xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เสียงแตกผวาร่างเจบีซีจี้ส่งศาลตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ปานเทพ"ยื่นหนังสือแฉ"มาร์ค" แหล 7 ประเด็น ชี้หากรัฐสภาเดินหน้าผ่านบันทึกอัปยศ อาจเข้าข่ายละเมิดพระราชอำนาจ และมีความผิดทางอาญา ด้าน ส.ว.ประสานเสียงติง MOU 43 เถื่อน ไม่ผ่านที่ประชุมรัฐสภา ส่อขัดรัฐธรรมนูญ แนะส่งศาลรธน.ตีความ หวั่นเข้าข่ายความผิดตาม ม.157 "มาร์ค" กำชับพรรคร่วมเดินหน้าลงมติเห็นชอบ เจบีซี พร้อมสั่ง"องอาจ" ใช้กระบอกเสียงรัฐ ตอกย้ำไทยไม่เสียดินแดน "ประวิตร" กระตุกขานายกฯ ลั่นประชุมเจบีซี.ไทย-กัมพูชา ไม่ต้องพึ่งประเทศที่สาม "ฮุนเซน" อ้างไทยจะใช้เครื่องบินรบถล่มเขมร แต่ไม่กลัว เพราะเขมรก็มีปืนรอสอย

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ ( 28 มี.ค. ) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในเวลา 11.00 น. ตนจะเป็นตัวแทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร เพื่อนำหนังสือคัดค้านต่อการรับรองผลบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ( เจบีซี ) ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้กำหนดพิจารณากันในวันนี้ ( 29 มี.ค. ) ไปยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อประสานงานส่งต่อให้แก่สมาชิกรัฐสภาทุกคน โดยหนังสือดังกล่าง ลงนามโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และถือเป็นการยื่นหนังสือคัดค้านการให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ เป็นครั้งที่ 3

**จวก"มาร์ค"บิดเบือน 7 ประเด็น

ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาตอบโต้สิ่งที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา รวม 7 ประเด็น ที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง เพื่อชี้ให้ ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนทราบว่า นายกฯพูดไม่จริงในเรื่องใดบ้าง อาทิ การที่นายอภิสิทธิ์ อ้างว่าบันทึกผลการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ครั้ง ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต และร่างข้อตกลงชั่วคราว ที่แนบท้ายบันทึก ก็ยังไม่มีการลงนาม ไม่มีผลผูกพัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นการรับทราบ หรือขอมติเห็นชอบ เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไม่มีบทบัญญัติให้รับทราบในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต และสนธิสัญญา

ในขณะที่ภาคประชาชนเห็นว่า ร่างข้อตกลงชั่วคราว มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นการไปปักปันเขตแดนกันใหม่ในพื้นที่ที่มีการปักปันเสร็จแล้วเมื่อ 103 ปีที่แล้ว
"นายอภิสิทธิ์ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ที่กล่าวถึงในเอ็มโอยู 2543 นั้นไม่รวมระวางดงรัก เพราะไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส การกล่าวเช่นนี้ เป็นการอธิบายที่เพิ่งนำมาใช้เมื่อปี 51 และในแถลงการณ์ที่โต้แย้งฝ่ายกัมพูชา ล่าสุดของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.54 โดยต้องการอธิบายย้อนหลัง เพื่อเยียวยาผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากเอ็มโอยู 2543 โดยในหนังสือได้บรรยายถึงโทษของเอ็มโอยู 2543 มีโทษมากมายขนาดไหน" นายปานเทพกล่าว

นอกจากนี้ในหนังสือยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า เอ็มโอยู 2543 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และไม่มีการบลงพระปรมาภิไธย โดยพระมหากษัตริย์ จึงถือว่าเป็นสัญญาที่กระทำผิดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการทำหนังสือสัญญาอื่นกับนานาชาติ และ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงทำให้เอ็มโอยู 2543 เป็นโมฆะ ตั้งแต่ต้น ทำให้รัฐสภาไทยไม่สามารถจะไปยกมือรับรอง หรือรับทราบผลต่อเนื่องจากเอ็มโอยู 2543 หรือบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับได้

" หากสมาชิกรัฐสภาจะไปรับทราบ หรือรับรองบันทึกผลการประชุมที่ยืนยันในเอ็มโอยู 2543 ไม่เพียงแต่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น อาจจะเข้าข่ายละเมิดพระราชอำนาจ เพราะเอ็มโอยู 2543 ไม่ปรากฏพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" นายปานเทพกล่าว

** เตือนส.ส.-ส.ว.ทำผิดกฎหมายอาญา

สำหรับในช่วงท้ายของหนังสือ พล.ต.จำลอง ได้ขอให้ไม่มีการรับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119, 120 และ 157 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ซึ่ง พล.ต.จำลอง และคณะจำเป็นต้องดำเนินคดีอาญาต่อไปจนถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากที่ประชุมรัฐสภาลงมติรับทราบในวันนี้ (29 มี.ค.) จะทำให้บันทึกเจบีซี มีผลบังคับใช้หรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า รัฐบาลต้องชี้ให้ชัดว่า การรับทราบนั้นคือผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการรัฐสภา ที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ เป็นประธาน หรือตัวบันทึก เจบีซี 3 ฉบับ หากเป็นเฉพาะผลการศึกษา สามารถทำได้ แต่รัฐบาลอาจใช้วิธีนี้ลักไก่ให้รับทราบบันทึกและข้อตกลงชั่วคราวไปด้วย
ทั้งนี้หากเป็นการรับทราบบันทึกเจบีซี ที่ไม่ว่ารับทราบ หรือเห็นชอบ ก็จะเข้าข่ายในลักษณะที่รัฐสภาไม่ปฏิเสธผลการประชุม ซึ่งจะสร้างปัญหาในการตีความมาอีก อย่างไรก็ตามหากยึดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไม่มีมาตราใดที่ระบุถึงการรับทราบ มีเพียงแต่การเห็นชอบ ดังนั้น จึงเห็นว่า ไม่ว่าจะมีการรับทราบหรือเห็นชอบ ก็ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ

** ล็อบบี้ส.ส.-ส.ว.วุ่นขอให้ผ่านเจบีซี

นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า มีความพยายามจากรัฐบาลในการล็อบบี้ให้ ส.ส. และ ส.ว.เข้าร่วมประชุมในวันนี้ (29 มี.ค. ) และร่วมลงมติ โดยเปลี่ยนจากการลงมติเพื่อเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ มาเป็นการรับทราบผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการรัฐสภา ที่พิจารณาบันทึกเจบีซี ชุดที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานแทน โดยต้องการสร้างความสับสน และไม่ชัดเจน เพื่อหลอกลวงประชาชน และสมาชิกรัฐสภา เพื่อไม่ให้ทราบถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้พยายามแสดงจุดยืนในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ

"หากต้องการเปลี่ยนเป็นการลงมติ มาเป็นการรับทราบแทนการเห็นชอบ ที่ระบุไว้ในวาระการประชุม คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้เสนอญัตติ ต้องเป็นผู้ขอเปลี่ยนแปลงโดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี ก่อนส่งเรื่องให้รัฐสภา ไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้เองกลางรัฐสภา" นายประพันธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อส่งต่อให้แก่สมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 ในการคัดค้านการรับรองบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมเขตแดนไทย - กัมพูชา (เจบีซี) ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ ( 29 มี.ค.)

โดยภายหลังการยื่นหนังสือ ด้าน นายปานเทพ กล่าวว่า จากการที่ได้ฟังการชี้แจงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการชี้แจงที่บิดเบือน และพยายามโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาให้รับรองบันทึกดังกล่าว จึงทำให้พวกเราต้องเดินทางมายืนหนังสือ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม และตอบโต้ในประเด็นต่างๆ ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

**ส.ว.ติงMOU43 ยังไม่ผ่านสภาส่อขัดรธน.

สำหรับการประชุมวุฒิสภาเมื่อวานนี้ ช่วงก่อนเข้าวาระการประชุม นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้เปิดให้สมาชิกหารือในเรื่องต่างๆ โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้หารือว่าในการประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ ( 29 มี.ค. ) เพื่อพิจารณารับรองรายงาน เจบีซี 3 ฉบับ เพื่อนำไปประกอบกับเอ็มโอยู 2543

ทั้งนี้จากการทบทวนข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 190 และมาตรา 240 รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไข พบว่า เอ็มโอยู 2543 เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นมีความจำเป็นที่สมาชิกรัฐสภาจะต้องให้ความเห็นชอบ เอ็มโอยู 2543 ก่อน หรือหากมีการเสนอให้ยืนเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เอ็มโอยู 2543 นั้นขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 วรรคสอง หรือมาตรา 224 วรรคสอง จะทำได้หรือไม่ แต่หากเอ็มโอยู 2543 ถูกพิจารณาว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วบันทึกผลการประชุม เจบีซี 3 ฉบับ จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ ตนกังวลว่าหากสมาชิกรัฐสภาร่วมลงมติใน เจบีซี 3 ฉบับ อาจเป็นเหตุให้ถูกฟ้องว่าเป็นการกระทำผิดร่วมคณะรัฐมนตรี ที่ถูกยื่นเอาผิดตาม มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม หารือว่า ขอให้นายประสพสุขหารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ให้พิจารณาวาระการประชุม เจบีซี 3 ฉบับให้รอบคอบว่า เอ็มโอยู 43 ถือว่าเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา136 ( 15 ) ระบุว่า หากเป็นหนังสือสัญญา ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ดังนั้นการพิจารณาเจบีซี ในการประชุมร่วมรัฐสภา คงไม่ใช่การให้ความเห็นว่า รับหรือไม่รับ บันทึกการประชุมเจบีซี

** "มาร์ค"สั่งพรรคร่วมลงมติเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม. เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อพิจารณาลงมติรายงาน เจบีซี 3 ฉบับว่า เพื่อป้องกัน องค์ประชุมสภาไม่ครบ ขอให้รัฐมนตรีที่เป็นส.ส. ให้ไปสภาให้เร็วหน่อยไปเซ็นชื่อไว้ก่อน

นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า จะให้สภาแค่มีมติรับทราบได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลมาแล้ว จนมาเสนอเข้าสู่สภา ก็ต้องทำอย่างเดียว คือต้องขอให้สภาให้ความเห็นชอบเลย นายรัฐมนตรี จึงหันไปถาม นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ว่า ตกลงยังจะยันยืนที่จะให้สภาให้ความเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งนายกษิต ก็ตอบว่า ยังคงยืนยันเพราะกรอบเจบีซี ดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียหาย แต่อย่างใด

ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงได้กล่าวเสริมว่าในเมื่อเป็นเรื่องของรัฐบาล ก็ต้องให้เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะต้องให้ความร่วมมือกัน เอาเลยให้ออกมาเป็นมติให้ความเห็นชอบ นายกฯจึงกำชับขอให้พรรคร่วมรัฐบาลไปบอกสมาชิกทุกพรรคว่า ให้ออกเป็นมติให้ ความเห็นชอบในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ นายสุเทพ กล่าวว่า ความจริงเรื่องนี้เราก็เคยอธิบายกันชัดเจนมาแล้ว แต่ยังไม่ค่อยมีใครนำไปขยาย ผล จึงขอให้ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่กำกับดูแลสื่อของรัฐไปดู ให้มีการจัดรายการ อธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่ากรอบเจบีซี ไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดน

**ที่ประชุม“ปชป.” เสียงแตก รับไม่รับMOU43

วานนี้ (28 ) ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมส.ส. ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงกรณีที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะสามารถลงมติการรับทราบรายงานบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) จำนวน 3 ฉบับ ที่คณะกรรมการธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วได้หรือไม่

นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ในเรื่องของการลงมติเจบีซีทั้ง 3 ฉบับอยู่ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การประชุมในวันนี้ (29 มี.ค.) จะไม่สามารถลงมติได้ เนื่องจากทราบว่าจะมีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งทำให้สภาไม่สามารถลงมติได้ เพราะเรื่องนี้จะกระทบได้หากทำไปก่อนที่ศาลจะลงมติวินิจฉัย ซึ่งสภาคงทำได้เพียงรับทราบรายงานการประชุมและรับทราบข้อสังเกตของกมธ.วิสามัญฯ เท่านั้น แต่ทั้งนี้ที่ประชุมก็แสดงความเป็นห่วงว่า หากไม่มีการลงมติเจบีซีจะทำให้การปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชาเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งก็คงต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง และในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่มีมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น

**วิปรัฐบาลยังไม่สรุปลงมติเจบีซี

นายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ในวันที่ 29 มี.ค.ที่จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีวาระการรับทราบรายงานบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ที่คณะกรรมการธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ต่อเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันนี้หากมีสมาชิกคนใดยังแสดงความจำนงขออภิปราย ที่ประชุมก็จะเปิดให้มีแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ จากนั้นก็จะเปิดให้มีการหารือถึงการจะลงมติว่าสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งทางวิปรัฐบาลยังไม่ได้มีการสรุปว่า แนวทางของที่ประชุมจะต้องเป็นไปในทิศทางใด

**ย้ำถกทวิภาคีไม่ต้องพึ่งอินโดฯ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.เตีย บัน รมว.กลาโหมกัมพูชา ออกมาระบุว่า จะให้การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา( จีบีซี ) จะประชุมพร้อมกับการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ( เจบีซี ) ที่ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ยังไม่ได้บอก ยังไม่ได้คุยกับตน ทั้งนี้ต้องให้มีการประชุมเจบีซี.ก่อนดีกว่า ในส่วนของจีบีซี ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยตามแนวชายแดน สามารถคุยกันได้

เมื่อถามว่าหากทางประเทศกัมพูชา ยืนยันจะให้มีการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศไทย จะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คงต้องคุยกัน ไม่มีปัญหา เราทำได้ทั้งนั้น แต่ทั้งนี้เป็นเรื่องระหว่างทวิภาคี ถ้าเราคุยกันได้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องไปประชุมในประเทศที่สาม ซึ่งทางด้านอาเซียนตกลงว่า จะให้ทางประเทศอินโดนีเซียมาร่วมในการแถลง ซึ่งไม่ได้มาร่วมในการประชุม ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

**"ฮวยเซ็ง" อ้างไทยจะใช้เครื่องบินถล่ม

สารข่าวเสรีของกัมพูชา รายงานเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ว่า ฮุน เซน ได้ประกาศเตือนในพิธีมอบเกียรติบัตรที่สถาบันฝึกอบรมแห่งชาติ เมื่อช่วงเช้าว่า เป็นไปได้ที่ประเทศไทย จะใช้เครื่องบินรบ แก้ปัญหาความขัดแย้งพรมแดนระหว่างประเทศทั้งสอง

ฮุนเซน กล่าวด้วยว่าแม้กัมพูชาไม่มีเครื่องบินรบทันสมัยเหมือนไทย แต่ก็มีปืนสำหรับยิงเครื่องบินรบทั้งหมดนั่น โดยได้แนะนำว่า ถ้าเครื่องบินไทยบินสูง ก็ไม่อาจทำอะไรเราได้ แต่ถ้าบินใกล้เราจะยิง

การกล่าวของฮุนเซน ครั้งนี้ เกิดหลังจากที่รัฐบาลไทย ได้เสริมยุทธภัณฑ์สมัยใหม่ สำหรับทำการรบ ทั้งเครื่องบินและปืนใหญ่ และกระสุนปืนใหญ่ประเภทครัสเตอร์บอมบ์ ซึ่งเคยถูกใช้ระหว่างการสู้รบ เมือ 4-7 ก.พ. ที่ผ่านมา การซื้ออาวุธใหม่นี้ ฮุน เซน กล่าวว่า เป็นการข่มขู่คุกคามกัมพูชา

ขณะที่หนังสือพิมพ์กัมพูชาใหม่ เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันรายงานข่าวสั้นว่า ฮุน เซน กล่าวในพิธีดังกล่าวว่า กัมพูชา-ไทย ไม่อาจทำตัวเป็นเจ้าพ่อในการประชุมได้

" ผมขอยืนยันว่าไม่มีการประชุมทั้งสอง คือ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม จัดในประเทศกัมพูชา หรือประเทศไทย เพราะอินโดนีเซียได้ทำหนังสือประชุมร่วมแล้ว" ฮุนเซน กล่าว

***ชาวหาดใหญ่ฉุน “ชาญวิทย์” ชิ่งหนี

วานนี้ (28 มี.ค.) ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์รีสอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการจัดการประชุมสาธารณะ “เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” ตามโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีประชาชนให้ความสนใจร่วมงาน จนกระทั่งการเสวนามาถึงช่วงบ่ายซึ่งได้ข้ามมาพูดหัวข้อที่ 2 เรื่องเขตแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยไม่เข้าสู่ประเด็นกรณีปัญหามรดกโลก ทำให้ผู้ร่วมรับฟังยังรอคอยการตอบคำถามในช่วงเช้ารู้สึกไม่พอใจ และแปลกใจที่ไม่เห็น ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ ซึ่งเป็นนักวิชาการตัวตั้งตัวตีที่รับค่าจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 7.1 ล้านบาท เพื่อรับผิดชอบโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จนกระทั่งสอบถามผู้จัดงานจึงรู้ความจริงว่าทั้งคู่จะไม่ขึ้นเวทีเสวนาเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม แต่ให้คณะนักวิชาการในกลุ่มที่รับงานนี้มาขึ้นเวทีแทน และมีการเล่นเกมหลบหลีกบนเวที เพราะประชาชนต้องการมารับฟังข้อมูลเรื่องกรณีปัญหาเขาพระวิหารที่กำลังทำให้ไทยสูญเสียดินแดน หลังจากเสียอำนาจอธิปไตยแล้ว ตลอดจนอยากรู้ว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร และประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม ทำให้เหลือเพียงคณะผู้จัดงาน และนักศึกษาที่ช่วยงานเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น