xs
xsm
sm
md
lg

สุ่มเสี่ยงนำแผ่นดินไทย ใส่พานถวายให้ฮุน เซน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีบรรดาสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.เข้าประชุมกันอย่างบางตา จนเกือบไม่สามารถเปิดการประชุมได้ สะท้อนได้ถึงความพยายาม “ลอยตัว” จากปัญหาของบรรดาท่านผู้แทน
ที่แม้มาร่วมลงชื่อเพื่อให้ครบองค์ประชุม และสามารถดำเนินการประชุมได้ แต่ก็ไม่อยู่ร่วมประชุม จนสุดท้ายไม่สามารถลงมติหาข้อสรุปในเรื่องนี้ จนต้องเลื่อนการประชุมไปวันที่ 29 มี.ค.ที่จะถึงนี้แทน
โดยท่าทีของส.ส.และ ส.ว.ที่ไม่เข้าร่วมสังฆกรรมด้วยนั้น เหตุน่าจะมาจากหนังสือ 2 ฉบับ ที่ทางภาคประชาชน โดย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ส่งไปถึงมือสมาชิกรัฐสภาทุกคน เพื่อชี้ให้เห็นถึงความอันตรายต่ออธิปไตยของชาติ หากฝ่ายนิติบัญญัติโดยรัฐสภาให้การรับรอง ร่างบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ “เจบีซี” ทั้ง 3 ฉบับ
หรืออาจจะแหยงกับโทษทางอาญา หากมีส่วนในการทำให้ประเทศต้องสูญเสียดินแดน ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 และมาตรา 120 ที่ระวางโทษถึงขั้น “ประหารชีวิต” ซึ่งภาคประชาชนเตรียมเดินหน้าเล่นงานผู้ที่ลงมติสนับสนุน ทันทีหากมีการรับรอง “บันทึกอัปยศ” ดังกล่าว ทำเอาบรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติถอยกรูด โดยอ้างว่าติดภารกิจกันเป็นทิวแถว
ทำให้ในที่ประชุมรัฐสภาวันนั้นดูเหมือนจะมีเพียงบรรดาคณะกรรมาธิการชุดที่มี “เจริญ คันธวงศ์” ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานเท่านั้น ที่แสดงจุดยืนเดียวกับรัฐบาล โดยพยายามร้องขอให้สมาชิกรัฐสภาให้การ “เห็นชอบ” ก่อนจะพลิกเกมว่า เป็นเพียง “รับทราบ” ในภายหลัง
และอ้างว่าจากผลการประชุมของกรรมาธิการจำนวน 13 ครั้ง รวมไปถึงการลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ได้ระบุถึง “ข้อสังเกต” 5 ข้อ ได้แก่
1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา 2543 หรือ “เอ็มโอยู 2543” เป็นข้อตกลงที่ทำเพื่อใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาระดับทวิภาคี และเป็นการแสวงหาความร่วมมือกันโดยสันติ โดยไม่มีถ้อยคำใดที่แสดงว่าประเทศไทย ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน (ระวางดงรัก) โดยรัฐบาลไทยได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาอย่างเป็นทางการว่า ไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.51 และออกแถลงการณ์ยืนยันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 31 ม.ค.54
2. การทำสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ยังไม่บรรลุข้อตกลงได้ ดังนั้นไทยควรใช้รูปแบบการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างผู้นำไทย-กัมพูชา จนหาข้อสรุปได้ระดับหนึ่งแล้ว จึงเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการ รวมไปถึงการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ให้นำชุมชน ประชาชน หรือทหารออกนอกพื้นที่พิพาท เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพพร้อมในการสำรวจและทำหลักเขตแดน
3.ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดแนวทางเยียวยาผู้มีเอกสารสิทธิ์ ระหว่างที่การสำรวจและทำหลักเขตแดนยังไม่ยุติ สำหรับกรณีที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ของตนเองในพื้นที่พิพาทได้ 4.ให้คณะผู้แทนเจบีซีฝ่ายไทยโต้แย้งหรืองท้วงติงคำกล่าวปราศรัยเปิดการประชุมเจบีซีฝ่ายกัมพูชา ที่กล่าวหาและโจมตีฝ่ายไทยว่ารุกล้ำดินแดน หรือกระทำผิด เอ็มโอยู 43
และ 5. ร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารฉบับล่าสุด ที่แนบกับบันทึกเจบีซีไทย-กัมพูชา ทั้ง 3 ฉบับนั้น ยังถือว่าไม่สามารถตกลงกันได้ และต้องเจรจาต่อไป แม้ว่ารัฐสภาจะผ่านบันทึกเจบีซีก็ไม่มีผลผูกพันใดๆ
ซึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ก็มีท่าทีให้การสนับสนุนข้อสังเกตของกรรมาธิการ โดยยืนยันว่าจะเป็นหนทางเพื่อให้ไทยและกัมพูชา สามารถเปิดการเจรจาภายใต้กรอบทวิภาคีได้อีกครั้งหนึ่ง หรือหมายถึงการประชุมคณะกรรมาธิการเจบีซี และคณะกรรมาธิการเขตแดนทั่วไป (จีบีซี) ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่กำหนดไว้เบื้องต้นในวันที่ 7-8 เม.ย. ณ ประเทศอินโดนีเซีย โดยนายอภิสิทธิ์ หวังว่าจะเป็นเวทีในการแก้ปัญหา และแก้ข้อห่วงใยต่างๆ ตาม 5 ข้อสังเกตของกรรมาธิการรัฐสภา รวมทั้งข้อห่วงใยของภาคประชาชน ตามข้อมูลบนเวทีมัฆวานรังสรรค์ ของกลุ่มพันธมิตรฯ
โดยเฉพาะข้อคิดเห็นของ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์” โฆษกพันธมิตรฯ ที่ได้สรุปถึงข้อเสียเปรียบอย่างน้อย 5-6 ข้อ หากบันทึกทั้ง 3 ฉบับ ผ่านการพิจารณา อาทิ การยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนโดยฝ่ายนิติบัญญัติของไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งจะทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 798 กิโลเมตร ไปให้กับกัมพูชา รวมแล้วกว่า 1.8 ล้านไร่ อีกทั้งยังเป็นการยอมรับคำปราศรัยกลางที่ประชุมของ “วาร์ คิม ฮง” ประธาน เจบีซี ฝ่ายกัมพูชา ที่ให้ร้ายไทยว่า ไทยเป็นผู้รุกรานกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน พื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควายอีกด้วย
ดังนั้น “เกม” ที่นายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลวางไว้คือ ต้องให้มีการเปิดประชุมเจบีซีครั้งต่อไปให้ได้ และหวังใช้ชั้นเชิงทางการทูต ในการแก้ข้อเสียเปรียบต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงต้อง “ตั้งธง” ให้ที่ประชุมรัฐสภาผ่านร่างบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับให้ได้ เพื่อเป็น “ใบผ่านทาง” ให้กัมพูชา ยอมมาพูดคุยกันบนโต๊ะเจรจา ซึ่งหากที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถให้การรับรองในการประชุมวันที่ 29 มี.ค.นี้ได้ ทางกัมพูชาก็จ้องที่จะ “ล้มโต๊ะ” การประชุมอย่างแน่นอน
ทั้งที่หากรัฐบาลยอมรับว่ามีข้อบกพร่อง ก็สมควร “ตีกลับ” ไปให้เจบีซีทั้ง 2 ฝ่าย พิจารณาทบทวนกันเสียก่อน เพราะเมื่อรัฐสภาไม่พิจารณาเห็นชอบจริง ก็เท่ากับการกำหนดให้ที่ประชุมเจบีซี ต้องเริ่มทำงานและพูดคุยกันอีกครั้ง มากกว่าการเกิดสงคราม ตามที่นายอภิสิทธิ์ พยายามกล่าวอ้าง
และในเมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รับสารภาพแล้วว่า บันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับนั้นมี “ตำหนิ” ดังนั้นการเดินหน้าแก้ปัญหาโดยยึดกรอบที่พิกลพิการ ทั้งเอ็มโอยู 2543 และบันทึกเจบีซี โดยใช้แผ่นดินไทยเข้า “เดิมพัน” กับการคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต
ถือเป็นการ “สุ่มเสี่ยง” ที่จะนำแผ่นดินไป "ถวายพาน" ให้แก่ “ฮุน เซน” ผู้นำกัมพูชา เป็นอย่างยิ่ง
จึงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ภายใต้ “เดิมพัน” ที่สูงและ “สุ่มเสี่ยง” เช่นนี้ บรรดา ส.ส.-ส.ว. จะตัดสินใจอย่างไรกับ “ไฟต์บังคับ” ในวันที่ 29 มี.ค.นี้
แต่หากผู้แทนคนไหนยังเลือกที่จะ “ลอยตัว” จากปัญหา ก็เท่ากับช่วยกันนำชาติเข้าสู่ภาวะการสูญเสียอธิปไตยอย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่ใช่วิสัยของ “ผู้แทนราษฎร” ที่ควรกระทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น