“ปานเทพ” แจงเหตุรัฐสภาเลื่อนนัดวันพิจารณารับรองเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เป็นวันที่ 29 มี.ค.ส่อเจตนาเดินเกมล็อบบี้ “ส.ว.-ส.ส.” ขู่งัดโทษอาญาไว้รอสมาชิกที่ลงมติรองรับแล้ว จี้รัฐเปิดทีโออาร์ ชี้มีผลต่อดินแดน แนะต้องทำประชาพิจารณ์ผ่านสภาฯ ตาม ม.190 “วัลย์วิภา” แฉบัวแก้วลักไก่ส่งบันทึกเจบีซีให้เขมรแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้ลงนามรับรอง โวยไอ้โม่งถอนอุทธรณ์ “วีระ-ราตรี” ขณะที่ “จำลอง” ฉะ รบ.ใช้วิชามารแกล้ง พธม. ยันชุมนุมยืดเยื้อแม้ รบ.ยุบสภาหนี
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แถลงข่าว
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ แถลงข่าว
วันนี้ (18 มี.ค.) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ร่วมแถลงข่าวประจำวันต่อสื่อมวลชน โดยนายปานเทพกล่าวถึงกรณีที่จะมีการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อรับรองผลบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ว่า ตนได้รับข้อมูลว่าการประชุมรัฐสภาดังกล่าวเพื่อรับรองผลบันทึกการประชุมเจบีซีที่ผ่านมา 3 ครั้ง ในวันที่ 22 มี.ค.จะเลื่อนไปเป็นวันที่ 29 มี.ค. ตรงนี้จึงแสดงให้เห็นว่ามีการตกลงกันเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบกับบันทึกเจบีซีดังกล่าว และถ้า ส.ส.คนใดลงมติรับรองร่างเจบีซีทั้ง 3 ฉบับนี้ จะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119, 120 นอกจากนี้ได้ทราบข่าวจากวิทยุเอเชียเสรี รายงานว่าประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ได้เลื่อนกำหนดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และเจบีซี ที่ประเทศอินโดนีเซีย ออกไปจากเดิมวันที่ 24-25 มี.ค.ไปเป็นวันที่ 7-8 เม.ย.
นายปานเทพกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังมีความพยายาม ที่จะเจรจาเรื่องการวางกำลังผู้สังเกตการณ์ทหารอินโดนีเซียเข้ามาในเขตพิพาทชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา (ทีโออาร์) โดยมีวัตถุประสงค์เป็นสักขีพยานเพื่อไม่ให้ไทยสามารถผลักดันทหารกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ซึ่งจะทำให้กัมพูชาได้เปรียบ เพราะสามารถเจรจาได้อย่างไม่มีกำหนดเวลา ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต โดยในประเด็นนี้รัฐบาลยังไม่ได้นำเรื่องทีโออาร์เข้าที่ประชุมรัฐสภา ฉะนั้น พันธมิตรฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยเรื่องนี้ต่อประชาชนทั่วไป เนื่องจากมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย จึงควรมีการทำประชาพิจารณ์ และอนุมัติกรอบการเจรจา รวมถึงต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190
ด้าน ม.ล.วัลย์วิภากล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุมอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและส่งเสริมภาคประชาชนมีส่วนร่วม ในวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประเด็น 7 คนไทยที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุมนั้น ในบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ ส่วนหนึ่งคือบันทึกวาจา หรือฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษ มีความคลาดเคลื่อน โดยฝ่ายสำรวจยังไม่การเซ็นรับรอง แต่ประธานได้นำเรื่องนี้ส่งให้กัมพูชา รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้นำเรื่องดังกล่าวให้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป ฉะนั้น การนำข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นเท็จเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เช่น จากบันทึกทั้ง 3 ฉบับ มีการรายงานการปักหลักเขตแดนที่ 23-51 จำนวน 29 หลัก โดยมีการระบุว่ากรรมาธิการร่วมทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเป็นภาษาอังกฤษเป็นที่เรียบร้อย แต่อนุกรรมาธิการฯ พบว่ายังไม่มีการลงนามรับรองลงนามจากชุดสำรวจ หรือรับรองบันทึกการตรวจสอบจากเจ้ากรมแผนที่ทหารใดๆเลย ฉะนั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่ง และถ้ารัฐสภารับรู้เรื่องนี้แล้ว ควรจะนำเรียนต่อไปให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อนุกรรมาธิการฯ ได้ยื่นหนังสือเพื่อร้องเรียนประเด็นดังกล่าวต่อกรมแผนที่ทหารแล้ว
จากนั้น ม.ล.วัลย์วิภายังได้กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ด้วยว่า ขณะนี้สังคมกำลังสงสัยกันว่านายวีระ และน.ส.ราตรี ได้เซ็นขอพระราชทานอภัยโทษแล้วหรือยัง ตนยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ตนก็ยังไม่เห็นลายเซ็นลงนามเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษจากทั้งสองคน แต่การขออุทธรณ์ที่ตนดำเนินการถูกยกเลิกแล้ว โดยตนพบเอกสารปฏิเสธการขออุทธรณ์ลงวันที่ 3 มี.ค. ซึ่งตนทราบมาว่าทนายชาวกัมพูชาของนายวีระ และน.ส.ราตรี ที่เป็นผู้ดำเนินการเรื่องเอกสารดังกล่าว หมดสัญญาการทำหน้าที่ตั้งแต่การสิ้นสุดการพิพากษาจากศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว ตนจึงขอตั้งคำถามว่าใครเป็นคนทำเอกสารนี้ เพราะเอกสารปฏิเสธอุทธรณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเครือข่ายฯดำเนินการอุทธรณ์สำเร็จแล้ว 2 วัน
ขณะที่ พล.ต.จำลองกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศยุบสภาช่วงต้นเดือน พ.ค.รวมถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมใช้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า หากเกิดเหตุการณ์ทั้งสองขึ้นมา พันธมิตรฯ จะชุมนุมต่อไป เนื่องจากต้องปกป้องแผ่นดินให้ได้ ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.) นั้น ตนยืนยันว่าพันธมิตรฯไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ความพยายามในการใส่ความว่าพันธมิตรฯ วางยานั้นเป็นเพียงวิชามารของรัฐบาล รวมทั้งการไปกล่อมให้หน่วยราชการในบริเวณนี้ออกมาเรียกร้องว่า มีความทุกข์ยากจากการชุมนุม เพื่อกลั่นแกล้งพันธมิตรฯ ด้วย