xs
xsm
sm
md
lg

ยื่น3ข้อแก้ปัญหาเขมร พธม.ดีเดย์ชุมนุมใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “จำลอง” ย้ำจุดยืนข้อเสนอ 3 ข้อ ถอนตัวจากกรรมการมรดกโลก - เลิก MOU 43 - ผลักดันเขมรไปจากแผ่นดินไทย ลั่นชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าจะยอมรับเงื่อนไขพร้อมยันไม่บุกยึดทำเนียบแน่นอน ขณะที่นักกฎหมายระหว่างประเทศ หนุนยกเลิก MOU 43 ชี้ขัดรธน.กัมพูชาที่ยึดแผนที่ 1:100,000 ถือเป็นโมฆะ ด้าน"มาร์ค" ลั่น ม็อบทุกสีชุมนุมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กำหนดการเดิมของการชุมนุมในวันนี้เรายืนยันว่าให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาปกป้องแผ่นดิน โดยทำตาม 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.การถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลก 2.ยกเลิก MOU 43 และ 3.ผลักดันชาวกัมพูชาออกไปจากแผ่นดินไทย ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่นายกฯสามารถที่จะทำได้ทุกขณะ แต่จนถึงขณะนี้นายกฯ ก็ยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้เลย ทำให้เราต้องชุมนุมตามกำหนด ส่วนเรื่อง 7 คนไทยที่ถูกจับกุมนั้นก็เป็นประเด็นที่ผนวกเพิ่มเติมเข้ามา ทั้งนี้จะไม่มีปัญหา 7 คนไทยเกิดขึ้นเลย หากนายกฯ ได้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ

“การชุมนุมเราจะชุมนุมไปไม่หยุด ขึ้นอยู่กับนายกฯ ว่าจะแก้ไขในประเด็นที่เรียกร้องหรือไม่ หากนายกฯ ยังไม่จัดการกับปัญหาเขาพระวิหาร เราก็จะชุมนุมยืดเยื้อต่อไป แต่เราจะไม่เข้าไปในทำเนียบอย่างที่มีข่าวออกมา ทั้งนี้ที่มีข่าวว่าพันธมิตรฯ กับทางนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ มีความคิดเห็นแตกต่างกันนั้น ขอยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่ข่าวที่บอกว่าผมกับสมณะโพธิรักษ์แตกแยกกันนั้นไม่เป็นความจริง ผมยังคุยกัน โทรศัพท์กับสมณะโพธิรักษ์ตลอด เรื่องนี้เป็นเรื่องโกหก” พล.ต.จำลองกล่าว และว่า พรุ่งนี้จะเริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป ที่หน้ารัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลเป็นเวทีของกองทัพธรรมที่ชุมนุมกันอยู่แล้ว เราจะชุมนุมประสานกันโดยตลอด ไม่มีการแตกแยกกัน

***นักกม.ระหว่างประเทศหนุนเลิกMOU43

นายเจริญ คัมภีรภาพ นักกฎหมายระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการยกเลิก MOU ปี 2543 ที่ฝ่ายภาคประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ดังกล่าว ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชานั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชามาตั้งแต่ต้น เพราะรัฐธรรมนูญกัมพูชา มาตรา 2 กำหนดไว้ว่า “บูรณภาพแห่งดินแดนภายใต้ราชอาณาจักรกัมพูชาจะต้องไม่ถูกละเมิดภายใต้เขตแดนตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนที่มาตราส่วน1:100,000 ที่จัดทำขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1933-1953 และได้รับการยอมรับจากสากลระหว่างปี 1963-1969

ซึ่งหากสนธิสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ ที่ขัดต่อมาตรา 2 ข้างต้น ให้ถือว่าสนธิสัญญาหรือข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของกัมพูชา มาตรา 55 ที่ระบุว่า สนธิสัญญาและความตกลงใดๆ ที่ไม่ต้องด้วยความเป็นเอกราช อำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ความเป็นกลาง และเอกภาพแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาจะต้องถือเป็นโมฆะ

“ดังนั้น เมื่อ MOU 43 ที่กัมพูชาอ้างการใช้แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชา และก็ต้องถือว่าเป็นโมฆะ การประกาศยกเลิก MOU 43 จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกัมพูชา และไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจนั้นก็ต้องยึดหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ หรือ International rule of law ด้วย” นายเจริญ กล่าว

เขายังย้ำว่า การที่รัฐธรรมนูญกัมพูชา กำหนดให้ยึดแผนที่มาตราส่วน 1: 100,000 จะทำให้การปักปันเส้นเขตแดนเปลี่ยนไป จุดที่ปักหลักหมุดที่ 73 ก็จะต้องเปลี่ยนและเชื่อมโยงไปถึงการแบ่งปันอาณาเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาด้วย นอกจากนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าคนไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชาก็จะต้องตกไป

“ในเมื่อ MOU 43 ขัดต่อรัฐธรรมนูญกัมพูชาแล้ว เหตุใดทั้งผู้นำของกัมพูชาและผู้นำของไทยจึงต้องกอดเอาไว้แน่น เรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้นอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ โดยเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ในเขตทับซ้อนทางทะเล” นายเจริญ กล่าว

***”มาร์ค”ชี้ชุมนุมได้ภายใต้กฎหมาย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะออกมาชุมนุมในวันนี้ ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ถึงแนวทางการดูแลความสงบเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มคนเสื้อแดง และคนเสื้อเหลือง ออกมาชุมนุมพร้อมกัน ก็คงจะไม่มารวมกัน แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และทางเจ้าหน้าที่จะดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนและการประชุมสภา

** ดื้อตาใส ไม่ทำตามข้อเสนอพันธมิตรฯ

เมื่อถามว่าการชุมนุมครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนกับรัฐ แต่เป็นการเรียกร้องจากรัฐบาล 3 ข้อ ซึ่งหากไม่ได้ตามที่เรียกร้อง ก็จะเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่า ถ้าทำตาม 3 ข้อ ประเทศไทยจะมีโอกาสในการที่จะเสียหาย หรือ เสียดินแดน อาจจะต้องเข้าสู่สภาวะการสู้รบ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ และเห็นว่าหากมีข้อมูลที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน ก็ยินดีรับฟัง แต่ในความรับผิดชอบของตน เห็นว่าถ้าทำตามข้อเสนอแนะของเขา

1. กัมพูชาต้องเดินหน้า แผนบริหารพื้นที่บนมรดกโลกได้ทันที เพราะไม่มีใครไปค้านเนื่องจากไทยไปถอนตัว 2. เอ็มโอยู ถูกยกเลิกไป สภาพต่างๆ ที่เคยตกลงกันไว้ อย่างที่เคยบอกไว้ว่า เป็นตัวยันว่า เขตแดนต่างๆยังไม่ได้ตกลงกัน อาจจะถูกลบล้าง โดยปัญหาเรื่องพฤตินัยการครอบครอง จะมีความวุ่นวาย ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ ตนตัดสินใจอย่างนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ รักษาดินแดน ประโยชน์ของประชน รักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีเจตนาอื่น และหากเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องมาพูดคุยกัน ไม่ก็นำเสนอ เพราะมีสิทธิ์ที่จะนำเสนอ

** "เทือก"เรียกผบ.ตร.ถกรับมือม็อบ

เมื่อเวลา 08.45 น.วานนี้ ( 24 ม.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร. และพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก บช.น.เข้าพบที่ห้องทำงาน ตึกบัญชาการ 1 โดยใช้เวลาหารือ 40 นาที

จากนั้น ผบ.ตร.ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมดูแลการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯและกลุ่มนปช.ในวันนี้ ว่าได้รับนโยบายจาก นายสุเทพ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ในการดูแลความสงบเรียบร้อย เนื่องจากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงมีการวางแผนเเละกำหนดมาตรการ เพื่อความพร้อม

** หากรุนแรงจะประกาศพื้นที่ควบคุม

เมื่อถามว่า จะประกาศให้พื้นที่มีมีการชุมนุม เป็นพื้นที่ควบคุมหรือไม่ ผบ.ตร. กล่าวว่า ยังไม่มี และยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ยอมรับว่าได้เปิดทางไว้หากมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ควบคุม

" ตอนนี้ความพร้อมนั้นชัดเจนขึ้น เพราะให้นโยบายชัดเจนแล้ว คือห้ามปิดล้อมสถานที่ราชการเด็ดขาด ส่วนแผนจราจร ก็มีความเป็นห่วง และพยายามอย่างที่สุดที่จะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระดมกันเข้ามา เบื้องต้นจะใช้ 24 กองร้อย และในคืนวันนี้จะเร่งวางกำลัง โดยตนขออนุญาตนายสุเทพ วางกำลังตำรวจปราจราจลในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล 4 กองร้อย และ รัฐสภา 2 กองร้อย โดยกำลังทั้งหมดนี้ จะปรับไปตามสถานการณ์ และภาวะตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องขอกำลังทหารเข้ามาช่วย" ผบ.ตร. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น