xs
xsm
sm
md
lg

พท.อ้างรัฐบาลดันเจบีซีผ่านสภาไม่ได้ ต่างชาติอาจแทรกแซงเจรจาไทย-เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฐิติมา ฉายแสง  (แฟ้มภาพ)
เพื่อแม้วได้ทีอ้างรัฐบาลล้มเหลวผลักดันเจบีซีไทย-เขมรผ่านสภา ส่อเขมรได้ช่องดึงต่างชาติแทรกแซงให้มีการเจรจาในระดับพหุภาคี

นางฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติรับราบผลการศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับของคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา ที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ซึ่งมีกำหนดการประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ว่า ตั้งแต่ที่ตนได้อภิปรายไว้วางใจในประเด็นปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ยังไม่เห็นว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่อง่ายๆ อย่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติรับทราบผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีนายเจริญเป็นประธานนั้นก็ไม่สามารถเดินหน้าให้ที่ประชุมลงมติได้ โดยองค์ประชุมล่มมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้กุมเสียงข้างมากในสภาฯ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลอย่างชัดเจน ทำให้กัมพูชาและนานาชาติยิ่งรู้สึกถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลไทย และอาจนำไปสู่การเจรจาในระดับพหุภาคี มีนานาชาติเข้ามาแทรกแซง

นางฐิติมากล่าวว่า รัฐบาลพยายามซื้อเวลามาโดยตลอด โดยมีความพยายามบรรจุวาระการพิจารณาเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ เข้าสู่วาระการประชุมของที่ประชุมร่วมรัฐสภา แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ จึงตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาขึ้นมาเพื่อซื้อเวลา และเมื่อทำการศึกษาแล้วเสร็จนำเข้ามาให้ที่ประชุมลงมติรับทราบ องค์ประชุมก็ล่มไม่สามารถลงมติได้ ทำให้รัฐบาลเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 5 เม.ย. ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะสามารถเปิดการประชุมหรือมีการลงมติได้หรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าบรรยากาศที่ประชุมสภาเกิดภาวะเกียร์ว่าง ภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ประกาศช่วงเวลายุบสภา ดังนั้น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการควบคุมองค์ประชุมให้การทำงานสามารถเดินหน้าได้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้นให้ความร่วมมือในการประชุมตลอดอยู่แล้ว

“ปัญหาที่ค้างคาอยู่นี้ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยในนโยบายต่างประเทศของนายอภิสิทธิ์ ตั้งแต่การไม่ปลดนายกษิต ภิรมย์ ออกจากการเป็น รมว.ต่างประเทศ รวมทั้งปล่อยให้เรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ (UNSC) สะท้อนว่าไทยไม่มีเพื่อนในเวทีนานาชาติ อีกทั้งยังไม่เด็ดขาดในการใช้กระบวนการภายในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหา ทำให้โอกาสที่จะมีการเจรจาในกรอบทวิภาคีมีน้อยลง เพราะกัมพูชารู้สึกว่ารัฐบาลไม่จริงใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแนวทางที่ประชุมรัฐสภามีเพียงการลงมติรับทราบผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ทางพรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไร นางฐิติมากล่าวว่า หากเป็นเพียงการลงมติรับทราบผลการศึกษา ตนเห็นว่าสามารถลงมติรับทราบได้ โดยไม่กระทบต่อการรับรองบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับแต่ประการใด
กำลังโหลดความคิดเห็น