“ประวิตร” เผยทำหนังสือถึง “เตีย บัญ” ขอความชัดเจนจัดประชุมจีบีซีแล้ว กลาโหมระบุไม่เคยมีการจัดประชุมจีบีซีในประเทศที่ 3 มาก่อน เหตุเป็นเรื่องทวิภาคีของ 2 ประเทศ
วันนี้ (24 มี.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือจีบีซี ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 8 ว่าครั้งนี้ฝ่ายกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม แต่หากกัมพูชาไม่พร้อม ฝ่ายไทยก็พร้อมดำเนินการ ซึ่งฝ่ายทหารอยู่ระหว่างการพูดคุยกัน ทั้งนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.พูดไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยที่จะไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา
“การประชุมเป็นเรื่องของทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็จะต้องดูว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ผมได้คุยกับ พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชาแล้ว แต่ขณะนี้ต้องขึ้นอยู่กับกัมพูชาว่าจะดำเนินการอย่างไร ผมเชื่อว่าทางกัมพูชาคงไม่ขอเลื่อนไปอีก เพราะจะต้องมีการประชุมอยู่แล้ว ส่วนจะเมื่อไหร่นั้นต้องพูดคุยกันอีกครั้ง ไม่น่าจะมีปัญหา” พล.อ.ประวิตรกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นจะต้องมีการประชุมจีบีซีก่อนหรือไม่ ที่จะให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่ขณะนี้ทางกระทรวงกลาโหมได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาแล้วเพื่อหาความชัดเจนว่าจะจัดการประชุมเมื่อใด
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหมที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุมว่า การประชุมจีบีซีที่เป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหม โดยเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคง การพัฒนาพื้นที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชน 2 ประเทศ ซึ่งที่ประชุม รมว.กลาโหมได้เน้นให้ทำความเข้าใจถึงเรื่องการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ว่าเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะหารือถึงการปักปันเขตแดนและมีเพียงเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร และเจ้ากรมแผนที่ทหาร รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารบางส่วนร่วมเป็นกรรมการเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องการประชุมจีบีซีแต่อย่างใด
ทั้งนี้ยืนยันว่า ถ้าประเทศกัมพูชาที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมจีบีซีในปีนี้ไม่พร้อมที่จะจัดการประชุม กองทัพไทยพร้อมจะจัดการประชุมในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานของฝ่ายเลขานุการการประชุม และเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการประชุมเจบีซี และจีบีซี พร้อมกันที่อินโดนีเซีย เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกัน และการประชุมจีบีซีเป็นการประชุมแบบทวิภาคีที่พูดคุยกันระหว่างสองประเทศ ดังนั้นที่ผ่านมาทุกครั้งจึงไม่เคยมีการจัดประชุมจีบีซีในประเทศที่ 3 มาก่อน