"ปัญญาพลวัตร"
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ศุกร์ที่ 25 และ อังคารที่ 29 มีนาคม 2554 เป็นวันที่เรียกได้ว่า “วันแห่งความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายอย่างอัปยศของรัฐบาล” เพราะสิ่งที่รัฐบาลเสนอให้รัฐสภาพิจารณาประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
รัฐบาลเสนอให้รัฐสภาพิจารณารายการงานศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) รวม 3 ฉบับ โดยวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการเสนอคือ ต้องการให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบรายการงานการศึกษาดังกล่าว ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย
แต่เมื่อข้อเสนอนี้เข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 25 มีนาคม 2554 ก็เกิดปรากฎการบางอย่างที่ดูแปลกพิกลขึ้นมา ตั้งแต่การเลื่อนประชุมจากตอนเช้าเป็นตอนบ่าย และเมื่อประชุมได้บรรยากาศการประชุมก็ดูเหงาหงอยซบเซา มีการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาประปราย และเมื่ออภิปรายเสร็จ ผู้อภิปรายก็ออกจากห้องประชุมสภา จนถึงตอนเย็นเหลือผู้ที่อยู่ในห้องประชุมเพียงไม่กี่สิบคน ราวกับว่าสมาชิกรัฐสภารู้แกวว่า หากยังอยู่ในสภาและหากรัฐบาลดันทุรังใช้อำนาจผลักดันให้รายงานทั้ง 3 ฉบับผ่านไปได้อาจจะมีภัยมาเยือนตนเอง
ความแปลกประหลาดของการประชุมวันนั้นหนักข้อขึ้นไปอีก เมื่อประธานกรรมาธิการเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าต้องการให้รัฐสภารับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ 5 ข้อ ทั้งที่ตอนแรกรัฐบาลต้องการให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ ทำเอาสมาชิกรัฐสภางุนงงสับสนไปตามกัน
สำหรับข้อสังเกตของ คณะกรรมาธิการ 5 ข้อคือ 1. การสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนตามเอ็มโอยูปี 2543 เป็นข้อตกลงที่จัดทำเพื่อแก้ปัญหาทวิภาคีและแสวงหาความร่วมมือโดยสันติ ไม่ได้มีถ้อยคำใดแสดงว่าไทยยอมรับแผนที่ระวางดงรัก 1 ต่อ 200,000 2. การจัดทำหลักเขตแดนที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้า ไทยจึงควรใช้รูปแบบการเจรจาที่แตกต่างจากเดิม เช่น การเจรจาแบบไม่เป็นทางการกับนายกฯกัมพูชา เพื่อให้ได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งก่อนเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ 3. พื้นที่พิพาท คือ บริเวณปราสาทพระวิหาร ไทยควรเจรจาให้กัมพูชาเอาสิ่งปลูกสร้าง ประชาชน ทหารออกจากพื้นที่ก่อน 4. ผู้แทนเจบีซีฝ่ายไทยควรโต้แย้งข้อกล่าวหาของฝ่ายกัมพูชาที่ว่าไทยมักรุกล้ำดินแดนกัมพูชา และ 5. ร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารฉบับล่าสุด ที่แนบบันทึกการประชุมเจบีซี ไทย-กัมพูชา วันที่ 6 เม.ย. 2552 กับบันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งให้ทราบมิได้ขอความเห็นชอบแต่อย่างใด
ด้านนายกรัฐมนตรีระบุว่า ต้องการให้สมาชิกรัฐสภาช่วยลงมติสนับสนุนข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ แล้วรัฐบาลจะรับข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ ไปดำเนินการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี หากรัฐบาลไม่ทำเช่นนี้ รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาจะต้องเถียงกันต่อไป
การพูดของนายกรัฐมนตรีทำให้สมาชิกรัฐสภาสับสนหนักขึ้นไปอีก เพราะหากรัฐบาลต้องการนำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการไปออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี ทำไมต้องให้สมาชิกรัฐสภารับทราบก่อน ตามปกติรัฐบาลสามารถออกมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องนำสภาเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เรื่องนี้รัฐบาลกลับอ้างว่าต้องให้รัฐสภารับทราบก่อน ดังนั้นการกระทำของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาหลายคนรู้สึกสัมผัสได้ถึงความไม่ชอบมาพากลบางประการของรัฐบาลที่อาจซ่อนเร้นอยู่
ในท้ายที่สุดการประชุมรัฐสภาวันที่ 25 มีนาคม ก็ยุติลงเพราะสมาชิกรัฐสภาเหลืออยู่เพียงไม่กี่คนในตอนเย็นซึ่งไม่ครบองค์ประชุมและออกมติใดๆไม่ได้ จนต้องนัดประชุมใหม่ในวันที่ 29 มีนาคม
วันที่ 25 มีนาคมจึงเป็นวันแรกที่สะท้อนให้เห็นความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายของรัฐบาลที่ไม่สามารถผลักดันสิ่งที่ตนเองต้องการให้ผ่านรัฐสภาได้ ทั้งที่รัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
สิ่งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า อำนาจที่แท้จริงนั้นเกิดจากการยอมรับ เมื่อใดก็ตามหากผู้นำปราศจากการยอมรับจากผู้ตาม เมื่อนั้นอำนาจก็มลายหายไป ดังปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในวันดังกล่าว
แต่ความสามารถในการอ่านและตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คงเกิดการบกพร่อง เฉกเช่นเดียวกับที่เคยบกพร่องในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2554 จนสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ พวกเขาจึงพยายามอย่างสิ้นหวังอีกครั้ง โดยกำชับให้พรรคร่วมรัฐบาลระดมส.ส.ในสังกัดเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันที่ 29 มีนาคม
เหตุการณ์ประชุมในวันที่ 29 มีนาคม เกิดขึ้นแบบซ้ำรอยเดิมกับวันที่ 25 มีนาคม โดยรัฐบาลพยายามแยกเรื่องที่เกี่ยวข้องกันสองส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ และส่วนที่สองเป็นความเห็นชอบข้อบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ การประชุมในวันนั้นนายอภิสิทธิ์พยายามโน้มน้าวจูงใจให้สมาชิกรัฐสภารับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการให้ได้ และอ้างว่าเป็นการยืนยันให้เห็นว่าไทยยังให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคี แต่ถ้าหากรัฐสภาไม่พิจารณาจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ที่จริงในการประชุมรัฐสภาก่อนหน้านั้นนายอภิสิทธิก็เคยกล่าวในทำนองนี้และใช้ตรรกะประหลาดเชื่อมโยงว่าหากรัฐสภาไม่พิจารณาอะไรอาจทำให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงไทยได้พร้อมกับยกเรื่องการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้อินโดนีเซียมาเป็นผู้สังเกตการณ์การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชามาเป็นข้อสนับสนุน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้เกิดจากการทำหน้าที่บกพร่องและความอ่อนแอของรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเอง ไม่เกี่ยวกับการที่รัฐสภาจะการรับรองหรือไม่รับรองบันทึกเจบีซีแต่ประการใด
การพูดแบบข่มขู่ให้กลัวและการจับโน่นผสมนี่และเรียงร้อยเรื่องราวแบบใช้เหตุผลเทียม เป็นความเชี่ยวชาญของนายอภิสิทธิ์ หากใครฟังแล้วคิดตามไม่ทันก็จะกลัวและหลงเชื่อได้ง่าย แต่หากคิดสักนิดก็จะเห็นได้ชัดว่าการวาดภาพให้น่ากลัวและการใช้เหตุผลของนายอภิสิทธิ์นั้นเป็นการใช้เหตุผลแบบจับแพะชนแกะซึ่งขาดความสมเหตุสมผลอย่างสิ้นเชิง
แม้รัฐบาลพยายามแยกทั้งสองเรื่องออกจากกัน และระบุว่าเป็นการประชุมเพื่อให้มีมติรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ แต่สมาชิกรัฐสภาบางคนมีความเห็นว่าไม่ควรรับทราบไปก่อนเพราะหากเกิดความเสียหาย สมาชิกรัฐสภาอาจรับไม่ได้ และบางคนก็เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องมารับทราบ และหากนายกรัฐมนตรีต้องการนำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการไปออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีก็สามารถทำได้เลย
ในที่สุดรัฐสภาก็ต้องยุติการประชุม เมื่อมีการเสนอให้นับองค์ประชุมแล้วปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ไม่ครบองค์ประชุม และมีการเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ไปในวันที่ 5 เมษายน 2554
เหตุการณ์วันที่ 29 มีนาคม จึงเป็นการพ่ายแพ้ในสภาอีกครั้งของรัฐบาลซึ่งไม่สามารถผลักดันในสิ่งที่ตนเองต้องการให้ผ่านสภาได้
หากพิจารณาพื้นฐานพฤติกรรมบวกกับความสามารถในการอ่านและตีความสถานการณ์แบบพิกลของรัฐบาล ในวันที่ 5 เมษายน รัฐบาลคงพยายามดันทุรังให้รัฐสภารับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการอีกก็ได้ และคงเตรียมการระดมจัดตั้ง ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลเข้าประชุมเพื่อผลักดันมติในเรื่องนี้ออกมา เพราะหากเรื่องนี้ไม่ผ่าน คนในรัฐบาลบางคนอาจเครียดจัดและสติแตกไปเลยก็ได้
แต่นั่นแหละแม้จะมีความพยายามอย่างไร โอกาสที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่ยอมรับเรื่องนี้ก็ยังคงมีอยู่สูง และอาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยสองครั้งที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลานั้น หากนายอภิสิทธิ์ ยังมีความทนทาน ทนอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ก็คงเป็นเหตุการณ์ที่แสนแปลกประหลาด พิกลผิดปกติจากธรรมดาของประเทศที่มีประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตย
หากเป็นประเทศที่มีการยึดมั่นในบรรทัดฐานของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เมื่อรัฐบาลประสบปัญหากับรัฐสภาซ้ำซากเช่นนี้มีทางออกสองทางคือ การยุบสภา และการลาออก แต่เราจะไปคาดหวังอะไรกับนักการเมืองของไทยในปัจจุบันเล่า พวกเขายังคงกอดอำนาจไว้อย่างกระชับแน่น และไม่มีวันตัดสินใจตามครรลองของประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังแถไปได้ ก็แถต่อไป จนกว่าประชาชนลุกฮือมาขับไล่หรือทหารลากรถถังออกมานั่นแหละพวกเขาจึงยอมขยับก้นตนเองลงจากเก้าอี้แห่งอำนาจ
และในวันนั้น มีนัยสำคัญทางการเมือง เป็นภาวะที่รัฐบาลประสบความพ่าย ซึ่งบ่งบอกถึงความสิ้นไร้อำนาจบารมีและความดันทุรังของผู้นำรัฐบาล