นายกฯ เข้าบ้านพิษฯ ถก “พนิช-กต.” ขอข้อมูลโม้ชาวบ้านคืนนี้ เผย “ประยุทธ์” ยันจะไปถอนป้ายเขมรบนพระวิหารออก เล็งชงฟ้องค้านขึ้นมรดกโลก หวังเปลี่ยนแปลงมติ โวมีข้อมูลสู้ อ้างไม่ถอนตัวเพราะหวังแจงนานาชาติไม่ให้หนุน ลั่นมีแผน 2 หากพลาด ยังไม่พบ “ฮุนเซน” ชี้ “สก อาน” ยังไม่กำหนดวันคุย จี้ พธม.บอกซิยกเลิก MOU แล้วไงต่อ ขู่ถ้าเลิกเดี๋ยวเขมรใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ลั่นไม่ยอมให้ทำเนียบโดนล้อม
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายกัมพูชามีการขึ้นป้ายบริเวณปราสาทพระวิหารว่า ได้สั่งการไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยทางผู้บัญชาการทหารบกยืนยันจะดำเนินการให้มีการรื้อถอนป้ายดังกล่าวออกไป คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ ทาง ผบ.ทบ.ได้รายงานด้วยว่า ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จะมีลักษณะแบบนี้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งแม่ทัพก็ยืนยันว่าจะดำเนินการ และทั้งหมดนี้เราจะใช้ในการไปบอกกรรมการมรดกโลกให้เห็นชัดเจนว่านี่คือปัญหาว่าทำไมเขาถึงเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ไม่ได้เด็ดขาดเพราะยังมีความขัดแย้งกันอยู่สูง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เดือนนี้ที่จะมีการพบกันระหว่างนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีความเป็นไปได้น้อยลงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะนายสก อาน ตอบรับในหลักการเพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลา เมื่อถามว่ากรณีที่จะบอกกับกรรมการมรดกโลกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราคาดหวังว่ามรดกโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงมติของตัวเองด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คิดว่าอย่างนั้น เพราะกระบวนการที่เราทำมาตลอดหลายคนจะสอบถามอยู่เรื่อยว่าเราเตรียมการอะไรสำหรับเดือนมิถุนายนบ้าง ซึ่งอยากจะบอกว่านอกเหนือจากที่เราเตรียมข้อมูลทางเทคนิคที่จะคัดค้านรายงานของทางกัมพูชาที่เขาเสนอมา และเป็นเอกสารซึ่งเราเพิ่งได้รับเมื่อปีที่แล้ว อีกด้านหนึ่งซึ่งตนเองทำมาตลอดเวลา คือ เวลาพบปะกับประเทศต่างที่มีบทบาทอยู่ในมรดกโลก จะอธิบายให้เห็นถึงการที่มรดกโลกไม่ควรมีการอนุมัติบริหารจัดการพื้นที่ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่จะนำไปสู่ความตึงเครียด ความขัดแย้ง ฉะนั้น เวลาที่เรามีข้อมูลอะไรที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทั้งหมด เราจะรวบรวมเอาไว้และให้กระทรวงการต่างประเทศนำสิ่งเหล่านี้ไปให้ทางมรดกโลกเข้าใจ และจะสอดคล้องกับที่เราบอกกับทางกัมพูชาไว้ว่าถ้าไม่ต้องการเห็นปัญหาความตึงเครียดก็ควรจะมีการนำเรื่องนี้มาพูดคุยกันเพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ
เมื่อถามว่า ก่อนที่จะถึงเดือนมิถุนายนจะมีโอกาสนัดพบกับสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่แผนที่จะพบกัน แต่โดยปกติในเวทีอาเซียนก็ต้องพบกันอยู่แล้ว เมื่อถามต่อว่า แนวทางที่วางไว้นอกจากจะให้ชะลอแผนการบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนของกัมพูชาแล้วจะให้มีการทบทวนมติที่ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชาด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ค่อยๆ ไปทีละขั้น พอเราสามารถที่จะแสดงให้ทางกรรมการมรดกโลกเห็นว่าแนวทางนี้ยังเดินต่อไม่ได้ ต่อไปจะไปผลักดันต่อว่าเป็นอย่างไรถึงเดินไม่ได้ และจะต้องแก้ไขอย่างไร
เมื่อถามว่า โอกาสที่คิดว่ามรดกโลกจะรับฟังแนวทางของไทยมีมากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากการฟังเสียงของหลายๆ ประเทศที่ได้พบ เวลาเราพูดเรื่องนี้ขณะนี้มีความเข้าใจดีขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้อาจไม่ค่อยมีโอกาสรับฟังในส่วนของฝ่ายเรา นี่คือเหตุผลที่ทำไมตนจึงบอกว่าในชั้นนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปถอนตัว แต่ถ้าเราเห็นว่าเขาไม่ฟังเหตุฟังผลอะไรต่างๆ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในขณะนี้ถ้าเราไปถอนตัวเลยจะทำให้เสียโอกาสในการทำความเข้าใจกับบรรดาประเทศต่างๆ ว่าสถานการณ์ตรงนี้เป็นอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศต่างๆ ไม่ได้ทราบประเด็นปัญหานี้ละเอียดมากนัก และอาจมีความรู้แค่เพียงว่าศาลโลกเคยตัดสินว่าอย่างไร และไม่รู้รายละเอียดการตัดสินของศาลโลกด้วย ฉะนั้น เราจะต้องเป็นผู้ทำความเข้าใจ การที่เรามีบทบาทหรือยังเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกถือเป็นโอกาสในการที่เราจะทำความเข้าใจต่อบรรดาประเทศต่างๆ
เมื่อถามว่า สุดท้ายกรณีนี้ถ้าไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง ขณะเดียวกันเป็นความเลวร้ายที่รัฐบาลที่ไปรับรองแผน เราจะเตรียมการแก้ไขปัญหาอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราสามารถที่จะดำเนินการได้โดยมีแผนรองรับอยู่ เมื่อถามต่อว่าเรื่องเอ็มโอยูที่มีความเห็นต่างจากผู้คัดค้าน จะทำอย่างไรให้มีความเข้าใจที่ตรงกันได้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราพยายามชี้แจง แต่ต้องยอมรับว่าประเด็นอย่างนี้มันมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ สิ่งที่ตนพยายามย้ำและเสียดายคือน่าจะพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลมากกว่าการที่กล่าวหากัน ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่าเราไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร
เมื่อถามต่อว่า ในเรื่องของเอ็มโอยูมีรายละเอียดที่จะสามารถเปิดให้ประชาชนรับทราบได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เอ็มโอยูเป็นเอกสารที่เปิดเผยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีการไปตีความอาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งตนก็ยืนยันว่ารัฐบาลนี้ตีความอย่างไร เพียงแต่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มที่คัดค้านกังวลกันว่าจะไปตีความเป็นอย่างอื่น ตนบอกว่าไม่ เราตีความชัดเจนและเดินตามแนวทางตามที่ประกาศไปอย่างชัดเจน
เมื่อถามว่า มีการมองว่าเจตนารมณ์ของผู้ทำเอ็มโอยูในขณะนั้นมีความเข้าใจที่สวนทางกันกับสิ่งที่นายกฯ กำลังเข้าใจอยู่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเองไม่คิดอย่างนั้น เพราะได้คุยกับบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอ็มโอยูในครั้งนั้น ถ้าจะมีแตกต่างกันบ้างคือมีการไปตีความหรือขยายความของกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงประมาณปี 2546-2548 แต่เราได้มีการปรับแนวทางนี้มาอย่างชัดเจน เพราะกระทรวงการต่างประเทศได้มีการยืนยันไปปลายปี 2551 เมื่อถามต่อว่า แสดงว่านายกรัฐมนตรียืนยันว่าเอ็มโอยูมีประโยชน์มากกว่าที่จะยกเลิก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยืนยัน และจริงๆ แล้วตนอยากให้ฝ่ายที่เห็นว่าควรจะยกเลิกช่วยอธิบายด้วยว่า หากยกเลิกแล้วแนวทางการแก้ปัญหาในทุกพื้นที่ตลอดบริเวณชายแดนคืออะไร เพราะบางคนเข้าใจว่าคำพูดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งความจริงแผนที่ที่ปรากฏในเอ็มโอยูบอกว่า แผนที่นี้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนฯ แต่ว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 บางคนเข้าใจว่าถ้าเราหากไปยกเลิกเอ็มโอยู มันจะหายไป ซึ่งมันไม่หายไป เพราะก่อนเอ็มโอยูทางกัมพูชาเขาก็ยึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเราไม่ยอมรับและการไปยกเลิกเอ็มโอยูนั้นก็ไม่ทำให้ทางกัมพูชาไม่ยึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 หรือทำให้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 หายไป แต่เอ็มโอยูเป็นตัวที่บังคับว่ากัมพูชาเองก็ใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ไม่ได้ ต้องมาพิสูจน์ในพื้นที่ ต้องสำรวจด้วยกัน เมื่อสำรวจแล้วเราจะยอมรับผลการสำรวจตกลงหรือไม่ ยังต้องมาขอความเห็นชอบจากสภา ฉะนั้น ตนมั่นใจว่าไม่มีสภาชุดไหนที่จะไปยอมตกลงในลักษณะที่ทำให้เราเสียดินแดน
เมื่อถามว่า ปัญหาชายแดนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกัน ของเรายึดสันปันน้ำในขณะที่กัมพูชายึดแผนที่ปักปันเขตแดนที่มีอยู่ ซึ่งถือแผนที่คนละฉบับกับเรา และในพื้นที่ทับซ้อน ไม่มีทั้งสันปันน้ำและสันเขา จะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน อย่างพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องคนไทย 7 คน มันไม่มีปัญหาเรื่องสันปันน้ำ ไม่มีปัญหาเรื่องแผนที่แล้ว เป็นเรื่องของหลักเขต ฉะนั้น ตรงนี้เป็นเหตุผลที่เป็นเรื่องของหลักเขต ดังนั้นเวลาเราพูดถึงเรื่องเอ็มโอยู หรือปัญหาของไทย-กัมพูชานั้นจะไปดูวรรคหนึ่งหรือพื้นที่หนึ่งไม่ได้ ต้องดูภาพรวมทั้งหมดให้เห็นว่าแนวทางในการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าปัญหาในเรื่องของเขตแดนวิธีการที่ปฏิบัติกันทั่วโลกหรือเป็นสากลนั้น ต้องเป็นแนวทางในลักษณะนี้ ไม่เช่นนั้นมันจะปฏิบัติกันอย่างไร ถ้าเรายกเลิกเอ็มโอยูไป ทางกัมพูชาจะยึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ทันที ซึ่งเราก็บอกว่าไม่ใช่ แล้วยังไง จะต้องรบกันตลอดกันแนวชายแดนหรืออย่างไร ฉะนั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ตนบอกว่าเราต้องช่วยกันดู เอ็มโอยูเป็นเครื่องมือที่ทำให้ใครต่างๆ จะมาอ้างสิทธิอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมาตกลง มีกระบวนการกันว่าที่สุดจะยุติอย่างไร ระหว่างที่ยังไม่ยุติจะต้องมาปฏิบัติกันอย่างไร ถ้ามีการละเมิดต้องมีการทักท้วงกันโดยอาศัยข้อตกลงคือตัวเอ็มโอยู
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะชี้แจงและแถลงจุดยืนในคืนนี้ คิดว่าจะทำให้ฝ่ายที่เห็นต่างเข้าใจได้มากขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนเองมีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงแล้วแสดงจุดยืนของรัฐบาล แต่จะบังคับให้ใครเชื่อหรือเห็นด้วยคงไม่ได้ แต่หวังว่าคนส่วนใหญ่จะได้ฟังเหตุผลแล้วใช้วิจารญาณ เมื่อถามต่อว่า ที่ผ่านมามีการทำความเข้าใจกับกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาหลายครั้ง คิดว่าในครั้งนี้เขาจะเปิดใจรับฟังมากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนเองหวังว่าทุกฝ่ายจะเปิดใจ บางทีมีคนที่ส่งข้อความมาถึงตนว่าทำไม่เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เมื่อตนลองอธิบายไปเขาก็เข้าใจหรืออย่างน้อยเขาก็เปิดใจกว้าง และเขาก็บอกว่าได้ฟังข้อมูลของทางกลุ่มที่เคลื่อนไหว โดยเขาเองก็ไม่แน่ใจ ซึ่งบอกไปว่าไม่เป็นไร
“ของอย่างนี้มาช่วยกันแก้ปัญหาให้กับบ้านเมืองได้ แต่ถ้ามาพูดทำลายล้างกันอย่างเดียว มันไม่ได้ช่วยอะไรใคร ไม่ได้ช่วยให้เราแก้ปัญหาชายแดนให้ดีขึ้น ไม่ได้ให้เราได้ข้อยุติที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า การชุมนุมมีการยกระดับข้อเรียกร้องมากขึ้น นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน ขณะนี้ต้องบอกว่าเป้าหมายของเขาไม่ใช่เรื่องเอ็มโอยู แต่เป็นเรื่องการไล่รัฐบาล แต่เรามีหน้าที่ดูแลไม่ให้การใช้สิทธินอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ให้เกิดความรุนแรง ส่วนการที่จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่อย่างไร ตนบอกแล้วว่ายังไงตนเองจะไปมาตามระบบของมัน เมื่อถามต่อว่า ห่วงมือที่สามที่จะเข้ามาก่อความไม่สงบหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องช่วยกันดูแล เพราะจริงๆ แล้ว เวลาที่เราให้เจ้าหน้าที่ไปพุดคุยกับผู้ชุมนุมก็เพื่อประโยชน์ในเรื่องนี้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลหรือใคร แต่เราต้องดูแลทั้งสาธารณะ คือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและเราต้องดูแลด้วยว่าการชุมนุมไม่ตกเป็นเหยื่อของมือที่ 3 หรือผู้ใช้ความรุนแรง ตนจึงพยายามย้ำว่าขอให้ผู้ชุมนุมกรุณาให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ และตนเองไม่พยายามเอาฝ่ายการเมืองเข้าไปยุ่งกับการเจรจาเกี่ยวกับการชุมนุม เมื่อถามว่า การข่าวมีรายการมือที่ 3 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าขณะนี้ไม่มี
เมื่อถามว่า บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลถูกปิดบางส่วน หากเพิ่มบริเวณทางสะพานมัฆวานรังสรรค์ จะกลายเป็นทำเนียบถูกปิดล้อมอีกครั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราพยายามเจรจาขอให้เปิดเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และเราคงไม่ยอมให้กลับไปสู่สภาพเดิม
ทั้งนี้ ภายหลังการออกรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ นายอภิสิทธิ์ได้เดินทางเข้าบ้านพิษณุโลก เพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จะแถลงจุดยืนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับ ซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา และกรณี 7 คนไทยที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุม ซึ่งจะออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เวลา 20.30 น.ในคืนนี้ โดยมีนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายปณิธาน วัฒนายากร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยใช้เวลาการหารือประมาณ 1 ชั่วโมง