xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ชูโหวตโนเว้นวรรคเลือกตั้ง “ป้อม”ล้มถกจีบีซีอินโด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “จำลอง” ประกาศเดินหน้า “โหวตโน” ชี้ทางออกประเทศ จัดระเบียบใหม่ เว้นวรรคไม่มีการเลือกตั้ง “ 4-5 ปี” ปิดทางนักการเมืองเลว “ประพันธ์” ชี้เป็นสิทธิตามรธน. อัดปชป.เคยทำสมัย 2 เม.ย.49 ย่าสงวน "พี่สาวอดีตทีมกฎหมายคดีพระวิหาร” ฉะรัฐช่วย 2 คนไทยไม่เต็มที่ เผยหมดหวัง ฉะนายกฯ ไร้ความรับผิดชอบ ด้าน“ประวิตร”ล้มแนวคิดประชุมจีบีซี ที่อินโด “มาร์ค” รับ 5 เม.ย. ถกเจบีซีไม่ได้

วานนี้(1 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวแนวทางรณรงค์ให้มีการโหวตโน หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ว่า เราได้มีมติไปแล้วจากการหารือระหว่างแกนนำพันธมิตรฯทั้ง 2 รุ่น และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ที่ได้หารือร่วมกัน ปรากฎว่าที่ประชุมเห็นตรงกันว่า สิ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศในขณะนี้ ควรมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ โดยเสนอให้มีการเว้นวรรคไม่มีการเลือกตั้งระยะเวลาหนึ่งประมาณ 4-5 ปี เพื่อทำทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง เข้าระบบเสียก่อน แล้วจึงกลับมามีเลือกตั้งตามเดิม แต่หากปีนี้มีการเลือกตั้ง ก็จะรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใคร หรือโหวตโน เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา กลับได้ผู้แทนที่แย่ลงๆ เรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นการปกป้องดินแดนอธิปไตย และภาวะข้าวยากหมากแพง ที่บรรดา ส.ส.ไม่ให้ความสนใจ เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้เงินซื้อเสียงเข้ามา และสนใจแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อเป็นทุนในการเลือกตั้งเท่านั้น

“หากเป็นเช่นนี้ต่อไปบ้านเมืองเราแย่แน่ จึงเห็นควรว่าต้องมีการปฏิรูปการเมือง และเว้นวรรคการเลือกตั้งระยะหนึ่ง เพื่อปรับระบบให้เข้าที่ ส่วนกระบวนเป็นอย่างไรนั้นเราคงไม่ลงรายละเอียด เหมือนเรารู้ว่าเป็นโรคร้ายแรง ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่รักษาต้องหาวิธีการเอง ซึ่งไม่ใช่นักเลือกตั้งที่ซื้อเสียงเข้ามาที่สนใจต่อปัญหาบ้านเมือง แต่หากมีการเลือกตั้ง ก็ควรมีมาตรการตีโต้ประท้วงกลับโดยลงคะแนนในช่องไม่เลือกใคร เพื่อให้นักการเมืองรู้ว่าประชาชนไม่พอใจ” พล.ต.จำลอง กล่าว

ด้าน นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การโหวตโนนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์เคยใช้เป็นกลยุทธ์ในการบอยคอตการเลือกตั้งมาแล้วเมื่อครั้งวันที่ 2 เม.ย.49 รวมไปถึงพรรคพรรคเพื่อไทยในสมัยที่เป็นพรรคพลังประชาชนก็เคยรณรงค์ให้มีการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในการลงประชามติ ซึ่งทั้ง 2 กรณีถือเป็นแนวทางเดียวกับจุดยืนของพันธมิตรฯในครั้งนี้ ดังนั้นการรณรงค์โหวตโนจึงเป็นสิทธิที่พี่น้องประชาชนสามารถทำได้ เป็นการแสดงออกของประชาชนที่สามารถทำได้ หากครั้งนี้การโหวตโนของประชาชนมีมากพอก็จะทำให้เกิดการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

“เรื่องที่ทำให้ประชาชนมาถึงจุดนี้ก็คือ การไม่ทำหน้าที่ปกป้องดินแดนอธิปไตยของชาติที่รัฐบาลไม่นำพา ไม่สนใจผลประโยชน์ของชาติ ประชาชนจึงสิ้นหวัง ดังนั้นเกมโหวตโนเป็นการตอบโต้โดยพลังของประชาชนที่ทรงอาณุภาพมาก” นายประพันธ์ กล่าว

ส่วนกรณีความช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำประเทศกัมพูชา นายประพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เอาจริงเอาจังในการช่วยเหลือทั้งคู่ โดยครั้งสุดท้ายที่กระทรวงการต่างประเทศแถลงยืนยันว่าทั้ง 2 คนลงนามขออภัยโทษแล้ว แต่ผ่านมาร่วมเดือนกลับไม่มีอะไรคืบหน้า แตกต่างจากกรณีของนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทย หรือการช่วยเหลือ 5 คนไทยก่อนหน้านี้ ที่มีนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรัฐบาลเอาจริงเอาจังติดต่อโดยตรงถึงผ็นำกัมพูชาเพื่อให้การช่วยเหลือ แต่กรณีของนายวีระ และ น.ส.ราตรี กลับมาแบบเสียไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะยุบสภา ก็เหมือนกลับปล่อยให้ทั้งคู่เผชิญชะตากรรมโดยลำพัง และครอบครัวต้องหาหนทางต่อไป กว่าที่จะมีรัฐบาลใหม่ได้ก็ต้องใช้เวลานาน ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากมีรัฐบาลใหม่ที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามา ตนเชื่อว่านายวีระและ น.ส.ราตรี จะมีโอกาสได้กลับประเทศมากกว่า

***ฉะรัฐช่วย 2 คนไทยไม่เต็มที่

วันเดียวกัน นางสงวน สุจริตกุล พี่สาวนายสมปอง สุจริตกุล อดีตทีมกฎหมายต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร วัย 94 ปี กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯ ถึงปัญหาบ้านเมืองว่า ในชีวิตสมัยสาวๆ ตนเคยได้ยินเรื่องการทุจริตเพียงแค่ไม่กี่เรื่อง แต่ตอนนี้มองไปทางไหนก็มีแต่เรื่องโกง พุทธศาสนาสอนให้มีเมตตา แต่เวลานี้คนไทยขาดเมตตามาก อย่างกรณีที่ 2 คนไทยถูกกัมพูชาจับกุม รัฐบาลก็บอกว่าช่วยเต็มที่แต่ก็ไม่เห็นช่วยอะไรเลย ก็น่าสงสาร เราได้มอบหมายให้รัฐบาลทำหน้าที่ก็ไม่ควรจะทอดทิ้ง บ้านเมืองเราบรรพบุรุษได้สั่งสมมาให้อยู่ในพื้นที่ที่ดี เปรียบเหมือนเทวดานำของมาตกให้ดินดี อาหารดี แต่ก็คงจะเห็นว่าดีเกินไปก็เลยส่งคนโกงเข้ามา ทั้งนี้ ตนขอให้รัฐบาลทำการเพื่อชาติบ้านเมือง ตอนนี้ยังไม่สายไป พวกทุจริตทุกคนก็เห็นว่าตายไปเอาอะไรไปไม่ได้เลย ขอให้ระลึกถึงหลักพุทธศาสนาที่เคยเรียนมาบ้าง ส่วนทหารก็เป็นหน้าที่ที่ต้องรักษาอธิปไตยบ้านเมือง แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงไม่ทำเช่นนั้น ขณะที่คนไทยถ้าประพฤติสุจริต กายสุจริต วาจาสุจริต ประเทศจะเป็นสุข

ตนเคยคาดหวังว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเป็นคนดี น่าจะเป็นความหวังบ้านเมืองได้ แต่ตอนนี้ก็ดูเฉยๆ ไม่กระตือรือร้นที่จะสร้างความเจริญให้บ้านเมือง และไม่มีความรับผิดชอบใดๆ อย่างไรก็ตาม ตนขอเคารพในคุณความดีของผู้ชุมนุมที่ทำเพื่อแผ่นดิน และรู้สึกว่ามีความอดทน ถ้าทุกคนมีความตั้งใจด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ผลที่ออกมาก็จะเป็นกุศล แต่คงต้องคอยหน่อย ก็ขอให้ประสบความสำเร็จ

**ล้มแนวคิดประชุมจีบีซี ที่อินโด

รายงานข่าวจากกระทรวงกลาโหม แจ้งว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ยืนยันจะไม่ไปประชุมจีบีซีที่อินโดนีเซีย โดยยังยืนยัน การประชุมจะต้องเกิดขึ้นในแผ่นดินไทยหรือเขมรเท่านั้น

“ถือว่าเป็นการล้มแนวคิดประชุมจีบีซี ที่อินโดนีเซีย และจะไม่ให้อินโดนีเซียร่วมประชุม รวมทั้งไม่ควรจะประชุมในประเทศที่ 3”รายงานระบุ

ก่อนหน้านั้นสำนักข่าวบายนทีวีของกัมพูชา รายงานว่า พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา กล่าวว่า กรณีที่สื่อไทยที่เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับคำยืนยันของตนที่ว่า รัฐมนตรีกลาโหมไทยตกลงไปร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 เมษายน ที่จะถึงนี้นั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง โดยกล่าวยืนยันว่า “ในนามของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ตนไม่อาจพูดแทนชาติอื่นได้”

การยืนยันดังกล่าวนี้ของพล.อ.เตีย บัญ เกิดจากการที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ของไทย ได้รายงานเมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม ว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ฯพณฯ เตีย บัญ ได้กล่าวว่ารัฐมนตรีกลาโหมไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตกลงไปร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปที่อินโดนีเซีย ในวันดังกล่าว หนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ระบุว่า พล.อ.เตีย บัญ ได้ให้ความมั่นใจว่าตนได้หารือปัญหานี้กับ พล.อ.ประวิตร และกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ตกลงไปประชุมที่อินโดนีเซีย

นอกจากนี้ พล.อ.เตีย บัญ ยังกล่าวว่า “ฝ่ายไทยไม่อาจดันทุรังว่าไม่ไปได้ เพราะไทยได้เห็นชอบกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติและอาเซียนแล้วว่า อนุญาตให้อินโดนีเซียประสานงานในการหารือร่วมกับกัมพูชา”

**”มาร์ค”รับ5 เม.ย. ถกเจบีซีไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เรื่องของเดินหน้าประชุมคณะกรรมการธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ว่า เรื่องของเจบีซี ขณะนี้สภา ได้รอการแจ้งผลของทางศาลรัฐธรรมนูญก่อน ขณะเดียวกันตนให้ทางกระทรวงการต่างประเทศศึกษาเท่าที่จะทำได้ จากการเผยแพร่ข่าวสารที่จะออกมาว่าจะทำกันอย่างไร ส่วนการประชุมสภา ในเรื่องของเจบีซี วันที่อังคารที่ 5 เม.ย.นั้นตนได้สอบถามไปยังประธานสภาแล้วว่าไม่มีการนัดประชุมไว้แล้ว เนื่องจากว่ายังไม่ได้รับคำแจ้งจากศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกระบวนการต่อไปนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังไปดูรายละเอียด ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับทางกัมพูชาเพื่อให้ เจบีซีเดินหน้าต่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ดูจากข่าวที่ออกมาจากศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าการบันทึกเจรจา ไม่เข้าข่าย กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าฟังจากคำสัมภาษณ์ของตุลาการจะเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นทางกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงาน กำลังประสานงานกับกัมพูชาอยู่

ซักต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะถอนเรื่องออกมาและเดินหน้าทำต่อไปเลย นายกฯ กล่าวว่า กำลังดูรูปแบบที่เหมาะสม คือะไร เพราะมีข้อบังคับหลายอย่าง ซึ่งกำลังปรึกษาหารือกันอยู่ ส่วนการเจรจา ในวันที่ 7-8 เม.ย. นั้นขณะนี้กำลังตั้งใจให้เดินหน้าอยู่ และพยายามแจ้งกัมพูชาเช่นกัน

เมื่อถามว่าการเจรจาจะรับนำเอาข้อสังเกตของกรรมาธิการไปเดินหน้าเข้าไปพิจารณาด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กรรมาธิการคงไม่มีปัญหาตรงข้อสังเกต แต่จะดูว่าต้องแจ้งเป็นทางการในรูปแบบไหนอย่างไร หากว่าสภาไม่ได้เห็นชอบ เพราะถือว่ายังไม่ได้เป็นทางการ

เมื่อถามว่าถ้าผลของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะที่ไม่เข้าข่าย มาตรา 190 จะมีผลต่อการทำงานของรัฐบาลในเรื่องกรอบเจรจาอื่นๆว่าต่อไป ไม่ต้องเข้าสภา หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องเป็นเรื่องๆไป ส่วนหลักในการพิจารณาจะพยายามเทียบเคียงดูจากการวางหลักต่างๆที่ได้จากคำวินิจฉัย เพราะตนยังกังวลว่า คำวินิจฉัยที่เป็นทางการอาจจะพูดว่าเป็นแค่การจำหน่ายคำร้อง แต่เหตุผลต่างๆซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทางการตัดสินใจการทำงานของหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ตนไม่แน่ใจว่าเราจะอ้างอิงได้แค่ไหน

เมื่อถามต่อว่า โดยหลักแล้วตามรัฐธรรมนูญ 190ได้เปิดช่องไว้ว่าถ้ามีปัญหาในทางปฏิบัติควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่วินิจฉัย ทั้งๆที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติแล้ว นายกฯ กล่าวว่า กำลังรออ่านคำวินิจฉัยอยู่

**“เทือก”ชี้ศาลรธน.ไม่รับเป็นหน้าที่สภา

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงจำหน่ายคำร้องนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยว่ากรอบบันทึกการประชุมกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับ เข้าข่ายมาตรา 190 ว่า ไม่รับพิจารณาก็เป็นเรื่องของรัฐสภา ก็มาพิจารณาต่อ เมื่อถามว่า ส.ว.ระบุว่าเสนอเข้ามาทำไมและไม่เกี่ยวกับส.ว.ด้วย นายสุเทพ กล่าวว่า ความเป็นคนก็หลากหลาย

**อัดรัฐเล่นเกมซื้อเวลาพิจารณาเจบีซี

นางฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย แถลงว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามเล่มเกมซื้อเวลาในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เพราะรัฐบาลไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมให้อยู่ครบตามระเบียบการประชุมได้ ทั้งที่เป็นฝั่งที่คุมเสียงข้างมากในสภา ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมเจบีซี ที่เลื่อนไปพิจารณาวันที่ 5 เม.ย. นั้นจะสามารถเปิดประชุมได้หรือไม่

หากแนวทางที่ประชุมรัฐสภามีเพียงการลงมติรับทราบผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ทางพรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไร นางฐิติมา กล่าวว่า หากเป็นเพียงการลงมติรับทราบผลการศึกษา ตนเห็นว่าสามาถลงมติรับทราบได้ โดยไม่กระทบต่อการรับรองบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับ แต่ประการใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น