xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาถก JBC “มาร์ค” ขู่ไม่รีบรับรองเขมรจะดึงต่างชาติจุ้น ชู กมธ.ท้วงจุดยืนไทยได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมรัฐสภา เริ่ม ปธ.กมธ.เจบีซี แจง 5 ข้อสังเกต ชี้บันทึก 3 ฉบับแค่แจ้งให้ทราบ ไม่ได้ขอมติ ส.ว.กทม.สวนกลับซัดยังไม่ชัดหลายเรื่อง แถมเอกสารเขมรไม่มีแปลภาษาไทยให้อ่านอีก แนะปล่อย รบ.หน้าจัดการ “มาร์ค” ลุกแถ ยันไม่มีผลอธิปไตย อ้างถ้าไม่รีบรับรองกลัวเขมรดึงนานาชาติจุ้น ชม กมธ.ชูจุดยืนไทยท้วงติงเขมรได้

วันนี้ (25 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อเวลา 13.00 น.โดยครั้งนี้มีสมาชิกมาร่วมประชุม 308 คน จาก 554 คน ถือว่าครบองค์ประชุม ขณะที่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวเสนอให้นับองค์ประชุมอีกครั้ง โดยอ้างว่า เป็นเรื่องสำคัญมีผลต่อดินแดนของประเทศ หากองค์ประชุมไม่ครบจะได้ไม่เสียหน้า แต่นายชัย เห็นว่า ควรประชุมไปก่อน เพื่อจะได้ไม่เสียภาพลักษณ์ของสภา เพราะอีกแค่ 1 เดือน ก็จะต้องยุบสภาไปเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.จึงขอความกรุณาสมาชิก อย่าเล่นมุกอะไรกัน และขอให้ประนีประนอม และตอนโหวตถ้าองค์ประชุมไม่ครบก็จะเลื่อนไปลงมติคราวหน้า

นายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาเจบีซี ได้ชี้แจงว่า ผลการศึกษามีข้อสังเกต 5 ข้อ คือ 1.การสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนตามเอ็มโอยูปี 43 เป็นข้อตกลงที่จัดทำเพื่อแก้ปัญหาทวิภาคีและแสวงหาความร่วมมือโดยสันติ และเอ็มโอยู 43 ไม่ได้มีถ้อยคำใดแสดงว่า ไทยยอมรับแผนที่ระวางดงรัก 1 ต่อ 2 แสน และทางการไทยยังเคยทำหนังสือถึงทางการกัมพูชาไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.51 2.การดำเนินการจัดทำหลักเขตแดน ที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้า ไทยจึงควรใช้รูปแบบการเจรจาที่แตกต่างจากเดิม เช่น การเจรจาแบบไม่เป็นทางการกับนายกฯกัมพูชา เพื่อให้ได้ข้อสรุปในระดับหนึ่ง ก่อนเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ 3.พื้นที่พิพาท คือ บริเวณปราสาทพระวิหาร ไทยควรเจรจาให้กัมพูชาเอาสิ่งปลูกสร้าง ประชาชน ทหารออกจากพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวพร้อมจัดทำหลักเขตแดน

4.กรณีที่ทางการกัมพูชา มักกล่าวหาว่า ไทยละเมิดเข้าไปดินแดนที่พิพาทกันอยู่นั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งคณะกรรมาธิการ เห็นว่า ผู้แทนเจบีซีฝ่ายไทยควรโต้แย้งต่อไปหากมีกรณีทำนองนี้เกิดขึ้นในอนาคต 5.ร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารฉบับล่าสุด ที่แนบบันทึกการประชุมเจบีซี ไทย-กัมพูชา วันที่ 6 เม.ย.52 ที่กรุงพนมเปญ ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ และต้องเจรจากันต่อไป ดังนั้น หนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ และการแนบร่างข้อตกลงชั่วคราว กับบันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งให้ทราบ มิได้ขอความเห็นชอบแต่อย่างใด

จากนั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่ยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น 1.สิ่งที่คัดค้านว่าเอ็มโอยู 43 ไม่ได้รวมแผนที่ระวางดงรัก หรือมาตรา 1 ต่อ 2 แสนนั้น ทางกัมพูชาเห็นด้วยหรือไม่ เชื่อว่า คงไม่เห็นด้วย เพราะมีการโจมตีไทยตลอดเวลาว่ารุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของกัมพูชา แสดงว่า เขาอ้างสิทธิ์ตลอดเวลาว่าพื้นที่ที่มาตั้งวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ เอากองกำลังทหารเข้ามา คือ พื้นที่ในดินแดนของเขา และพูดตลอดว่าเราละเมิดเอ็มโอยู 43 โดยที่ทางเจบีซี ฝ่ายไทยไม่เคยชี้แจงเลยจะมีผลหรือไม่ 2.เอ็มโอยู 43 ที่ทำในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ เขียนไว้อย่างไรบ้าง ทำให้การศึกษาของ กมธ.ร่วมยังไม่สมบูรณ์ และ 3.ในเอ็มโอยู 43 มีการตกลงเรื่องเขตแดนใหม่ ซึ่งรวมเขตแดน 195 กิโลเมตรจากช่องสงำ ถึงช่องบก พื้นที่ตรงนี้ในอดีตไทยไม่ทำแผนที่ ไม่ทำหลักเขตเพราะยึดตามสันปันน้ำ และไม่ได้ให้ความเห็นชัดเจนว่าการรับรองรายงาน

น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมธ.ร่วมเคยศึกษาถึงบันทึกการเดินสำรวจก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะกระทรวงต่างประเทศก็ไม่เคยให้เอกสาร และบันทึกเจบีซีอาจจะโยงไปถึงเรื่องที่อินโดนีเซีย ตั้งทีอาร์มาให้ไทยลงนาม เรื่องข้อตกลงระหว่างเขตแดน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเอามาให้สภารับรองก่อน ทาง กมธ.ร่วมได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้หรือไม่ หากไม่ต้องการให้ประเด็นนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพราะประชาชนไม่ได้เห็นด้วยในการไปรับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ หลายคนเกรงว่า การที่เราไปรับรองบันทึกเจบีซีจะทำให้เราต้องเสียอธิปไตยเหนือดินแดนในจุดตรงนั้น กมธ.ร่วมยังไม่ทำให้เกิดความมั่นใจ บางเอกสารเป็นภาษาเขมร โดยไม่มีการแปลเป็นไทย จะให้รับได้อย่างไร การศึกษาของ กมธ.ร่วม เรื่องบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ เท่ากับรับรองเอ็มโอยู 43 ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจน หากตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้สภาควรจะขอให้มีการขยายเวลาให้ กมธ.ร่วมเอาไปศึกษาก่อนจะดีหรือไม่

“รัฐบาลกำลังจะยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ จะปล่อยให้รัฐบาลหน้าจัดการเรื่องนี้จะดีกว่าหรือไม่ สภาถอนเรื่องนี้ออกไปแล้วขยายเวลาศึกษาดีหรือไม่ ตอบคำถามในสภาให้ชัดเจนก่อน”

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจง โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีการเสนอเรื่องใดๆเพื่อให้สภารับรองแล้วจะมีผลต่ออำนาจอธิปไตยหรือดินแดนทั้งสิ้น แต่มุมมองสภาพปัญหาข้อกฎหมายสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ขอปฏิเสธที่ว่า เราเร่งรีบทำเรื่องนี้ ต้องให้ความเป็นธรรม ว่าการประชุม กมธ.เขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ทั้ง 3 ครั้ง เกิดในปี 51 และ 52 แต่ปีนี้ 54 ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลเร่งรีบจะดำเนินการ ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าการทำงานของเจบีซีขณะนี้มีข้อขัดแย้งทางกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเข้ามาหรือในสภาในปี 51 รัฐบาลชุดนี้ จึงได้ยึดถือปฏิบัติตามนั้น แต่ไม่ได้เร่งรีบ

ส่วนที่ว่ารัฐบาลจะยุบสภาอยู่แล้วควรจะปล่อยให้รัฐบาลชุดหน้าหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สถานการณ์ไทย-กัมพูชา ในขณะนี้ต้องยอมรับว่า กัมพูชาพยายามให้เป็นประเด็นองค์กรระหว่างประเทศ นำเรื่องขึ้นไปถึงคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ พยายามอาศัยมรดกโลกชิงความได้เปรียบในปัญหา แต่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และอาเซียนเห็นว่ายังไม่จำเป็นเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้โดยตรง เพราะมีกลไกทวิภาคีอยู่ คือ เอ็มโอยู และเจบีซี

“ผมขอถามว่า ถ้ารัฐบาลและสภาบอกว่าไม่อยากรับเรื่องร้อน และทำเฉยเสีย ถ้าสังคมโลกโดยการชี้นำของกัมพูชาบอกว่าไทยไม่จริงใจในกลไกทวิภาคี แล้วไทยทิ้งเวลาว่างต่อไปรอรัฐบาลใหม่ที่อาจจะมีในเดือนสิงหาคม รับประกันได้หรือไม่ว่า จากวันนี้ไป องค์กรระหว่างประเทศจะไม่บอกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าเห็นว่านั่นเป็นแนวทางที่จะป้องผลประโยชน์ประเทศไทย ผมไทยก็ยินดีรับฟัง แต่ยืนยันว่า ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการป้องสิทธิ์มากที่สุดขณะนี้คือ เราต้องยืนว่าพร้อมทำตามรูปแบบทวิภาคี และไม่ต้องการเห็นสหประชาชาติ หรือ อาเซียนเข้ามาเกี่ยวข้องสาระเขตแดน ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น การดำเนินการจะยุ่งยากมากขึ้น เพราะต้องคุยอีกหลายประเทศ นี่เป็นความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้แทนเพราะปัญหามันมีเรามีหน้าที่แก้ ปัญหา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวชื่นชมการทำงานของ กมธ.ร่วม ว่า เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะทำให้รัฐบาลไทยสามารถเอาจุดยืนที่เข้มแข็งในการปก ป้องดินแดนและอธิปไตยของไทย เพราะนับแต่มีการดำเนินการเรื่องนี้ แนวปฏิบัติของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย ไม่ตรงกัน มีหลายเรื่องในอดีตที่เกิดขึ้น และอาจถูกมองว่าเป็นจุดอ่อน เช่น ตกลงข้อความในเอ็มโอยู 43 ไปยอมรับแผนที่ระวางดงรักหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันมาตลอดว่าไม่ใช่ เพราะมีการกำกับไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นแผนที่เป็นผลงานของคณะกรรมการร่วมที่ทำหน้าที่ปักปัน คำวินิจฉัยของศาลโลกยอมรับว่าแผนที่เสร็จสิ้นหลังคณะกรรมการเลิกไปแล้ว จะเป็นผลงานคณะกรรมการได้อย่างไร และรัฐบาลได้แจ้งไปแล้ว2ครั้ง ว่าไม่รวมแผนที่ระวางนี้ ส่วนกัมพูชาจะเห็นด้วยหรือไม่ถือเป็นจุดยืนของเขา ไม่ต้องไปรับรองความเห็นของกัมพูชา แต่ที่ช่วยได้คือช่วยรับรองความเห็นของรัฐบาลด้วยการลงมติรับรองความเห็นของ กมธ.ร่วม เพื่อรัฐบาลจะได้มีมติใน ครม.ถ้าสภาไม่ทำแบบนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายก็อาจจะเถียงกันต่อไป

“วันนี้ถ้าสภากรุณารับรองข้อสังเกตของ กมธ.ร่วม รัฐบาลรับไปดำเนินการกระบวนการทั้งหมดผูกพันโดยรัฐธรรมนูญ ตนจะพึงพอใจมาก และไม่ต้องกังวลว่าหลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จะมาเปลี่ยนจุดยืนหรือไม่ เพราะผูกพันโดยมติของสภา ถ้าถอนไป คือ ความไม่แน่นอนว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นเวทีพหุภาคีหรือไม่ ก็ยังทิ้งค้างว่าตกลงรัฐบาลมีท่าทีอย่างไร และถ้าสภามีมติรับรองข้อสังเกตุของ กมธ.ร่วมเขียนไว้ชัดเจนว่าให้รัฐบาลไปดำเนิน การไปท้วงติง ซึ่งจะมีความหนักแน่นว่า มากกว่า แม้ความเห็นอาจจะไม่ตรงกับ กมธ.ร่วม แต่โอกาสนี้คือโอกาสที่ยันว่าปัญหานี้ต้องแก้ด้วยทวิภาคี และผ่านจุดยืนสภาว่าเราไม่เห็นด้วยกับแผนที่และเป็นโอกาสที่รัฐบาลไทยมีจุดยืนชัดเจนว่าเราไม่ยอมรับแผนที่ระวางดงรัก และท้วงติงการตีความของนายวาคิมฮง และสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปดำเนินการได้ต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น