ผ่าประเด็นร้อน
นาทีนี้มีทั้งคนคาดเดา เชื่อมั่น และการออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าจะไม่มีเกิด “อุบัติเหตุ” ทางการเมืองขึ้นมาอย่างแน่นอน ซึ่งน่าแปลกใจเหมือนกันว่าบรรยากาศดังกล่าวทำไมถึงได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแบบนี้
คำพูดของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กล่าวเมื่อวันที่ 23 มีนาคมเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันป้องกันอุบัติเหตุทางการเมือง โดยอ้างว่าทุกคนต้องการก้าวไปข้างหน้า และย้ำถึงกำหนดการสำหรับการยุบสภาในต้นเดือนพฤษภาคม หากกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 3 ฉบับผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าคำพูดดังกล่าวเป็นการพูดในเรื่อง “หลักการ” ทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องปกป้องประชาธิปไตยก็ตาม แต่คำพูดก่อนหน้านี้เป็นการพูดถึงกรณีที่มีระดับผู้บริหารในพรรคเพื่อแผ่นที่กล่าวออกมาในระหว่างประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อสองสามวันก่อนที่ให้น้ำหนักว่าอาจจะ “ไม่มีเลือกตั้ง” และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะลาออกทั้งคณะหากกฎหมายลูกสามฉบับเสร็จไม่ทันตามกำหนดที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดเอาไว้ โดยจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น
ความหมายก็คือ เกิดการรัฐประหารนั่นแหละ !!
อย่างไรก็ดีเมื่อพูดถึงเรื่องแบบนี้มันก็ต้องมาพิจารณากันถึงองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมรอบตัวว่ามันเกิดอะไรขึ้นมาบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
เริ่มจากคำยืนยันของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะยุบสภาภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม และหลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ที่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาลก็มาขยายความให้ชัดเจนขึ้นไปอีกโดยกำหนดวันยุบสภาในราววันที่ 7-10 พฤษภาคม
คำพูดแบบนี้ถ้าพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าเป็นวิธี “สลายแรงกดดัน” ที่ถาโถมเข้าใส่รัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆลงได้ในฉับพลัน ความหมายก็คือเหมือนกับว่า ใช้การยุบสภาและการเลือกตั้งมา “ล้างไพ่” แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการ “ชุบตัว” ใหม่ของพวกนักเลือกตั้ง นักสร้างภาพทางการเมืองที่กำลังถูกรุกไล่จนเกือบเข้ามุมอับแล้วเท่านั้น
อีกทั้งหากกล่าวเฉพาะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ระยะหลังถูกโจมตีในเรื่องการบริหารที่ล้มเหลว ปล่อยให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬารในรัฐบาลตัวเอง ปล่อยให้เกิดการข้าวยากหมากแพงสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอย่างแสนสาหัส และที่สำคัญล้มเหลวในเรื่องการรักษาอธิปไตยของชาติ และศักดิ์ศรีของชาติ กรณีชายแดนไทยกัมพูชา และกรณีที่ 7 คนไทยถูกกองกำลังกัมพูชาลักพาตัวในเขตแดนไทยและนำไปขึ้นศาลและขณะนี้ยังมีคนไทยอีก 2 คนที่ยังถูกจำคุก โดยที่รัฐบาลไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้
มิหนำซ้ำยังมีการเรียกร้องให้คนไทยเหล่านั้นยอมรับความผิด ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการยอมรับเขตแดนไทยว่าเป็นเขตแดนของกัมพูชา ลักษณะดังกล่าวกำลังถูกมองว่าไม่ต่างจากการ “ขายชาติ” นั่นเอง
ล่าสุดวันนี้ (25 มีนาคม) รัฐบาลที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เสนอให้รัฐสภาพิจารณาบันทึก 3 ฉบับของคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา(เจบีซี) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มคนไทยรักชาติ เนื่องจากเห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาณาเขต เป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านั้นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังยินยอมให้ประเทศที่ 3 คือ อินโดนีเซียเข้ามาเป็น “พี่เลี้ยง” ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยยอมให้ส่งกองกำลังเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบ ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนให้กับกัมพูชาอย่างถาวรและเป็นทางการ
อย่างไรก็ดีกรณีหลังสุดนี้ ได้มีปฏิกิริยาคัดค้านออกมาจาก ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าไม่เห็นด้วยและจะไม่เข้าร่วมเจรจาในคณะกรรมการชายแดนทั่วไป(จีบีซี) ในประเทศที่ 3 เป็นอันขาด โดยย้ำว่าหากมีการเจรจาต้องเป็นระดับทวิภาคี นั่นคือต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือกัมพูชาเท่านั้น ขณะเดียวกันยังคัดค้านการส่งกองกำลังอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่อีกด้วย
ท่าทีดังกล่าวถือว่าสวนทางกับรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศอย่างชัดเจน
กรณีที่เกิดขึ้นทำให้เพิ่มดีกรีความร้อนแรงของสถานการณ์เข้าไปอีก และที่สำคัญทำให้เกิดความเชื่อในเรื่อง “อุบัติเหตุ” เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีระดับ “บิ๊ก” ในกองทัพหลายคนออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่น รวมไปถึงการออกมายืนยันในลักษณะถี่ยิบของบรรดาแกนนำในรัฐบาลว่าจะมีการยุบสภาในต้นเดือนหรือสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมก็ตาม แต่ถาพิจารณาจากความหมายในตัวของมัน ก็ย่อมเป็นคำตอบให้เห็นเช่นเดียวกันแล้วว่าข้างในมัน “คุกรุ่น” แค่ไหน
ดังนั้นนาทีนี้ แม้เชื่อว่าเกือบทุกคนไม่อยากให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่บางครั้ง บางสถานการณ์ “อะไรมันจะเกิด มันก็ต้องเกิด” จะไปขวางมันไม่ได้ ต้องปล่อยให้มันเป็นไป !!