ASTVผู้จัดการรายวัน-เจบีซี.ทำสภาล่ม ส.ส.-ส.ว. กลัวคุก ไม่กล้าถกต่อ แนะให้รอฟังผลชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน ส่วนรัฐบาลดันทุรังออกลูกตื้อสุดๆ จะให้รับทราบข้อสังเกตกรรมาธิการฯ ให้ได้ อ้างเพื่อให้กลไกเดินหน้า ส.ว.จวกบริหารบ้านเมืองเหมือนเล่นไฮโล เชื่อมีการหมกเม็ดเอ็มโอยู 43 "ปู่ชัย"เลื่อนไปถกวันที่ 5 เม.ย.แทน พันธมิตรฯ จี้ "มาร์ค"ลาออกแสดงความรับผิดชอบ เหตุทำฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติขัดแย้ง "ประพันธ์" ปูดบันทึกเจบีซี ทำปชป.ร้าว ถึงขั้นเขี่ย "มาร์ค" พ้นหัวหน้าพรรค บัวแก้วไม่สนเดินหน้าประชุมเจบีซีที่อินโดนีเซีย
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารายการงานศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) รวม 3 ฉบับ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (29 มี.ค.) หลังจากมีสมาชิกมารายงานตัวครบองค์ประชุม 284 คน
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้แจ้งต่อสมาชิกว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2553 นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยส.ส.จำนวน 80 คน ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 190 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาตามคำสั่งที่ 5/2554 จึงขอแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
** ส.ส.-ส.ว.ให้ระงับการพิจารณาไว้ก่อน
จากนั้นสมาชิกได้ร่วมหารือ โดยมีบางส่วนเห็นควรให้ยุติการพิจารณาก่อน เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายวิทยา แก้วภารดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เห็นด้วยกับการเลื่อนพิจารณาลงมติบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ แต่ควรพิจารณารับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปก่อน
แต่น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เห็นต่างว่าไม่ควรรับทราบไปก่อน เพราะเมื่อรับทราบแล้ว หากต่อไปเป็นความเสียหายขึ้นมา สมาชิกมสามารถรับได้หรือไม่ ดังนั้น ควรจะหยุดเรื่องนี้ เพราะมีการทักท้วงแล้ว หากยังขืนพิจารณาต่อไป เกรงว่าจะเข้าข่ายการจงใจกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีความผิดตามมาตรา 270 ถูกถอดถอนได้ จึงควรยุติไป รอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาสู่ที่ว่าที่ประชุมร่วมเห็นชอบหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่มีปัญหาที่จะรับทราบแต่อย่างใด
ขณะที่น.ส.สุมล สุตตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า ตนคงไม่รับทราบ และไม่ลงมติในเรื่องนี้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าศาลรับเรื่องไว้ตีความแล้ว ก็ควรจะรอ เชื่อว่าทุกคนเห็นควรที่จะต้องให้รอ ข้อสังเกตุทั้ง 5 ข้อ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสมาชิกมารับทราบ เดี๋ยวมีผลย้อนหลัง ควรที่จะให้นายกฯ ออกเป็นมติครม. เพื่อเป็นแนวทางในทางปฏิบัติ เพื่อจะทำให้ผู้ที่กลัวเกรง ข้าราชการที่ไม่กล้าทำงาน จะได้กล้าทำเพราะมีมติครม.รองรับ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมเจบีซี มีการประชุมถึง 3 ครั้งแล้ว จึงค่อยนำบันทึกการประชุมมารายงานต่อสภา เพราะกลัวว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่กลัวตั้งแต่แรก ถ้าผิดควรจะรู้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก ดังนั้น ควรจะให้กมธ. ทำให้ครบทั้ง 5 ขั้นตอน แล้วค่อยมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนการทำงานของกมธ.วิสามัญร่วมรัฐสภา ถือว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแล้ว ตามข้อ 73 และ 74 ดังนั้น สภาไม่ควรสับสน ควรแยกเจบีซี กับผลการศึกษาของกมธ. ออกจากกัน ดังนั้น ตนจึงเห็นควรให้พิจารณาต่อไป
**"มาร์ค"ตะแบงแค่ขอให้สภารับทราบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาควรรับทราบเรื่องของรายงานของกมธ. ไปตามปกติว่าจะมีมติเห็นชอบกับข้อสังเกตดังกล่าวหรือไม่ เพื่อที่จะส่งต่อไปยังรัฐบาลให้มีมติครม.ต่อไป เพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นว่าไทยยังให้ความสำคัญกับกลไกลทวิภาคี แต่ถ้าไม่พิจารณาอะไรเลย จะเป็นความไม่ชัดเจนที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ตนจึงอยากให้เดินหน้าต่อไป ส่วนเรื่องข้อบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ ก็รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ถ้าวินิจฉัยว่าไม่เป็นสนธิสัญญาตามมาตรา 190 เรื่องนี้ก็จบ ไม่ต้องนำเข้าสู่สภาอีก แต่ถ้าเป็นไปตาม มาตรา 190 รัฐบาลก็ต้องนำกลับมาเข้าสู่สภาใหม่
**รัฐบาลบริหารเหมือนเล่นไฮโล
นายสุรจิต ชิระเวช ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า เห็นว่าเรื่องนี้เข้าข่ายหนังสือสนธิสัญญา เพราะเป็นผลพวงมาจากเอ็มโอยู 43 เพื่อทำการปักปันเขตแดน ซึ่งเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย และในหนังสือที่กมธ.แจ้งมา ก็ระบุชัดเจนว่า ตามที่ที่ประชุมร่วมกันของสนธิสัญญาเรื่องบันทึกการปรระชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา รวม 3 ฉบับ ที่ครม.เป็นผู้เสนอ และลงมติตั้งกมธ.ขึ้นมา
"การที่จะมาพูดว่า รับทราบก็ได้ รับรองก็ได้ แบบนี้เหมือนกับออกสูง ออกต่ำ เจ้ามือกินหมด หกสี่เอี่ยวกินหมด เหมือนเล่นไฮโล แต่เราจะบริหารบ้านเมืองกันแบบนี้หรือ ถ้าเข้ามาตรา190 สภาก็ต้องพิจารณาเท่านั้น ถ้าไม่เข้า ก็เป็นเรื่องของข้าราชการไปทำงาน สภาไม่ต้องรับรู้อะไร แต่เนื้อในทางเทคนิค ก็ยังมีการแตะเนื้อหาเรื่องการปักปัน การปักหมุดอยู่ดี เมื่อมีข้อขัดแย้งสู่ศาลแล้ว ก็สมควรจะรอ แต่รัฐบาลยังจะให้สภารับทราบอีก"
** สภาล่ม! ปู่ชัยสั่งเลื่อนไปถก 5 เม.ย.
นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยมีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นควรให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน เพื่อรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อีกฝ่าย ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล เห็นควรให้รับทราบข้อสังเกต 5 ข้อ ของกรรมาธิการวิสามัญไปก่อนเพื่อให้รัฐบาลได้นำข้อสังเกตไปปฏิบัติให้เกิดการเดินหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกใช้เวลาถกเถียงกันร่วมครึ่งวัน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ได้เสนอญัตติขอให้พักการพิจารณารายงานผลการศึกษาไว้ก่อน จนกว่ามีคำวินิจฉัย จึงค่อยนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ตัวแทนกมธ.ยืนยันว่า รายงานของกมธ.นั้น ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า ไม่มีการพิจารณารับรองในตอนนี้ เพราะรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพียงแต่ต้องการให้ที่ประชุมรับทราบในข้อสังเกตของกมธ. และยืนยันว่าในข้อสังเกต ไม่มีส่วนใดรับรองบันทึกของคณะกรรมการร่วมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับแต่อย่างใด
ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติซ้อน ให้พิจารณารายงานผลการศึกษาของกมธ.ต่อไป ทำให้สร้างความสับสนให้กับสมาชิกพอสมควร
จากนั้น นายชัยได้ตัดบทโดยให้มีการนับองค์ประชุมก่อนที่จะมีการลงมติ ปรากฏว่า มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมเพียง 262 คน ขาดไป 15 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นายชัย จึงสั่งเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ออกไป เป็นวันที่ 5 เม.ย. ก่อนที่จะสั่งปิดประชุม เมื่อเวลา 14.15 น.
ในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวอีกครั้งว่า ไม่มีปัญหา เพราะตั้งแต่ก่อนเริ่มประชุมเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า กรอบเจบีซีจะรอผลของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ เร่งไปทำความเข้าใจกับทางกัมพูชา และอินโดนีเซีย เพื่อให้คุยกันว่าจะมีการปรับแผนกันอย่างไรแล้ว
** โทษสภาล่มเพราะส.ว.วอล์กเอาต์
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังการประชุมรัฐสภา ว่า เป็นเพียงการรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งในการพิจารณานั้น ได้มีข้อสังเกตอยู่ 5 เรื่อง ที่แนบมาด้วย แต่สมาชิกบางคนพยายามโยงว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับร่างการพิจารณานี้ แต่ก็เป็นเป็นไม่ได้ เพราะจะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องนี้ก่อน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้สภาล่ม เนื่องจากว่ามีส.ว.บางคน วอลก์เอ้าต์ออกจากห้องประชุม และส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน ก็ไม่แสดงตัว ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีจำนวน ส.ส.เดินทางมาไม่ครบ ซึ่งในวันอังคารหน้า ตนจะกำชับให้เดินทางมากันให้ครบ รวมไปถึงส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
**ตุลาการศาลรธน.นัดถกเจบีซี 30 มี.ค.
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องที่ นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1 ใน 10 เข้าชื่อขอให้ศาลวินิจฉัยรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาบันทึกเจบีซี รวม 3 ฉบับ ว่าร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ไว้พิจารณาแล้ว และเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้แจ้งไปยังรัฐสภาเพื่อให้ทราบถึงการรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เพื่อเข้าสู่วาระการประชุมคณะตุลาการเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป ในวันที่ 30 มี.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะตุลาการฯ วันนี้ ( 30 มี.ค.) ที่ประชุมจะได้พิจารณา แต่ทั้งนี้จะมีคำวินิจฉัยออกมาเลยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะตุลาการ หากมีความคืบหน้า หรือศาลมีคำวินิจฉัย ตนก็จะแถลงข่าวให้ทราบ เพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจ และมีความสำคัญ
** จี้"มาร์ค"รับผิดชอบความขัดแย้ง
ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึง การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับว่า วาระการประชุมของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ยังเต็มไปด้วยความสับสน เห็นได้ชัดว่ามีความไม่ลงรอยกันของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐบาลต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบบันทึกการประชุมเจบีซี และข้อตกลงชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะรับทราบ เฉพาะผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นประธาน เพียงอย่างเดียว โดยไม่ลงมติเห็นชอบในส่วนบันทึกเจบีซี โดยอ้างว่า จะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ทั้งบันทึกเจบีซี และร่างข้อตกลงชั่วคราวเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นตีความไว้
"เมื่อรัฐบาลทำให้เกิดความวุ่นวาย และสับสนในที่ประชุมรัฐสภา โดยปกติแล้วรัฐบาลต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะนายกฯ ไปเสนอเงื่อนไขที่รัฐสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้"นายปานเทพกล่าว
** ชี้รัฐบาลยื่นตีความแก้เกี้ยว
นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า การนำผลบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบนั้น เรื่องนี้มีข้อบกพร่องที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และถูกสมาชิกรัฐสภาอภิปรายคัดค้านมาโดยตลอด รัฐบาลจึงแก้เกี้ยว ด้วยการให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เข้าชื่อ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รวมทั้งถ่วงเวลา โดยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา แล้วนำความเห็นมาเสนอที่ประชุม เพื่อเป็นทางออกในกรณีที่ไม่สามารถดันไปต่อไม่ได้ ซึ่งความพยายามของรัฐบาลก็เพียงเพื่อเอาใจกัมพูชา ที่ขู่ว่าหากเรื่องไม่ผ่านรัฐสภาไทย ก็จะไม่มีการประชุมเจบีซี และจีบีซี เมื่อไม่สามารถไปต่อได้ ก็หาทางลงเพื่อรักษาหน้าตัวเอง โดยอ้างศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเสริมว่า จากการที่ ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเองต่อความผิด หากยกมือให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ ที่จะทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดน จึงไม่สามารถยกมือให้ความเห็นชอบได้
**ปูดปชป.บีบมาร์คพ้นหัวหน้าพรรค
นายประพันธ์ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้หากรัฐบาลยังตะแบง และดึงดันต่อไป จะทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพขึ้นในรัฐบาล โดยเฉพาะในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง โดยมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ติดต่อมายังตน โดยระบุว่าจะพยายามหาทางกดดันให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในการประชุมใหญ่ของพรรค ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้ ชี้ให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ และคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้การประชุมบรรลุผลตามความตั้งใจได้
**ร้องยุบปชป.จากกรณีเอ็มโอยู 43
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายเทพพนม มาลี ประธานคณะกรรมการศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ภาคประชาชน และคณะ ได้ยื่นคำร้องต่อ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้ดำเนินการยื่นเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระทำผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 1 และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ม. 94 (4) โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง เลขานุการ อสส. เป็นผู้รับมอบส่งให้อสส.พิจารณา กรณีที่รัฐบาลเห็นชอบ และและปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ( MOU 2543 ) พร้อมกับเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมาธิการ
**ปูด"สองเทพ"ถูกว่าจ้างเด็ดหัว
วันเดียวกัน นายเทพมนตรี ลิมปพยอม ได้โพสต์บนเว็บไซต์ เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า "อาจารย์ปานเทพ (พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ) กับ “ผม” กำลังถูกว่าจ้างจากใครบางคน ดำเนินการลอบสังหาร ตอนนี้วางแผนเตรียมการกันอยู่ ถ้าหากเป็นอะไรไป สาเหตุมาจากกรณีปราสาทพระวิหารอย่างเดียว เพราะไม่อยากให้ตำรวจต้องมาตั้งข้อสังเกตว่า 1.ประเด็นชู้สาว 2.เรื่องหนี้สิน 3.เรื่องการเมือง แต่ถ้าจะตาย มีประเด็นเดียวคือเรื่องปราสาทพระวิหารเท่านั้น"
** "ฮุนเซน"ย้ำไม่มีทวิภาคีไทยไม่ไปก็อย่าไป
ขณะที่เว็บไซต์ ฟิฟทีนมูฟ รายงานอ้างหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2554 รายงานว่า ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประกาศเน้นย้ำว่า กัมพูชาสนับสนุนแต่เฉพาะการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ที่เมืองบอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้เท่านั้น ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงและกัมพูชาจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนฝ่ายไทยไปร่วมด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของไทย
ฮุน เซนได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นในโอกาสที่ได้รับเชิญเป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่นิสิตครูเทคนิคชั้นต้น ชั้นสูงรวม 2,562 คน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค. ที่สถาบันฝึกอบรมแห่งชาติกรุงพนมเปญ ฮุน เซน ได้กล่าวว่านายกรัฐมนตรีไทยและกระทรวงต่างประเทศไทย เสนอว่าไปร่วมประชุม แต่ระดับนำอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่ไป เขายังคงต้องการหารือทวิภาคีที่ไร้ประโยชน์ ไม่ได้การเหมือนเดิม เป็นเหมือนเดิม
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้อธิบายว่าถ้าหากฝ่ายไทยคิดแต่เรียกร้องทวิภาคี ขณะที่ประเทศอาเซียน พยายามจัดภารกิจแบบนี้ เสมอเหมือนกำจัดผู้นำอาเซียน โขกหัวอาเซียน เตะอาเซียนออก แต่กัมพูชาไม่ขอมีส่วนร่วมกับไทยด้วย ขอยืนยันว่าการประชุมจีบีซีและเจบีซีนี้ จะจัดขึ้นที่เมือง บอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 7-8 เม.ย.ที่จะถึงนี้เท่านั้น
สำนักข่าวข่าวด่วนกัมพูชาวันเดียวกันได้รายงานรายละเอียดอื่นอีกว่า ระหว่างการกล่าวในงานพิธีมอบเกียรติบัตรดังกล่าวของฮุน เซน ได้มีตัวแทนสถานทูตไทยประจำกัมพูชาเข้าร่วมด้วย โดย ฮุน เซน ได้ขอให้ตัวแทนสถานทูตไทย นำข้อความของตนไปแจ้งกับรัฐบาลไทยด้วยว่า การกระทำทั้งหมดที่ตัวเองได้กระทำไป ไทยต้องรับผิดชอบต่อหน้าอาเซียน และคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
**ชวนนท์ควงสันติอโศกเยี่ยม"วีระ-ราตรี"
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการเดินทางไปเยี่ยมนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่เรือนจำเปรซอว์ กรุงพนมเปญ ว่า เดิมมีกำหนดเดินทางจะไปในสัปดาห์นี้ เพราะได้รับอนุญาตจากเรือนจำแล้ว แต่เนื่องจากได้รับการประสานจากกลุ่มสันติอโศก จะขอส่งผู้แทน 2-3 คน เดินทางไปเยี่ยมด้วย จึงต้องเลื่อนออกไปเพื่อรอการอนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวเดินทางไปพร้อมกันด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศยินดีประสานงานและออกค่าใช้จ่ายให้ด้วย
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการอภัยโทษ อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ หลังจากที่ได้ลงนาม ขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะเร่งช่วยเหลือทั้ง 2 คน อย่างเร็วที่สุด
***บัวแก้วดันทุรังเข้าประชุมเจบีซีที่อินโด
นายชวนนท์กล่าวอีกว่า ไม่มีผลกระทบกับการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือเจบีซี ไทย-กัมพูชา ที่เมืองโบกอ ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ เพราะในที่ประชุมไม่จำเป็นต้องหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบันทึกผลการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ สามารถคุยในเรื่องอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การเลื่อนการพิจารณาครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการถ่วงเวลา แต่เป็นเรื่องกลไกตามรัฐธรรมนูญ หากรออีกนิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย เชื่อว่าหลายฝ่ายคงคลายความกังวล เพราะจะมีความชัดเจนว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นการผูกมัดประเทศไทยหรือไม่
"ขณะเดียวกัน มีความยินดีที่ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาระบุว่า ยินดีที่จะร่วมประชุมเจบีซีกับไทย เพื่อแก้ปัญหาเขตแดน ไม่ว่าผลการประชุมรัฐสภาเป็นอย่างไร ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ส่งมาจากทางฝ่ายกัมพูชา โดยจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าการประชุมดังกล่าวต่อไป"นายชวนนท์กล่าว
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารายการงานศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) รวม 3 ฉบับ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (29 มี.ค.) หลังจากมีสมาชิกมารายงานตัวครบองค์ประชุม 284 คน
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้แจ้งต่อสมาชิกว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2553 นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยส.ส.จำนวน 80 คน ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 190 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาตามคำสั่งที่ 5/2554 จึงขอแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
** ส.ส.-ส.ว.ให้ระงับการพิจารณาไว้ก่อน
จากนั้นสมาชิกได้ร่วมหารือ โดยมีบางส่วนเห็นควรให้ยุติการพิจารณาก่อน เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายวิทยา แก้วภารดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เห็นด้วยกับการเลื่อนพิจารณาลงมติบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ แต่ควรพิจารณารับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปก่อน
แต่น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เห็นต่างว่าไม่ควรรับทราบไปก่อน เพราะเมื่อรับทราบแล้ว หากต่อไปเป็นความเสียหายขึ้นมา สมาชิกมสามารถรับได้หรือไม่ ดังนั้น ควรจะหยุดเรื่องนี้ เพราะมีการทักท้วงแล้ว หากยังขืนพิจารณาต่อไป เกรงว่าจะเข้าข่ายการจงใจกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีความผิดตามมาตรา 270 ถูกถอดถอนได้ จึงควรยุติไป รอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาสู่ที่ว่าที่ประชุมร่วมเห็นชอบหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่มีปัญหาที่จะรับทราบแต่อย่างใด
ขณะที่น.ส.สุมล สุตตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า ตนคงไม่รับทราบ และไม่ลงมติในเรื่องนี้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าศาลรับเรื่องไว้ตีความแล้ว ก็ควรจะรอ เชื่อว่าทุกคนเห็นควรที่จะต้องให้รอ ข้อสังเกตุทั้ง 5 ข้อ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสมาชิกมารับทราบ เดี๋ยวมีผลย้อนหลัง ควรที่จะให้นายกฯ ออกเป็นมติครม. เพื่อเป็นแนวทางในทางปฏิบัติ เพื่อจะทำให้ผู้ที่กลัวเกรง ข้าราชการที่ไม่กล้าทำงาน จะได้กล้าทำเพราะมีมติครม.รองรับ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมเจบีซี มีการประชุมถึง 3 ครั้งแล้ว จึงค่อยนำบันทึกการประชุมมารายงานต่อสภา เพราะกลัวว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่กลัวตั้งแต่แรก ถ้าผิดควรจะรู้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก ดังนั้น ควรจะให้กมธ. ทำให้ครบทั้ง 5 ขั้นตอน แล้วค่อยมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนการทำงานของกมธ.วิสามัญร่วมรัฐสภา ถือว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแล้ว ตามข้อ 73 และ 74 ดังนั้น สภาไม่ควรสับสน ควรแยกเจบีซี กับผลการศึกษาของกมธ. ออกจากกัน ดังนั้น ตนจึงเห็นควรให้พิจารณาต่อไป
**"มาร์ค"ตะแบงแค่ขอให้สภารับทราบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาควรรับทราบเรื่องของรายงานของกมธ. ไปตามปกติว่าจะมีมติเห็นชอบกับข้อสังเกตดังกล่าวหรือไม่ เพื่อที่จะส่งต่อไปยังรัฐบาลให้มีมติครม.ต่อไป เพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นว่าไทยยังให้ความสำคัญกับกลไกลทวิภาคี แต่ถ้าไม่พิจารณาอะไรเลย จะเป็นความไม่ชัดเจนที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ตนจึงอยากให้เดินหน้าต่อไป ส่วนเรื่องข้อบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ ก็รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ถ้าวินิจฉัยว่าไม่เป็นสนธิสัญญาตามมาตรา 190 เรื่องนี้ก็จบ ไม่ต้องนำเข้าสู่สภาอีก แต่ถ้าเป็นไปตาม มาตรา 190 รัฐบาลก็ต้องนำกลับมาเข้าสู่สภาใหม่
**รัฐบาลบริหารเหมือนเล่นไฮโล
นายสุรจิต ชิระเวช ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า เห็นว่าเรื่องนี้เข้าข่ายหนังสือสนธิสัญญา เพราะเป็นผลพวงมาจากเอ็มโอยู 43 เพื่อทำการปักปันเขตแดน ซึ่งเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย และในหนังสือที่กมธ.แจ้งมา ก็ระบุชัดเจนว่า ตามที่ที่ประชุมร่วมกันของสนธิสัญญาเรื่องบันทึกการปรระชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา รวม 3 ฉบับ ที่ครม.เป็นผู้เสนอ และลงมติตั้งกมธ.ขึ้นมา
"การที่จะมาพูดว่า รับทราบก็ได้ รับรองก็ได้ แบบนี้เหมือนกับออกสูง ออกต่ำ เจ้ามือกินหมด หกสี่เอี่ยวกินหมด เหมือนเล่นไฮโล แต่เราจะบริหารบ้านเมืองกันแบบนี้หรือ ถ้าเข้ามาตรา190 สภาก็ต้องพิจารณาเท่านั้น ถ้าไม่เข้า ก็เป็นเรื่องของข้าราชการไปทำงาน สภาไม่ต้องรับรู้อะไร แต่เนื้อในทางเทคนิค ก็ยังมีการแตะเนื้อหาเรื่องการปักปัน การปักหมุดอยู่ดี เมื่อมีข้อขัดแย้งสู่ศาลแล้ว ก็สมควรจะรอ แต่รัฐบาลยังจะให้สภารับทราบอีก"
** สภาล่ม! ปู่ชัยสั่งเลื่อนไปถก 5 เม.ย.
นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยมีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นควรให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน เพื่อรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อีกฝ่าย ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล เห็นควรให้รับทราบข้อสังเกต 5 ข้อ ของกรรมาธิการวิสามัญไปก่อนเพื่อให้รัฐบาลได้นำข้อสังเกตไปปฏิบัติให้เกิดการเดินหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกใช้เวลาถกเถียงกันร่วมครึ่งวัน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ได้เสนอญัตติขอให้พักการพิจารณารายงานผลการศึกษาไว้ก่อน จนกว่ามีคำวินิจฉัย จึงค่อยนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ตัวแทนกมธ.ยืนยันว่า รายงานของกมธ.นั้น ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า ไม่มีการพิจารณารับรองในตอนนี้ เพราะรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพียงแต่ต้องการให้ที่ประชุมรับทราบในข้อสังเกตของกมธ. และยืนยันว่าในข้อสังเกต ไม่มีส่วนใดรับรองบันทึกของคณะกรรมการร่วมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับแต่อย่างใด
ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติซ้อน ให้พิจารณารายงานผลการศึกษาของกมธ.ต่อไป ทำให้สร้างความสับสนให้กับสมาชิกพอสมควร
จากนั้น นายชัยได้ตัดบทโดยให้มีการนับองค์ประชุมก่อนที่จะมีการลงมติ ปรากฏว่า มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมเพียง 262 คน ขาดไป 15 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นายชัย จึงสั่งเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ออกไป เป็นวันที่ 5 เม.ย. ก่อนที่จะสั่งปิดประชุม เมื่อเวลา 14.15 น.
ในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวอีกครั้งว่า ไม่มีปัญหา เพราะตั้งแต่ก่อนเริ่มประชุมเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า กรอบเจบีซีจะรอผลของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ เร่งไปทำความเข้าใจกับทางกัมพูชา และอินโดนีเซีย เพื่อให้คุยกันว่าจะมีการปรับแผนกันอย่างไรแล้ว
** โทษสภาล่มเพราะส.ว.วอล์กเอาต์
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังการประชุมรัฐสภา ว่า เป็นเพียงการรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งในการพิจารณานั้น ได้มีข้อสังเกตอยู่ 5 เรื่อง ที่แนบมาด้วย แต่สมาชิกบางคนพยายามโยงว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับร่างการพิจารณานี้ แต่ก็เป็นเป็นไม่ได้ เพราะจะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องนี้ก่อน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้สภาล่ม เนื่องจากว่ามีส.ว.บางคน วอลก์เอ้าต์ออกจากห้องประชุม และส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน ก็ไม่แสดงตัว ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีจำนวน ส.ส.เดินทางมาไม่ครบ ซึ่งในวันอังคารหน้า ตนจะกำชับให้เดินทางมากันให้ครบ รวมไปถึงส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
**ตุลาการศาลรธน.นัดถกเจบีซี 30 มี.ค.
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องที่ นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1 ใน 10 เข้าชื่อขอให้ศาลวินิจฉัยรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาบันทึกเจบีซี รวม 3 ฉบับ ว่าร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ไว้พิจารณาแล้ว และเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้แจ้งไปยังรัฐสภาเพื่อให้ทราบถึงการรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เพื่อเข้าสู่วาระการประชุมคณะตุลาการเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป ในวันที่ 30 มี.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะตุลาการฯ วันนี้ ( 30 มี.ค.) ที่ประชุมจะได้พิจารณา แต่ทั้งนี้จะมีคำวินิจฉัยออกมาเลยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะตุลาการ หากมีความคืบหน้า หรือศาลมีคำวินิจฉัย ตนก็จะแถลงข่าวให้ทราบ เพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจ และมีความสำคัญ
** จี้"มาร์ค"รับผิดชอบความขัดแย้ง
ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึง การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับว่า วาระการประชุมของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ยังเต็มไปด้วยความสับสน เห็นได้ชัดว่ามีความไม่ลงรอยกันของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐบาลต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบบันทึกการประชุมเจบีซี และข้อตกลงชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะรับทราบ เฉพาะผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นประธาน เพียงอย่างเดียว โดยไม่ลงมติเห็นชอบในส่วนบันทึกเจบีซี โดยอ้างว่า จะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ทั้งบันทึกเจบีซี และร่างข้อตกลงชั่วคราวเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นตีความไว้
"เมื่อรัฐบาลทำให้เกิดความวุ่นวาย และสับสนในที่ประชุมรัฐสภา โดยปกติแล้วรัฐบาลต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะนายกฯ ไปเสนอเงื่อนไขที่รัฐสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้"นายปานเทพกล่าว
** ชี้รัฐบาลยื่นตีความแก้เกี้ยว
นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า การนำผลบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบนั้น เรื่องนี้มีข้อบกพร่องที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และถูกสมาชิกรัฐสภาอภิปรายคัดค้านมาโดยตลอด รัฐบาลจึงแก้เกี้ยว ด้วยการให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เข้าชื่อ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รวมทั้งถ่วงเวลา โดยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา แล้วนำความเห็นมาเสนอที่ประชุม เพื่อเป็นทางออกในกรณีที่ไม่สามารถดันไปต่อไม่ได้ ซึ่งความพยายามของรัฐบาลก็เพียงเพื่อเอาใจกัมพูชา ที่ขู่ว่าหากเรื่องไม่ผ่านรัฐสภาไทย ก็จะไม่มีการประชุมเจบีซี และจีบีซี เมื่อไม่สามารถไปต่อได้ ก็หาทางลงเพื่อรักษาหน้าตัวเอง โดยอ้างศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเสริมว่า จากการที่ ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเองต่อความผิด หากยกมือให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ ที่จะทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดน จึงไม่สามารถยกมือให้ความเห็นชอบได้
**ปูดปชป.บีบมาร์คพ้นหัวหน้าพรรค
นายประพันธ์ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้หากรัฐบาลยังตะแบง และดึงดันต่อไป จะทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพขึ้นในรัฐบาล โดยเฉพาะในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง โดยมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ติดต่อมายังตน โดยระบุว่าจะพยายามหาทางกดดันให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในการประชุมใหญ่ของพรรค ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้ ชี้ให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ และคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้การประชุมบรรลุผลตามความตั้งใจได้
**ร้องยุบปชป.จากกรณีเอ็มโอยู 43
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายเทพพนม มาลี ประธานคณะกรรมการศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ภาคประชาชน และคณะ ได้ยื่นคำร้องต่อ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้ดำเนินการยื่นเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระทำผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 1 และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ม. 94 (4) โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง เลขานุการ อสส. เป็นผู้รับมอบส่งให้อสส.พิจารณา กรณีที่รัฐบาลเห็นชอบ และและปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ( MOU 2543 ) พร้อมกับเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมาธิการ
**ปูด"สองเทพ"ถูกว่าจ้างเด็ดหัว
วันเดียวกัน นายเทพมนตรี ลิมปพยอม ได้โพสต์บนเว็บไซต์ เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า "อาจารย์ปานเทพ (พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ) กับ “ผม” กำลังถูกว่าจ้างจากใครบางคน ดำเนินการลอบสังหาร ตอนนี้วางแผนเตรียมการกันอยู่ ถ้าหากเป็นอะไรไป สาเหตุมาจากกรณีปราสาทพระวิหารอย่างเดียว เพราะไม่อยากให้ตำรวจต้องมาตั้งข้อสังเกตว่า 1.ประเด็นชู้สาว 2.เรื่องหนี้สิน 3.เรื่องการเมือง แต่ถ้าจะตาย มีประเด็นเดียวคือเรื่องปราสาทพระวิหารเท่านั้น"
** "ฮุนเซน"ย้ำไม่มีทวิภาคีไทยไม่ไปก็อย่าไป
ขณะที่เว็บไซต์ ฟิฟทีนมูฟ รายงานอ้างหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2554 รายงานว่า ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประกาศเน้นย้ำว่า กัมพูชาสนับสนุนแต่เฉพาะการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ที่เมืองบอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้เท่านั้น ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงและกัมพูชาจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนฝ่ายไทยไปร่วมด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของไทย
ฮุน เซนได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นในโอกาสที่ได้รับเชิญเป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่นิสิตครูเทคนิคชั้นต้น ชั้นสูงรวม 2,562 คน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค. ที่สถาบันฝึกอบรมแห่งชาติกรุงพนมเปญ ฮุน เซน ได้กล่าวว่านายกรัฐมนตรีไทยและกระทรวงต่างประเทศไทย เสนอว่าไปร่วมประชุม แต่ระดับนำอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่ไป เขายังคงต้องการหารือทวิภาคีที่ไร้ประโยชน์ ไม่ได้การเหมือนเดิม เป็นเหมือนเดิม
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้อธิบายว่าถ้าหากฝ่ายไทยคิดแต่เรียกร้องทวิภาคี ขณะที่ประเทศอาเซียน พยายามจัดภารกิจแบบนี้ เสมอเหมือนกำจัดผู้นำอาเซียน โขกหัวอาเซียน เตะอาเซียนออก แต่กัมพูชาไม่ขอมีส่วนร่วมกับไทยด้วย ขอยืนยันว่าการประชุมจีบีซีและเจบีซีนี้ จะจัดขึ้นที่เมือง บอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 7-8 เม.ย.ที่จะถึงนี้เท่านั้น
สำนักข่าวข่าวด่วนกัมพูชาวันเดียวกันได้รายงานรายละเอียดอื่นอีกว่า ระหว่างการกล่าวในงานพิธีมอบเกียรติบัตรดังกล่าวของฮุน เซน ได้มีตัวแทนสถานทูตไทยประจำกัมพูชาเข้าร่วมด้วย โดย ฮุน เซน ได้ขอให้ตัวแทนสถานทูตไทย นำข้อความของตนไปแจ้งกับรัฐบาลไทยด้วยว่า การกระทำทั้งหมดที่ตัวเองได้กระทำไป ไทยต้องรับผิดชอบต่อหน้าอาเซียน และคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
**ชวนนท์ควงสันติอโศกเยี่ยม"วีระ-ราตรี"
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการเดินทางไปเยี่ยมนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่เรือนจำเปรซอว์ กรุงพนมเปญ ว่า เดิมมีกำหนดเดินทางจะไปในสัปดาห์นี้ เพราะได้รับอนุญาตจากเรือนจำแล้ว แต่เนื่องจากได้รับการประสานจากกลุ่มสันติอโศก จะขอส่งผู้แทน 2-3 คน เดินทางไปเยี่ยมด้วย จึงต้องเลื่อนออกไปเพื่อรอการอนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวเดินทางไปพร้อมกันด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศยินดีประสานงานและออกค่าใช้จ่ายให้ด้วย
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการอภัยโทษ อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ หลังจากที่ได้ลงนาม ขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะเร่งช่วยเหลือทั้ง 2 คน อย่างเร็วที่สุด
***บัวแก้วดันทุรังเข้าประชุมเจบีซีที่อินโด
นายชวนนท์กล่าวอีกว่า ไม่มีผลกระทบกับการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือเจบีซี ไทย-กัมพูชา ที่เมืองโบกอ ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ เพราะในที่ประชุมไม่จำเป็นต้องหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบันทึกผลการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ สามารถคุยในเรื่องอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การเลื่อนการพิจารณาครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการถ่วงเวลา แต่เป็นเรื่องกลไกตามรัฐธรรมนูญ หากรออีกนิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย เชื่อว่าหลายฝ่ายคงคลายความกังวล เพราะจะมีความชัดเจนว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นการผูกมัดประเทศไทยหรือไม่
"ขณะเดียวกัน มีความยินดีที่ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาระบุว่า ยินดีที่จะร่วมประชุมเจบีซีกับไทย เพื่อแก้ปัญหาเขตแดน ไม่ว่าผลการประชุมรัฐสภาเป็นอย่างไร ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ส่งมาจากทางฝ่ายกัมพูชา โดยจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าการประชุมดังกล่าวต่อไป"นายชวนนท์กล่าว