xs
xsm
sm
md
lg

เวทีถกปัญหาเขตแดนไทยล่ม “คนหาดใหญ่” วอล์กเอาต์ ฉุน “ชาญวิทย์-7.1 ล.” ชิ่งหนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ -กลุ่มนักวิชาการ 7.1 ล้านเปิดเวทีเรื่องเขตแดนไทย-เพื่อนบ้าน ครั้งที่ 3 ณ อ.หาดใหญ่ แต่ยื้อสถานการณ์ความตึงเครียดของปัญหาข้อพิพาทไทย-เขมร ไปพูดเรื่องในต่างประเทศได้เพียงครึ่งวันต้องล้มไม่เป็นท่า หลังประชาชนที่ร่วมเวทีประท้วงเดินออกจากห้องประชุมเกลี้ยง เพราะ “ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ชิ่งหนีการขึ้นเวทีและตอบคำถามกรณีเขาพระวิหาร โดยยุบรวมหัวข้อเสวนาและตัดผู้ร่วมเสวนาโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

วันนี้ (28 มี.ค.) ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์รีสอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา, สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดการประชุมสาธารณะ “เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” ตามโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

โดยมีประชาชน นักศึกษา และนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ข้อพิพาทกรณีเขตแดนเขาพระวิหาร จ.ศรีษะเกษ ให้ความสนใจมาร่วม ซึ่งกิจกรรมการเสวนาในช่วงเช้านั้นวิทยากรได้ร่วมเสวนากรณีศึกษาเขตแดนระหว่างประเทศ-กลุ่มประเทศยุโรป-เอเชีย นำโดย อ.พนัส ทัศนียานนท์, รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนวนิช, ดร.มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ โดยมี นายอดิศักดิ์ ศรีสม ดำเนินรายการ ท่ามกลางการเสนอความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมที่สะท้อนถึงกรณีข้อพิพาทดินแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งต้องการให้รัฐบาลยกเลิกข้อตกลง MOU 43 และมีการโต้ตอบระหว่างนักวิชาการบนเวที และผู้ร่วมรับฟังอยู่เป็นระยะ

โดยเฉพาะประเด็น MOU43 ซึ่ง อ.พนัส ทัศนียานนท์ ชี้แจงว่าหากมีการยกเลิกแล้วประชาชนต้องคิดว่าจะช่วยกันทำอย่างไรต่อ และไม่ควรมีคำประชดประชัน มองว่าคนอื่นผิดด้วยคำด่าทอที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่อยากได้คำแนะนำมากกว่า และหากรับฟังข้อมูลฝ่ายอื่นแล้วจะเห็นว่า นายนภดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ทำให้พื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็นของไทยหลังจากที่กัมพูชาได้ลงนามรับรองแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร ทำให้ผู้ร่วมฟังแสดงความคิดเห็นว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคนใต้นั้นได้เสนอทางออกกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ด้วยความรักในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่เห็นคนในรัฐบาลสนใจให้ความสำคัญเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม การเสวนานั้นได้เลยเวลามาทำให้นายอดิศักดิ์ ศรีสม ผู้ดำเนินรายกายทำการปิดเวทีเพื่อพักกลางวัน และเลื่อนการตอบคำถามที่ค้างคาไว้ต่อในภาคบ่าย ทว่าเมื่อถึงเปิดเวทีในเวลาต่อมา คณะผู้จัดงานได้ปรับปรับเปลี่ยนหัวข้อเสวนาและวิทยากรโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟังได้รับทราบโดยได้รวบยอด “กรณีศึกษาเขตแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน” มาอยู่รวมกับ “ปัญหามรดกโลกมารวมกับเขตแดนไทย-มาเลเซีย และเสียงสะท้อนจากท้องถิ่น” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อ.สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, และ อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช, อ.ธนศักดิ์ สายจำปา และ อ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล โดยมี ดร.จตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร ดำเนินรายการ

ด้านนายนนธวัช ธัญยพัชรพงศ์ ตัวแทนชาวบ้าน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวถึงกรณีเขาพระวิหารว่า กรณีพิพาทเขตแดนกับกัมพูชานั้น มิได้กระทำอย่างนานาอารยประเทศ เพราะกัมพูชาให้ความป่าเถื่อนรุกล้ำอธิปไตยไทย หลังจากที่เซ็น MOU43 กัมพูชารุกล้ำดินแดนไทยอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลผลักดันให้เป็นดินแดนที่ว่างไม่มีการอาศัย 4.6 ตารางกิโลเมตร ทว่ารัฐบาลเขมรนำชาวบ้านมาอยู่และสร้างวัด แม้รัฐบาลไทยจะกล่าวว่าไทยไม่ได้เสียดินแดนแต่อยากตั้งคำถามว่า แล้วเราเสียสิทธิและอธิปไตยบนพื้นที่เหล่านั้นหรือไม่ และขอเสนอให้รัฐบาลผลักดันประชาชนออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ออกไปให้หมด

จนกระทั่งการเสวนาดำเนินขึ้นระยะหนึ่ง ซึ่งได้ข้ามมาพูดหัวข้อที่ 2 เรื่องเขตแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยไม่เข้าสู่ประเด็นกรณีปัญหามรดกโลก ทำให้ผู้ร่วมรับฟังยังรอคอยการตอบคำถามในช่วงเช้ารู้สึกไม่พอใจ และแปลกใจที่ไม่เห็น ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ ซึ่งเป็นนักวิชาการตัวตั้งตัวตีที่รับค่าจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 7.1 ล้านบาท เพื่อรับผิดชอบโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จนกระทั่งสอบถามผู้จัดงานจึงรู้ความจริงว่าทั้งคู่จะไม่ขึ้นเวทีเสวนาเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม แต่ให้คณะนักวิชาการในกลุ่มที่รับงานนี้มาขึ้นเวทีแทน และมีการเล่นเกมหลบหลีกบนเวที เพราะประชาชนต้องการมารับฟังข้อมูลเรื่องกรณีปัญหาเขาพระวิหารที่กำลังทำให้ไทยสูญเสียดินแดน หลังจากเสียอำนาจอธิปไตยแล้ว ตลอดจนอยากรู้ว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร และประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม ทำให้เหลือเพียงคณะผู้จัดงาน และนักศึกษาที่ช่วยงาน

โดยระหว่างที่สถานการณ์กำลังตึงเครียดและชุลมุนนั้น นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้ออกมาชี้แจงผู้ร่วมรับฟังว่า การจัดเวทีครั้งนี้ต้องพูดเรื่องเขตแดนให้รอบด้านและหลากหลาย จึงต้องแบ่งหัวข้อยกกรณีศึกษาในหลายประเทศของโลก ไม่เฉพาะแค่ปัญหาไทย-กัมพูชาเท่านั้น และแม้ว่าจะมีการออกจากห้องประชุมแต่เวทีก็จะดำเนินรายได้ เพราะเวทีนี้เป็นเวทีวิชาการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการและประชาชน

อย่างไรก็ตาม การจัดเวทีของโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้จัดมาแล้วเป็นครั้งที่ 3 และในเร็วๆ นี้จะเคลื่อนไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีษะเกษ โดยมีทีมนักวิชาการรับเงินจากกระทรวงต่างประเทศจำนวน 7.1 ล้านบาทซึ่งมีแนวคิดที่ยอมรับว่าไทยได้เสียดินแดนรอบปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชานับแต่ปี 2505 ตามคำตัดสินของศาลโลก และบางคนอยู่ในกลุ่มนักวิชาการเสื้อแดงนั้น ประกอบด้วย

1.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธาน
2.อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์
3.ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
4.รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร
5.รองศาสตราจารย์ อาทร ฟุ้งธรรมสาร
6.ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
7.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์
8.ดร.มรกต เจวจินดา ไมเออร์
9.อาจารย์ อัครพงษ์ ค่ำคูณ
10.นายสมฤทธิ์ ลือชัย
11.นายอดิศักดิ์ ศรีสม
12.นายสุเทพ คุ้มกัน
13.นายเภตรา บรรณานุรักษ์
14.คณะที่ปรึกษาของคณะทำงานโครงการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ ในด้านประวัติศาสตร์ กฎหมาย รวมทั้งด้านการค้า เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

บรรยากาศในช่วงเช้าที่นักวิชาการพูดเรื่องกรณีศึกษาเขตแดนในกลุ่มประเทศยุโรป-เอเชีย
เวทีเสวนาช่วงบ่ายเกิดขึ้นอย่างไม่ราบรื่น
หลังจากมีการรวบรัดตัดตอนปัญหาเขาพระวิหารและปัดขึ้นเวทีของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ทำให้คนฟังออกจากห้องประชุมทันที

ผู้ฟังยังประท้วงนักวิชาการที่ยังคงพูดเรื่องเขตแดนไทย-มาเลเซีย เพราะไม่ได้มีปัญหา และต้องการเรื่องปัญหาเขาพระวิหารที่ยังไม่มีคำตอบ
สุดท้ายเวทีการเสวนาจึงไม่มีผู้ฟังในภาคประชาชนแม้แต่คนเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น