xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” กับท่าทีแปร่ง-ขวางอินโดฯ จุ้นชายแดนไทย!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

นับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาทันที ที่จู่ๆ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาแสดงจุดยืนชัดเป็นครั้งแรกว่าจะไม่ยอมเข้าร่วมเจรจาในนามคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) กรณีไทย-กัมพูชาที่ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมทั้งย้ำว่าหากมีการเจรจากันก็ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือกัมพูชาเท่านั้น

นอกจากนี้คำพูดที่น่าจับตาก็คือ “ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อเข้ามาสังเกตการณ์” โดยบอกว่าจะทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากขึ้น
 

ในความหมายของคำพูดดังกล่าวมันก็เหมือนกับการสวนทางกับแนวทางของรัฐบาลไทย และกระทรวงการต่างประเทศที่ยอมรับให้ประเทศอินโดนีเซียเข้ามาเป็นตัวกลาง หรือ “พี่เลี้ยง” ในการเจรจาไกล่เกลี่ย ในนามของอาเซียน

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยินยอมให้ทหารอินโดนีเซียเป็นตัวแทนของอาเซียนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ตามแนวชายแดนไทย และกัมพูชา ซึ่งนั่นหมายความว่าจุดที่ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในฝั่งกัมพูชาและเป็นพื้นที่ของไทยจะถูกอ้างสิทธิโดยกัมพูชาและได้รับการยอมรับอย่างถาวร เพราะไทยไม่อาจใช้กำลังผลักดันออกไปได้

ดังนั้น คำพูดของผู้บัญชาการทหารบกที่ออกมาในคราวนี้ ถือว่าเป็นท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคมที่ประชุมรัฐสภาที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณารับรองบันทึกการประชุม 3 ฉบับของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ที่ยืดเวลามาแล้วหลายครั้ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มคนไทยรักชาติที่ปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาอย่ารับรองบันทึกดังกล่าว
 

เพราะนอกจากเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอาณาเขต เหมือนกับการยกอธิปไตยให้กับกัมพูชาอย่างถาวร ไม่ต่างจากการ “ขายชาติ” ซึ่งท่าทีของ ผู้บัญชาการทหารบกที่ออกมาล่าสุดถือว่าเหมาะเจาะกับสถานการณ์พอดี

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเวลานี้มีหลายกรณีที่เข้าเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน ทั้งในเรื่องที่คณะกรรมการมรดกโลกจะมีการพิจารณาในกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน โดยจะมีการพิจารณาในเรื่องแผนบริหารจัดการในพื้นที่โดยรอบ การเจรจาทวิภาคีไทย-กัมพูชาที่มีอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพที่กำหนดกันคร่าวๆ ออกมาในเดือนพฤษภาคม การส่งเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ รวมไปถึงการพิจารณารับรองบันทึกเจบีซี 3 ฉบับที่รัฐสภาไทยกำลังจะมีการประชุมกันในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม

ทุกอย่างล้วนสอดคล้องกัน และที่สำคัญเป็นไปตามความต้องการของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีเป้าหมายเพื่อต้องการปกป้องความผิดพลาดจากบันทึกความเข้าใจเรื่องปักปันเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาปี 2543 (เอ็มโอยู43) ที่พรรคประชาธิปัตย์ทำเอาไว้เท่านั้น

อีกทั้งคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่อ้างว่าหากร่างบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวไม่ผ่านสภาจะส่งผลกระทบในเรื่องการเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาชายแดน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถือว่าเป็นการ “บิดเบือนอย่างร้ายกาจ” เหมือนกับมีเจตนาข่มขู่ เพื่อหลอกลวงคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะในความเป็นจริงแล้วสามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายได้ แม้กระทั่งเอ็มโอยู 43 ก็สามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงเป็น “เอ็มโอยู 54” ก็ได้หากคิดอยากจะทำ หากจะเปลี่ยนแปลงไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ

ขณะเดียวกัน เมื่อวกกลับมาที่ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าไม่เห็นด้วยกับการถกจีบีซีในประเทศที่ 3 หรือแม้แต่การส่งกำลังทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ ซึ่งความเห็นดังกล่าวเหมือนกับการไม่เห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากทำให้ไทยเสียเปรียบ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคำพูดดังกล่าวของผู้บัญชาการทหารบกจะต้องการสื่อสารหรือจะซ่อนนัยอะไรหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากคำพูดในลักษณะคำต่อคำแล้ว ถือว่านี่คือท่าทีที่ชัดเจนและถูกต้อง เพราะเท่าที่ทราบในพื้นที่ชายแดนที่มีปัญหาทางทหารไทยเริ่มมีการกั้นรั้วรอบปราสาทพระวิหารเพิ่มเติม ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความตื่นตัวที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่น้อย

ดังนั้น การแสดงท่าทีของผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลาแบบนี้ถือว่ามี “ความหมาย” โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐสภากำลังจะพิจารณาบันทึกเจบีซี 3 ฉบับในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคมนี้ เพราะถ้ามองอีกมุมหนึ่งเหมือนกับการส่งสัญญาณบางอย่างไปถึงรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ในกรณีอธิปไตยของชาติ!!

กำลังโหลดความคิดเห็น