ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การออกมาชุมนุมใหญ่ของภาคประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้เริ่มต้นปักหลักบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.โดยยื่นข้อเสนอคำขาดให้รัฐบาล 3 ข้อ คือ 1. ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตทางบก หรือที่รู้จักกันในชื่อของ MOU43 2. ให้ประเทศไทยถอนตัวจากสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก และ 3. ให้ผลักดันชาวกัมพูชาพ้นจากอธิปไตยของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด
สาเหตุของการออกมาแสดงพลังครั้งนี้ของพันธมิตรฯ เป้าหมายคือเพื่อแสดงความห่วงใยต่อการสุ่มเสี่ยงการสูญเสียอธิปไตยของไทย เนื่องจากเห็นชัดแล้วว่าท่าทีการปฏิบัติการของคนในรัฐบาล ตั้งแต่ระดับผู้นำอย่าง "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รมว.กลาโหม หรือกระทั่ง "นายกษิต ภิรมย์" รมว.ต่างประเทศ กับการจัดการปัญหาในเรื่องข้อพิพาทเขตแดนกับประเทศกัมพูชา ที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง หาได้ทำให้ประชาชนที่รักชาติ รักแผ่นดิน จะรู้สึกสบายใจ ต่อท่าทีและพฤติกรรมของบรรดาผู้มีอำนาจเหล่านั้นเลย
แต่กลับถูกทั้งนายอภิสิทธ์และนายสุเทพบิดเบือนข้อมูลอย่างไร้อย่างอาย
กล่าวคือ นายอภิสิทธิ์ระบุชัดเจนว่า “ถ้าทำตาม 3 ข้อ ประเทศไทยจะมีโอกาสในการที่จะเสียหาย หรือเสียดินแดน อาจจะต้องเข้าสู่สภาวะการสู้รบ”
เช่นเดียวกับนายสุเทพที่บอกว่า “จะทำให้รัฐบาลทำงานเหนื่อยขึ้น เท่าที่ฟังข้อเสนอของผู้ชุมนุมที่เสนอมานั้น ไม่ว่าจะเป็นให้รัฐบาลยกเลิก MOU43 ให้รัฐบาลผลักดันคนเขมรออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง นายกฯคงไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอนั้นได้”
วาทกรรมดังกล่าวที่ออกมาจากปากของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เชื่อได้ว่าประชาชนผู้หวงแหนแผ่นดินไทย หากได้ฟังแล้วคงจะต้องสะท้านใจไปตามๆ กัน เพราะขณะที่กัมพูชาย่ำยีศักดิ์ศรีไทยราวกับเป็นหัวหลักหัวตอตลอดมานั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์กลับแสดงบทบาทอ่อนข้อให้เสมอมา
นี่ต่างหากคือสิ่งที่เป็นอันตรายกับประเทศยิ่งเพราะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียดินแดน
** MOU43 ไทยเสียเปรียบเต็มประตู
สำหรับประเด็นข้อเรียกร้องแรก การยกเลิกMOU 43 ของรัฐบาล ที่นายอภิสิทธิ์ ท่องคาถาปกป้องราวกับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ไทยได้ประโยชน์นั้น นายอภิสิทธิ์มิอาจปฏิเสธได้ว่า MOUฉบับนี้ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่รุกล้ำดินแดนไทยบริเวณเขาพระวิหาร 2,875 ไร่ สุ่มเสี่ยงที่ไทยจะเสียดินแดนเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีแผนจะผนวกเข้าเป็นมรดกโลกร่วมกับปราสาทพระวิหาร 1.5 ล้านไร่และดินแดนส่วนอื่นๆ อีกรวม 1.8 ล้านไร่ตลอดชายแดนไทย-กัมพูชา
เมื่อเป็นเช่นนี้ คงต้องย้อนถามกลับไปที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพว่า ทำไมถึงจะยกเลิก MOU ฉบับนี้มิได้
และการยกเลิก MOU43 ก็มิได้ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนหรือนำไปสู่สภาวะการสู้รบหรือเป็นอันตรายแต่อย่างใด หากในทางกลับกัน การดำรงอยู่ของ MOU43 ต่างหากที่ทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงที่จะเสียดินแดนหนักเข้าไปทุกที
ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้มีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่ทหารกัมพูชาบุกเข้ามาจับคณะของ 7 คนไทยในดินแดนที่เป็นของราชอาณาจักรไทย
หรือการที่ทหารกัมพูชาเหิมเกริมด้วยการนำป้ายหินขนาดใหญ่มาติดไว้ที่บริเวณวัดแก้วสิกขาคีระสวาระด้วยข้อความว่าทหารไทยรุกล้ำดินแดนของกัมพูชา และที่นี่คือแผ่นดินกัมพูชา ทั้งๆ ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเขียนเอาไว้ชัดเจนว่า กัมพูชาได้แต่อธิปไตยเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น ส่วนดินแดนที่เหลืออยู่ ซึ่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น แท้ที่จริงแล้วคือผืนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์แบบชนิดที่ไม่ต้องมีข้อสงสัยใดๆ
แล้ว MOU43 ของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็มิได้ช่วยอะไร เพราะท้ายที่สุดแล้วการบีบให้กัมพูชารื้อป้ายออกไปสำเร็จมิได้เกิดขึ้นเพราะ MOU43 หากแต่เป็นเพราะการที่ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 นำกำลังทหารเข้าไปกดดันต่างหาก
แล้วเช่นนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล้ายืนยันอีกหรือไม่ว่าเอ็มโอยู 43 ที่หวงแหนดังพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ปาน ช่วยแก้ปัญหาการละเมิดอธิปไตยครั้งนี้ได้ ทั้งยังตอกย้ำให้เห็นชัดว่า การไม่ปฏิบัติตามเอ็มโอยู 43 เป็นการตอบโต้ที่ไม่ทำให้เกิดสงครามอย่างไร ตรงกันข้ามยังถือว่าเป็นอีกครั้งที่ไทยได้แสดงสิทธิ์เหนืออธิปไตยของชาติ แถมยังสยบความขัดแย้งตามแนวชายแดนได้อย่างรวดเร็วเห็นผลอีกต่างหาก
นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณีการกล่าวอ้างของรัฐบาลต่อการเกิดสงครามอย่างชัดเจนยิ่งว่า การที่ฝ่ายรัฐบาลบอกว่า การไม่มีเอ็มโอยู จะทำให้เกิดสงคราม การระบุเช่นนี้ เป็นการข่มขู่ประชาชนที่ขาดข้อมูลข่าวสารและมีการรับรู้ที่จำกัดทำให้เกิดความกลัว และยอมรับในสิ่งที่รัฐบาลบอก แต่คนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารย่อมคิดได้ว่าการเกิดสงครามระหว่างประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่ว่ามีหรือไม่มี เอ็มโอยู แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการเช่นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของชาติ ความเข็มแข่งหรือความอ่อนแอของผู้นำประเทศ และแสนยานุภาพของกองทัพ เป็นต้น
นอกจากนี้ หากไล่เรียงถึงสถานการณ์ภายหลังการทำ MOU 43 แล้วจะเห็นได้ว่า ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะสกัดกั้นการบุกรุกอธิปไตยของฝ่ายกัมพูชาได้ เพราะภายหลังการมี MOU43 ก็ปรากฏว่า แทนที่จะหยุดยั้งชุมชนกัมพูชาที่เข้ามาตั้งร้านค้าและแผงลอยบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารเพื่อขายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2541 ได้ แทนที่จะหยุดยั้งและรื้อวัดแก้วสิขาคีรีสวาระที่กัมพูชาสร้างขึ้นบริเวณฝั่งตะวันตกของปราสาทพระวิหาร ซึ่งอยู่นอกเขตที่กั้นรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2505 ได้ กลับปรากฏว่า หลังมี MOU43 ที่นายอภิสิทธิ์อ้างว่ามีคุณอนันต์กลับกลายเป็นมีโทษมหันต์ เพราะชุมชนกัมพูชาได้ขยายตัวหนักเข้าไปอีก โดยมีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อเป็นที่ทำการเจ้าหน้าท้องถิ่นของกัมพูชา
รวมทั้งมีการสร้างถนนจากบ้านโกมุยของกัมพูชาขึ้นมายังเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพของดินแดนไทย และแม้กระทรวงต่างประเทศของไทยจะทำหนังสือประท้วงหลายฉบับ แต่กัมพูชาก็นิ่งเฉย แถมอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ไม่ได้ใช้มาตรการที่เข้มแข็งในการหยุดยั้งการรุกล้ำอธิปไตยของไทยจากฝั่งกัมพูชาให้เป็นที่ประจักษ์
นอกจากนี้ MOU43 ยังนำไปสู่การรุกล้ำดินแดนของไทยในอีกหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนกัมพูชาในเขตไทยที่บ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ที่อพยพเข้ามาอยู่เมื่อเกิดสงครามในประเทศกัมพูชา แต่เมื่อสงครามสงบ ชาวกัมพูชาเหล่านี้ก็ไม่ยอมออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งฝ่ายไทยก็ไม่สามารถใช้กำลังผลักดันให้ออกไปได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตาม MOU43
หรือชุมชนกัมพูชาที่บ้านหนองรี ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด ที่ฝ่ายกัมพูชาได้สร้างเรือนพักทหารล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยประมาณ 200 เมตร แต่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ใช้กำลังผลักดันออกไป เพราะต้องปฏิบัติตาม MOU43
ถอนตัว คกก.มรดกโลก
ความจำเป็นที่ต้องรีบเร่ง
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การถอนตัวจากสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ แต่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพกลับมิได้สนใจใยดีต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเสียเปรียบจากการเป็นภาคีสมาชิกมรดกโลกมาโดยตลอด
ที่สำคัญคือการถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิกมรดกโลกก็มิได้ก่อให้เกิดผลเสียกับประเทศไทยแต่อย่างใด มิได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกของไทย เพราะไม่พบข้อกำหนดที่จะให้มีการเพิกถอนการเป็นแหล่งมรดกโลกในกรณีที่ประเทศนั้นๆ ลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิก
ดังนั้น สถานที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแล้วในประเทศไทยก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ ความจริงที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมิอาจปฏิเสธความจริงได้ก็คือ นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกได้เพียงฝ่ายเดียวจนถึงปัจจุบัน ทั้งยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกล้วนแล้วแต่เข้าข้างฝ่ายกัมพูชาทั้งสิ้น
กล่าวคือเมื่อครั้งที่มีมติให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนได้สำเร็จนั้น ก็เป็นมติที่ไม่โปร่งใสและไม่เคยปรากฏลักษณะเช่นนี้มาก่อน เพราะคณะกรรมการฯ มีมติให้ขึ้นทะเบียนได้โดยที่กัมพูชายังไม่มีการกำหนดเขตกันชนและแผนจัดการพื้นที่อย่างชัดเจน แต่เป็นที่ทราบดีว่าเขตกันชนที่จะต้องถูกกำหนดขึ้นจะอยู่ในพื้นที่ของไทย ซึ่งเป็นการขัดอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมทางธรรมชาติ ค.ศ.1972 ในมาตรา 11 ข้อ 3. ที่กำหนดว่า การบรรจุสิ่งใดในทะเบียนมรดกโลกต้องได้รับการยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น คณะกรรมการมรดกโลกยังได้ยกเว้นให้กัมพูชาส่งเอกสารเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคม 2551 ได้ ทั้งที่ใน Operational Guidelines for the Implementation of World Heritage Convention กำหนดตามข้อ 148h ว่า เอกสารที่ส่งหลักจากวันที่ 28 ก.พ.2551 จะไม่นำมาพิจารณาในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก และกำหนดเวลาดังกล่าวควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ดังเช่นที่ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย และอดีตคณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ ที่สะท้อนความคิดเห็นว่า “การประกาศยกเลิกเป็นภาคีสมาชิกลักษณะนี้ ไม่ได้แปลว่าเราไปเกเรใคร แต่กลับจะทำให้ประชาคมโลกเห็นว่า ประเทศไทยมีหลักการในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ยึดถือเรื่องความเป็นอธิปไตย เพราะเป็นประเทศที่มีเอกราช การจะเอาดินแดนของไทยไปเข้าแผนบริหารจัดการของกัมพูชา เป็นเรื่องใหญ่ที่เรายอมไม่ได้ และหากยูเนสโกยังมีท่าทีเกื้อกูลเขมรอย่างที่เป็นมา นอกจากรัฐบาลไทยจะต้องปฏิเสธทั้งการเข้าร่วมคณะกรรมการร่วม 7 ประเทศที่ตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนแล้ว ยังต้องพิจารณาการถอนตัวจากอนุสัญญามรดกโลก รวมถึงถอนตัวจากการเป็นสมาชิกยูเนสโกด้วย”
ผลักดันเขมรพ้นแผ่นดินไทย ไม่ใช่ทำสงคราม
ส่วนประเด็นสุดท้ายคือการผลักดันชาวกัมพูชาพ้นจากอธิปไตยของประเทศไทยโดยเร็วที่สุดนั้น ก็มิได้จะเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ภาวะสงครามแต่ประการใด เพราะการผลักดันชาวกัมพูชาสามารถกระทำได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การตรวจหนังสือเดินทางของชาวกัมพูชาที่เข้ามาในพื้นที่ของไทย มาตรการการเก็บภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีศุลกากรหรือภาษีสรรพสามิต เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือดินแดนของตนเอง
แต่ความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ก็คือ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชารัฐบาลไทย มีท่าทีอวยอ่อนให้กับกัมพูชาแทบจะทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากันของทหารทั้ง 2 ฝั่ง ในเขตพื้นที่ชายแดนติดกัน การเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินของชาวกัมพูชาในพื้นที่พิพาท หรือกระทั่ง วาทกรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อการตอบโต้ของไทยกับสมเด็จฮุนเซน ที่แสนอ่อนหวานราวกับว่า ประเทศไทยเป็นหนี้บุญคุณอะไรประเทศกัมพูชาแต่ชาติปางใดก็มิทราบได้
ถึงแม้รัฐบาลใช้ถ้อยคำสวยหรูเพียงใดว่าไม่ต้องการให้เกิดความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างประเทศ หากไม่เป็นการเสียเวลานัก คงต้องอันเชิญคำพูดของนายฮุนเซน ที่เคยกล่าวไว้ว่า "ให้ทหารสามารถยิงคนไทยทุกคน ที่เข้าเขต 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทพระวิหาร แม้เป็นพลเรือนไทยก็ให้ยิงได้เลย" ออกมาย้ำเตือนให้ผู้นำประเทศไทยดีกรีระดับผู้ดีอีตัน อย่างนายอภิสิทธิ์รับทราบไว้เสียหน่อยว่าทางกัมพูชาไม่เคยให้เกียรติคนไทยและประเทศไทยเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ฉะนั้น เมื่อพิจารณาข้อเสนอของพันธมิตรฯ 3 ข้อ ดูจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยหรือสร้างเงื่อนไขต่อประเทศชาติ เพราะหากพิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ว่ามุมใด ฝ่ายไทยก็มีแต่จะเสียเปรียบฝ่ายกัมพูชามาตลอด ซึ่งหากรัฐบาลยังเห็นว่าพันธมิตรฯ เป็นคนหนึ่งในฐานะประชาชนชาวไทยที่หวงแหนแผ่นดินไทย ก็ควรจะรับฟังและนำไปพิจารณาปฏิบัติตาม มิใช่บอกปัดตั้งแต่ต้น หรือใส่ร้ายว่าการชุมนุมของพันธมิตรจะก่อให้เกิดสงครามกับประเทศกัมพูชา
ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำท่าทีการจัดการที่อ่อนด้อยของรัฐบาลที่มี "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรี และวาทกรรมอันตรายทางการเมืองของ "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" รองนายกรัฐมนตรี มาเปรียบเทียบกับข้อเสนอ 3 ข้อ ที่พันธมิตรฯ ประชาชนคงตัดสินได้ว่า อย่างไหนดูน่าจะมีความน่ากลัวมากกว่ากันแน่ !?