสนับสนุน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ซึ่ง ผบ.ตร.ยืนยันว่าสามารถดูแลสถานการณ์ได้ กองทัพพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนตำรวจในภารกิจนี้ระดับหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบตามขั้นตอนกฎหมายอยู่
“ขอวิงวอนสื่อมวลชนช่วยถ่ายทอดไปยังประชาชนว่าอย่าเชื่อข่าวลือ อย่าเรื้อข่าวอ้าง กองทัพไทยอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ท่านเชื่อเถอะครับว่าจะไม่ล่วงละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ท่านเลิกเชื่อข่าวลือว่าทหารจะปฏิวัติ ไม่มีหรอกครับ ท่านเลิกเชื่อข่าวลือว่าทหารเกี่ยวข้องทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เรามีหนึ่งเสียงเหมือนพวกท่าน ถ้าเลือกตามวาระคือปลายปีมีการเลือกตั้ง ทหารก็เป็นประชาชน มีสิทธิ เพียงหนึ่งเสียงเท่ากันในการไปเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญปี 2550 หมวดที่ 4 มาตรา 70-74 ข้าราชการไม่เกี่ยวพันทางการเมือง รวมถึง ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ระบุว่าทหารไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ท่านเชื่อเถอะครับว่าคำพูดของกองทัพและทหารเชื่อถือได้ ไม่มีใครไปก้าวล่วงทางการเมือง ไม่ว่าจะผลักดัน กดดัน หรือ ไปแอบอิง หรือให้อิงแอบ เพื่อทำให้ผิดวัตถุประสงค์ที่ประชาชน คิดว่านับตั้งแต่นี้ไปคงไม่มีข่าวอะไรซึ่งมุ่งทำให้กองทัพออกจากประชาชน และ ทำให้กองทัพแยกออกจากกัน” พล.อ.ทรงกิตติกล่าว พร้อมหันไปถาม ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ายืนยันหรือเปล่า
พล.อ.ทรงกิตติกล่าวว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องมีข่าวแล้วว่าใครจะไปเดินตามคอยกดดัน ไม่มีเสรีในภารไปหาเสียง ทุกพรรคการเมือง สามารถขอเข้ามาหาเสียงในหน่วยทหารได้ ทหารก็ทำหน้าที่ตามที่ได้รับการมอบ อย่าลือ อย่าอ้าง ไม่มีแน่นอน การเมืองก็ดำเนินการกันไป ขอให้อยู่บนแนวทาง ทางการเมืองของท่าน การยืนยันในวันนี้จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่า กองทัพไม่มีความเกี่ยวพันกับการเมือง ยิ่งต้องรักษาเกียรติและเป็นที่มั่นใจของประชาชน เราคือคนของประชาชน และ เป็นประชาชน รู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไร และต้องเว้นจากทำอะไร “ถ้ามีหน่วยใดเคลื่อนย้ายกำลัง โดยไม่ได้รับคำสั่งคือกบฏ ถ้ามีทหารกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไปเกี่ยวข้อทางการเมือง หรือกดดันก็ขอให้ร้องเรียนมา หากมีมูลก็จะสอบสวน หยุดเอากองทัพมาอ้าง หยุดเอากกองทัพมาแนบ และหยุดผลักกองทัพออกจากประชาชน เราขอเดินทางในทางสร้างสรรค์ในการพัฒนา รักษาอธิปไตย เกาะเกี่ยวแขนไปกับประชาชน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา ผบ.ทบ.ในยุคก่อนออกมายืนยันว่าไม่ปฏิวัติ แต่ก็เกิดเหตุการณ์เมื่อปี 49 การแถลงครั้งนี้ถือเป็นฉันทามติของ ผบ.เหล่าทัพที่ยืนยันจะไม่ปฏิวัติ และไม่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดตั้งใช่หรือไม่ พล.อ.ทรงกิตติกล่าวพร้อมหันไปถามไล่ ผบ.เหล่าทัพแต่ละคน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยิ้มเมื่อถูกถาม
พล.อ.ทรงกิตติบอกว่า ทุกคนยืนยันเหมือนกันหมดว่าไม่มี ถ้ามีก็หาหลักฐาน ต้องมีหลักฐาน หรือกล่าวหาสร้างข่าวกันลอยๆ พอสร้างข่าวและบอกว่าคนนี้เลวไปแล้วก็ไม่ใช่ เชื่อเถอะเรารักประเทศชาติ ยึดถือครรลองของประชาธิปไตย ขอให้เชื่อ มีการยืนยันกันขนาดนี้แล้วไม่เชื่อ หรือจะให้นอนยันหรืออย่างไร
เมื่อถามว่า คนที่ออกมาพูดเป็นคนสำคัญในหลายวงการที่ออกมาพูดเรื่องนี้อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด พล.อ.ทรงกิตติกล่าวว่า ตนไม่ทราบในส่วนตัวของแต่ละท่านที่ออกมาพูด แต่ตนมีหน้าที่ทำงานของตัวเองดีที่สุด ขอให้เชื่อมั่นและศรัทธา
เมื่อถามว่า ได้สบตากับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือยัง พล.อ.ทรงกิตติกล่าวพร้อมหัวเราะว่า ทำไมจะต้องถามคำถามที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เพราะทำงานด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก เราเป็นทหาร ยึดมั่นอย่างนี้แล้ว จะมาถามว่าจะมีการปฏิวัติเงียบทำไม ท่านไปดำเนินการทางการเมืองของท่านให้ดีที่สุด รัฐบาลเป็นรัฐบาลของประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลของพรรคการเมือง ถ้าทุกคนในประเทศไทยทำตามหน้าที่ก็จะเจริญ อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องไปติดตามว่าต้นตอข่าวลือมาจากไหน เพราะเสียเวลาทำงาน ซึ่ง 4-5 ปี ที่ผ่านมามีแต่กระแสข่าว บางคนไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็พูด ผู้ที่ไม่รู้ก็พูด คนที่คิดว่าตัวเองรู้ แต่ไม่ได้รับผิดชอบก็พูด แต่คนที่รับผิดชอบพูด กลับไม่เชื่อ
“การเลือกตั้งจะมีขึ้นหรือไม่ ไม่ได้อยู่กับกองทัพ อยู่หมดวาระการทำงานของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้ามีการยุบสภา ก็เป็นเป็นเรื่องของรัฐบาล กกต.ก็ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งของท่านไป พอเลือกตั้งเสร็จแล้ว มีการจัดตั้งรัฐบาล ก็ทำไป” เมื่อถามต่อไปว่ายืนยันหรือไม่ว่าหลังเลือกตั้งจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือมีนายกฯ ม.7 พล.อ.ทรงกิตติกล่าวว่า “ไม่มีครับ วันนี้ผมทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบ หลังเกษียณผมก็เป็นแค่พลเมืองดีของประเทศไทย”